หากเรามีเพื่อนสักคนหนึ่งเราคงพร้อมที่จะสนับสนุนเขาในทุกๆ ด้าน เช่น เมื่อเพื่อนป่วยเราก็หาข้าวหาน้ำไปเสิร์ฟถึงที่ หรือเมื่อเพื่อเศร้าเราก็พร้อมที่จะเข้าไปปลอบโยนและคอยอยู่เป็นเพื่อนอยู่เสมอ
แต่การมีมิตรภาพที่ดีนั้นเราต่างก็ต้องสนับสนุนกันทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งพยายามอยู่คนเดียวตลอดเวลา เช่น เมื่อเพื่อนต้องการอะไร เราจะทำให้ทันที แต่พอเราต้องการบ้าง เขากลับไม่เคยทำอะไรเพื่อเราบ้างเลย เราสามารถเรียกความสัมพันธ์เช่นนี้ได้ว่า “การเป็นเพื่อนข้างเดียว”
การเป็นเพื่อนข้างเดียวนั้นเป็นเรื่องที่แสนเจ็บปวดสำหรับใครหลายๆ คน เพราะเราให้ใจกับคนที่เรามองว่าเป็นเพื่อน แต่เขากลับปฏิบัติกับเราแตกต่างกันออกไป จนหลายคนอาจเกิดคำถามในใจว่า “หากเราเจอกับมิตรภาพเช่นนี้ เราควรไปต่อหรือพอแค่นี้ดี?”
5 สัญญาณที่บอกว่าเราเป็นเพื่อนข้างเดียว
มิตรภาพที่ไม่เป็นมิตรต่อเรามีหลากหลายรูปแบบ ไม่จำเป็นว่าเพื่อนเราจะต้องนินทาหรือโกหกเราเท่านั้น มาดูกันว่ามีสัญญาณอะไรบ้างที่บ่งบอกว่าเราอาจกำลัง “เป็นเพื่อนข้างเดียว” อยู่
1. อะไรๆ ก็มีแต่เรื่องตัวเองเท่านั้น
โดยปกติแล้วเมื่อเราพูดคุยกับใครสักคนหนึ่ง เราจะต้องผลัดกันถามว่าแต่ละคนเป็นอย่างไรบ้าง แต่จะมีบางคนที่ชอบพูดถึงแต่ความต้องการและความสนใจของตัวเองเป็นหลัก โดยที่ไม่ถามถึงชีวิตหรือความสนใจของเราเลยแม้แต่คำเดียว
หรือบางคนพอเล่าเรื่องของตัวเองเสร็จแล้ว ก็อาจจะถามเราว่า “แล้วเธอล่ะ” ฟังๆ ดูแล้วอาจจะดูไม่มีปัญหาอะไร แต่พอเราตอบไป เขากลับเปลี่ยนเรื่องไปพูดเรื่องตัวเองอย่างรวดเร็ว เช่น “พอพูดแบบนี้แล้วทำให้ฉันนึกถึง…”
2. รู้สึกว่าไม่สามารถไว้วางใจเพื่อนคนนั้นได้
คนที่เป็นเพื่อนกันจริงๆ จะไม่มีวันทิ้งกันและจะคอยช่วยเหลือกันเสมอเท่าที่เขาจะสามารถทำได้ แล้วเขาคนนั้นจะทำให้เรารู้สึกมั่นใจได้ว่า ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากเราหันไป เราจะเห็นเขาอยู่เสมอ ในทางกลับกัน คนที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเราขนาดที่จะเรียกว่า “เพื่อน” ไม่ว่าจะหันไปอีกกี่ที เราก็จะไม่เคยมองเห็นเขาคอยอยู่เคียงข้างเรา
3. มีโอกาสได้พูดคุยกันแค่ตอนที่เขาต้องการอะไรบางอย่าง
เชื่อว่าหลายคนอาจเคยเจอเหตุการณ์ที่ว่า อยู่ดีๆ เพื่อนคนหนึ่งทักมา ตอนแรกเราก็ดีใจที่เพื่อนยังไม่ลืมเรา แต่พอคุยไปคุยมา เพื่อนกลับมาขอยืมเงินหรือมาขอให้ช่วยในบางเรื่องเสียอย่างนั้น ความดีใจที่เราเคยมีตอนแรกก็มลายหายไปในพริบตา
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของเพื่อนประเภทที่จะติดต่อมาเฉพาะเวลาที่ตัวเองต้องการบางสิ่งบางอย่างจากเราเท่านั้น ซึ่งสามารถมาได้หลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นต้องการคนคุยด้วยบางครั้งบางคราว ต้องการเงิน หรือต้องการความช่วยเหลืออื่นๆ ทั้งๆ ที่ปกติไม่เคยส่งข้อความหรือโทรมาถามไถ่สารทุกข์สุกดิบกันเลยด้วยซ้ำ
4. นานๆ ทีจะพูดขอบคุณเราสักครั้ง
การแสดงความขอบคุณเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยประคองความสัมพันธ์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นแฟน ครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อนเองก็ตาม ลองนึกภาพว่าหากเราทำสิ่งดีๆ ให้กับเพื่อน แล้วเขาไม่ได้รู้สึกยินดีที่จะรับสิ่งที่เรามอบให้ เราก็อาจจะรู้สึกขุ่นเคืองใจได้
แต่ถ้าเพื่อนเห็นความดีความชอบของเรา มันจะช่วยให้ความสัมพันธ์ของเราเติบโตขึ้นไปในทางที่ดี ซึ่ง Eric Pedersen และ Debra Lieberman นักจิตวิทยาทั้งสองท่านนี้เคยกล่าวไว้ว่า “มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่า การแสดงความขอบคุณช่วยให้เราเริ่ม รักษา และกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นขึ้นได้”
หากใครรู้สึกว่าเพื่อนไม่เห็นคุณค่าในความช่วยเหลือของเรา ก็คงถึงเวลาที่จะต้องหันมาทบทวนความสัมพันธ์ครั้งนี้ใหม่เสียแล้ว
5. มองเราเป็นคู่แข่ง
โดยปกติแล้วคนที่เป็นเพื่อนกันเขาจะคอยสนับสนุนและให้กำลังใจกันเสมอ แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าเพื่อนคนนั้นพยายามจะเอาชนะเราอยู่ทุกครั้ง ก็ถือว่าเป็นสัญญาณเตือนสำคัญที่บ่งบอกว่าความสัมพันธ์นี้ไม่ดีต่อจิตใจของเราแล้ว
ตัวอย่างพฤติกรรมที่บ่งบอกว่าเพื่อนมองเราเป็นคู่แข่ง
[ ] ชอบพูดจาจิกกัดเราอยู่เสมอ
[ ] ชอบแย่งซีนความสำเร็จของเรา
[ ] ชอบเลียนแบบพฤติกรรมเรา
เมื่อเราอยู่ในความสัมพันธ์แบบเป็นเพื่อนแค่ฝ่ายเดียวเช่นนี้ แน่นอนว่าก็ต้องมีผลเสียตามมา ซึ่งผลเสียอย่างแรกคงหนีไม่พ้น “ความเจ็บปวด” เพราะเราทุ่มเทแรงกายแรงใจให้เพื่อนไปหมด แต่สิ่งที่ได้รับตอบแทนกลับมามันช่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย
หลังจากนั้นเราจะเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราไม่มีค่าขนาดนั้นเลยเหรอ ทำไมเพื่อนถึงไม่ให้ความสำคัญกับเราขนาดนี้?” พูดง่ายๆ คือเราจะเริ่มรู้สึกโดดเดี่ยวและเปราะบางมากขึ้น จนถึงขั้นพูดกับตัวเองในแง่ลบและเสียความมั่นใจในตัวเองไปได้นั่นเอง
ไปต่อหรือพอแค่นี้?
เมื่อเดินทางมาถึงจุดที่ต้องเลือกระหว่าง “ไปต่อ” กับ “พอแค่นี้” ทั้งหมดทั้งมวลก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของเราเองว่าจะเลือกเส้นทางไหน
หากใครรู้สึกว่าอยากลอง “ไปต่อ” ดูก่อน ก็ลองพยายามสร้างสมดุลของความสัมพันธ์ระหว่างเรากับเพื่อนใหม่ ผ่านการพูดคุยกันตามตรง เช่น ถ้ารู้สึกว่าเพื่อนไม่ค่อยเปิดใจพูดคุยกับเราเท่าไหร่ ก็ให้พูดคุยกับเพื่อนตามตรงว่าการที่เขาไม่ค่อยเล่าอะไรให้เราฟังมันทำให้เรารู้สึกอย่างไร หลังจากนั้นก็เปิดโอกาสให้เพื่อนได้พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
โดยในการพูดคุยกันจะต้องไม่มีการกล่าวโทษใดๆ กันเกิดขึ้น ให้ใช้ความใจเย็นในการพูดคุย อย่าระเบิดอารมณ์ใส่กัน วิธีหนึ่งที่จะช่วยสร้างการสื่อสารเชิงบวกได้คือ การใช้ I Statement หรือการพูดโดยอิงความรู้สึกผู้พูดเป็นหลัก
เช่น แทนที่จะพูดว่า “ทำไมเธอถึงไม่เคยติดต่อมาหาเราก่อนบ้างเลย” ให้พูดแบบนี้แทนเพื่อไม่ให้ดูเป็นการตำหนิอีกฝ่าย “ช่วงนี้เราสังเกตเห็นว่าเราเป็นฝ่ายที่ติดต่อเธอไปก่อนตลอดเลย เราคิดว่าถ้าเราไม่ติดต่อเธอก่อน เราก็จะไม่ได้คุยกันเลย ซึ่งมันก็ทำให้เรารู้สึกเศร้าเหมือนกันนะ หรือมีเรื่องอะไรเกิดขึ้นกับเธอที่เราไม่รู้หรือเปล่า”
หากใครรู้สึกว่าอยาก “พอ” กับความสัมพันธ์นี้แล้ว ก็ให้ก้าวถอยหลังออกมา โดยก่อนจะเดินจากมาเราสามารถแสดงเจตนาของเราให้เขาเห็นก็ได้ว่า เราให้ความสำคัญกับมิตรภาพครั้งนี้มาก แต่เราพยายามไม่ไหวแล้ว หรืออีกทางหนึ่งคือ เราอาจจะเลิกติดต่อกันไปเลยก็ได้ เพราะถ้าเขาไม่ได้สนใจเราขนาดนั้น เราก็ไม่จำเป็นต้องอยู่ในความสัมพันธ์ที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวดอีกต่อไป
แม้ว่าการสูญเสียเพื่อนจะทำให้เราเสียใจไปบ้าง แต่เราก็จะเสียใจแค่ช่วงแรกๆ ดีกว่าปล่อยให้ความสัมพันธ์เช่นนี้ทำร้ายจิตใจเราต่อไปเรื่อยๆ จงจำไว้ว่าเพื่อนที่ดีจะคอยช่วยเหลือและนึกถึงจิตใจเราอยู่เสมอ เราไม่จำเป็นต้องพยายามอยู่ฝ่ายเดียว หากเพื่อนคนไหนทำให้เรารู้สึกเหนื่อยเกินไป เราก็ควรหันกลับมาทบทวนอีกครั้งว่าความสัมพันธ์นั้นควรค่าแก่การรักษาเอาไว้หรือไม่
อ้างอิง
– Beware the One-Sided Friendship : Crystal Raypole, Healthline – http://bit.ly/3lmSseF
– How to Fix a One-Sided Friendship : Sam Blum, Lifehacker – http://bit.ly/3llZbFG
#selfdevelopment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast