จุดอ่อนของคุณคืออะไร? มาตามหาสิ่งที่หายและพัฒนาไปสู่จุดหมายของตัวเองกันเถอะ!

5532
จุดอ่อน

เราคิดว่าเรารู้จักจุดอ่อนตัวเองดีแล้วหรือยัง?

จุดอ่อนในตัวเราเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงจริงๆ หรือ? 

เราสามารถพัฒนาจุดอ่อนนี้ให้ดีขึ้นได้หรือไม่?

Advertisements

ในโลกการทำงานในปัจจุบัน ผู้ที่เข้าใจตัวเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้าใจอารมณ์ เข้าใจว่าเรากำลังรู้สึกอะไรอยู่ อะไรทำให้เรารู้สึกมีคุณค่า อะไรทำให้เรารู้สึกเบื่อ หรืออย่างการเข้าใจจุดอ่อน จุดแข็งของตัวเองและใช้สิ่งที่มีทั้งหมดไปในทางที่เกิดประโยชน์นับเป็นทักษะที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง

ถามตัวเองว่าพร้อมจะเปลี่ยนตัวเองให้เป็นผู้ที่เข้าใจตัวเองแล้วหรือยัง หลังจากนั้นมาลองหาจุดอ่อนด้วยวิธีการเหล่านี้ดู 

ถ้าไม่รู้ว่าจะเริ่มค้นหาตัวเองอย่างไร ลองถามคนใกล้ตัวดูสิ 

การถามคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ เพื่อนหรือคนใกล้ชิดจะทำให้เราได้คำตอบ เจ๋งๆ ที่เราอาจไม่เคยรู้ว่าตัวเองเก่งก็เก่งในเรื่องนี้เหมือนกัน หรือบางเรื่องที่เคยทำอยู่บ่อยครั้งนั้นมีข้อบกพร่องต่างๆ ซ่อนอยู่ คนที่เราสนิทและคนที่เราให้ความเชื่อใจจะตอบและให้คำแนะนำเราอย่างตรงไปตรงมา ลองไปถามคนเหล่านี้ดู จดบันทึกเป็นข้อๆ เก็บไว้เป็นข้อมูลจะทำให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น

สังเกตว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้เรามีความสุข และเพราะอะไรเราถึงมีความสุข

อย่างแรกให้เราถามตัวเอง อะไรคือสิ่งที่เมื่อทำแล้วเราสนุกไปกับมัน ทำจนลืมเวลาหลักจากนั้นให้หาเหตุผลว่าเพราะอะไรเราถึงชอบมัน โดยส่วนมากจะมีอยู่สองเหตุผล เหตุผลแรกที่เราทำสิ่งนั้นแล้วมีความสุขเป็นเพราะเราชอบทำ เช่น ชอบวาดรูปเป็นเพราะทำให้เราคลายเครียด ปล่อยให้ตัวเองได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง

อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เรามีความสุขเป็นเพราะเรา “ถนัด” ความเชี่ยวชาญในการทำเรื่องนั้นๆ ทำให้เราสนุกไปกับมัน รู้สึกว่าเรามีความสามารถ มีพลังที่ควบคุมมันได้ เพราะฉะนั้นก่อนอื่นเราต้องถามก่อนว่าสิ่งที่เราชอบทำเป็นเพราะ ‘ความชอบส่วนตัว’ หรือเป็นเพราะ ‘ทำได้ดี’ กันแน่

หมั่นวิเคราะห์ตัวเองว่าเราทำสิ่งนั้นได้ดีแค่ไหน

บางคนหลงใหลกับสิ่งนั้นๆ เป็นเพราะความชอบส่วนตัว เราต้องพิจารณาว่าสิ่งที่ทำ เราทำได้ดีหรือไม่ ถ้าไม่ เรามีความตั้งใจและพร้อมที่จะพัฒนาทักษะนี้หรือเปล่า  แต่ถ้าสิ่งที่เราชอบทำเป็นเพราะความสามารถ เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะไม่เบื่อ เพราะว่าความชอบประเภทนี้ไม่ได้เกิดจาก Passion สำหรับบางคนการทำสิ่งที่ถนัดเป็นความสุขเพียง ‘ชั่วคราว’ เท่านั้น คิดวิเคราะห์และหาคำตอบว่าจริงๆ เราชอบมันและทำมันเพราะอะไร จะทำให้เราสามารถชั่งน้ำหนักได้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราควรปล่อยให้เป็นงานอดิเรก สิ่งใดควรเก็บไว้เพื่อพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์ในอนาคต

สำหรับคนที่ไม่รู้จักตัวเองจริงๆ แบบทดสอบจะช่วยเราได้

ปัจจุบันมีเว็บไซต์ให้เราเลือกหลากหลาย เช่น 16Personalities, Turity หรือ 123test เป็นต้น  โดยเป็นแบบทดสอบจากนักจิตวิทยาที่มีความน่าเชื่อถือและมีข้อเสนอแนะแนวทางการพัฒนาจุดบกพร่องของตัวเอง นี่เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจตัวเองได้มากขึ้น

ลองทำอะไรใหม่ๆ ที่ไม่เคยทำมาก่อน 

ความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตัวเราจะปรากฏก็ต่อเมื่อเราหลุดออกจากเซฟโซน การทำอะไรใหม่ๆ จะทำให้เรามีประสบการณ์ใหม่ๆ เทคนิคใหม่ๆ ซึ่งจะทำให้เรารู้จักตัวเองมากขึ้นว่าเราถนัดสิ่งนี้ ไม่ถนัดสิ่งนี้

การที่เรารู้ว่าตัวเองมีจุดอ่อน มีทักษะที่ไม่ถนัดจะทำให้เราเข้าใจภาพรวมของปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมด การยอมรับความจริงว่าเราไม่เก่งในเรื่องนั้นๆ ไม่ใช่เรื่องแย่เสมอไป สิ่งนี้จะทำให้เราเข้าใจต้นตอของปัญหาและสามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด ไม่เปลืองแรงไปกับสิ่งที่คิดว่าไม่เหมาะสมกับเรา

เราไม่ได้บอกว่าควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ไม่ถนัด แต่ก้าวแรกของการพัฒนาต้องเริ่มจาก “การยอมรับ” ให้ได้เสียก่อน เมื่อยอมรับจุดบกพร่องของตัวเองได้แล้ว เราถึงจะมีใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลังพร้อมที่จะเผชิญกับความท้าทายในการซ่อมแซม แก้ไขจุดจุดนั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและปราศจากอคติ

เมื่อเราเข้าใจตัวเองแล้ว มาดูกันว่าเราจะพัฒนาจุดอ่อนได้อย่างไรได้บ้าง

The Law of Exercise or Repetition กฎการทำซ้ำนำไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่าง

การทำซ้ำคือการทำทุกวันอย่างสม่ำเสมอ ในตอนแรกอาจจะยังไม่จำเป็นต้องทุ่มเทไปกับการพัฒนาอย่างเดียว เพราะความยากและอุปสรรคจะทำให้เราท้อ เพียงทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นกิจวัตรจนทำให้สมองเกิดความเคยชิน การทำซ้ำอย่างสม่ำเสมอจะทำให้การพัฒนาเป็นไปอย่างต่อเนื่อง 

Advertisements

สร้างเป้าหมายเล็กๆ เพิ่มความท้าทายในการฝึกฝนตนเอง

เมื่อลองฝึกฝนจนเป็นนิสัยแล้ว จึงค่อยๆ เพิ่มเวลาและเพิ่มความระดับความยากที่ไม่ทำให้เราถอดใจไปเสียก่อน อย่างเช่น เราอยากแก้ไขการเขียนบทความที่เนื้อหาขาดแรงจูงใจ ในช่วงแรกอาจจะใช้เวลา 15 นาทีในการเขียน จะเป็นบทความที่เราสนใจสั้นๆ ก็ได้ หลังจากนั้นค่อยหาหัวข้อประเภทอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรง และค่อยๆ เริ่มขยับมาเขียนบทความยาวๆ 

มอบหมายให้ผู้ที่มีความสามารถทำในสิ่งที่เราทำไม่ได้

แจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบากล่าวไว้ว่า “คุณไม่จำเป็นต้องเก่งทุกเรื่อง แต่คุณต้องเข้าใจหลักการของมัน เข้าใจว่ามันทำงานอย่างไร” ส่วนเรื่อง ‘เทคนิคและกลยุทธ์’ เป็นเรื่องของคนที่เราจ้างมา เราไม่จำเป็นต้องรู้วิธีการเขียนโปรแกรม เราไม่ต้องรู้วิธีการสร้างเว็บไซต์ แต่เราต้องรู้ว่าสิ่งนี้จะทำเงินให้เราได้อย่างไร

เราสามารถหยิบยืมทักษะของคนอื่นมาใช้เกิดประโยชน์ เราเพียงเลือกคนให้เป็น เลือกคนให้เหมาะกับเนื้องานนั้นๆ 

Steve Jobs เริ่มต้นธุรกิจ Apple โดยที่เขาไม่รู้จักเทคโนโลยี การเขียนโปรแกรม แต่เขาใช้ความสามารถของ Steve Wozniak ที่มีตำแหน่งวิศวกรฮาร์ดแวร์ใน Apple จากตัวอย่างการเปลี่ยนมุมมองการรับมือกับจุดอ่อนของผู้ที่ประสบความสำเร็จ ทำให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องการความช่วยเหลือ การสนับสนุนและทักษะจากผู้อื่นถึงจะทำให้งานที่ออกมามีประสิทธิภาพและประสบความสำเร็จ

เปลี่ยนมุมมองและหาลู่ทางอื่นๆ 

ภาพที่หลอกตา ภาพที่เรามองไม่ออกอาจเป็นเพราะเรายืนใกล้เกินไป สายตาเราจับจ้องไปที่จุดใดจุดหนึ่งมากเกินไป เพราะฉะนั้น ลองถอยออกมาสักก้าว มองภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้น ถามตัวเองว่าเราสามารถทำสิ่งใดได้อีกบ้าง 

สมมติว่าเราชอบอ่านหนังสือของนักเขียนคนนี้มาก  นักเขียนคนนี้ทำให้เรามีแรงบันดาลใจและทำให้เราอยากเริ่มเขียนหนังสือ แต่หลังจากเขียนออกมา อ่านดูแล้วอย่างไรก็ไม่น่าจะเข้าท่า พยายามลองเขียนฝึกฝนแล้ว สุดท้ายก็ยังขาดจุดบกพร่องหลายจุด สิ่งนี้ทำให้เราท้อ กลับมาวิเคราะห์ตัวเองอีกครั้ง แล้วดูว่ามีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการอ่านหนังสือนี้บ้าง อาจจะลองเขียนรีวิวหนังสือลงเพจหรือขายหนังสือที่มีหน้าที่แนะนำหนังสือให้กับผู้อ่านดูก็ได้

ท่องไว้ ทำมันให้ดีที่สุดในแบบของเรา

ถึงเราจะไม่มีความสามารถทำสิ่งสิ่งนั้นได้ดี แต่อย่างน้อยเราก็เคยใช้เวลาทำในสิ่งที่ชอบอย่างเต็มที่แล้ว เราไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นแชมป์หรือเป็นยอดคน เราไม่สามารถทำทุกอย่างสมบูรณ์แบบ

ต้องยอมรับว่าทักษะบางอย่างสามารถพัฒนาได้อย่างจำกัด การพุ่งชนเข้าใส่เพื่อแก้ไขจุดอ่อน ทั้งๆ ที่เราพยายามจนเหนื่อย พยายามจนท้อก็ไม่อาจทำให้เราเก่งขึ้นได้ ทว่า สิ่งเดียวที่เราทำได้คือย้อนกลับไปบทเรียนแรก คือการยอมรับ เมื่อเรายอมรับว่าเรามีข้อบกพร่องแล้ว ถัดมาคือยอมรับว่ามันไม่สามารถแก้ไขได้ 

สิ่งที่ยิ่งใหญ่คือเราได้ทำมันด้วยความรู้สึกภูมิใจ โอบกอดความไม่สมบูรณ์แบบของตัวเอง แล้วเผชิญหน้ากับมันอย่างกล้าหาญ

การเข้าใจตนเองเพื่อให้รู้ว่าเรามีจุดอ่อนอะไรบ้าง เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต เข้าใจเหตุและผลของสิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น ส่วนหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนตัวเองจากจุดอ่อนนี้คือ ‘การยอมรับ’ จุดด้อยของตัวเองและ ‘พยายาม’ พัฒนาแก้ไขอย่างตรงจุดและเต็มที่ สุดท้ายผลมันจะออกมาเป็นอย่างไร เราจะรู้ได้เองว่าสิ่งนั้นคู่ควรกับเราหรือไม่


เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
หยุดได้หยุด! เหล่าคำพูดบั่นทอนจิตใจ โอบกอดตัวเองไว้เพราะคุณทำดีที่สุดแล้ว

อ้างอิง
https://bit.ly/3tnAvvW
https://bit.ly/2X4Rpn3
https://bit.ly/38V4MZD

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements