การเปลี่ยนงานหรือโยกย้ายงานนั้นเป็นประสบการณ์ปกติที่คนทำงานทุกคนต้องเจออย่างน้อยสักครั้งในชีวิต
ไม่ว่าจะเป็นการเห็นรุ่นพี่ หัวหน้า หรือรุ่นน้องลาออกจากทีมไป มีเด็กจบใหม่เข้ามาร่วมทีมใหม่ ไปจนถึงการที่ตัวของเราเองนั้นตัดสินใจเก็บกระเป๋าย้ายงานเพื่อโอกาสในการเติบโตที่มากขึ้น
ถึงแม้ช่วงพักหลังมานี้เทรนด์การย้ายงานอย่างรวดเร็วเพื่อค่าตอบแทนและประสบการณ์ที่หลากหลายที่เรียกว่า “Job Hopping” กำลังเป็นที่นิยม แต่พวกเราหลายคนก็ยังไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการตัดสินใจเปลี่ยนงานใหม่เป็นสิ่งสำคัญของชีวิตที่ต้องคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนลงมือทำ
เพราะการย้ายงานนั้นไม่เพียงแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของอาชีพเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเปลี่ยนแปลงในไลฟ์สไตล์และอาจจะมีผลต่ออนาคตของคุณด้วย ดังนั้นเราไปทำความรู้จักกับปัจจัยและสิ่งต่างๆ ที่เราควรไตร่ตรองให้ดีก่อนที่จะตัดสินใจเก็บข้าวของย้ายงานกันเถอะ
1. ทบทวนสาเหตุที่ต้องการเปลี่ยนงาน
ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมคุณถึงอยากเปลี่ยนงาน อาจเป็นเพราะคุณไม่มีความสุข, ต้องการความท้าทายใหม่, หรือมองหาโอกาสในการพัฒนาตัวเอง
สมมุติว่าคุณกำลังทำงานในบริษัทที่มีวัฒนธรรมการทำงานที่เคร่งครัดและเร่งรีบ แต่คุณต้องการสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการสร้างสรรค์และมีความยืดหยุ่นมากขึ้น การเข้าใจสาเหตุนี้จะช่วยให้คุณค้นหางานที่ตรงกับความต้องการของคุณได้ดี
2. วิเคราะห์ทักษะและประสบการณ์ของตัวเอง
กำหนดว่าทักษะและประสบการณ์ที่คุณมีอยู่นั้นเหมาะสมกับงานที่คุณต้องการเปลี่ยนไปทำหรือไม่ และหากมีทักษะใดที่คุณยังขาด คุณจะเตรียมตัวอย่างไรเพื่อเติมเต็มทักษะเหล่านั้นให้พร้อม
หากคุณมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการตลาด แต่ต้องการเปลี่ยนไปทำงานด้านการออกแบบ คุณอาจต้องเรียนรู้เกี่ยวกับโปรแกรมออกแบบต่างๆ และสร้างพอร์ตโฟลิโอที่มีความเกี่ยวเนื่องกับสายงานใหม่ที่คุณอยากจะมุ่งหน้าไป
3. วางแผนทางการเงินให้ดี
การเปลี่ยนงานอาจทำให้คุณต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ไม่มีรายได้ จึงควรมีการวางแผนทางการเงินไว้เพื่อรับมือกับสถานการณ์เหล่านี้ ซึ่งการวางแผนทางการเงินเมื่อต้องเปลี่ยนงานเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้คุณรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้
[ ] สร้างกองทุนฉุกเฉิน : ตั้งเป้าหมายที่จะมีเงินออมเพียงพอให้คุ้มครองค่าใช้จ่ายขั้นพื้นฐานสำหรับอย่างน้อย 3-6 เดือน
[ ] ตรวจสอบและปรับลดค่าใช้จ่าย : ทบทวนค่าใช้จ่ายประจำเดือนของตัวเองและค้นหาส่วนที่สามารถลดหรือตัดออกได้
[ ] วางแผนสำหรับค่าใช้จ่ายที่ไม่คาดคิด : เตรียมตัวสำหรับค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้นเช่น ค่าย้ายที่อยู่หรือค่าฝึกอบรมเพื่อพัฒนาทักษะใหม่
[ ] หลีกเลี่ยงหนี้สินใหม่ : พยายามหลีกเลี่ยงการสร้างหนี้ใหม่ในช่วงเวลานี้ เช่น การซื้อรถหรือบ้านใหม่
[ ] มองหาแหล่งรายได้เสริม : ค้นหาโอกาสในการทำงานพิเศษหรือหารายได้เสริมในขณะที่คุณกำลังมองหางานใหม่จะช่วยให้กระบวนการหางานใหม่มีความผ่อนคลายและไม่กดดันมากจนเกินไป เช่น เริ่มทำธุรกิจขายของออนไลน์เป็นตัวอย่างของงานเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ในช่วงที่กำลังหางานใหม่
4. สำรวจตลาดแรงงานและอุตสาหกรรม
ศึกษาตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมที่คุณต้องการเข้าไป พิจารณาแนวโน้มและโอกาสที่มีอยู่ในตลาดนั้น
หากคุณสนใจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี คุณควรศึกษาเกี่ยวกับบริษัทต่างๆ ในอุตสาหกรรมนี้ รวมถึงแนวโน้มและทักษะที่ต้องการในตลาดแรงงานที่คุณกำลังอยากจะมุ่งหน้าไป
5. สร้างเครือข่ายใหม่ๆ
การมีเครือข่ายที่ดีสามารถเปิดโอกาสในการหางานใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานเก่า, การเข้าร่วมกลุ่มอาชีพ หรือการเข้าร่วมกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับอาชีพที่คุณสนใจ
6. เราพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงไหม
สิ่งสำคัญที่จะตามมาคู่กับการเปลี่ยนงานใหม่คือความท้าทายและความเครียดที่หลายคนอาจไม่เคยคาดการณ์มาก่อน ดังนั้นคุณจึงควรเตรียมจิตใจให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลง และถ้ามีคนที่สามารถพูดคุยเกี่ยวกับความรู้สึกอย่างปลอดภัยด้วยจะยิ่งดีมาก
7. ฟังเสียงหัวใจของตัวเอง
สุดท้ายนี้ ฟังความรู้สึกของตัวเองว่างานใหม่ที่คุณกำลังพิจารณานั้นเหมาะสมกับคุณจริงๆ หรือไม่ เพราะการเปลี่ยนงานใหม่เป็นการเดินทางที่ต้องการความกล้าหาญและการเตรียมตัวอย่างรอบคอบ แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีในการเรียนรู้และเติบโตอีกด้วย
ขอให้ทุกคนโชคดีกับทุกการเปลี่ยนแปลงนะ
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast