PSYCHOLOGYworklifeคนไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด! เมื่อหัวหน้ามีลูกรักคนโปรดควรรับมืออย่างไร?

คนไม่ใช่ทำอะไรก็ผิด! เมื่อหัวหน้ามีลูกรักคนโปรดควรรับมืออย่างไร?

“ความขัดแย้ง” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เป็นปกติในโลกการทำงาน เพราะโลกแห่งนี้เต็มไปด้วยคนร้อยพ่อพันแม่ แต่ละคนก็มีความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไป

แต่ความขัดแย้งมีหลากหลายรูปแบบ มีทั้งรูปแบบที่ไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาใดๆ ในการทำงาน ในขณะเดียวกัน ก็มีรูปแบบที่ส่งผลเสียต่อทั้งตัวเอง ผู้อื่น และการทำงานในทีมด้วย

และปัญหาความขัดแย้งจะรุนแรงขึ้นไปอีก หากในองค์กรนั้นมีประเด็น ‘Favoritism’ หรือการที่หัวหน้ามีลูกรัก-ลูกชังอยู่ด้วย!

ลองนึกภาพดูว่า ถ้าเราทำอะไรก็ผิดหรือขัดหูขัดตาหัวหน้าไปทุกอย่าง แม้จะทำอะไรๆ อย่างเต็มที่แล้ว แต่เมื่อมองไปที่เพื่อนร่วมงานอีกคนที่ไม่เห็นตั้งใจหรือพยายามทำอะไรสักอย่าง กลับได้ดิบได้ดีและได้ใจหัวหน้าอยู่ตลอด อะไรจะเกิดขึ้น?

แน่นอนว่าเราก็คงจะรู้สึกแย่หรืออาจถึงขั้นไม่อยากอยู่องค์กรนั้นๆ อีกต่อไปแล้ว เพราะปัญหานี้เป็นปัญหาที่ค่อนข้างบั่นทอนจิตใจของเราพอสมควร แต่การลาออกนั้นอาจไม่ใช่คำตอบแรกของการแก้ปัญหานี้เสมอไป

ถึงเวลาเช็กสัญญาณของปัญหาการมีลูกรัก-ลูกชังในที่ทำงาน

ก่อนอื่นเรามาลองสังเกตดูให้แน่ใจกันก่อนดีกว่าว่าเรากำลังเผชิญกับปัญหาการมีลูกรัก-ลูกชังในที่ทำงานอยู่จริงหรือเปล่า เพราะบางคนอาจตีความเรื่องนี้ไปเองหรือบางคนก็อาจจะกำลังตกอยู่ในเกมการเล่นพรรคเล่นพวกโดยไม่รู้ตัว

มาเริ่มทำความเข้าใจคำว่า ‘Favoritism’ หรือการที่หัวหน้ามีลูกรัก-ลูกชัง ให้ชัดๆ กันก่อนว่ามันคืออะไรกันแน่

‘Favoritism’ หรือการที่หัวหน้ามีลูกรัก-ลูกชังนั้นมีความหมายตรงตามชื่อเลย คือการที่หัวหน้าให้สิทธิพิเศษแก่ผู้อื่นอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งสิทธิพิเศษที่ว่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผลงานด้วย แต่มันเป็นเรื่องของการเลือกที่รักมักที่ชัง หรือพูดอีกอย่างก็คือมันเป็นเรื่องของ “ความสัมพันธ์ส่วนตัว”

อย่างเช่น แม้ว่าเราจะทำงานหนักและทำงานดีกว่าเพื่อนร่วมงานอีกคนหนึ่ง แต่ผลปรากฏว่าเพื่อนร่วมงานคนนั้นกลับได้เลื่อนขั้นก่อนหน้าเรา ด้วยเหตุผลที่ว่าเราไม่ได้สนิทกับหัวหน้าเท่ากับอีกคนหนึ่ง โดยสถานการณ์นี้อาจมาจาก Unconscious Bias หรือความมีอคติโดยไม่รู้ตัว หรืออาจจะมาจากความตั้งใจโดยแท้จริงของหัวหน้าเองก็ได้เช่นกัน

ทีนี้เราลองมาเช็กไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่าว่าเรากำลังตกอยู่ในสถานการณ์นี้อยู่หรือเปล่า

1) สังเกตเห็นว่าหัวหน้าใช้เวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ที่นอกเหนือจากเรื่องงานกับพนักงานคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะตอนพักเที่ยงหรือตอนทำงาน
2) เมื่อมีพนักงานคนหนึ่งทำไม่ดี เช่น มาสาย ขาดงาน หรือประสิทธิภาพการทำงานไม่ดี แทนที่หัวหน้าจะตักเตือน กลับหันมาปกป้องแทนเสียอย่างนั้น
3) มีการกระจายงานอย่างไม่เป็นธรรม เช่น บางคนได้งานที่สำคัญกว่าหรือง่ายกว่า ในขณะที่คนอื่นๆ ได้แต่งานเดิมๆ และน่าเบื่อหน่อยๆ
4) บางคนได้สิทธิพิเศษหลายๆ อย่างมากกว่าคนอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมีเวลาพักร้อนมากกว่า ได้ตำแหน่งโต๊ะทำงานดีกว่า หรือได้ใช้ทรัพย์สินของบริษัทมากกว่า
5) เพื่อนร่วมงานบางคนอยู่ดีๆ ก็ได้เลื่อนขั้น ทั้งๆ ที่ผลงานไม่ได้ดีเท่าคนอื่น
6) หัวหน้ามองเห็นแต่ความดีความชอบของพนักงานคนใดคนหนึ่ง แต่พอพนักงานอีกคนทำได้ดีกลับไม่มีแม้แต่คำชื่นชม
7) เมื่อลูกน้องมีปัญหากัน หัวหน้าเลือกเข้าข้างใครคนใดคนหนึ่งเป็นพิเศษ

เมื่อปัญหาการเลือกที่รักมักที่ชังในที่ทำงานเกิดขึ้นแล้ว ก็จะทำให้เกิดผลเสียอะไรหลายๆ อย่างตามมา อย่างแรกเลยคือ จะทำให้อัตราการลาออกขององค์กรสูงขึ้น เพราะหลายครั้งหัวหน้าและคนอื่นๆ ชอบปล่อยให้ปัญหานี้เกิดขึ้นอยู่ซ้ำๆ จนทำให้เกิดสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่เป็นมิตรต่อผู้อื่น จึงทำให้หลายคนตัดสินใจลาออกไป

นอกจากนี้มันยังทำให้พนักงานที่ต้องอยู่ในองค์กรต่อไปอาจเผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงานและขาดความก้าวหน้าทางอาชีพ รวมถึงตัวหัวหน้าเองก็อาจทำให้พนักงานคนอื่นๆ สูญเสียศรัทธาและความเคารพในตัวเองลงอีกด้วย

Advertisements

4 วิธีรับมือกับหัวหน้าที่มีคนโปรดในใจ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าการลาออกนั้นไม่ใช่ทางแก้ปัญหาเดียว รวมถึงบางคนเองก็อาจจะยังไม่พร้อมลาออกในตอนนี้ ดังนั้นมาสำรวจไปพร้อมๆ กันดีกว่าว่ามีวิธีไหนบ้างที่เราสามารถใช้เพื่อรับมือกับหัวหน้าที่มีคนโปรดในใจได้

1. อย่าเพิ่งกระโตกกระตาก

เมื่อเจอกับความอยุติธรรม เชื่อว่าหลายคนคงจะเกิดอารมณ์ฉุนเฉียวขึ้นมาบ้าง แต่ขอแนะนำว่าอย่าเพิ่งกระโตกกระตาก เพราะการที่เรารู้สึกว่าหัวหน้าเลือกที่รักมักที่ชังนั่นก็แปลได้ว่าเราไม่ใช่ “ลูกรัก” ถ้าเราโวยวายหรือแสดงปฏิกิริยาเชิงลบต่อพฤติกรรมของหัวหน้า ก็อาจจะยิ่งทำให้เขาชอบเราน้อยลงไปอีกก็ได้

แต่การที่บอกว่าอย่ากระโตกกระตากไม่ได้หมายความว่าให้นิ่งเฉย เราสามารถเข้าไปพูดคุยกับหัวหน้าได้ว่าตอนนี้เรารู้สึกอย่างไร โดยสิ่งสำคัญในการพูดคุยกันคือต้องเริ่มบทสนทนาอย่างใจเย็นและเป็นมืออาชีพที่สุด ให้โฟกัสไปที่การหาทางออกร่วมกันและเราจะต้องฟังความคิดเห็นของทางฝั่งหัวหน้าของเราด้วย เพื่อให้เป็นการสื่อสารแบบสองทาง

Advertisements

2. พัฒนาตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป

แน่นอนว่าการเลือกที่รักมักที่ชังเป็นเรื่องที่สร้างความน่าหงุดหงิดใจให้กับตัวเราเอง แต่การโฟกัสไปที่ความสามารถและผลงานจะช่วยเพิ่มโอกาสในการยอมรับมากกว่าการหันไปต่อต้านหัวหน้าอย่างแข็งกร้าว

ถ้าในวันนี้หัวหน้ายังมองไม่เห็นความดีความชอบของเรา ก็ให้พัฒนาตัวเองให้ดียิ่งๆ ขึ้นไปอีก ลองมองหาโอกาสให้ตัวเองได้เฉิดฉายและเปล่งประกาย เช่น ลองเสนอตัวและเข้าไปทำโปรเจกต์หรืองานที่จะช่วยให้ได้แสดงทักษะและความสามารถ และคอยรายงานความคืบหน้าของโปรเจกต์นั้นๆ ให้หัวหน้าฟังเรื่อยๆ รวมถึงพยายามขอฟีดแบ็กจากหัวหน้าและนำไปพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นอยู่เสมอ

เมื่อเราสร้างคุณค่าให้ตัวเองได้แล้ว อย่างน้อยถ้าหัวหน้าไม่เห็น คนอื่นก็จะได้เห็นผลงานเราเป็นที่ประจักษ์ตาและความก้าวหน้าในอาชีพก็จะตามมาเอง

3. ละทิ้งอารมณ์ลบ

เมื่อตกอยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ จะทำให้อารมณ์และความคิดด้านลบต่างๆ มากมายวิ่งเข้ามาในหัวเราเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นความสับสนมึนงง ความโกรธ ความเสียใจ และความไม่เข้าใจในสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งอารมณ์และความคิดเหล่านี้จะเข้ามาบดบังวิสัยทัศน์ของเรา ทำให้เราตัดสินใจอะไรผิดพลาดไปได้

ดังนั้น ให้ถอดม่านบังตานี้ออก ละทิ้งอารมณ์ลบไป อย่าปล่อยให้อารมณ์นำทาง และหันมาประเมินสถานการณ์ตรงหน้าใหม่อีกครั้งว่าจะทำอย่างไรดี มันจะช่วยให้เรามองภาพตรงหน้าได้กว้างขวางและชัดเจนยิ่งขึ้น

และถ้ารู้สึกว่าตอนนั้นควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยได้ ให้ถอยออกมาหนึ่งก้าว แล้วฝึกเทคนิคในการควบคุมตนเอง เช่น หายใจลึกๆ ทำสมาธิ หรือออกไปเดินเล่นสักพักเพื่อให้สมองปลอดโปร่ง

4. หาที่ปรึกษา

การจัดการกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นคนเดียวอาจเป็นเรื่องยากและท้าทายเกินไปสำหรับบางคน เพราะฉะนั้นอีกทางเลือกหนึ่งที่เราสามารถทำได้คือ “หาที่ปรึกษา” เพราะคนที่อยู่นอกเหตุการณ์มักจะมองเรื่องราวต่างๆ ได้กว้างและรอบด้านกว่า โดยคนที่เราสามารถขอความช่วยเหลือได้คือ “ฝ่ายทรัพยากรบุคคล”

จงจำไว้ว่าอย่ากลัวที่จะขอความช่วยเหลือจากคนอื่น เมื่อถึงเวลาที่เราต้องการมันจริงๆ

ถ้าใครลองวิธีข้างต้นแล้วยังไม่รู้สึกดีขึ้น ก็คงถึงเวลาแล้วที่เราจะมาประเมินถึงทางเลือกสุดท้ายอย่าง “การลาออก” เพราะเมื่อลองแก้ปัญหาด้วยตัวเองแล้วอะไรๆ ยังไม่ดีขึ้นอีก เราก็ควรไปหาพื้นที่ที่เราอยู่แล้วสบายใจดีกว่า ไม่อย่างนั้นมันจะบั่นทอนสุขภาพจิตของเราไปเรื่อยๆ

อ้างอิง
– 10 ways to detect favoritism in the workplace : Erin Eatough, PhD, BetterUp – https://bit.ly/45d5IDB
– 12 Different Strategies for Dealing With a Boss Who Plays Favorites : Stacey Lastoe, The Muse – https://bit.ly/47f0wRv
– How to Handle a Boss Who Plays Favorites: 15 Tips for Success : Aware Recruiter – https://bit.ly/3qgXfka

#worklife
#favoritism
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า