‘McDonald’s Theory’ ทริกกระตุ้นให้ทีมออกความคิดเห็น ด้วยการนำเสนอ ‘ไอเดียห่วยๆ’

1545
McDonald's

จุดประกายไอเดียด้วย McDonald’s Theory

ลองนึกภาพว่าคุณกำลังจะไปทานข้าวเที่ยงกับเพื่อนร่วมงานของคุณ แต่คุณก็ต้องเจอกับปัญหาโลกแตกจากคำพูดที่ว่า “กินอะไรดี?” และต่างฝ่ายต่างก็พูดว่า “แล้วแต่เลย” หรือ “อะไรก็ได้” จนไม่ได้เลือกสักที

และสิ่งที่ Jon Bell ผู้ที่คิดคำเรียก ‘McDonald’s Theory’ ได้ทำก็คือ..การเสนอว่าไปกิน McDonald’s!

แต่แล้วไอเดียร้านอาหารจากเพื่อนร่วมงานแต่ละคนก็พวยพุ่งออกมาอย่างน่าอัศจรรย์ และลงความเห็นกันว่าพวกเขาไม่อยากที่จะไปกิน McDonald’s เป็นอาหารมื้อเที่ยง และนี่ก็จึงเป็นที่มาของทฤษฎีแมคโดนัลด์นั่นเอง

Advertisements

โดยเขาได้นิยามความหมายของ McDonald’s Theory ว่า ‘เป็นการจุดประกายให้คนอื่นๆ หรือตัวเราเองนั้นสามารถคิดและนำเสนอไอเดียดีๆ ด้วยการออกไอเดียแย่ๆ ไปก่อน’ ซึ่งถือว่าเป็นไอเดียที่คาดไม่ถึงอย่างมาก ในการที่จะทลายกำแพงแห่งความคิดและกระตุ้นให้คนอื่นเกิดความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมา

โดย Jon Bell ผู้ที่คิดค้น McDonald’s Theory นี้ขึ้นมาก็ได้นำไปใช้ในชีวิตกับการทำงานของเขาอยู่บ่อยๆ โดยเมื่อมีโปรเจกต์ใหม่เข้ามา แน่นอนว่าการเริ่มคิดไอเดียแรกขึ้นมานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่ถ้ามีใครเสนอไอเดียแรกขึ้นมาแล้ว ไอเดียที่สองและไอเดียที่สามก็ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ซึ่งมันก็จริงอย่างที่เขาพูดกันว่า “ก้าวแรกนั้นยากที่สุด”

แนวคิดเช่นนี้ก็เหมือนกับการที่ Ann Lamott นักเขียนชื่อดัง เชื่อในคำว่า ‘ดราฟต์แรกห่วยๆ’ และยังเหมือนกับวลีที่ Nike ชอบใช้อย่าง ‘Just Do It!’ หรือที่แปลว่า ‘จงลงมือทำซะ!’ ในขณะที่ McDonald’s Theory ก็เป็นการบอกให้เรานำเสนอไอเดียแรก (ที่อาจจะดูไม่เข้าท่าสักเท่าไหร่) ที่จะทำให้คนอื่นๆ นั้นทนไม่ไหวจนต้องเสนอไอเดียที่ดีกว่าออกมา

ซึ่งทั้ง Anne Lamott, Nike และ McDonald’s Theory ก็ได้พยายามที่จะนำเสนอแนวคิดที่คล้ายคลึงกันว่า ‘ก้าวแรกนั้นไม่ได้ยากเหมือนอย่างที่พวกเราคิดไว้’

แน่นอนว่าการเริ่มต้นจะต้องใช้ความกล้าอย่างมาก ในการที่จะก้าวข้ามผ่านความไม่แน่ใจในตัวเอง เพราะคนเราเมื่อคิดไอเดียอะไรได้ ก็ชอบที่จะตั้งคำถามและตัดสินในสิ่งที่เราคิดไปก่อน ไม่ว่าจะเป็นความคิดที่ว่า ‘ไอเดียนี้มันเป็นไอเดียที่โง่เง่าจริงๆ’ หรือ ‘ไอเดียนี้มันไม่น่าจะเวิร์กหรอก’ หรือแม้แต่ ‘เราควรจะไปหาไอเดียอื่นดีกว่า’ ซึ่งถ้าทุกคนคิดเช่นนี้ มันก็คงทำให้เราไม่ได้เริ่มต้นก้าวแรกสักที

Advertisements

ทำให้เราจึงต้องก้าวข้ามความวุ่นวายในหัวของตัวเองให้ได้ และจงนั่งลงและเริ่มที่จะเขียนอะไรลงไป วาดอะไรลงไป หรือลงมือทำอะไรสักอย่าง และหลังจากนั้นก็ค่อยๆ แก้ไขและปรับเปลี่ยนมันไปก็ได้ เพราะการที่เราโยนไอเดียแรกลงไป ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องยึดมันเป็นไอเดียที่เราจะใช้ แต่เป็นการจุดประกายให้เราสามารถคิดถึงไอเดียอื่นๆ ได้มากขึ้น

ดังนั้น หากต้องมีการทำงานร่วมกันในทีมเพื่อคิดโปรโจกต์ใหม่ๆ ก็อย่ารอช้าที่จะไปหยิบปากกามาร์คเกอร์ พร้อมกับเดินไปที่ไวท์บอร์ด และเริ่มที่จะโยนไอเดียอะไรก็ได้เข้าไป ถึงแม้ว่าไอเดียนั้นจะแย่หรือจะห่วยสักเพียงใด แต่นั่นก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่จะทำให้ทุกคนในทีมร่วมกันนำเสนอไอเดียที่ดีกว่าออกมา

อย่างไรก็ตาม McDonald’s Theory ก็ไม่ได้ติดอยู่แค่การใช้กับเพื่อนร่วมงานหรือในกลุ่มเพื่อนเท่านั้น แต่ทุกๆ คน ไม่ว่าจะอาชีพใดก็ตาม ก็สามารถที่จะนำทฤษฎีแมคโดนัลด์นี้ไปปรับใช้ได้ในหลากหลายเหตุการณ์ที่เราต้องเผชิญในชีวิต

ซึ่งถ้าหากคุณเป็นนักเขียน ก็อาจจะเริ่มลงมือเขียน ถึงแม้ว่าดราฟต์แรกมันจะแย่สักเท่าไร แต่ดราฟต์สองมันจะดีกว่านี้แน่นอน หรือถ้าหากคุณเป็นผู้ประกอบการ ก็อย่าลังเลกับไอเดียของคุณ ลองลงมือจดไอเดียแรกของเราไว้ก่อน อย่าไปรอว่าคุณจะมีไอเดียที่สมบูรณ์แบบทันที หรือแม้แต่ว่า ถ้าหากคุณกำลังหาร้านอาหารกับเพื่อนๆ ก็อาจจะเสนอร้านที่คิดว่าพวกเขาจะไม่ชอบที่สุด ที่จะกระตุ้นให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาจะต้องออกไอเดียที่ดีกว่านี้แล้วล่ะ!


แปลและเรียบเรียง:
https://bit.ly/336dVf6
https://bit.ly/3eaCTQC

#MissionToTheMoonPodcast

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements