ความเข้าใจคือเรื่องสำคัญ บันได 4 ขั้นเพื่อต่อสู้กับความยากจน

434
คุณเคยสงสัยไหมครับว่า NGO ที่ใหญ่ที่สุดในโลกคือ องค์กรไหนแล้วเขาทำอะไรกัน?
วันนี้ผมจะมาบอกเล่าให้ฟังครับ
 
BRAC คือ ชื่อขององค์กร NGO ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งย่อมาจาก Bangladesh Rural Advancement Committee ถูกก่อตั้งโดย Sir Fazle Hasan Abed ซึ่งเดิมทีทำงานเป็น ผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของ Shell Oil Company
 
แต่เมื่อครั้งที่มีพายุไซโคลนที่คร่าชีวิตมนุษย์ไปกว่า 300,000 คนในประเทศบังกลาเทศ (ตอนนั้นคือ ปากีสถานตะวันออก) ซึ่งมีผู้คนไร้ที่อยู่อาศัยและอดอยากมากมาย
 
เขาทนเห็นเพื่อนมนุษย์มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก ในขณะที่เขาเองมีชีวิตสุขสบายแบบนี้ไม่ได้ และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของ BRAC ในปี 1972 นั่นเอง
 
เขาเคยให้สัมภาษณ์กับ Reuters ว่า เมื่อเขาเห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ชีวิตในฐานะผู้บริหารของเขานั้นมันช่างไร้ความหมายสิ้นดี
 
Shameran Abed ลูกชายของ Sir Fazle Abed ซึ่งมาสานต่องานของคุณพ่อ ได้มาเล่าถึงแนวคิดของ BRAC ที่คุณพ่อของเขาทำมาตลอด 47 ปี บนเวที TED2020 ได้อย่างมีพลังและน่าสนใจมากครับ
 
ในช่วงเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้ช่วยให้คนหลายพันล้านคนหลุดออกจากความยากจนขั้นรุนแรงหรือ Extreme Poverty ได้ อย่างไรก็ดีท่ามกลางความพยายามมากมาย เรายังทิ้งคนจำนวนมากไว้เบื้องหลัง คนที่เราเรียกว่า Ultra-poor หรือผู้คนที่แร้นแค้นยากจนแบบสุดขีด
 
คำนิยามของคนที่อยู่ในสถานะ Ultra-poor คือ คนที่มีเงินใช้จ่ายต่ำกว่า 2 เหรียญสหรัฐต่อวัน (ราว 60 บาท)
 
ในช่วงปลายปี 2019 มีการประมาณการว่ามีคนอยู่ในกลุ่ม Ultra-poor ประมาณ 400 ล้านคน แต่การมาถึงของ COVID-19 ทำให้มีคนตกไปอยู่ในสถานการณ์นี้เพิ่มอีก 300 ล้านคน รวมเป็น 700 ล้านคน
 
หรือเกือบ 10% ของประชากรโลก
 
การทำงานกับกลุ่มคนที่ยากจนที่สุดของที่สุด ทำให้ Sir Fazle Abed ได้เรียนรู้ว่าความยากจนนั้น ไม่ได้หมายถึงแค่การไม่มีเงินหรือทรัพย์สิน มันหมายถึงการไม่มี “ความหวัง” ด้วย
 
ผู้คนเหล่านี้ติดกับดักของความยากจน พวกเขาคิดว่าสภาพของพวกเขานั้นไม่มีทางแก้ไข พวกเขาเหล่านี้ไม่เพียงมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ย่ำแย่ แต่พวกยังถูกตัดขาดหรือทอดทิ้งจากสังคมอีกด้วย
 
สำหรับคนเหล่านี้ ความยากจนเหมือนกับพระอาทิตย์กับพระจันทร์ มันแก้ไขอะไรไม่ได้
 
การแก้ไขเรื่องความยากจนจึงไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่โจทย์ที่แท้จริงคือ การสร้างความหวังและความมั่นใจให้กับผู้คน เพื่อที่เขาจะพาตัวเองออกจากความยากจนมาให้ได้
 
ทีมทำงานเริ่มกระบวนการทำงานกับผู้หญิงในบังกลาเทศที่ยากจนถึงขั้นสุด สาเหตุที่เริ่มกับผู้หญิงก่อนก็เพราะว่าความยากจนนั่นสร้างผลกระทบกับผู้หญิงมากกว่าคนกลุ่มอื่น ในขณะเดียวกันผู้หญิงก็มีแนวโน้มที่จะพาครอบครัวตัวเองออกจากความยากจนได้มากกว่าเช่นกัน
 
BRAC เรียกกระบวนการนี้ว่า Graduation หรือการจบการศึกษาซึ่งเป็นกระบวนการที่ใช้เวลายาวถึง 2 ปี โดยมีขั้นตอนหลักๆ อยู่ 4 ขั้นตอนด้วยกันอันได้แก่
 
1. มอบสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเช่นอาหาร เพื่อให้การันตีว่าคนเหล่านี้จะไม่อดตาย
2. มอบสิ่งของที่เป็นสินทรัพย์ที่หาเงินได้ให้พวกเธอเหล่านั้น เช่น ปศุสัตว์ และสอนวิธีการหารายได้จากสินทรัพย์เหล่านั้น
3. สอนวิธีการบริหารเงินตั้งแต่การ ออม การทำงบประมาณรายรับรายจ่าย และการลงทุน
4. ช่วยพวกเธอให้กลับเข้ามาสู่สังคมได้อีกครั้ง ให้พวกเธอรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
 
กระบวนการสี่ขั้นตอนนี้ต้องทำไปพร้อมๆ กันเพราะแต่ละเรื่องต่อเนื่องเกี่ยวข้องกันหมด โดยมีจุดมุ่งหมายให้คนที่เข้าร่วมโครงการเห็นถึงศักยภาพและโอกาสของตัวเอง
 
ทำให้พวกเขามี “ความหวัง” ขึ้นมานั่นเอง
 
Jorina คือ หนึ่งในผู้หญิงที่เข้าร่วมโครงการ ตอนแรกเธอยากจนแบบถึงขีดสุด เธอไม่เคยเรียนหนังสือ ถูกบังคับให้แต่งงานตั้งแต่อายุ 15 และมีสามีที่ทำร้ายร่างกายทุบตีเธอ และในที่สุดก็ทิ้งเธอไป ให้เธอต้องเลี้ยงลูก 2 คนแต่เพียงลำพัง
 
ลูกทั้งสองของเธอประสบกับสภาวะขาดสารอาหารอย่างรุนแรง และไม่เคยได้เข้าสู่ระบบการศึกษาใดๆ ทั้งสิ้น
 
เธอเข้าร่วมโครงการกับ BRAC ในปี 2005
 
เธอได้รับเงิน 1 เหรียญสหรัฐต่อสัปดาห์, วัวสองตัว และได้รับการอบรมกับ Mentor ของ BRAC ทุกสัปดาห์
 
ทีละเล็กละน้อย เธอค่อยๆ ทำงานเก็บเงิน และเธอค่อยๆ มองเห็นสิ่งที่เธอไม่เคยเห็นมาตลอดชีวิต
 
นั่นคือ “อนาคต” ของเธอกับลูกๆ
 
วันนี้ Jorina เป็นเจ้าของร้านขายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดในชุมชนของเธอ และถ้าคุณได้มีโอกาสไปเยี่ยมเธอ เธอจะพาคุณไปเยี่ยมบ้านที่สร้างด้วยน้ำพักน้ำแรงของเธอเองด้วย
 
ตั้งแต่โครงการนี้เริ่มมาในปี 2002 มีครอบครัวกว่า 2 ล้านครอบครัว ซึ่งมีสมาชิกครอบครัวรวมกว่า 9 ล้านคน สามารถถีบตัวเองออกจากความยากจนแบบ Ultra-poverty ได้สำเร็จ
 
โดยโครงการนี้ใช้เงินประมาณ 500 เหรียญสหรัฐต่อครอบครัว แต่ผลของมันยิ่งใหญ่เกินกว่าเงินที่ลงไปมากนัก
 
นักวิจัยจาก London School of Economics (LSE) ได้ทำการศึกษาและพบว่ากว่า 92% คนที่ได้มีโอกาสเข้าโครงการนี้ เมื่อผ่านไป 7 ปี ยังสามารถรักษาระดับรายได้และทรัพย์สินให้ไม่กลับไปยากจนอย่างมากๆ ได้อีก
 
Esther Duflo และ Abhijit Banerjee นักเศรษฐศาสตร์ของ MIT ที่พึงได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปีที่แล้ว บอกว่าโครงการ Graduation ของ BRAC เป็นหนึ่งในกระบวนที่มีประสิทธิภาพที่สุดที่จะต่อสู้กับกับดักความยากจน
 
แม้ว่ารัฐบาลหลายประเทศมีงบประมาณมากมาย แต่บางทีก็ถูกใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาความยากจน หลายครั้งเงินถูกแจกออกไปเฉยๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาความยากจนที่ยั่งยืน
 
ดังนั้น ปัจจุบัน BRAC ได้ร่วมมือกับรัฐบาลกว่า 8 ประเทศ โดยนำความเข้าใจที่ได้จากโครงการ Graduation เพื่อที่จะต่อสู้กับความยากจน โดยมีเป้าหมายที่จะช่วยคน 21 ล้านคนให้หลุดจาก Ultra-poverty ให้ได้ภายในปี 2026
 
คุณอาจจะสงสัยว่าทำไม Sir Fazle Abed ถึงไม่ได้มาเล่าเรื่องนี้ด้วยตัวเอง
 
นั่นก็เพราะว่า เขาพึงจากไปเมื่อเดือนธันวาคมปี 2019 ที่ผ่านมาด้วยมะเร็งสมอง ทิ้งไว้แต่ประกายแห่งความหวังให้กับผู้คนนับล้าน
 
สิ่งที่ Sir Fazle Abed ได้ทำมาตลอด 47 ปีนั้น ไม่ใช่เพียงแค่การหาเงินมาแจกจ่ายคนยากจน แต่เขามอบสิ่งที่มีค่ามากกว่าเงินทอง นั่นคือ “ความหวัง”
 
ความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่า
 
Sir Fazle Abed เคยกล่าวไว้ว่า
 
“Hope is an element in which people take action, and energize themselves out of poverty,”
“ความหวัง เป็นพลังที่ทำให้คนลงมือทำในสิ่งที่จะพาพวกเขาออกจากความยากจน”
 
ซึ่งเขาได้พิสูจน์มาแล้ว และกำลังส่งต่อมันให้กับคนทั่วโลกเช่นกัน
 
 
Advertisements