PSYCHOLOGYวันที่มิตรภาพอยู่เหนือสงคราม ปาฏิหาริย์และจิตวิทยาของ การพักรบในคืนคริสต์มาสอีฟ

วันที่มิตรภาพอยู่เหนือสงคราม ปาฏิหาริย์และจิตวิทยาของ การพักรบในคืนคริสต์มาสอีฟ

เคยถูกใครสักคนไม่ชอบ จนคิดว่าไม่น่าจะกลับมาญาติดีกันได้แน่ๆ หรือเปล่า?

ไม่ว่าในสังคมขนาดเล็กหรือสังคมขนาดใหญ่ เมื่อมีคนรักก็ต้องมีคนเกลียด เมื่อมีคนเห็นด้วยก็ต้องมีคนโต้แย้ง และแม้มีความสงบสุขก็ยังมีเรื่องให้เกิดสงคราม สังคมของเราขับเคลื่อนด้วยสัจธรรมของสองสิ่งที่คอยตรงข้ามกันเสมอ

วลีอย่าง “เปลี่ยนศัตรูให้กลายเป็นมิตรแท้” จึงดูเป็นเรื่องในนิยาย ดูเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไปเปลี่ยนใคร และดูไม่มีประโยชน์ให้คาดหวัง แต่ถึงอย่างนั้น ธรรมชาติก็สร้างให้มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ไขว่คว้าหาความสัมพันธ์ที่ดี คาดหวังการเป็นส่วนหนึ่งในสังคม และถ้าเรา “เลือกได้” ก็คงไม่อยากมีศัตรูหรือขัดแย้งกับใคร

ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จึงเกิดเหตุการณ์พักรบที่เหนือความคาดหมายของคนทั่วโลก เมื่อทหารอังกฤษและเยอรมันในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่างข้ามเขตแดนของตนเองออกมาเพื่อฉลองคริสต์มาสด้วยกันกลางสนามรบ โดยหนังสือพิมพ์เรียกขานเหตุการณ์นี้ว่า “Christmas Truce” หรือ “การพักรบในวันคริสต์มาส”

ทั้งที่ปัจจัยแวดล้อมไม่เอื้ออำนวยให้สร้างมิตรภาพเลย แต่กลับกลายเป็นปรากฏการณ์ที่โด่งดัง และสร้างความประทับใจให้กับผู้คนมาจนถึงยุคปัจจุบัน นอกจากนั้น นักวิชาการต่างให้ความสนใจ และหยิบยกมาพูดถึงในหนังสือหลายเล่ม โดยใช้คำอธิบายจากศาสตร์ต่างๆ เช่น จิตวิทยา ชีววิทยา มานุษยวิทยา และปรัชญา

เรื่องราวของเหตุการณ์นี้ ต้องย้อนกลับไปในตอนกลางคืนของวันที่ 24 ธันวาคม ค.ศ. 1914 ณ ทุ่งแฟลนเดอร์ บริเวณทางตอนใต้ของประเทศเบลเยียม สงครามโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ยืดเยื้อมาถึงเดือนที่ห้า บริเวณนั้นมีศพทหารถูกฝังกองทับกันในหลุมใหญ่กว่า 30 เมตร ทหารของทั้งสองฝ่ายจำนวนมากกว่าล้านนายต้องฝืนทนใช้ชีวิตในอากาศหนาวจัด นอนอยู่ในร่องสนามเพลาะที่ถูกขึงด้วยตาข่ายอย่างแน่นหนา

ร่องสนามเพลาะในสนามรบต้องขุดให้ลึกกว่าระดับน้ำทะเลถึง 3 เมตร เมื่อฝนตกก็จะทำให้เกิดน้ำขังได้ง่าย พื้นดินจึงชื้นแฉะ สะสมไปด้วยเชื้อโรค และกลายเป็นที่อยู่ของหนูและแมลง เมื่อฤดูหนาวมาถึง สภาพแวดล้อมที่เลวร้ายอยู่แล้ว ก็จะยิ่งเลวร้ายมากขึ้นไปอีก ทหารจะต้องเผชิญกับอากาศที่หนาวเย็นกว่าปกติและลมหนาวที่เย็นเยียบไปถึงกระดูก

ในคืนวันคริสต์มาสอีฟครั้งนั้นเอง สิ่งที่น่าอัศจรรย์ใจก็เกิดขึ้น ทหารเยอรมันจุดเทียนบนต้นคริสต์มาสเล็กๆ นับพันต้นที่ถูกส่งมาเพื่อปลอบขวัญพวกเขา เขตสนามเพลาะสว่างไสวไปด้วยแสงเทียน หลังจากนั้นทหารเยอรมันก็เริ่มร้องเพลง “ราตรีสงัด (Silent Night)” อย่างรื่นเริง

ทหารอังกฤษจากอีกฝั่งต่างพากันงุนงงกับสิ่งที่ตัวเองได้เห็นและได้ยิน พวกเขาลองปรบมือให้ทหารเยอรมันอย่างลังเลในตอนแรก และพากันสนุกสนานไปด้วยในเวลาต่อมา พวกเขาร้องเพลงตอบไปยังทหารเยอรมันฝ่ายศัตรู และผลที่ได้รับกลับมาก็คือ “เสียงปรบมือ” เช่นกัน

ทหารจำนวนหนึ่งจากทั้งสองฝั่งออกมาจากร่องสนามเพลาะ และเริ่มเดินข้ามเขตแดนไปหากันและกัน ต่อจากนั้นตามมาด้วยทหารอีกเป็นพันนาย พวกเขาช่วยกันถอนรั้วขึงตาข่าย จับมือกัน แลกบุหรี่ แบ่งไวน์ แบ่งขนม อวดรูปภาพครอบครัวและเริ่มเล่าเรื่องบ้านเกิด  เล่าประสบการณ์ในวันคริสต์มาสในอดีตให้อีกฝ่ายฟัง บทสนทนาเลยไปถึงความไม่สมเหตุสมผลของสงคราม และหันมาช่วยกันขุดหลุมฝังร่างเพื่อนทหารแทน

สื่อหนังสือพิมพ์ในตอนนั้นเข้าใจว่า “Christmas Truce” เกิดขึ้นเพียงพื้นที่เดียวและเป็นเอกเทศจากที่อื่น แต่งานวิจัยและการศึกษาหลังจากนั้นได้ประเมินว่า ณ ขณะนั้นพื้นที่ร่องสนามเพลาะจุดอื่นกว่าอีก 100,000 แห่งต่างก็เกิดปรากฏการณ์ “Christmas Truce” เช่นกัน

เหตุการณ์นี้เป็นเพราะ “ปาฏิหาริย์” ในคืนวันคริสต์มาสอีฟหรือเปล่า?

หนังสือ Hijacked by Your Brain เขียนโดย ดร. จูเลียน ฟอร์ด (Dr. Julian Ford) และ จอน วอร์ทแมน (Jon Wortmann) อธิบายว่า ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อเผชิญกับความเครียด สมองจะคอยส่งสัญญาณให้ต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา และต้องหาทางหลุดออกจากสภาวะตึงเครียดให้ได้ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ณ ขณะนั้นทหารกำลังเกิดความย้อนแย้งระหว่างต้อง “กำจัดศัตรู” กับต้อง “ผ่อนคลายจิตใจ”

สภาพแวดล้อมของสงครามทำให้ทหารเกิดความเครียด และวันคริสต์มาสทำให้ทหารคิดถึงบ้านกับบรรยากาศที่อบอุ่น เมื่อสถานการณ์ดำเนินมาถึงจุดที่ทหารรู้สึกว่ามี “โอกาส” เลือกได้ รวมกับอิทธิพลจากจดหมายและข้าวของที่ครอบครัวส่งมาให้ถึงสนามรบ ความอบอุ่นที่ชวนคิดถึง ทำให้สมองของพวกเขาตัดสินใจเลือกออกจากสถานการณ์ตึงเครียด สักแค่ช่วงเวลาหนึ่งก็ยังดี

แม้วันคริสต์มาสจะดูเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น แต่แท้จริงแล้วสัญญาณของการสงบศึก บางทีอาจเริ่มขึ้นตั้งแต่ก่อนวันคริสต์มาสเสียอีก

อาจจะตั้งแต่วันที่พวกเขาต่างต้องอดทนกับฝนตกหนัก พื้นดินที่ชื้นแฉะ หิมะและอากาศเย็นจัดเป็นเวลานาน หรือตั้งแต่ตอนที่แพทย์ทหารเดินเข้าไปพื้นที่ตรงกลางเพื่อหาผู้รอดชีวิต  และตอนที่ทหารปีนขึ้นมาจากสนามเพลาะเพื่อรวบรวมหญ้าแห้งเอาไปห่มตัวเวลาหนาว พวกเขาต่างมองเห็นกันและกัน ตะโกนคุยกันและบ่นเรื่องสภาพอากาศ จนตระหนักได้ว่าพวกเขามีชีวิตที่ “ไม่ต่างกันเลย”

แดเนียล คอยล์ (Daniel Coyle) นักเขียนที่มีผลงานติดอันดับขายดีของ The New York Times มาแล้วหลายเล่ม เขากล่าวถึงเหตุการณ์นี้ในหนังสือ “The Culture Code” ว่า ยิ่งเวลาผ่านไปยิ่งทำให้ทหารเกิด “ความเข้าใจซึ่งกันและกัน” จากความเข้าใจพัฒนาเป็น “ความสนิทใจ” และในที่สุดพื้นที่แห่งความขัดแย้งอย่างสนามรบ ก็กลายเป็นพื้นที่มอบความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety) และความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสังคม (Sense of belonging) ให้ทหารทั้งสองฝ่ายในคืนวันคริสต์มาสอีฟ

Advertisements

แล้วเราจะสามารถสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกันในสังคมได้อย่างไร?

ทั้งที่ในสภาพแวดล้อมของสังคมปัจจุบันไม่ได้เลวร้ายเหมือนในสงคราม แต่เรากลับมักมองเห็นความขัดแย้งและความไม่เข้าใจกันอยู่รอบตัวตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการแข่งขันในที่ทำงาน แฮชแท็กดรามาในโซเชียลมีเดีย หรือแม้แต่สังคมที่ใกล้ชิดที่สุดอย่างครอบครัว ก็ยังมีเรื่องให้เราทะเลาะกันทุกวัน

ดังนั้น ปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เกิดปาฏิหาริย์ของการเข้าใจซึ่งกันและกัน คงไม่ใช่ทั้งเทศกาล ไม่ใช่สถานที่ และไม่ใช่สภาพอากาศ แต่เป็นสภาพแวดล้อมและบรรยากาศในสังคมที่เราเป็นคนสร้างขึ้นมาเองมากกว่า ในทางจิตวิทยาจึงมีคำเรียกของ 2 ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดบรรยากาศในสังคมที่เป็นมิตรต่อกัน ดังนี้

1. ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety)

หนังสือ “The Culture Code” อธิบายว่า “ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety)” คือความรู้สึกในความสัมพันธ์ที่เกิดจากการแชร์กันของ 3 สิ่ง นั่นคือ ตัวตน (Identity) ความปลอดภัย (Safety) และความเชื่อใจ (Trust) ซึ่งทหารทั้งสองฝ่ายมอบให้แก่กันโดยไม่รู้ตัว พวกเขาแชร์ความคิด แชร์ประสบการณ์ แชร์ความเห็นใจและให้พื้นที่ปลอดภัยกันระหว่างสงคราม เส้นกั้นระหว่างศัตรูและมิตรจึงหายไปพร้อมกับความรู้สึกปลอดภัยที่เข้ามาแทนที่นั่นเอง

ปัจจุบันเรื่อง “ความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological Safety)” มักนำมาผูกโยงกับการสร้างบรรยากาศการทำงานและทีมที่แข็งแกร่ง เพราะจะทำให้ทีมเต็มไปด้วยบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้และการพัฒนา สมาชิกจะกล้าแชร์ความคิด กล้าพูด กล้าทดลอง และกล้าเสี่ยงโดยไม่กังวลเรื่องการวิจารณ์หรือการถูกตัดสิน ในขณะเดียวกันก็ทำให้ความตึงเครียดและความขัดแย้งในทีมลดลง

2. ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสังคม  (A sense of belonging)

ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งในสังคมคือ ความรู้สึกว่าตนเองเป็นที่ต้องการและได้รับการยอมรับจากคนอื่น อาจเกิดขึ้นเมื่อเราได้แชร์ประสบการณ์ ความคิดและความรู้สึกร่วมกัน อย่างเช่นทหารอังกฤษและเยอรมัน เมื่อพวกเขารู้สึกว่าได้รับการยอมรับ การรับฟัง การแบ่งปันและความใส่ใจ พวกเขาจึงรู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็น “พวกเดียวกัน” และค่อยๆ ลดกำแพงของตนเองลง

ถ้าเราอยากเปลี่ยนความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดให้กลับมาดีขึ้น บางทีเราอาจลองเริ่มต้นจาก การสร้างความปลอดภัยทางจิตใจ (Psychological safety) และสร้างความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Sense of belonging) ให้แก่กันได้ด้วยวิธีที่แสนเรียบง่าย เช่น

[  ] ปล่อยให้พวกเขาได้ระบายความในใจโดยไม่ไปตัดสิน
[  ] เปิดใจและตั้งใจฟังพวกเขาด้วยความเข้าใจ
[  ] ส่งเสริมความหลากหลาย ยอมรับความแตกต่าง
[  ] พยายามพูด “ขอบคุณ” แม้แต่กับเรื่องเล็กน้อย
[  ] ชื่นชมพวกเขาบ้าง
[  ] เคารพในตัวตนของอีกฝ่าย

“Christmas Truce” คือเหตุการณ์ที่เหนือความคาดหมาย ราวกับเป็นของขวัญในคืนวันคริสต์มาสอีฟ แต่ความเป็นจริงแล้วสิ่งที่เหนือยิ่งกว่าปาฏิหาริย์ คงเป็นความหวังของทหารที่อยากกลับบ้านและยุติสงคราม ในสถานการณ์โลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งไม่ต่างจากอดีต เราทุกคนคงหวังให้มีเหตุการณ์พักรบในคืนคริสต์มาสเกิดขึ้นอีกสักครั้ง

อ้างอิง
– Jeremy Rifkin. The Empathic Civilization. (2554)
– The Christmas Truce of 1914 – Psychological Safety, Connection and Belonging: San Tuon – https://bit.ly/3TfZdNK
– What A Christmas Truce Can Teach You About Stress Reduction: Dr. Julian Ford and Jon Wortmann – https://bit.ly/46ZtH9U

#history
#psychology
#christmasttruce
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า