BUSINESSจะทำการใหญ่ใจต้องนิ่ง 7 เช็กลิสต์เตรียมความพร้อมก่อนการเป็นเจ้าของธุรกิจ

จะทำการใหญ่ใจต้องนิ่ง 7 เช็กลิสต์เตรียมความพร้อมก่อนการเป็นเจ้าของธุรกิจ

เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดไอเดียดีๆ อยากจะเริ่มต้นทำธุรกิจขึ้นมาสักอย่าง สิ่งแรกที่คนส่วนใหญ่ถูกสอนให้ทำก่อนสิ่งอื่นก็คือ “การเขียนแผนธุรกิจ (Business Plan)” ซึ่งจะทำให้เราเห็นภาพรวมและเป้าหมายอย่างชัดเจนว่า ไอเดียที่ดีของเรานั้นจะสามารถก่อร่างสร้างเป็นธุรกิจจริงๆ ได้หรือไม่

โดยปกติแล้วการเขียนแผนธุรกิจนั้นควรจะประกอบไปด้วยบทวิเคราะห์ทางธุรกิจมากมายไม่ว่าจะเป็น การวิเคราะห์โครงสร้างของอุตสาหกรรม บทวิเคราะห์การตลาด หรือ การทำ SWOT Analysis ไปจนถึงแผนการธุรกิจต่างๆ เช่น แผนการตลาด แผนการผลิต หรือแผนการดำเนินงาน

ทั้งนี้เริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจเป็นอันดับแรกนั้นเป็นเรื่องที่ดีเสมอ เพียงแต่ว่านอกจากจะช่วยให้ทุกคนในองค์กรมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการทำงานแล้ว ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่องค์กรด้วยเมื่อต้องติดต่อหรือทำงานร่วมบุคคลภายนอกอีกด้วย แต่ในขณะที่เรากำลังเริ่มต้นเขียนแผนธุรกิจนั้นเป็นการเริ่มวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกเสียส่วนใหญ่ เราอาจกำลังมองข้ามการวิเคราะห์ปัจจัยที่สำคัญที่สุดอย่าง “ตัวเราเอง” ซึ่งต้องเป็นผู้ลงมือทำแผนธุรกิจทั้งหมดนี้ให้สำเร็จ

เราพร้อมแล้วหรือยังสำหรับความกดดันในการแข่งขันกับธุรกิจอีกมากมายที่อาจมีเงินทุนและคอนเน็กชันมากกว่าเราเป็นไหนๆ

เรามีความกล้าพอไหมที่จะลงทุนเงินก้อนใหญ่เพื่อพัฒนาธุรกิจของเราให้ก้าวกระโดดไปอีกขั้น

เรามีความอดทนมากพอไหมที่จะเชื่อมั่นในแผนการธุรกิจของเราถึงแม้ว่าจะมองไม่เห็นกำไรในอนาคตอันใกล้นี้เลยแม้แต่น้อย

ว่ากันว่าคุณสมบัติของผู้ประกอบการที่สำเร็จได้นั้นต้องเคย “Take a leap of faith” เพียงแค่เชื่อมั่นในตัวเองแล้วกระโดดออกไปทำตามความฝัน เชื่อว่าหลายคนตรงนี้เคยอ่านเรื่องราวของคนดังมากมายอย่าง Mark Zuckerberg, Elon Musk, หรือ Mark Cuban ที่กล้าเสี่ยงกระโดดออกจากชีวิตที่จำเจ เพื่อไปทำตามความฝันของตัวเองจนประสบความสำเร็จไปทั่วโลกกันมาบ้างไม่มากก็น้อย แต่ภาพความสำเร็จอันสวยงามที่เราเห็นนั้น เป็นเพียงแค่ยอดภูเขาน้ำแข็งเพียงไม่ถึง 10% จากผู้ประกอบการอีกนับไม่ถ้วนทั่วโลก

ดังนั้นก่อนที่เราจะเริ่มต้นเขียนแผนทำธุรกิจใดๆ ก็ตาม สิ่งสำคัญอันดับแรกสุดที่เราควรทำการวิเคราะห์ตัวเองว่าพร้อมที่จะเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของธุรกิจแบบเต็มตัวแล้วหรือไม่?

Advertisements

7 เช็กลิสต์ ตรวจสภาพความพร้อมก่อนเข้าสู่โลกของผู้ประกอบการ

1. ความหลงใหลที่แท้จริงของเราคืออะไร?

ผู้ประกอบการหลายคนเริ่มต้นสร้างธุรกิจของตัวเองจากความหลงใหลหรือ Passion ของตัวเอง แน่นอนว่ามันคงดีไม่น้อยถ้าเกิดว่าเราสามารถทำสิ่งที่เรารักในทุกๆ วันแถมยังสามารถหาเงินจากมันได้ด้วย แต่อย่าลืมว่าการทำธุรกิจนั้นมีองค์ประกอบอื่นที่นอกเหนือจาก Passion ของเราเพียงอย่างเดียว ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการกระแสเงินสด การดูแลสต๊อกสินค้า หรือแม้กระทั่งทักษะการโน้มน้าวใจลูกค้า ซึ่งบอกได้เลยว่าการมี Passion สำหรับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทำธุรกิจนั้นไม่เพียงพอ เพราะอย่างน้อยเราก็ควรที่จะมี Passion เกี่ยวกับ “การทำธุรกิจ” สักนิดหนึ่งอยู่บ้าง มิฉะนั้น Passion ของเราอาจเหมาะกับการเป็นงานอดิเรกมากกว่านำมาทำธุรกิจหาเลี้ยงชีพนั่นเอง

2. เรามีทรัพยากรและแหล่งเงินทุนมากพอหรือไม่?

นอกเหนือจาก Passion แล้ว หนึ่งในองค์ประกอบที่แทบจะสำคัญที่สุดในการดำเนินธุรกิจเลยก็คือ “เงินทุน” หรือ “ทรัพยากร” โดยถ้าหากว่าไอเดียการทำธุรกิจของเราคือการสร้างสุดยอดชิปคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ ให้เหล่าสตาร์ตอัปในซิลิคอนวัลเลย์แล้วละก็ เราจำเป็นที่จะต้องตระหนักว่า Passion ของเรานั้นอาจต้องใช้เงินลงทุนหลายพันล้านและใช้เวลามากกว่าที่เราจะยอมรับได้ ถ้าหากเงินทุนของเรานั้นไม่สอดคล้องกับความฝันแล้วละก็ อย่ารีบเสี่ยงนำความฝันของเรามาเป็นธุรกิจ แต่ให้มันเป็น Project เล็กๆ ที่รอเวลาหรือเงินทุนที่เหมาะสมจะเป็นการดีที่สุด

3. เรามีความมั่นใจในข้อมูลที่เรามีมากพอแล้วหรือยัง?

ในการทำธุรกิจนั้นผู้คนมักจะชี้ให้เห็นโอกาสในการทำเงินหรือช่องทางทำธุรกิจแบบง่ายๆ ให้กับเราเสมอ แต่เมื่อใดก็ตามที่เรากำลังรับฟังคำแนะนำเหล่านั้น เราต้องแยกให้ออกว่าคำแนะนำนั้นมันเป็น “สิ่งที่น่าดึงดูดใจ” หรือแค่ “ฟังแล้วน่าดึงดูด” เฉยๆ เนื่องจากว่าในการทำธุรกิจนั้นเราจะต้องเชื่อมั่นในข้อมูลเชิงลึกที่เราทำการวิเคราะห์มาด้วยความหนักแน่น และถ้าหากว่าเราพยายามขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญคนอื่นอยู่ทุกขั้นตอนแล้วละก็ ธุรกิจของเราอาจจะไม่มีความชัดเจนและค่อยๆ หลีกหนีไปจาก Passion ของเราไปในท้ายที่สุดนั่นเอง

Advertisements

4. ช่องทางการทำธุรกิจของเรา เป็นไอเดียเก่าหรือไอเดียใหม่?

แน่นอนว่าไอเดียนั้นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน ไม่ว่าใครก็มีไอเดียการทำธุรกิจดีๆ ได้ ดังนั้นให้ก่อนที่เราจะเริ่มต้นเขียนแผนการธุรกิจจาก “ไอเดียดีๆ” ของเราขึ้นมานั้น ลองไปศึกษาดูก่อนว่ามีใครที่เคยลองทำธุรกิจจากไอเดียที่คล้ายคลึงกับเรามาแล้วบ้าง ลองสำรวจดูว่าพวกเขาประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ถ้าหากไอเดียธุรกิจของเรามีคนทำจนช้ำแล้ว เราอาจจะต้องลองหาไอเดียหรือช่องทางใหม่ในการทำธุรกิจนั่นเอง

5. เรามีความทักษะและสามารถมากพอที่จะ “เอาชนะ” คู่แข่งและเหล่านักเลียนแบบได้หรือไม่?

ในโลกของการทำธุรกิจนั้น เป็นเรื่องปกติธรรมที่จะมีใครบางคนที่มีเงินมากกว่า ทำเลที่ดีกว่า หรือมีทรัพยากรมากกว่า พร้อมจะแข่งขันหรือเลียนแบบเราธุรกิจของเราตลอดเวลา ซึ่ง ณ จุดนี้ ความสามารถและความรู้ที่เราสั่งสมมา ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในการจดลิขสิทธิ์ การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า หรือความรู้ในการพลิกแพลงสถานการณ์และคิดค้นแผนการธุรกิจใหม่ๆ จะมีประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง โดยถ้าหากเรายังไม่มีความสามารถในจุดนี้มากพอ การหยุดพักไอเดียการทำธุรกิจนี้เอาไว้และใช้เวลา 2-3 ปีศึกษาหาความรู้ในการทำธุรกิจเสียก่อน จะเป็นการดีกว่ามานั่งเสียใจทีหลัง หรือว่าอาจจะลองชวนเพื่อนที่มีความสามารถด้านการทำธุรกิจมาเป็นหุ้นส่วนกันก็ได้

6. เรามี “คอนเน็กชัน” ที่พร้อมจะสนับสนุนการเป็นเจ้าของธุรกิจของเรามากแค่ไหน

หากเราเป็นแค่คนธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ได้มีผู้ติดตามบนโซเชียลมีเดียจำนวนมาก ไม่มีสายสัมพันธ์กับผู้มีอิทธิพล หรือมีที่ปรึกษาเป็นสุดยอดนักธุรกิจ ความเป็นไปได้ที่แผนธุรกิจเราจะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มเงินทุนต่างๆ คงเป็นไปได้ต่ำ ดังนั้นสิ่งที่สำคัญกว่าแผนธุรกิจอาจเป็นการสร้างเครือข่ายหรือ Networking ในช่วงแรกด้วย โซเชียลมีเดียหรือสร้างสัมพันธ์ตามงานสัมมนาต่างๆ ให้ดีเสียก่อน

7. เรามีความอดทนต่อความไม่แน่นอนและความเสี่ยงได้มากแค่ไหน

การเริ่มต้นและการเติบโตของธุรกิจนั้น เราจำเป็นที่จะต้องรู้สึกสบายใจกับการตัดสินใจของเราในระดับหนึ่ง หรืออย่างน้อยเราก็ควรที่จะตื่นเต้นกับการผจญภัยในโลกธุรกิจที่กำลังรอเราอยู่ในอนาคตอันใกล้ คุณต้องยอมรับให้ได้ว่าหนทางข้างหน้าจะเต็มไปด้วยอุปสรรคและความท้าทายใหม่ๆ ที่เราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ดังนั้นจงตรวจเช็กจิตใจของตัวเองให้ดีว่าเรามีความอดทนมากแค่ไหนสำหรับโลกของการทำธุรกิจนี้

เราต้องมีความมั่นใจว่าตัวเองจะสามารถทนต่อความเครียดทางจิตใจและอารมณ์ได้ มิฉะนั้นโลกของการทำธุรกิจอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับสุขภาพกายและสุขภาพจิตของเรา

ท้ายที่สุดนี้ ไม่ได้จะบอกว่าการเขียนแผนธุรกิจหรือ Business Plan นั้นไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ดี หากแต่การที่เราจะเริ่มต้นธุรกิจของเราเอง และเข้าสู่เส้นทางของการเป็นผู้ประกอบการนั้น สิ่งแรกสุดเหนืออื่นใด คือ การตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราพร้อมจะเข้าสู่โลกแห่งความจริงที่อาจไม่สวยงามเสมอไปของการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneur) แล้วหรือยังนั่นเอง


ที่มา:
– 10 Personal Attributes to Check Before You Write Your Business Plan : MARTIN ZWILLING, INC. – https://bit.ly/3MOxbnE

#business
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า