เคยสงสัยไหมว่า ทำไมการช่วยคนอื่นคิดหรือตัดสินใจ จึงง่ายกว่าการตัดสินใจเรื่องของตัวเอง?

527
จากงานวิจัยของ University of Wisconsin – Madison ชี้ให้เห็นถึงความปกติ ที่เวลาเราเลือกหรือนำเสนอทางออกให้คนอื่น ทุกอย่างจะดูชัดเจน และตัดสินใจได้โดยง่าย แต่เมื่อเป็นเรื่องของตัวเองกลับรู้สึกว่ามันยากกว่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน ความรัก ครอบครัว หรือแม้กระทั่งการเลือกเมนูอาหาร
 
เนื่องจาก เวลาเราคิดให้คนอื่น จะใช้ชุดความคิดที่มีความผจญภัย หรือ Adventurous Mindset แต่เมื่อต้องคิดเรื่องของตัวเอง จะใช้ชุดความคิดที่เรียกว่า Cautious Mindset ซึ่งมีความระมัดระวังมากกว่า
 
โดยพบว่า เวลาที่เราตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของใครก็ตาม ไม่ใช่แค่ว่าเราเลือกอะไร แต่วิธีการเลือกก็ยังแตกต่างกันด้วย
 
ถ้าเป็นการเลือกให้ตัวเอง เราจะเอาพลังงานไปโฟกัสกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ แล้วก็ลงไปขยี้ทุกข้อปลีกย่อย (Cautious Mindset) เนื่องด้วยเหตุของการกลัวความสูญเสีย (Loss Aversion) ทำให้เราพยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (Risk Averse) ด้วยการเลือกสิ่งที่ค่อนข้าง Play Safe ตัวเอง และหากพูดถึงเรื่องออปชัน เราก็จะเลือกออปชันเข้ามาดูไม่เยอะ เพราะเรามีกรอบความคิดที่เลือกไว้ในใจอยู่แล้ว
 
หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เราจะพยายาม “ลงลึก” ใน “ออปชันที่มีจำนวนน้อยกว่า”
 
ในขณะเดียวกัน ถ้าเป็นการเลือกให้กับคนอื่น เราจะใช้ชุดความคิดที่มีความผจญภัย (Adventurous Mindset) ซึ่งออปชันเราจะหลากหลายมาก และไม่ได้ลงไปในดีเทลเยอะ แต่เราจะพูดถึงภาพใหญ่ๆ เช่น พูดว่า สิ่งนี้มันมีประโยชน์กับคุณมากกว่า สะท้อนถึงชีวิตและตัวตนคุณมากกว่า ซึ่งเป็นลักษณะของการ “ดูเหมือนจะมองขาด”
 
หรือพูดได้ว่า Adventurous Mindset ทำให้เราเสนอทางเลือกที่หลุดออกจากกรอบปกติ หรืออาจถึงขั้นผิดแปลกแหวกแนวไปเลยก็ได้ เพียงแต่จะไม่ค่อยลงดีเทล
 
รายงานดังกล่าวยังสอดคล้องกับงานวิจัยของ University of Delaware ที่ว่า คนที่พยายามจะแก้ปัญหาของคนอื่นจะมีความครีเอทีฟมากกว่า เวลาเรา Brainstorming จะมีความ Inspire ทุกอย่าง Free Flow อะไรก็เป็นไปได้ไปหมด ไม่มี Judgment เรียกได้ว่าเปิดกว้างสุดๆ
 
โดยงานวิจัยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม และให้วาดรูปเอเลี่ยน
กลุ่มแรก วาดรูปเอเลี่ยนที่เป็นเรื่องราวของเรา
กลุ่มที่สอง วาดรูปเอเลี่ยนที่เป็นเรื่องราวของคนใกล้ตัว
กลุ่มสุดท้าย วาดรูปเอเลี่ยนที่เป็นเรื่องราวของคนไกลตัวหรือไม่เคยพูดคุยทำความรู้จัก เช่น แจ็ค หม่า
 
ปรากฏว่า ยิ่งคนที่คิดปัญหาให้ห่างจากตัวเองมากเท่าไร เอเลี่ยนที่วาดจะยิ่งมีความครีเอทีฟมากขึ้นเท่านั้น หรือจะบอกว่า “ยิ่งไกลตัวเรายิ่งไม่มีกรอบ” เพราะเราไม่เคยเห็นกรอบความคิดของเขา จึงคิดอะไรไปได้เรื่อยๆ
 
จากงานวิจัยยังแสดงให้เห็นอีกว่า ถ้าเราต้องการมุมมองที่กว้าง และอยากจะมองปัญหาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ควรจะมีที่ปรึกษา
 
ในกรณีที่ไม่มี หรืออาจต้องคิดเองคนเดียวจริงๆ เราต้องรู้วิธีเป็นที่ปรึกษาของตนเองให้ได้ โดยให้เราเป็นบุคคลที่สาม แล้วลองมองกลับมาที่ตัวเอง ซึ่งเราอาจจะตั้งคำถามว่า ถ้าเป็นคนอื่นเขาจะคิดถึงเรื่องนี้ได้อย่างไร? แล้วจะยังใช้ชุดความคิดเดิมในการตัดสินใจหรือไม่?
 
การที่เราวางตัวเป็นบุคคลที่สาม ความเครียดจะลดลง และเวลาพูดโดยใช้มุมมองจากบุคคลที่สาม ทางเลือกก็ดูจะมีมากขึ้น และไม่มีความกังวลที่เกินจริงเข้ามาเกี่ยวข้อง (เป็นวิธีการโค้ชตัวเอง)
 
เช่น เรื่องของแรงกดดันจากการทำงาน เราก็จะมีชุดความคิดหนึ่งที่เวลาเพื่อนมาขอคำปรึกษา ก็มักจะใช้ชุดความคิดนี้ไปบอกกับเพื่อน เราลองถอยกลับมา แล้วคิดว่าตอนนี้เรื่องที่เราเจออยู่เป็นเรื่องของเพื่อน แล้วลองเอาชุดความคิดเดิมนั้นใส่เข้าไป และลองดูว่าจะเป็นอย่างไร
 
รวมไปถึงการ Brainstorming คือ คิดไปถึงคนอื่นที่เป็นคนไกลตัว โดยคิดว่าถ้าคนคนนั้นมาพูดกับเราเขาจะทำอย่างไร เช่น ในสถานการณ์นี้ แจ็ค หม่า จะตัดสินใจอย่างไร แต่กรณีนี้คุณต้องเข้าใจวิธีคิดของเขาประมาณหนึ่งด้วย
 
และที่สำคัญมากๆ หลังจากที่เราเข้าใจวิธีการแก้ปัญหานั้นแล้ว ต้องมองให้เป็นกลางที่สุดให้ได้ พอเราถอยออกมาแล้วมองมันเป็นกลาง ก็อาจจะค้นพบว่าที่จริงแล้วก็ไม่ได้มีประเด็นอะไรมากมาย
 
พอเริ่มเป็นกลางมากขึ้น ไม่คิดเล็กคิดน้อยโดยใช่เหตุ เราจะเริ่มให้น้ำหนักกับแฟคเตอร์ต่างๆ ที่ถูกต้อง เพราะการที่เราลงรายละเอียดกับทุกประเด็น บางทีเราก็ไปให้น้ำหนักกับเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่า อย่าง ประเด็นดราม่า มากกว่าเหตุผลที่แท้จริงที่ควรตัดสินใจ
 
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะตัดสินใจในเรื่องของคนอื่นได้ดีกว่าตัวเอง หากเราอยากจัดการปัญหาตัวเองให้ดี ต้องลองมองปัญหาด้วยสายตาของผู้อื่นที่ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเราบ้าง
 
เพราะปัญหาที่ว่าใหญ่ อาจคลี่คลายเมื่อมองจากที่ไกลๆ ไม่ใช่จากสายตาของตัวเอง
 
 
อ้างอิง: https://bit.ly/2JLmmGj
Advertisements