5 ข้อที่ต้องตัดสินใจ ก่อนจะสายเกินไปที่จะเปลี่ยนสายการเรียน

5838
เปลี่ยนสายการเรียน

การเปลี่ยนสาขาหรือคณะที่เรียน หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘ซิ่ว’ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่อย่างใด ปัจจุบันนักเรียนและนักศึกษาหลายคนที่ไม่ได้ชอบในสิ่งที่ตนเรียน ก็เลือกซิ่วไปเรียนในคณะอื่นที่ชอบ เพราะมองว่าการได้เรียนในสิ่งที่ชอบและทำงานในสิ่งที่รักคงจะมีความสุขมากกว่าทนอยู่กับสิ่งที่เราไม่ชอบและไม่ต้องการ

แต่การจะเปลี่ยนสาขาหรือย้ายคณะไม่ใช่เรื่องง่าย ไหนจะต้องใช้เวลาเรียนมากขึ้นอย่างน้อย 1-2 ปี ค่าใช้จ่ายที่อาจจะสูงขึ้นเพราะไปเรียนคณะที่ต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะทาง หรือบางคนกลัวกับการต้องปรับตัวใช้ชีวิตในที่ใหม่ๆ เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาที่เรามักพบเจอบ่อยๆ สำหรับคนที่อยากเปลี่ยนสายการเรียน

ฉะนั้น ใครที่กำลังตัดสินใจว่าจะซิ่วหรือไม่ซิ่วดี ลองพิจารณาถึงปัจจัยทั้ง 5 ข้อที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ว่าเรารู้สึกอย่างไร จะได้รู้ว่าเราพร้อมหรือไม่กับเส้นทางใหม่ที่เราจะเลือก

Advertisements

1. วิชาและทักษะที่ชอบ

สิ่งแรกที่ต้องพิจารณาก่อนจะย้ายไปเรียนสาขาอื่น คือ เราชอบวิชาต่างๆ ในสาขานั้นหรือเปล่า?

ความชอบในสิ่งต่างๆ จะช่วยผลักดันให้เรามีแรงจูงใจในการลงมือทำ ไม่เว้นกระทั่งการเรียน ต่อให้เราไม่ถนัดในสาขาวิชานั้นๆ เราก็จะมีความพยายามมากกว่าการเรียนไปวันๆ โดยไม่มีความชอบหรือแรงบันดาลใจมาคอยผลักดัน และต่อให้เหนื่อยแค่ไหน กำลังใจที่ดีก็จะคอยเป็นเชื้อไฟให้เราสู้กับความเหนื่อยที่เข้ามาในระหว่างเรียน และเป็นแต้มต่อเมื่อเราออกไปทำงานในสายอาชีพที่ใช้ทักษะที่ชอบ เพราะเราจะทุ่มเทกับสิ่งที่ชอบมากกว่าคนทั่วไป ส่งผลให้งานเราออกมาดี

อย่างไรก็ตาม ก่อนจะย้ายไปเรียนคณะหรือสาขาที่ชอบ อย่าลืมตรวจสอบว่าหลักสูตรนั้นต้องเรียนวิชาอะไรบ้าง เพราะถึงแม้จะเป็นสาขาที่เราชอบ ได้เรียนวิชาที่เรารัก จะอย่างไรก็ต้องเจอสักวิชาที่เราอาจจะไม่ชอบหรือถึงขั้นเกลียดได้ ถ้าเรารู้ว่าจะต้องเจอกับอะไร อย่างน้อยที่สุดเราจะสามารถวางแผนรับมือล่วงหน้าได้ในระดับหนึ่ง เมื่อต้องเจอกับปัญหาจริงๆ เราจะได้ไม่วิตกกังวลเกินไป

2. วิชาและทักษะที่ถนัด

บางคนอาจจะบอกว่า เรียนได้ทุกวิชา ไม่มีสาขาที่ชอบหรือเกลียด แต่ถ้าเราอยากจะย้ายไปเรียนคณะอื่น การไปเรียนคณะที่จะช่วยส่งเสริมวิชาที่เราถนัดก็เป็นเรื่องที่ดี แม้ทักษะหลายๆ อย่างจะสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง เช่น การแปลระหว่างภาษา งานตัดต่อรูปภาพวิดีโอ หรือแม้กระทั่งเขียนโปรแกรมก็ตาม แต่การที่เราได้เรียนในคณะที่สอนวิชาหรือทักษะที่เราถนัดพ่วงเนื้อหาเชิงลึก จะทำให้เราพัฒนาฝีมือและลับคมทักษะของเราได้รวดเร็วกว่าเดิม อีกทั้งในสาขานั้นๆ ก็จะมีคอนเนกชัน (Connection) ของสายอาชีพที่ต้องอาศัยทักษะเฉพาะ เป็นใบเบิกทางให้เราหางานที่ต้องการได้ง่ายขึ้น

