PODCASTMISSION TO THE MOONไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานเถอะ! ทำอย่างไรเมื่อเพื่อนร่วมงาน พร้อมใจเข้าออฟฟิศในวันสงกรานต์

ไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานเถอะ! ทำอย่างไรเมื่อเพื่อนร่วมงาน พร้อมใจเข้าออฟฟิศในวันสงกรานต์

ช่วงสงกรานต์มาถึงแล้ว แต่ทำไมฉันถึงต้องมานั่งทำงานที่ออฟฟิศแบบไม่ได้หยุดพักผ่อน? แถมทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ทำด้วยความสมัครใจ หากแต่เป็นเพราะหัวหน้าคาดหวังให้พนักงานมาทำงานในวันหยุด และเพื่อนร่วมงานก็ตกลงกันมาทำงานโดยที่ไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นเรื่องผิดปกติ

การที่ต้องมาทำงานในวันหยุด ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาโลกแตกที่ทำลายความผาสุกในช่วงเวลาที่ควรจะพักผ่อนของเรา ซึ่งแม้เราจะรู้สึกไม่เห็นด้วยมากเพียงใด แต่วัฒนธรรมการทำงานแบบไม่มีวันหยุดนี้กลับทำให้เราต้องจมอยู่กับความเครียดที่มากเกินไปจนทำให้ชีวิตส่วนอื่นที่ไม่ใช่งานปั่นป่วนไปหมด

ผลสำรวจบอกว่า Gen Z กว่า 35% มีความรู้สึกละอายใจเมื่อไม่ได้ทำงานในช่วงเทศกาล จากเหตุผลหลักๆ ก็คือพวกเขารู้สึกว่าตัวเองจะพลาดโอกาสในการเติบโต หรือสร้างความประทับใจให้กับเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน

แต่การทำงานในวันหยุดนั้นก็สามารถสร้างผลเสียให้กับตัวเองและเพื่อนร่วมงานได้เช่นกัน ซึ่งมีผู้ใช้งานรายหนึ่งใน TikTok ที่มีชื่อว่า Samm Samujh โค้ชผู้บริหารในวัย 30 ปีได้ออกมาแบ่งปันประสบการณ์การทำงานแม้ในช่วงวันหยุดว่า สุดท้ายแล้ว วิธีการทำงานอย่างไม่มีข้อแม้ของเธอก็ส่งผลให้คนอื่นรู้สึกว่าสามารถติดต่อและมอบหมายงานให้กับเธอได้ตลอกเวลา และงานก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนไม่สามารถรับมือกับการจัดการเวลาของตัวเองได้

เมื่อเราเปิดรับงานเข้ามาอย่างไม่มีข้อแม้ ก็จะส่งผลกระทบกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ ที่ต้องจดจ่อกับการทำงานร่วมกับเราแม้กระทั่งในช่วงวันหยุด ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้เรากลายเป็นเพื่อนร่วมงานที่ไม่น่าทำงานด้วยในที่สุด

หัวหน้าควรจัดการให้ดี เพื่อสวัสดิภาพในวันหยุดของทุกคน

ต้องยอมรับว่า มากกว่า 50% ของสาเหตุที่ทำให้พนักงานเข้าออฟฟิศในวันหยุดเทศกาลก็คือหัวหน้า เพราะถ้าหัวหน้ายืนยันหรือบังคับให้พนักงานเข้าออฟฟิศเพื่อทำงานที่เร่งด่วนนั้น พนักงานก็คงจะปฏิเสธได้ยากอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าหากจะแก้ไขวัฒนธรรมนี้ก็คงต้องแก้ไขที่วิธีคิดของหัวหน้างานก่อน เพราะหัวหน้าที่ให้คุณค่ากับ Work-Life Balance จะช่วยให้การรักษาสมดุลชีวิตและงานของพนักงานในทีมเป็นไปได้จริงมากกว่าหัวหน้าที่ไม่เห็นความสำคัญของ Work-Life Balance

สำหรับหัวหน้างานเองก็ควรเริ่มต้นด้วยการพิจารณาสถานการณ์ในออฟฟิศว่าพนักงานยังคงต้องเดินทางเข้าออฟฟิศในวันหยุดอยู่หรือไม่ ถ้าหากคำตอบคือใช่ ก็ควรจะทบทวนอีกครั้งว่าต้นเหตุนั้นคืองานที่ถูกมอบหมายจากตัวหัวหน้าเยอะเกินไป พฤติกรรมของหัวหน้าที่ทุ่มเทให้กับการทำงานจนลืมใช้ชีวิต หรือเป็นความต้องการของพนักงานเองที่ก่อให้เกิดวัฒนธรรมแบบนี้ขึ้น ซึ่ง 4 คำสำคัญที่หัวหน้าควรรู้เพื่อปรับวิธีคิดและวิธีการทำงานให้สมดุลมากขึ้น มีดังนี้

[  ] ชัดเจน: หัวหน้าต้องชัดเจนว่าเป้าหมายของการทำงานคืออะไร และเปิดเผยความคาดหวังนั้นให้พนักงานรับรู้
[  ] จัดลำดับ: หัวหน้าต้องมีความสามารถในการจัดลำดับความสำคัญของงาน รู้ว่างานไหนที่ควรทำก่อน และงานไหนที่สามารถลดความสำคัญลงได้ เพื่อให้พนักงานยังสามารถทำงานได้อย่างมีความสุข ไม่เครียดจนเกินไป
[  ] ยืดหยุ่น: หัวหน้าควรให้อิสระในการทำงาน และยืดหยุ่นในเรื่องของวิธีการทำงานของลูกทีมบ้าง วิธีการทำงานแบบไหนที่ลูกทีมทำได้ดีอยู่แล้ว ก็ไม่ควรเข้าไปเปลี่ยนแปลงและบังคับให้แต่ละคนทำตามวิธีของตัวเอง
[  ] เห็นใจ: หัวหน้าควรรู้จักเห็นอกเห็นใจคนอื่นๆ เพราะการทำงานที่ประสบความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการมุ่งมั่นทำงานจนเสียเวลาด้านอื่นๆ ของชีวิต หรือทำลายสุขภาพร่างกายและจิตใจของพนักงานจนไม่สามารถใช้ชีวิตต่อได้อย่างมีความสุข ควรเข้าใจว่าชีวิตและภาระของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และเราในฐานะของหัวหน้าก็ควรมอบเวลาพักผ่อนที่หยุดการทำงานเอาไว้สักช่วงหนึ่ง

นอกจากการรักษาความสมดุลที่เป็นหน้าที่ของหัวหน้าแล้ว พนักงานทุกคนก็ควรมีส่วนร่วมในการรักษาสมดุลชีวิตของตัวเองและผู้อื่นด้วยเช่นกัน

Advertisements

จัดการอย่างไร เมื่อทุกคนคาดหวังให้เราต้องทำงานในวันหยุด?

แล้วถ้าหากทุกคนในบริษัทต่างยอมที่จะเข้าไปทำงานในออฟฟิศในวันหยุด และคาดหวังให้เราต้องทำตามวัฒนธรรมนั้น เราจะมีวิธีการรับมือและจัดการอย่างไรเพื่อให้สามารถมีวันหยุดเทศกาลที่เป็นของตัวเองได้ และรักษางานไว้ไม่ให้สะดุด

1. วางแผนล่วงหน้า

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราต้องไปทำงานในช่วงเทศกาลก็คือ การวางแผนเรื่องงานของทีมและงานของตัวเองไม่ดีพอ ดังนั้นสิ่งที่จะสามารถช่วงเราในช่วงเทศกาลได้ก็คงหนีไม่พ้นปฏิทิน แพลนเนอร์ หรือแอปพลิเคชันปฏิทินบนสมาร์ทโฟน ที่เราสามารถมองภาพรวมของวันหยุดเทศกาลและวางแผนไว้ล่วงหน้าได้ ไม่ว่าจะเป็นการนัดการประชุมที่มีความสำคัญสูง วางแผนการทำงานของโครงการใหญ่ๆ หรือแม้แต่วางแผนสะสางงานให้เสร็จก่อนวันหยุดเทศกาล เพื่อให้ไม่ต้องทำงานหนักในช่วงวันหยุดและสามารถลดภาระงานที่มีความตึงเครียดอย่างไม่จำเป็นได้

2. เรียงลำดับความสำคัญ

ความสมดุลของงานและชีวิตคงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หากเรายังไม่สามารถที่จะลำดับความสำคัญของงานและทุกกิจกรรมในชีวิตได้ โดยเฉพาะในวันหยุดที่ต้องอาศัยความพยายามมากกว่าปกติ ถ้าเรารู้ตัวว่าอะไรที่สำคัญและควรทำก่อน เราก็จะสามารถมีประสบการณ์ที่ดีในวันหยุดได้โดยไม่ต้องนำเรื่องงานขึ้นมาเป็นเรื่องหลักของชีวิตทั้งๆ ที่ตัวเราเองไม่ต้องการ

ซึ่งการเรียงลำดับความสำคัญนี้สามารถเริ่มต้นได้ด้วยการจดงานและกิจกรรมส่วนตัวทั้งหมดที่มี และเน้นให้ความสำคัญกับงานที่จำเป็นต้องทำอย่างเร่งด่วน โดยที่ไม่สามารถต่อรองได้เป็นหลัก แล้วเรียงลำดับงานที่เหลืออยู่ตามความต้องการของตัวเอง นอกจากนี้ก็ควรฝึกการปฏิเสธงานใหม่หรือมอบหมายงานใหม่ให้กับคนอื่นๆ เพื่อลดภาระงานที่กองอยู่กับเราโดยที่ไม่จำเป็น

3. กล้าที่จะปฏิเสธ

เป็นไปไม่ได้ที่เราจะสามารถทำทุกงานให้เสร็จได้อย่างสมบูรณ์แบบภายใต้เวลาที่มีอยู่จำกัด ดังนั้นจึงไม่ควรเครียดกับงานที่มีเยอะมากเกินไป และต้องกล้าที่จะพูดปฏิเสธกับงานที่มากเกินไป เพื่อให้เกิดผลดีต่อตัวของเราเองและโครงการโดยรวม เพราะไม่ว่าเราจะมีเป้าหมายในงานที่มากแค่ไหนก็ตาม เราก็ไม่สามารถทำทุกอย่างได้

4. ปรับตารางและวิธีการทำงาน

ในช่วงวันหยุดเทศกาล แม้ว่าจะมีเหตุฉุกเฉินที่ทำให้เราต้องทำงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถรับมือด้วยการปรับตารางและวิธีการทำงานในช่วงเทศกาลให้ตึงเครียดน้อยลงได้ สิ่งสำคัญคือต้องกล้าที่จะขอหัวหน้าเพื่อปรับเปลี่ยนการทำงานให้เหมาะกับช่วงเทศกาล อย่างเช่นการทำงานจากที่บ้าน หรือการเปลี่ยนประชุมในวันหยุดให้เป็นการรายงานด้วยข้อความแทน เพื่อให้เราสามารถควบคุมเวลาในการทำงานและการพักผ่อนได้โดยที่ไม่ต้องติดอยู่กับการนั่งในออฟฟิศ

5. หลีกเลี่ยงปัจจัยที่ทำให้เครียด

แม้ว่าความเครียดจะเป็นสิ่งที่เข้ามาหาเราโดยไม่ทันได้ตั้งตัว แต่เราทุกคนก็สามารถรับมือกับต้นเหตุของความเครียด โดยการรู้ว่าตัวการอะไรที่ทำให้เรารู้สึกไม่สบายใจ อย่างเช่นงานที่สะสางไม่เสร็จก่อนหยุดยาว หรือการได้รับสายจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน เมื่อเรารู้ว่าอะไรที่ทำให้เราเครียดแล้ว ก็ให้ทำการหลีกเลี่ยงปัจจัยเหล่านั้น เช่นสะสางงานให้เสร็จ มอบหมายงานให้กับคนอื่น หรือปิดการแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ไว้ชั่วคราว เพื่อให้เราใช้เวลาวันหยุดได้อย่างเต็มที่ ปราศจากความเครียด

6. เปิดโหมดห้ามรบกวนให้กับตัวเอง

ไม้ตายที่ทำให้เราสามารถรักษาสมดุลของชีวิตในยามวันหยุดคือ “การปิดสวิตช์ของตัวเอง” เพราะถึงแม้ว่าเราจะวางแผนให้สามารถใช้วันหยุดมาอย่างดีจนสามารถใช้วันหยุดนอกออฟฟิศได้แล้ว แต่ถ้าเรายังคงเปิดสวิตช์ของโหมดทำงานไว้ เราก็จะไม่สามารถใช้วันหยุดได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอย่างน้อยๆ ก็ควรมีเวลาสำหรับการเปิดโหมดห้ามรบกวนเพื่อให้ตัวเองได้ท่องเที่ยว พักผ่อน หรือนอนหลับอย่างเต็มอิ่มสักประมาณ 1-2 ชั่วโมงหรืออาจจะยาวนานจนจบวันหยุดเลยก็ได้เช่นกัน เมื่อเราเปิดโอกาสให้ตัวเองหยุดคิดเรื่องงาน เราจะสังเกตได้ว่าสมองจะโล่งมากขึ้น มีอารมณ์ที่ดีมากขึ้น และทำให้ช่วงวันหยุดเทศกาลของเรามีความสุขมากขึ้น

สุดท้ายแล้ว ก็ควรตระหนักไว้ว่า Work-Life Balance หรือการมี Work-Life Harmony เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของตัวคนทำงานเองและผู้ที่ร่วมงานด้วย เปรียบเสมือนกับถนนเส้นใหญ่ที่มีเลนคู่ เลนหนึ่งคือส่วนของหัวหน้างานที่สามารถสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดีได้จากการให้คุณค่ากับ Work-Life Balance ของคนทำงาน ต้องชัดเจนและโปร่งใสเกี่ยวกับความคาดหวังในการทำงานของพนักงาน ไม่ควรให้การทำงานเป็นเรื่องที่คลุมเครือ สามารถจัดการงานได้อย่างมีประสิทธิภาพโดยที่ไม่ต้องมอบหมายงานที่ใช้เวลามากที่สุดและเยอะที่สุด และไม่ลืมที่จะให้ความยืดหยุ่น ความเห็นอกเห็นใจ หัวหน้างานควรเป็นคนที่ช่วยเหลือพนักงานให้ประสบความสำเร็จในด้านเป้าหมายการงานและชีวิตได้

ส่วนอีกเลนหนึ่งก็คือเลนของพนักงานที่ควรจัดการงานของตัวเองให้ได้ สะสางงานค้างให้เสร็จสิ้นก่อนวันหยุดยาว รู้จักการสื่อสารและทำงานเชิงรุกเพื่อให้การทำงานในเวลางานมีประสิทธิภาพมากที่สุด ป้องกันปัญหาที่ยืดมาจนถึงช่วงวันหยุดยาว และที่สำคัญคือพนักงานเองก็ควรให้คุณค่ากับ Work-Life Balance ของตัวเองและผู้อื่นเช่นกัน เมื่อเจ้านายและพนักงานสามารถสร้างวัฒนธรรมของการทำงานที่เคารพเวลาซึ่งกันและกันแล้ว ก็จะช่วยให้การทำงานของเรามีความสุขมากขึ้นโดยไม่ต้องกังวลเรื่องของวันหยุดอีกต่อไป

งานและชีวิต ไม่ใช่องค์ประกอบในชีวิตที่แยกกันอย่างชัดเจน แต่การทำงานอย่างมีความสุข และใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการอย่างลงตัวต่างหาก ที่ทำให้เราสามารถมีชีวิตอย่างมีคามสุขได้ เตรียมพบกับการพูดคุยและแชร์ประสบการณ์เกี่ยวกับ Work-Life Harmony กับ Session 2 : ให้เรื่องงานและการใช้ชีวิตไปด้วยกันได้ดีด้วย Work-Life Harmony วิถีใหม่ | 09.45-10.30 น. ในงาน Mission To The Moon Forum 2024 Work-Life Survival Guide คู่มือเอาชีวิตรอดสำหรับคนสู้งาน

ผ่านประสบการณ์และความรู้จาก ศุภโชค ปัญจทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Asset Five Group Public Company Limited ดำเนินการบรรยายโดย รวิศ หาญอุตสาหะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Srichand & Mission To The Moon Media

📌สามารถซื้อบัตรได้แล้ววันนี้ที่ https://www.zipeventapp.com/e/Mission-To-The-Moon-Forum-2024

งานไม่ใช่ชีวิต และชีวิตยังมีอะไรให้ทำอีกเยอะ
สงกรานต์นี้ ไปทำอย่างอื่นที่ไม่ใช่งานกันเถอะ

อ้างอิง
– Working on vacation can make you a bad co-worker—here’s how to avoid it: ‘It creates more harm than good’ : Jennifer Liu, CNBC Make It – https://cnb.cx/3VL2MwB 
– ‘My Boss Expects People to Work While They’re on Vacation’ : Alison Green, The Cut – https://bit.ly/43NckJr 
– How To Achieve Work-Life Balance During The Festive Season : Christopher Pappas, eLearning Industry – https://bit.ly/4ahuLZa 
– Balancing Work and Life: How Your Boss’s Management Style Can Make a Difference : Daniel Pers, LinkedIn – https://bit.ly/3Qc4Zhd

#inspiration
#สงกรานต์2567
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า