5 นิสัยที่จะช่วยให้คุณเข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้น

10084
หากคุณเป็นคนชอบเก็บตัวหรือมีนิสัยขี้อายมาโดยตลอด การเดินเข้าไปพูดคุยกับใครสักคนอย่างสบายใจคงไม่ใช่เรื่องง่าย และดูจะกลายเป็นความน่าอิจฉา เมื่อได้เห็นคนที่กล้าคิด กล้าแสดงออก อย่างเป็นธรรมชาติ
คุณอาจคิดว่า คงต้องใช้เวลานานพอสมควรหากจะทำให้ตัวเองทำบางสิ่งบางอย่างได้โดยไม่เคอะเขิน แต่ไม่ใช่เลย กลับตรงกันข้าม มีหลายสิ่งที่เราสามารถทำได้เป็นประจำ ที่นอกจากจะช่วยให้เราพัฒนาทักษะทางสังคมแล้ว ยังช่วยให้สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมายยิ่งขึ้นไปได้
มาดูกันว่า 5 นิสัยที่จะช่วยให้คุณเข้ากับคนอื่นได้ง่ายขึ้น มีอะไรบ้าง
 
1. กล้าที่จะเปิดเผยตัวเอง
การค่อยๆ เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเองทีละเล็กน้อย สามารถกระตุ้นความสนใจของอีกฝ่ายได้ ซึ่งจะช่วยให้พวกเขาอยากแลกเปลี่ยนความรู้สึกนั้นกับคุณด้วยเช่นกัน เพราะแท้จริงแล้ว ผู้คนสนใจด้านที่เปราะบางของกันและกันมากกว่าภาพลักษณ์ความสมบูรณ์แบบที่ถูกสร้างขึ้นมา
จากการศึกษาที่ตีพิมพ์โดย American Psychological Association (APA) ระบุว่า ยิ่งผู้คนเปิดใจมากเท่าไร พวกเขาก็จะยิ่งรู้สึกใกล้ชิดกันมากขึ้นเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้การเปิดเผยตนเองจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและรักษาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่คุณจะต้องไม่เปิดเผยตัวเองออกมาทั้งหมดในคราวเดียว เพราะอาจทำให้อีกฝ่ายรู้สึกได้ถึงแรงกดดันที่มากเกินไป อีกทั้งควรแสดงความสนใจอีกฝ่ายบ้าง โดยอาจมีการถามคําถามกลับไปเพื่อสร้างบทสนทนาที่มีความหมาย เช่น
“ครั้งสุดท้ายที่เราเจอกัน คุณบอกว่ากำลังเผชิญช่วงเวลาที่ยากลําบาก มันดีขึ้นบ้างหรือยัง?” จากนั้นก็ปล่อยให้เขาได้เปิดใจ
 
2. ใช้สัญชาตญาณเป็นตัวนำทาง
สังคมที่เต็มไปด้วยการใส่หน้ากากเข้าหากัน คนจำนวนมากพร้อมที่จะตัดสินคุณเพียงแค่ว่า วันนี้คุณแต่งตัวอย่างไร ใช้โทรศัพท์ยี่ห้ออะไร รวมไปถึงสามารถวิพากษ์วิจารณ์คนนั้นคนนี้ให้คุณฟังได้โดยไม่รู้สึกผิดแม้แต่น้อย และคงไม่ใช่เรื่องแปลก หากคุณรู้สึกไม่สบายใจที่จะเปิดเผยเรื่องต่างๆ กับเขาเหล่านั้น
ดังนั้น หากคุณพบใครบางคนที่ไม่พูดแง่ลบให้คนอื่น อยู่ด้วยแล้วรู้สึกสบายใจ หรือสามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เพราะมั่นใจว่าเขาคนนั้นจะไม่ตัดสินใครจากเพียงเปลือกนอก ก็อย่าลังเลที่จะใช้สัญชาตญาณเป็นตัวนำทางให้เข้าไปทำความรู้จัก หรือพัฒนาความสัมพันธ์ที่มีความหมายยิ่งขึ้น
 
3. ให้ความสำคัญกับคนตรงหน้า
เมื่อพูดถึงบทสนทนาง่ายๆ คงไม่มีใครชอบคุยกับคนที่แทบจะไม่ฟัง เล่นแต่โทรศัพท์ หรือพูดแทรกอยู่บ่อยๆ เพราะนอกจากจะทำให้คนตรงหน้ารู้สึกเหมือนกำลังพูดอยู่ฝ่ายเดียวแล้ว ก็อาจไปทำลายความสัมพันธ์ในระยะยาวได้  ฉะนั้น เราจึงควรให้ความสำคัญกับการมีอยู่ของคนตรงหน้า โดยเราอาจใช้วิธีการง่ายๆ เช่น ระหว่างสนทนาให้วางโทรศัพท์ไว้ในที่ที่มองไม่เห็น หรือมีการจ้องมองผู้พูดและพยักหน้าเป็นครั้งคราวบ้าง เพื่อให้การสนทนามีความหมายและเป็นที่น่าพอใจยิ่งขึ้น อีกทั้งช่วยให้คุณดูโดดเด่นในความคิดของอีกฝ่ายหรือแตกต่างจากคนที่เขามักพบเจอได้อีกด้วย
 
4. สบตาคู่สนทนาเป็นระยะ
จำไว้ว่าการสบตาเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งของคุณ แม้มันจะทำให้คุณไม่สบายใจก็ตาม เนื่องจากผู้ที่สนทนาด้วยเขาจะรู้สึกว่าคุณยังอยู่ที่นั่น และใส่ใจสิ่งที่เขากำลังพูด ซึ่งมีผลต่อความมั่นใจในเนื้อหาที่เขาพูดออกไป
จากบทความที่ตีพิมพ์ใน The British Psychology Society Research Digest ระบุว่า คนที่สบตากันมักถูกมองว่ามีความสามารถและน่าเชื่อถือ
นอกจากนี้ การสบตาที่เหมาะสมสามารถทำให้เราเป็นที่จดจำในใจของอีกฝ่ายได้
เพื่อเอาชนะสิ่งที่เรียกว่าความวิตกกังวลในการสบตา คุณอาจเริ่มจากการมองที่จุดระหว่างตาหรือจมูกของอีกฝ่ายแทน เพราะเรามักจะตอบสนองต่อใบหน้าที่มีดวงตาจดจ่อมาที่เรา มากกว่าใบหน้าที่มีดวงตามองไปที่อื่น
 
5. เพิ่มความประทับใจด้วยการเรียกชื่อ
หากคุณต้องการผูกสัมพันธ์กับใครสักคน “การจำชื่อของเขา” ก็ถือเป็นหนึ่งในนิสัยดีๆ ที่คุณสามารถพัฒนาได้ ให้ลองนึกดูว่าการที่มีคนจำชื่อคุณได้ ที่ต่อให้เป็นคนที่คุณไม่ได้สนิทชิดเชื้อ ก็คงสร้างความรู้สึกพิเศษขึ้นมาได้บ้าง
วิธีง่ายที่สุดในการจำชื่อก็คือ “การพูดซ้ำ” เมื่อคุณพบใครเป็นครั้งแรกและพวกเขาแนะนำตัว ให้ลองหาเรื่องพูดชื่อเขาซ้ำๆ ระหว่างการสนทนา แต่ต้องระวังไม่ให้เขารู้สึกว่าคุณกำลังล้อเลียนชื่อเขาอยู่
ดังคำกล่าวของ Dale Carnegie นักเขียนผู้ไม่เคยหยุดพัฒนาตัวเอง ที่ว่า
“จำไว้ว่า ชื่อของบุคคลใดก็ตาม สำหรับบุคคลนั้นเป็นเสียงที่ไพเราะและสำคัญที่สุด”
 
สุดท้าย หากคุณต้องการจะสร้างความสัมพันธ์ที่มีความหมาย สิ่งสำคัญคือต้องทำให้คนอื่นรู้สึกดีกับคุณ รู้สึกว่าคุณเป็นคนที่น่าคบหา และสิ่งเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นเลยหากคุณไม่พร้อมที่จะออกมาจากกรอบความคิดเดิมๆ เพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเอง
 
 
อ้างอิง: https://bit.ly/3rgcoOg 
 
Advertisements