เราจะเป็นคนแข็งแกร่งขึ้นได้อย่างไร?

3100
การต้องใช้ชีวิตในโลกที่ผสานรวมความหลากหลายเอาไว้ อาจทำให้เรารู้สึกอ่อนแอ และหวาดกลัวต่อหลายๆ สิ่ง หลายๆ อย่าง บางคนมักรู้สึกทดท้อหรือพ่ายแพ้ตั้งแต่ยังไม่เริ่มลงมือทำ นั่นเพราะเกราะในใจเรายังไม่แข็งแกร่งพอ ตลอดจนความคิด ทัศนคติที่ยังไม่พร้อมสู้ต่อ
 
จริงๆ แล้วความแข็งแกร่งเป็นเรื่องที่สามารถฝึกฝนได้ อย่างแนวคิด 5 ข้อที่จะเปลี่ยนเราเป็นคนที่แข็งแกร่งขึ้น ลองมาดูกันว่าเราจะทำอย่างไรได้บ้าง
 
1. อย่ากลัว “พื้นที่สีเทา” ลองเรียนรู้ที่จะอยู่กับความไม่แน่นอน
การกระทำในชีวิตเราอาจแบ่งเป็นสามส่วน คือส่วนที่เป็นสีขาว หรือพื้นที่ปลอดภัย อีกส่วนคือพื้นที่สีดำ ที่หมายถึงอันตราย และอีกส่วนหนึ่งคือพื้นที่ตรงกลางที่ผสมระหว่างสีขาวกับดำ นั่นคือ “พื้นที่สีเทา” ที่เรามักมองไม่ออกว่าจะดีงามหรือเลวร้ายกันแน่
หลายๆ คนพยายามหลีกเลี่ยงการใช้ชีวิตในพื้นที่สีเทานี้ เพราะมองว่ามันคือความไม่แน่นอน จึงไม่อยากเสี่ยง แต่จริงๆ แล้ว การผลักตัวเองไปยืนในพื้นที่เสี่ยงดูบ้าง อาจเพิ่ม “ความทนทาน” ของหัวใจให้แข็งแกร่งขึ้น และยังมีโอกาสได้เจอกับเรื่องดีๆ ที่เราจะไม่มีวันเจอถ้าหากเรายังไม่ก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัยของเอง
ถ้าคุณเป็นคนกลัวความเสี่ยง ลองฝึกตัวเองด้วยการเผื่อเวลาในชีวิตสำหรับทุกๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้น และลองปล่อยให้มันเกิดขึ้นดู ส่วนกิจกรรมใหม่ๆ ที่เริ่มทำไปแล้วรู้สึกเครียด ก็ลองลดเวลาเท่าที่จะทำไหว ที่สำคัญที่สุด ถ้าหากมีโอกาสเข้ามา อย่าปล่อยให้มันผ่านเลยไป ลองตอบรับทุกคำเชิญ แล้วคุณอาจพบโมเมนต์ที่ดีที่สุด ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในชีวิตก็ได้
 
2. ใช้ชีวิตตามมาตรฐานของตัวเอง
การใช้ชีวิตไม่ใช่การลงแข่งกีฬาระดับโลก ที่ต้องมีการจัดอันดับความเก่งกาจ แต่ชีวิตคือการเดินตามมาตรฐานของตัวเองอย่างมั่นคง ในความเป็นจริงแล้ว โลกใบนี้มีคนเก่งกว่าและดีกว่าเราเสมอ ถ้าเรามัวแต่วิ่งตามมาตรฐานของคนอื่น เราก็จะเหนื่อยและรู้สึกไม่ปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เก่งสักที
ถ้าคุณรู้สึกว่ากำลังวิ่งตามมาตรฐานของคนอื่น ลองปรับการใช้ชีวิตด้วยการจดและทบทวนทุกๆ สัปดาห์ว่าเราทำอะไรได้สำเร็จบ้าง และอย่าลืมให้รางวัลกับความสำเร็จนั้น
 
3. โฟกัสกับวิธีการที่ต้องทำ มากกว่าผลของมัน
การตั้งเป้าหมายเป็นเรื่องที่ดี และควรทำอยู่แล้ว แต่เราไม่ควรไปหมกมุ่นกับปลายทางมากเกินไป สิ่งที่เราควรโฟกัสคือขั้นตอนระหว่างทางมากกว่า เช่น ถ้าตั้งใจจะเขียนหนังสือให้เสร็จ เราก็ควรให้ความสำคัญกับการแบ่งเวลา 2 ชั่วโมง/วันเพื่อเขียนมันเป็นประจำ ให้ความสม่ำเสมอกับมัน
ส่วนเป้าหมายคือสิ่งที่เราเหลือบมองนานๆ ที เพื่อให้ไม่หลงทางว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ แต่สุดท้ายแล้วเราก็ต้องให้น้ำหนักกับวิธีการเพื่อไปถึงเป้าหมายที่สุด
 
4. ให้คุณค่ากับชัยชนะเล็กๆ
เรามักให้ราคากับสิ่งที่ทำผิดมากกว่าทำถูก เราเจ็บปวดกับการสูญเสียมากกว่าดีใจกับการได้มา เช่น การได้เงินหนึ่งล้านกับเสียเงินหนึ่งล้าน แน่นอนว่าเรารู้สึกเจ็บปวดกับความสูญเสียมากกว่า
สิ่งที่พอจะฝึกให้เราเข้มแข็งขึ้นคือ การบันทึกว่าเราชนะอะไรมาบ้าง การบันทึกนี้อาจไม่ใช่การจดก็ได้ แต่ต้องมีกระบวนการในการใส่ข้อมูลลงในความคิดของเราว่า เราชนะอะไรมาบ้างในแต่ละสัปดาห์ อย่าทำลายความรู้สึกดีๆ แม้เป็นเพียงชัยชนะที่เล็กน้อยเท่าไรก็ตาม
 
5. รับรู้และอยู่กับความรู้สึกแง่ลบโดยไม่ฟูมฟาย
ชีวิตเราอาจทำผิดพลาด หรือเจอเรื่องราวเจ็บปวดช้ำใจอยู่บ่อยๆ ถ้าเราก่นด่าในทุกๆ ความรู้สึกแง่ลบที่เกิดขึ้น ความทุกข์นั้นก็จะยิ่งทำร้ายและตอกลงในใจเราหนักขึ้นเรื่อยๆ
เมื่อไรก็ตามที่ความรู้สึกนั้นมาถึง ให้ลองนั่งเฉยๆ เพื่ออยู่กับมันไปเรื่อยๆ ทำความเข้าใจ พิจารณามันโดยไม่เอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง คุณอาจตั้งชื่อให้มัน เข้าใจมัน และปล่อยให้มันไหลผ่านร่างกายของคุณไป
แค่เพียงเราตระหนักรู้และปล่อยผ่านไป ด้วยความเข้าใจในทุกๆ ความรู้สึก เราก็จะแข็งแกร่งขึ้นอีกขั้นอย่างแน่นอน
 
อ้างอิง: https://bit.ly/3oC5lNG
 
รับฟัง “5 วิธีฝึกจิตใจให้แข็งแกร่งขึ้น” ใน Mission to the Moon EP.965 ได้ที่: https://bit.ly/3oCvKuY
 
Advertisements