บ้านที่ไม่ใช่บ้าน จะทำอย่างไรเมื่อบ้านไม่ใช่ Comfort Zone อีกต่อไป

4168
comfort zone

‘บ้านคือวิมานของเรา’ 

เราถูกสั่งสอนกันมาโดยตลอดว่า ‘บ้าน’ คือ สถานที่ที่ให้ความรักและความอบอุ่นภายในครอบครัว เป็นแหล่งพักพิงกายและใจยามเหนื่อยล้า แต่สำหรับบางคนก็อาจไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะบางครั้ง เวลาพบเจอปัญหาอะไรมา ‘บ้าน’ กลับไม่ใช่ที่แรกที่หลายคนเลือกที่จะคุยด้วย บางทีอาจเป็นที่สุดท้ายที่จะเลือกบอกเลยด้วยซ้ำ หรือในหลายครั้งเอง ปัญหาที่พบเจอแต่ละวันส่วนใหญ่ก็ดันมาจากภายในตัวบ้านเอง

มนุษย์ทุกคนล้วนต้องการ Comfort Zone

‘Comfort Zone’ ในที่นี้ คือ พื้นที่ที่เป็น ‘Safe Zone ทางใจ’ พื้นที่ที่ทำให้รู้สึกปลอดภัยทางความคิด อารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งอาจเป็นคน สถานที่ สิ่งของ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่อยู่ด้วยแล้ว ‘สบายใจ’ มนุษย์ทุกคนจึงต้องการ Comfort Zone เป็นของตัวเอง แต่ว่า ‘บ้าน’ พื้นที่ที่ควรได้เป็นพื้นที่พักใจตรงนี้ กลับเป็นสถานที่ที่บางครั้งทำให้จิตใจต้องเหนื่อยล้าไปกว่าเดิม

Advertisements

ตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้คนส่วนใหญ่ลดการเคลื่อนที่ออกไปไหนมาไหนลงอย่างเห็นได้ชัด เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของเราแทบจะใช้ชีวิตติดอยู่กับบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ทั้งเรียนออนไลน์ และ Work From Home แน่นอนว่าคนเราเมื่ออยู่ด้วยกันย่อมมีเหตุกระทบกระทั่งกันเป็นเรื่องธรรมดา 

ทั้งในปัญหาเรื่องความต้องการที่ไม่ตรงกัน เพราะเด็กที่กำลังก้าวเข้าสู่วัยรุ่นนั้นเริ่มต้องการอิสระ อยากมีพื้นที่ส่วนตัว และใช้ชีวิตเป็นของตัวเอง ในขณะที่ผู้ปกครองยังคงต้องการสอดส่องดูแล และควบคุมดูแลบุตรหลานตัวเองอยู่ ทำให้หลายครั้งเด็กรู้สึกถูกรบกวนพื้นที่ส่วนตัว ในขณะที่ผู้ปกครองมองว่าทำไปเพราะความเป็นห่วง ต่างฝ่ายต่างมีความต้องการและความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน

หรือการมีปัญหาจากความคิดเห็นที่ต่างกัน จากความห่างของเจเนอเรชัน จึงมีทัศนคติต่อประเด็นในสังคม และมุมมองการมองโลกมาจากคนละมุมมองกัน เด็กสมัยนี้ที่มีความเป็นปัจเจกบุคคล (Individualism) มากยิ่งขึ้น กล้าแสดงความคิดเห็นออกมาตรงๆ กับผู้ใหญ่ที่เติบโตมากับการเชื่อฟังและความเคารพ เน้นการทำตามเป็นหมู่คณะ (Collectivism) เชื่อในการมีแบบแผนเป็นไปตามบรรทัดฐาน เมื่อต่างฝ่ายต่างมีจุดยืนเป็นของตัวเอง จึงกลายเป็นเหมือนไฟกับไฟที่พร้อมสาดใส่กันตลอดเวลา

หรือที่ร้ายแรงที่สุด อย่างเรื่องการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว หากคนเป็นลูกถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและใจ ที่แห่งนี้จะยังคงถูกเรียกว่าเป็นบ้านอยู่อีกหรือไม่?

เมื่อความขัดแย้งภายในครอบครัวมีรุนแรงมากขึ้นแบบนี้ ‘บ้าน’ ก็ไม่ใช่บ้านแบบที่ต้องการอีกต่อไป 

แล้วจะทำอย่างไรให้บ้าน กลับไปเป็นบ้านเหมือนเดิม?

1) หาโอกาสปรับความเข้าใจและพูดคุยกัน

เมื่อมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน หรือรู้สึกไม่พอใจกับความคิดหรือการกระทำของอีกฝ่าย ‘การรับฟัง’ คือสิ่งสำคัญ เริ่มจากการฟังเหตุผลอีกฝ่ายโดยปราศจากอคติ ผู้ใหญ่ไม่ควรหาว่า การที่อีกฝ่ายเด็กกว่าจะแปลว่าไม่มีเหตุผล หรือไม่รู้ดีเท่าตัวเอง ลองฟังเหตุผลของอีกฝ่ายด้วยความตั้งใจดูก่อน อาจได้แง่มุมดีๆ ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นก็ได้เหมือนกัน หรือว่าเด็กเองก็ไม่ควรหาว่าผู้ใหญ่ล้าสมัย ไม่เข้าใจโลกสมัยนี้ ลองรับฟังบางคำแนะนำก็อาจนำไปปรับใช้ในปัจจุบันได้บ้างเช่นกัน และสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ทั้งสองฝ่ายควรพูดคุยกันด้วยเหตุผล ปราศจากอารมณ์ และนึกถึงความรู้สึกอีกฝ่าย ไม่เอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่อยู่ฝ่ายเดียว ลองคิดในมุมว่าถ้าเป็นอีกฝ่าย หากถูกกระทำแบบเดียวกับสิ่งที่ตัวเองทำอยู่จะรู้สึกอย่างไร ไม่ควรทำในสิ่งที่อาจทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ตาม

2) หาที่พึ่งทางใจอื่นแทน

ถ้าคุยกันแล้วยังไม่เข้าใจ อีกฝ่ายไม่ยอมลดอีโก้ของตัวเองลง ความจริงแล้ว Comfort Zone ของคนเราทุกคนอาจไม่จำเป็นต้องเป็นบ้านเสมอไปก็ได้ อาจหาที่พึ่งทางใจเป็นเพื่อน คนรัก หรือสัตว์เลี้ยง แม้แต่การได้ฟังเพลง ดูหนัง ทำงานอดิเรกที่ชอบ ก็เป็นแหล่งพักใจที่ดีอีกเหมือนกัน ถ้าสุดท้ายคนในครอบครัวเป็นให้ไม่ได้จริงๆ ลองหาที่ที่อื่นที่ทำให้สบายใจขึ้นมาหน่อยก็ได้เหมือนกัน

Advertisements

3) แยกกันอยู่บ้าง

อาจหาพื้นที่ส่วนตัวของตัวเองภายในบ้าน หรือบางครั้งการแยกกันอยู่กันไปเลย อาจดีต่อความสัมพันธ์มากกว่าการอยู่ร่วมกันตลอดเวลา การเว้นระยะห่างจากกัน ได้กลับมาเจอกันนานๆ ที ปล่อยให้ความรู้สึกคิดถึงได้ทำงานบ้าง อาจทำให้ความสัมพันธ์ในครอบครัวดีขึ้นมาก็ได้ ยิ่งสังเกตได้จากตั้งแต่มีการล็อกดาวน์ ทั้งที่ปกติอยู่ด้วยกันก็ดูไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่พออยู่ด้วยกันมากเกินไปก็มีแต่เรื่องให้ทะเลาะกันไม่เว้นแต่ละวัน 

และถ้าในกรณีที่มีปัญหาการทำร้ายร่างกายกันภายในบ้านเลยล่ะก็ ที่ที่นั้นคงไม่ใช่บ้านที่คุณควรอยู่อีกต่อไป คนรอบข้างเองก็ควรช่วยกันสอดส่องดูแล หากเกิดความรุนแรงขึ้นภายในครอบครัวใด ควรแจ้งมูลนิธิหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้าไปทำการช่วยเหลือทันที เพราะไม่มีใครมีสิทธิ์ทำร้ายร่างกายผู้อื่น ไม่ว่าเหตุผลใดก็ตาม

เพื่อให้บ้านเป็นที่ที่อบอุ่นอยู่แล้วสบายใจแก่สมาชิกทุกคนในครอบครัว ลองหันมาปรับและเปิดใจรับฟังอีกฝ่าย คุยกันด้วยเหตุผล แล้วมาหาทางออกของปัญหาร่วมกันกันดีกว่า!

เพราะ ‘คนในครอบครัว’ ควรได้เป็นคอมฟอร์ตโซนของกันและกัน 

ท่ามกลางโลกภายนอกที่โหดร้าย ยามที่โดดเดี่ยวไม่มีใคร อย่างน้อยก็อยากให้ยังคงมีพื้นที่สักแห่ง อย่างเช่น ‘บ้าน’ ให้ได้กลับไปพักผ่อนหัวใจ รับกอดอุ่นๆ ชาร์จพลังกลับมาใหม่ หลังหมดวันที่เหนื่อยล้าไปในแต่ละวัน


อ้างอิง:

https://bit.ly/3iq1TW4

#missiontothemoon 

#missiontothemoonpodcast

#society

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements