หลายคนรู้ว่าการคุกคามทางเพศ หรือ Sexual Harassment เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ แต่ก็ดูเหมือนยังคงเป็นเรื่องยากในสังคมยุคสมัยใหม่ ที่ผู้คนกล้าคิดหรือแสดงออกในโลกออนไลน์กันมากขึ้น
บทความนี้ไม่ได้ต้องการมาตำหนิ หรือกล่าวสอนใคร เพียงแต่ต้องการให้ทุกคนไม่ว่าจะเพศใด ได้ทำความเข้าใจและตระหนักรู้ถึงการกระทำที่ส่อไปในเชิงคุกคาม โดยเฉพาะต่อเพศชาย ที่บ่อยครั้งผู้หญิงหรือแม้กระทั่งผู้ชายด้วยกันเองกลับมองเป็นเรื่องน่าขบขัน
เริ่มแรกเราอยากให้คุณลองนึกดูว่า ตัวเองเคยแชร์รูปผู้ชายพร้อมกับแคปชันชวนให้คิดไปในเชิงคุกคามเช่น หิวกล้วย แ_ดสั่น อยากมีลูก บ้างหรือไม่?
แม้มันเกิดจากความพลั้งเผลอที่กระทำลงไปโดยไม่ตั้งใจ แต่คุณอย่าลืมว่าก่อนที่จะพิมพ์และอัปโหลดอะไรลงไปในสื่อสาธารณะ สมองก็ได้คิดและไตร่ตรองมาแล้วระดับหนึ่ง
ทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามกันใหม่ ว่าแท้จริงแล้วมันอาจจะเกี่ยวโยงกับคตินิยม (Ideology) ที่สังคมได้กำกับคุณสมบัติของความเป็นชาย (Masculinity) ให้แสดงออกแต่ความเข้มแข็ง เสียสละ มีความเป็นผู้นำ ที่ต้องมากกว่าเพศตรงข้ามนี้หรือเปล่า?
ซึ่งไม่ได้ส่งผลร้าย (กดขี่) แค่กับผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างที่เรารู้กัน แต่ยังกระทบต่อผู้ชาย (Toxic Masculinity) เองด้วย
ยกตัวอย่าง ข่าวที่ผู้เสียหายเพศชายถูกกระทำอนาจาร หรือกระทำชำเรา แล้วมีคอมเมนต์ (มักมาจากผู้ชายด้วยกัน) ในลักษณะ เช่น ยอมๆ ไปเถอะ หรือไม่เห็นเสียหายเลย…มีแต่ได้กับได้ ซึ่งหากอธิบายด้วยแนวคิดคตินิยมที่ว่า “ผู้ชายที่ไปมีเพศสัมพันธ์บ่อยๆ ไม่ได้ถูกสังคมลดคุณค่าในตัวลงเหมือนกับผู้หญิง” ก็คงไม่น่าแปลกใจที่ข่าวการคุกคามทางเพศนี้ จะทำให้ผู้ชายบางส่วนต้องยอมรับความบิดเบี้ยวของสังคมอย่างไม่เต็มใจ
แม้ตามสถิติโดย RAINN หรือหลายๆ องค์กร จะพบว่าผู้ชายมีโอกาสน้อยกว่าผู้หญิงที่จะถูกคุกคามทางเพศ แต่ก็ยังพบว่าด้วยความกลัวที่จะตกเป็นข่าว หรือถูกล้อเลียน ทำให้มีผู้ชายอีกจำนวนมากเลือกที่จะไม่เปิดเผยข้อมูลเช่นกัน
หรือจากเสวนาวิชาการ หัวข้อ “ปัญหาโลก (ออนไลน์) แตก การคุกคามทางเพศบนโซเชียลมีเดีย” เมื่อปลายปี 2020 ที่ผ่านมา โดย รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล วิทยากรด้านกฎหมาย ได้ให้นิยามของการคุกคามทางเพศ (Sexual Harassment) ไว้น่าสนใจ ผ่านการแยกคำออกเป็น 2 คำ คือ “คุกคาม” กับ “ทางเพศ”
การคุกคามเป็นคำที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล เมื่อใดก็ตามที่มีคนมาทำให้เรารู้สึกสูญเสียสิทธิและเสรีภาพที่พึงมี ก็ถือว่าเป็นการคุกคาม เมื่อนำมาประกอบกับคำว่าทางเพศ จึงแปลความได้ว่า การกระทำที่ทำให้รู้สึกถูกจำกัดสิทธิและเสรีภาพในทางเพศ
ซึ่งเดิมทีการคุกคามทางเพศ เป็นลักษณะของการกระทำต่อสิทธิและเสรีภาพของคนอื่นในพฤติกรรมที่เขาแสดงออกอย่างไม่เหมาะสมเท่านั้น แต่ปัจจุบันยังหมายความรวมถึงการคุกคามในเรื่องเพศสภาพด้วย
คุณสิรินทร์ มุ่งเจริญ หนึ่งในวิทยากรภาคประชาชน ได้แบ่งการคุมคามเป็นภาพกว้างๆ 2 ประเภท
- การคุกคามทางตรง คือ การที่คนเห็นได้อย่างชัดเจนและมีบรรทัดฐานร่วมกันว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย เช่น การข่มขืน การทำร้ายร่างกาย สามารถเข้าใจได้ง่ายว่าตนเองกำลังถูกกระทำ
- การคุกคามทางอ้อม ซึ่งจะมีความซับซ้อนมากกว่า เช่น การใช้คำพูดที่แฝงไปด้วยนัยด้านลบ ต้องตีความ เพราะมีลักษณะไม่ชัดเจน จนบางครั้งผู้ถูกกระทำยังไม่รู้ว่าตนเองกำลังโดนคุกคามอยู่
โดย คุณเคท ครั้งพิบูลย์ วิทยากรด้านสังคมสงเคราะห์ ได้ยกตัวอย่างการคุกคามทางอ้อมกับคำว่า “กล้วย” ที่อาจหมายถึงกล้วยจริงๆ หรืออวัยวะเพศชายก็ได้ สาเหตุเพราะว่าเรื่องเพศมักเป็นการพูดในที่ส่วนตัว หากต้องการพูดในที่สาธารณะ การใช้คำพูดตรงๆ อาจไม่ได้รับการยอมรับ จึงต้องใช้คำอื่นมาแทนเพื่อหลีกเลี่ยง ดังนั้น เมื่อเกิดการพัฒนาของภาษาที่มีการใช้คำแทนที่โดยคนส่วนใหญ่เข้าใจความหมายกัน แม้ผู้รับสารไม่รู้ความหมายที่แท้จริงตามความหมายที่แฝงอยู่ แต่ถ้าผู้รับสาร “รู้สึกไม่ดีหรือไม่ชอบ” ก็ถือว่าเป็นการคุกคามทางเพศได้
และหากถามว่าการคุกคามทางอ้อมนั้นผิดกฎหมายหรือไม่ รศ.ดร.มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล กล่าวว่า ต้องพิจารณาใน 3 ส่วน คือ
- บริบทของการสื่อสารว่าสามารถทำให้คนเข้าใจได้หรือไม่ว่าหมายถึงการดูถูกเหยียดหยาม
- ดูสิ่งที่ผู้กระทำกล่าว ว่าเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิและเสรีภาพทางเพศมากน้อยขนาดไหน
- การจะเอาผิดตามกฎหมายอาญาต้องดูด้วยว่ามีผลกระทบเกิดขึ้นหรือไม่ กล่าวคือ ในทางอาญาความเสียหายที่เป็นรูปธรรมหรือเห็นได้ชัดนั้นพิสูจน์ได้ง่าย แต่หากเป็นเรื่อง Sexual Harassment ที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกเป็นหลักอาจจะพิสูจน์ความเสียหายยาก
จึงต้องพิจารณาต่อไปว่าความรู้สึกแบบใดถึงจะทำให้ผิดกฎหมายได้ (ต้องพิจารณาจากวิญญูชน ไม่ใช่ปัจเจกบุคคล) ซึ่งหากเราพิสูจน์และอธิบายถึงผลกระทบที่เราได้รับมาได้ กฎหมายถึงจะให้ความคุ้มครอง
ดังนั้น การคุกคามทางเพศที่บางคนมองเป็นเรื่องเล็กน้อยอย่าง “คำพูดบนโลกออนไลน์” หากไปกระทบกับความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ และสามารถพิสูจน์ผลกระทบที่ตามมาได้ ก็อาจจะไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยเหมือนกับที่คิด แต่ไม่ว่าอย่างไร เราทุกคนก็ควรเคารพในสิทธิของคนอื่น เคารพในร่างกายของทุกเพศ และหยุดมองเป็นเรื่องน่าขบขันด้วย
อ้างอิง:
https://bit.ly/3ozA6SX
https://bit.ly/36rBbWX
https://bit.ly/2MIIyC1
https://ampr.gs/2MFE6Ee
#missiontopluto
#missiontoplutopodcast
ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/category/entertainment/