INSPIRATION"ความสำเร็จไม่จำกัดอายุ" เรียนรู้ความสำเร็จจาก Henry Ford ชายผู้ประสบความสำเร็จในวัย 60

“ความสำเร็จไม่จำกัดอายุ” เรียนรู้ความสำเร็จจาก Henry Ford ชายผู้ประสบความสำเร็จในวัย 60

“อายุ 30 แล้ว ยังไม่มีอะไรเป็นของตัวเองเลย”
“อายุ 40 แล้ว ชีวิตยังไม่ประสบความสำเร็จสักที”
“อายุ 50 แล้วรู้สึกปลง คิดว่าชีวิตคงไปได้แค่นี้”
ถ้าหากลองถามเรื่องราวชีวิตของคนในแต่ละวัย เราอาจจะได้ยินเรื่องราวของคนที่มีความสำเร็จไม่มากนัก แต่ตรงกันข้าม เรามักจะได้ยินเรื่องราวของคนในวัยผู้ใหญ่ที่รู้สึกหมดไฟ กังวลหรือเครียดกับชีวิตของตัวเอง เพราะถูกกดดันจากมาตรฐานความสำเร็จของสังคมกับสิ่งที่เรียกว่า “อายุ”

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสังคมไทยมักจะมีกรอบที่ตีไว้ว่าเมื่อคนคนหนึ่งใช้ชีวิตมาในช่วงวัยหนึ่ง คนคนนั้นก็ต้องมีความสำเร็จบางอย่างที่เป็นค่านิยมของคนไทย เพื่อการันตีว่าตัวเองมีชีวิตที่ดีและไม่ล้มเหลว ไม่ว่าจะเป็นรถ บ้าน การแต่งงานหรือการขึ้นสู่จุดสูงสุดของงานและธุรกิจที่ทำ

ความกดดันเหล่านี้ทำให้คนในวัยกลางคนหรืออายุประมาณ 30-50 ปีนั้นเจอกับสิ่งที่เรียกว่า “วิกฤตวัยกลางคน” หรือ Midlife Crisis ซึ่งเป็นความรู้สึกหนักอึ้งทางจิตใจ เครียด กลืนไม่เข้าคายไม่ออกจากภาระที่ตัวเองต้องแบกรับ เมื่อบวกกับมาตรฐานความสำเร็จในสังคมแล้วย่อมทำให้คนกลุ่มนี้เกิดความทุกข์ที่ตัวเอง “ไม่ประสบความสำเร็จ” ตามมาตรฐานสักที

“แล้วเมื่อไหร่ เราถึงจะประสบความสำเร็จสักที?” คำถามนี้คงอยู่ภายในใจของวัยกลางคนหลายคนและแน่นอน คำถามนี้ก็เป็นคำถามที่ชายผู้ก่อตั้งธุรกิจรถยนต์ที่ใครๆ ก็ต้องรู้จัก เฝ้าถามตัวเองซ้ำๆ ไม่ต่ำกว่า 20 ปีก่อนที่จะประสบความสำเร็จ

ชายผู้นี้มีชื่อว่า Henry Ford หรือผู้ก่อตั้ง Ford Motor ซึ่งบริษัทที่ผลิตรถยนต์ Ford ที่เราคุ้นชื่อกันในปัจจุบัน แต่ใครจะรู้ว่ากว่าที่เขาจะประสบความสำเร็จจนสามารถผลิตรถยนต์ที่ส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลกเป็นหลักล้านคันและเป็นจุดเริ่มต้นของยุคอุตสาหกรรมสมัยใหม่จนมีคำที่เรียกขั้นตอนของการพัฒนาอุตสาหกรรมในยุคนั้นว่า “Fordism” นั้น เขาต้องทำงานอยู่ภายใต้เงาของใครบางคนเป็นเวลานานและพบกับความล้มเหลวซ้ำๆ จนสามารถเรียกตัวเองได้ว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างเต็มปากในวัย 60 ปี ซึ่งเป็นวัยเกษียณของใครหลายคน

Henry Ford ต้องฝ่าฟันอุปสรรคอะไรบ้างและเขาประสบความสำเร็จได้อย่างไร วันนี้ เราจะไปค้นหาแรงบันดาลใจ พร้อมทั้งเรียนรู้บทเรียนเรื่องความสำเร็จจากชีวิตของเขา

Henry Ford เมื่อชีวิตถูกลิขิตให้พบกับความล้มเหลว

หากใครที่คิดว่าชีวิตของตัวเองมักจะพบกับเรื่องที่ล้มเหลวหรือมีโชคร้ายตลอดเวลา ขอให้รู้ไว้ว่าเรื่องราวของ Henry Ford นั้นอาจจะใกล้เคียงหรือสามารถเป็นเพื่อนกับคุณได้

ย้อนกลับไปเมื่อปี ค.ศ. 1863 ยุคที่สงครามกลางเมืองอเมริกา (American Civil War) กำลังดุเดือด Henry Ford ได้ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวผู้อพยพในสหรัฐอเมริกา ซึ่งสามารถเรียกได้ว่าเป็นครอบครัวมีฐานะยากจน โดยทำอาชีพเกษตรกรรมเพื่อหาเลี้ยงชีพ จนเขาต้องพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ของชีวิตเมื่อแม่ของเขาได้จากไปในช่วงที่เขาอายุเพียง 13 ปี

หลังจากนั้น พ่อก็มอบหมายหน้าที่ในการดูแลไร่ให้กับเขา แต่ Henry Ford มองว่าเขาไม่ได้มีความสนใจเรื่องการทำไร่ทำสวน เพราะที่เขาทำไปก็เพราะแม่เท่านั้น ตรงกันข้ามเขากลับมีแววของนักประดิษฐ์ตั้งแต่เด็ก โดยแสดงความสนใจในเรื่องของเครื่องกลและเครื่องจักรตั้งแต่อายุยังน้อย จนสามารถสร้างเครื่องจักรไอน้ำชิ้นแรกของตัวเองได้ในอายุเพียง 15 ปี

เมื่อเขารู้ตัวว่าตัวเองสนใจในเรื่องของการประดิษฐ์ งานช่างและเครื่องจักร เขาจึงเริ่มต้นอาชีพด้วยการตีตัวออกห่างจากการทำไร่ของครอบครัวแล้วหันมาฝึกงานด้านการช่างในเมืองดีทรอยด์ ต่อด้วยการเป็นช่างซ่อมเครื่องยนต์ไอน้ำที่รัฐมิชิแกน ควบคู่ไปกับการทำธุรกิจค้าไม้เล็กๆ จากที่ดินของครอบครัวของเขา ชีวิตมีความสุขบ้าง ทุกข์บ้าง ไม่มีความหวือหวาอะไร จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1891 Henry Ford ก็ได้พบกับจุดเปลี่ยนหนึ่งของชีวิต นั่นก็คือการ “เข้าไปร่วมงานกับ Thomas Edison”

จุดเปลี่ยนของชีวิต ที่นำพามิตรแท้มาให้

หากการนำพาตัวเองไปสู่สังคมที่ดี จะเป็นบันไดที่ทำให้คนคนหนึ่งยกระดับชีวิตของตัวเองขึ้นมาได้ การที่ Henry Ford ได้ตัดสินใจเข้าทำงานที่ Edison Illuminating Company ก็คงเป็นบันไดก้าวแรกที่ทำให้เขาได้มีเพื่อนที่ดีอย่าง Thomas Edison ผู้ที่ประดิษฐ์หลอดไฟและทำให้โลกได้รู้จักกับนวัตกรรมของกระแสไฟฟ้าในปัจจุบัน

Henry Ford ได้เข้าทำงานในตำแหน่งของวิศวกร ดูแลการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าของ Thomas Edison โดยเขาทุ่มเทแรงกายไปกับงานจนทำให้ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าวิศวกร มีทั้งประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคและทุนจำนวนหนึ่งที่ทำให้เขาเริ่มมองหาก้าวต่อไปที่จะเติบโตได้อีกขั้น

เพราะต้องยอมรับว่าการที่ได้ทำงานร่วมกับคนเก่งอย่าง Thomas Edison จะทำให้เขาพัฒนาตัวเองได้และมีเพื่อนคู่คิดที่สามารถแนะนำให้เขาได้ก็จริง แต่ถึงแม้ว่าเขาจะเก่งหรือทุ่มเทมากเท่าไหร่ เขาก็เป็นเพียงแค่คนเก่งที่อยู่ในเงาของ Thomas Edison เท่านั้น ไม่มีใครที่รู้จักเขาและไม่มีคนภายนอกรู้ว่าเขาเก่งมากเพียงใด

สุดท้ายเขาในวัย 36 ปีก็ลาออกจาก Edison Illuminating Company และนำเงินเก็บมาร่วมก่อตั้งบริษัท Detroit Automobile Company เพื่อผลิตรถยนต์เบนซินซึ่งเป็นสิ่งที่เขาสนใจ แต่โชคร้ายก็เกิดขึ้นกับเขา เพราะบริษัทนั้นได้ล้มละลายไปในเวลาไม่ถึง 1 ปีพร้อมกับเงินทุนที่เขาเก็บมาทั้งชีวิต

แต่ความใจสู้ของ Ford ก็ไม่ยอมแพ้เพียงเท่านั้น เขาพยายามตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงิน ทดลองเครื่องยนต์เป็นเวลา 2 ปีจนสามารถก่อตั้ง Henry Ford ได้ในวัย 38 ปี ซึ่งต่อมาบริษัทนี้ก็ได้กลายเป็นบริษัท Cadillac Motor Car Company และถูกยุบอีกครั้งภายในเวลา 1 ปีเช่นเดียวกัน

ความล้มละลายทั้ง 2 ครั้งในเวลาไม่กี่ปี ไม่ได้ทำให้เขาล้มเลิกความตั้งใจไป เพราะในปี 1903 Ford ในวัย 40 ปีก็นำเงินที่เขาได้มาจากการพัฒนารถแข่งหลายรุ่น จนประสบความสำเร็จในการชนะการแข่งขัน มาก่อตั้งบริษัท Ford Motor ซึ่งขายรถยนต์คันแรกในเดือนกรกฎาคม และทำกำไรได้ในปีแรก จนสามารถขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศในปีต่อๆ ไป

Advertisements
Advertisements

อะไรคือกุญแจความสำเร็จในครั้งที่ 3 นี้?

กุญแจเริ่มต้นความสำเร็จของ Ford ในวัย 40 ปีคือ “Model T” รุ่นรถยนต์อันโด่งดังที่เปิดตัวในปี 1908 และมียอดขายกว่า 15 ล้านคันในปี 1927 สร้างสถิติยอดขายรถยนต์ที่สูงตลอดกาล ซึ่งตรงกับ Henry Ford ในวัย 64 ปีพอดี

สิ่งที่ทำให้ Model T ดึงดูดความสนใจของมวลชนคือความน่าเชื่อถือของตัวเขาที่สั่งสมมาในวงการรถแข่ง ราคาที่ถูก และสามารถบำรุงรักษาง่าย Model T โด่งดังเป็นพลุแตกจน มีวิธีการผลิตสายการประกอบแบบเคลื่อนย้ายได้จาก Ford จนสามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมรถยนต์และการผลิตในวงกว้าง

แต่อุปสรรคก็ยังคงมาถึง เพราะแม้ว่าสายการผลิตแบบเคลื่อนย้ายได้จะน่าทึ่งเพราะสามารถผลิตผลงานได้ภายในเวลาเพียง 90 นาที แต่คนงานในโรงงานของ Ford กลับเกลียดมัน เพราะวิธีการผลิตแบบใหม่ทำให้งานมีความน่าเบื่อและซ้ำซาก อีกทั้งยังมีความกดดันจากการกำหนดเวลาในการทำงานให้เร็วที่สุด คนงานจำนวนมากจึงลาออกและไปเข้าทำงานกับคู่แข่งของเขา

Ford มองเห็นจุดอ่อนของธุรกิจจากตรงนี้ ในเมื่อเขาไม่ได้ใจจากคนงาน แล้วธุรกิจของเขาจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร? จนสุดท้ายเขาก็เริ่มคำนึงถึงความเป็นอยู่ของคนงาน ริเริ่มการปรับสวัสดิการต่างๆ ลดเวลาทำงาน เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ จนกลายมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า “$5 Day” ซึ่งเป็นวันที่คนงานจะได้รับค่าแรงสูงถึง 5 ดอลลาร์ (เป็นสองเท่าของค่าแรงต่อวันในยุคนั้น) ไปพร้อมกับการลดระยะเวลากะลง เหลือเพียงกะละ 8 ชั่วโมง ซึ่งน้อยกว่ามาตรฐานของโรงงานอื่นๆ ถึง 1 ชั่วโมง จนมีคนงานที่อยากกลับมาทำงานกับเขามากขึ้นและมากขึ้น

Ford ในวัย 60 ไม่ได้เกรงกลัวต่ออุปสรรคอีกต่อไปแล้ว ประสบการณ์ในชีวิตที่เขาสั่งสมมาทำให้เขาเป็นเหมือนกับไม้ไผ่ที่ลู่ลมตลอดเวลา แม้กระทั่งในปี 1929 ที่โลกเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่

แต่แล้ว ในปี 1929 โลกได้เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) มีอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจนต้องปลดคนงานและปิดตัวลงมากมาย คนอเมริกัน 1 ใน 4 คนต้องพบกับการตกงานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ Ford Motor กลับสามารถยืนอยู่ในวิกฤตครั้งนั้นได้ ด้วยการครองส่วนแบ่งตลาดรถยนต์อเมริการ่วมกับ General Motors และ Chrysler Motors ถึง 80%

Henry Ford ทุ่มเทกับการทำงานในสิ่งที่เขารักตั้งแต่ยังเด็ก ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขจนกระทั่งปี 1947 เขาได้จากไปอย่างสงบในวัย 83 ปี

บทเรียนชีวิตจาก Henry Ford ชายผู้สร้างความสำเร็จในวัย 60

แม้ว่า Henry Ford จะจากไป แต่ชื่อของเขากับแบรนด์รถยนต์ Ford Motor ก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งเรื่องราวการสู้ชีวิตที่เป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นหลังได้สร้างแรงบันดาลใจกัน

บทเรียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราสามารถเรียนรู้ได้จากชีวิตของเขาคือ “ความสำเร็จไม่จำกัดอายุ” คนเรางอกงามได้ในเวลาที่แตกต่างกัน จังหวะชีวิตของคนเราไม่เหมือนกัน จึงไม่แปลกที่เราจะฝ่าฟันอุปสรรคและสามารถประสบความสำเร็จได้ในอายุที่ใครหลายคนเรียกว่า “มาก” เพราะไม่ว่าอย่างไร ความสำเร็จก็คือความสำเร็จ

บทเรียนต่อมาคือ “การมองความล้มเหลวให้เป็นโอกาส” ถ้าหากเราลองนึกถึงความล้มเหลวในครั้งที่ 2 ของเขา แทนที่เขาจะผิดหวังและล้มเลิกความฝันไป เขากลับยังคงทำงานในวงการรถแข่งเพื่อสั่งสมประสบการณ์ เงินทุนก้อนใหม่ และชื่อเสียงในวงการคนรักรถก่อนที่จะสร้างบริษัท Ford Motor ขึ้นมาอีกครั้ง

Henry Ford ไม่ได้มองว่าความล้มเหลวเป็นสิ่งที่น่ารำคาญหรือรังเกียจ แต่กลับเป็นก้าวย่างใหม่สู่ความสำเร็จ ดังนั้น หากเรา “ถือว่าความล้มเหลวเป็นโอกาส” ไม่เสียใจหรือจมปลักกับอารมณ์ที่เกิดขึ้น แต่หาจุดที่ทำให้เราสามารถตักตวงผลประโยชน์จากโอกาสระหว่างนั้นให้ได้ เพราะเมื่อเราล้มเหลว มันจะเป็นโอกาสเดียวที่ทำให้เราค้นพบวิธีการใหม่ๆ ในการทำสิ่งต่างๆ และเรียนรู้วิธีในการไปถึงความสำเร็จใหม่จากมัน

และบทเรียนสุดท้ายที่พลาดไม่ได้เลยก็คือ “ให้เชื่อมั่นในตัวเอง” Henry Ford เคยกล่าวไว้ว่า “Whether you think you can or think you can’t, you’re probably right” ไม่ว่าเราจะคิดว่าเราทำได้หรือทำไม่ได้ สุดท้ายความคิดของเราก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง จงเชื่อมั่นในตัวเองและเป้าหมายของตัวเอง แม้ว่าจะถูกขัดขวางด้วยอุปสรรคใดๆ แต่สุดท้ายตัวเราก็ยังคงเป็นเราก่อนหน้านั้น อย่าหมดหวังหรือผิดหวังกับตัวเองเพียงเพราะเจออุปสรรค

คนเรามักจะแสวงหาการยอมรับจากคนที่เราชื่นชม ยึดติดกับความสำเร็จว่าต้องเป็นไปตามค่านิยม ตามมาตรฐานความสำเร็จที่คนส่วนใหญ่มอง โดยที่เรามักลืมไปว่าการยอมรับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมันคือ “การยอมรับตัวเอง” เหมือนกับที่เราได้เรียนรู้จาก Henry Ford ว่าเขามีความยอมรับ นับถือ รู้ว่าตัวเองเก่งอะไร และเชื่อมั่นในตัวเองโดยที่ไม่สนใจว่าใครจะมองว่าเขาเป็นคนอย่างไร แม้ว่าเราจะเผชิญกับความล้มเหลวและอุปสรรคมากมาย แต่เมื่อเราเชื่อว่าตัวเราจะสามารถประสบความสำเร็จได้ เป้าหมายนั้นก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย เหมือนกับเด็กที่เกิดในครอบครัวชาวไร่ผู้ยากจนคนนั้น ได้ฝ่าฟันอุปสรรคจนเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมของทั้งโลกได้ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเอง

อ้างอิง
– Henry Ford : Elysse Bell, Investopedia – https://bit.ly/4aBAOIx 
– Life Lessons from Henry Ford : Leverage Edu – https://bit.ly/48xmE9z

#inspiration
#henryford
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า