3. เงินทุนการศึกษา

หากเราต้องย้ายไปเรียนคณะหรือสาขาใหม่ ต้องไม่ลืมพิจารณาในเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเทอม ค่าบำรุงการศึกษา และค่าจิปาถะต่างๆ สำหรับคนที่ต้องทำงานพิเศษก็อาจจะต้องจัดเวลาทำงานใหม่ หรือถ้าไม่ได้ทำงานและทางบ้านไม่สามารถส่งเสียได้เต็มกำลัง อย่าลืมเช็กว่าทางมหาวิทยาลัยมีทุนอะไรที่เราสมัครได้ การสมัครกองทุนให้กู้ยืมทางการศึกษาเช่น กยศ. หรือ กรอ. ก็เป็นอีกทางเลือกที่ดีเช่นกัน

4. ความต้องการของตลาดแรงงาน

การที่ต้องพิจารณาตลาดแรงงานไม่ได้แปลว่าจะต้องเรียนไปตามความต้องการของตลาด แต่ให้ดูแนวโน้มว่าอาชีพไหนที่น่าจะเป็นที่ต้องการในช่วง 3-4 ปีข้างหน้าหลังจากเราเรียนจบ หากไม่ได้เรียนในสาขาที่ไม่ใช่วิชาชีพเฉพาะทาง อาชีพที่เราสามารถประกอบได้นั้นค่อนข้างกว้างและหลากหลาย

Advertisements

ดังนั้น การเช็กตลาดแรงงานจะช่วยให้เราวางแผนถึงอาชีพที่เราต้องการจะทำในอนาคตไม่ว่าจะระยะยาวหรือระยะสั้น และเแทนที่ต้องเรียนไปหมดทุกอย่าง การมีแผนตั้งไว้จะช่วยให้เราเลือกว่า ต้องฝึกฝนทักษะไหนเพิ่มเติม หรือต้องมุ่งเน้นไปทางด้านไหนได้ง่ายขึ้น

5. เราอยากเปลี่ยนสายด้วยตัวเองหรือไม่?

นี่อาจจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดจากทั้งหมด คำถามที่เราควรถามตัวเองทุกครั้งก่อนจะตัดสินใจในเรื่องสำคัญไม่ว่าเรื่องไหนคือ เราอยากทำมันด้วยความต้องการของเราเองหรือเปล่า?

อย่าลืมว่า เราต้องเรียนในคณะใหม่ไปอย่างน้อย 3-4 ปี อาจถึง 6 ปีสำหรับบางคณะเช่นแพทย์หรือเภสัช เมื่อจบออกไปทำงานหากเรียนในสาขาวิชาชีพเฉพาะ เราก็จะต้องทนทำงานนั้นไปตลอดชีวิตหรือจนกว่าจะหางานอื่นทำได้

แต่ทำไมเราต้องทนกับสิ่งที่เราไม่ได้เลือกด้วยตัวเองถ้าไม่ได้มีเหตุจำเป็น?

การที่ต้องฝืนใจตนเองทำในสิ่งที่คนอื่นบังคับนั้นไม่ใช่เรื่องที่ดี เพราะต่อให้เราทนเรียนได้ แต่ในใจลึกๆ แล้วเราอาจจะต่อต้าน ไปจนถึงขั้นกระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราและคนรอบข้าง บางคนประสบปัญหากับโรคซึมเศร้าและโรคทางจิตเวชอื่นๆ เพียงเพราะต้องทำตามสิ่งที่คนอื่นคิดว่าดีและบังคับให้ทำ

หากได้เลือกด้วยตัวเอง อย่างน้อยที่สุดถ้าเลือกไปแล้วไม่ชอบก็ไม่ต้องโกรธหรือเกลียดใคร หากเลือกไปแล้วไม่พอใจอย่างน้อยเราจะได้หาทางแก้ไขได้ง่ายกว่า เพราะเราทำด้วยตัวเอง เราแก้ไขด้วยตัวเอง ไม่ต้องมาแก้ปัญหาที่เกิดจากคนอื่นแล้วกระทบตัวเรา ไม่ต้องแก้ไขในสิ่งที่เราไม่ได้เลือกและไม่ได้ก่อ

เปลี่ยนสายการเรียนไม่ใช่เรื่องแปลก

ในยุคที่เส้นทางอาชีพและแนวคิดเปิดกว้างมากขึ้น การจะเปลี่ยนย้ายสาขาไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป เราไม่จำเป็นต้องทนกับสิ่งที่เราไม่ชอบ เรามีสิทธิ์ตัดสินใจเลือกได้ด้วยตัวเอง แต่ก็ต้องไม่ลืมพิจารณาปัจจัยความจำเป็นต่างๆ ที่จะส่งผลต่อสิ่งที่เราเลือกด้วย และถึงแม้คนเราจะไม่แก่เกินเรียน แต่เวลาที่เสียไปแล้วไม่อาจหวนคืน บางครั้งคำว่าสายเกินไปอาจหมายถึงโอกาสบางอย่างในชีวิตที่ไม่หวนกลับคืนมา


Sponsored by Sasi Acne Sol

#MissionToTheMoonPodcast

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements