“พี่ไม่เก่งเรื่องนี้เลย ฝากด้วยนะ”
“เด็กรุ่นใหม่น่าจะถนัดมากกว่า รบกวนด้วยล่ะ”
จากเด็กใหม่ไฟแรง กลายเป็นเด็กใหม่ไฟไหม้ เพราะต้องทำงานแทนคนโน้นคนนี้ไม่หยุด!
เมื่อเราเข้าทำงาน ก็คาดหวังที่จะได้แสดงศักยภาพ และความสามารถอย่างเต็มที่ บางคนก็แสดงท่าทีอยากทำงานเสียเต็มแก่โดยไม่รู้ตัว ทำให้เราเผลอตอบรับทุกคำขอไหว้วาน และคำขอความช่วยเหลือเรื่องงาน โดยไม่ปริปากบ่นสักคำ
ที่พนักงานใหม่ปฏิเสธคำขอเหล่านั้นได้ยาก ก็เพราะว่าเรากำลังต้องการการยอมรับ และอยู่ในช่วงพิสูจน์ตัวเอง หากบริษัทเป็นสนามรบ พนักงานใหม่มักจะตกเป็นรองคนอื่นในทุกๆ ด้าน ทั้งประสบการณ์ คุณวุฒิ และวัยวุฒิ ยิ่งไปกว่านั้น หากอีกฝ่ายอ้างว่า “ไม่เก่งเรื่องนี้” “ไม่ถนัดเรื่องนี้” จะปฏิเสธก็กระอักกระอ่วน กลัวจะถูกมองว่าเลือกงาน
แต่สำหรับอีกฝั่ง วิธีนี้ถือเป็นกลยุทธ์ในการอู้งานหรือเทงาน โดยที่ตัวเองไม่สูญเสียชื่อเสียง หรือความน่าเชื่อถือได้อย่างดีที่สุด เราเรียกสิ่งนี้ว่า “Weaponized Incompetence” หรือ “ความไร้ความสามารถถือเป็นอาวุธ”
Weaponized Incompetence คืออะไร?
เว็บไซต์ Worklife ได้อธิบายคำว่า Weaponized Incompetence ไว้ว่า เป็นการใช้จุดแข็งที่เหนือกว่าในตำแหน่งการงาน อายุ สิทธิพิเศษบางอย่าง หรือแม้กระทั่งความเหนือกว่าทางอัตลักษณ์ตัวตน เช่น เพศ เชื้อชาติ ศาสนา มาใช้เป็นข้ออ้างในการปัดภาระความรับผิดชอบในงานที่ตนไม่อยากทำไปให้คนอื่นด้วยการไหว้วานแบบปากเปล่า
อาจเพราะพนักงานกลุ่มดังกล่าวรู้สึกว่าเป็นงานที่ไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง หรืออัตลักษณ์ของตัวเอง เช่น เป็นถึงหัวหน้า แต่ต้องจดบันทึกการประชุม ต้องเตรียมห้อง และเอกสารการประชุม เป็นผู้ชาย แต่กลับต้องทำงานเหมือนเลขาฯ หรืองานจุกจิกที่ทำไปแล้วก็ไม่ได้รางวัลตอบแทน เช่น หน้าที่บริการคนในองค์กร คนเหล่านี้รู้สึกว่าทำไปก็เปล่าประโยชน์ แต่จะไม่ทำก็ไม่ได้ เลยเลือกใช้ข้ออ้างเพื่อปัดภาระให้คนอื่น
Weaponized Incompetence มีให้เห็นตั้งแต่ในรั้วบ้าน
จุดเริ่มต้นของการอ้างว่าไร้ความสามารถมีให้เห็นตั้งแต่หน่วยเล็กสุดของสังคม ซึ่งก็คือครอบครัว คนไทยหลายบ้านมักจะยึดติดกับการแบ่งหน้าที่ตามเพศ ให้พ่อเป็นคนทำงานหาเงิน เป็นเสาหลักของบ้าน ให้แม่เป็นคนดูแลเรื่องภายในบ้าน ทำความสะอาด และเลี้ยงลูก
ยิ่งบ้านไหนที่แม่ต้องทำงานนอกบ้านด้วยแล้ว หน้าที่ของแม่จะหนักอึ้งเป็นสองเท่าและเมื่อแบ่งเบาภาระให้สมาชิกคนอื่นในครอบครัว ก็คงไม่พ้นลูกสาวที่ต้องช่วยแม่ทำงานบ้านอยู่ดี
คนเรามักติดภาพจำว่าเพศชายมักไม่ค่อยเข้ากันได้ดีกับงานบริการ งานทำความสะอาด งานบ้าน หรืองานที่ต้องใช้ความพิถีพิถัน ส่วนเพศหญิงที่ติดอยู่กับภาพจำของเพศที่ละเอียดอ่อน ก็ถูกคาดหวังว่าจะทำได้ดีกว่าผู้ชาย หน้าที่ของงานลักษณะนี้จึงตกเป็นความรับผิดชอบของผู้หญิงไปโดยปริยาย
ไม่ว่าจะเป็นงานต้อนรับ พนักงานเสิร์ฟ พนักงานให้บริการ ติดต่อกับลูกค้า ในองค์กรส่วนใหญ่มักจะเป็นพนักงานหญิงทั้งนั้น และงานจุกจิกเล็กๆ น้อยๆ ในออฟฟิศก็ตกเป็นหน้าที่ของพนักงานหญิงบ่อยๆ เหมือนกัน เช่น ทำความสะอาด เตรียมห้องประชุม เตรียมเอกสาร เตรียมของว่าง จดบันทึกการประชุม หรืองานเลขาฯ
ความคิดและค่านิยมของแต่ละบุคคลเป็นสิ่งเฉพาะตัวก็จริง แต่ก็ถูกหล่อหลอมมาตั้งแต่ในรั้วบ้าน หากทุกครอบครัวมีความคิดในการแบ่งแยกเพศเหมือนกันทั้งหมด เด็กก็จะโตมาพร้อมกับความคิดของการแบ่งแยกเพศ ตามค่านิยมที่ถูกปลูกฝังมาด้วย จึงไม่แปลกที่ความคิดเหล่านี้จะฝังอยู่ในหลายองค์กร
อ้าง ‘วัย’ เป็นไม้ตาย
นอกจากจะใช้เพศแล้ว วัยหรืออายุ ยังถูกใช้เป็นข้ออ้างในการขอความช่วยเหลือเพื่อผลักภาระงานไปให้คนที่เด็กกว่าในองค์กรอีกด้วย โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่พนักงานรุ่นใหม่ๆ มักจะโดนเป็นพิเศษ ซึ่งในความจริงแล้วคนรุ่นใหม่หลายคนก็ไม่ได้เก่งเทคโนโลยีอย่างที่ใครๆ คาดไว้
ในยุคที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ พัฒนาอย่างรวดเร็วจนส่งผลกับงานทุกแขนง ทำให้คนยุคแอนะล็อก รวมถึงคนที่ไม่ค่อยใช้เทคโนโลยีทำงาน เมื่อปะทะกับการแทรกแซงของโลกแห่งเทคโนโลยี ก็พากันเป๋ไปหมด
พอไม่มีเวลาหรือไม่อยากเรียนรู้กับสิ่งใหม่ๆ วิธีที่งานจะเสร็จได้ไวและมีคุณภาพมากที่สุดก็คือ โยนให้คนอื่นทำ โดนส่วนมากก็จะตกเป็นหน้าที่ของพนักงานที่เด็กกว่า พนักงานที่มาใหม่ในทีม เพราะคุณสมบัติที่แปะป้ายไว้ว่าเป็น “คนรุ่นใหม่” ที่กำลังอยู่ในช่วงพิสูจน์ตนเองให้องค์กรและเพื่อนร่วมงานได้เห็น จึงมักไม่ค่อยปฏิเสธงานที่ถูกไหว้วานเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม การต้องสะสางทั้งงานราษฏร์งานหลวงก็หนักหนาไม่น้อย หากต้องสละเวลางานเพื่อไปทำธุระให้พี่คนโน้น ทำงานด้วยโปรแกรมที่พี่คนนี้ไม่ถนัด แก้บั๊ก เตรียมห้อง จัดเอกสาร ชงกาแฟ ถ่ายเอกสาร ทำลายเอกสาร หรือสรุปโน้ตการประชุมคนเดียวบ่อยๆ ก็คงต้องทำงานล่วงเวลา แล้วยังเสี่ยงต่อการทำงานไม่เสร็จตามกำหนดอีกด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ในฐานะผู้น้อยในองค์กร หลายคน “ไม่กล้า” ที่จะบอกปฏิเสธคำขอเหล่านี้
หาทางแก้ไข ไม่ให้องค์กรมี Shadow Management
Shadow Management ในที่นี้หมายถึง การพยายามทำให้งานลุล่วง แต่ไม่มีการจัดการที่เป็นระบบ ทำให้เกิดปัญหาตามมาได้ เช่น พนักงานไม่เข้าใจงาน หรือหน้าที่ของตัวเอง มีหน้าที่รับผิดชอบที่ทับซ้อนกันในทีม หรือไม่รู้ว่าใครทำหน้าที่อะไร จนเสียเวลาในหลายขั้นตอน
หาก A ต้องรับผิดชอบงานพรีเซนต์ แต่ A โยนงานให้ B ซึ่งเป็นลูกทีมไปทำสไลด์และข้อมูล เมื่อถึงเวลากลับนำเสนอได้ไม่ดีเพราะ A ไม่ได้เป็นเจ้าของงานตัวจริง ก็ไปโทษ B ที่ทำสไลด์สับสนทั้งๆ ที่เป็นหน้าที่ของ A เข้าทำนอง “ว่าแต่เขา อิเหนาไม่ทำงาน” หรือ “ทำงานไม่ดี โทษปี่โทษกลอง”
ดังนั้นเพื่อไม่ให้ส่งผลเสียกับงานไปมากกว่านี้ ก็ต้องรีบแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุสำคัญถึงสองจุดด้วยกัน จุดแรกคือตัวองค์กรเองยังไม่มีขอบเขตหน้าที่ที่ชัดเจนของแต่ละตำแหน่ง หรือไม่ก็เป็นองค์กรที่ยึดวัฒนธรรมพนักงานผู้น้อยต้องรับหน้าที่บริการ และงานจุกจิกไปทำ
แก้ไขด้วย “การกำหนดหน้าที่” ของแต่ละคน แต่ละฝ่ายอย่างชัดเจนไปเลยว่าใคร ทำงานอะไร เพื่อให้ตัวพนักงานได้ทำงานอย่างเต็มความสามารถของตัวเอง หรือช่วยให้พัฒนาได้พัฒนาตัวเองได้ตรงกับขอบเขตงานตัวเอง และหากพนักงานคนไหนยินดีรับงานมาทำเพิ่ม เช่น การทำงานล่วงเวลา บริษัทเองก็ต้องเห็นถึงข้อดีตรงส่วนนี้ และมอบค่าตอบแทนให้แก่คนทำงานด้วย
นอกจากนี้องค์กรยังต้องลบวัฒนธรรมโยนงานจุกจิกให้พนักงานผู้น้อย เพื่อแบ่งเบาภาระ และปลูกฝังให้ยอมรับกันที่ความสามารถจริงๆ มากกว่าตัดสินกันที่การหัวอ่อน ว่านอนสอนง่ายต่อหัวหน้าหรือรุ่นพี่ ให้ทำอะไรก็ทำจนภาระงานหนักอยู่ที่พนักงานเพียงคนเดียว
การสร้างหรือลบวัฒนธรรมบางอย่างในองค์กรเป็นเรื่องยากก็จริง แต่หากผู้นำองค์กรพิจารณาแล้วว่าวัฒนธรรมนั้นส่งผลเสียต่อการทำงาน ก็จำเป็นต้องปรับทัศนคติของพนักงานเสียใหม่
จุดที่สองที่จำเป็นต้องแก้ไขก็คือ “ทัศนคติของพนักงาน” เอง ที่ต้องเห็นคุณค่าของตัวเอง และความสามารถที่มีต่องาน ต่อองค์กร ไม่ใช่ทำงานสักแต่ว่าให้เสร็จๆ ไป พนักงานทุกคนต้องรู้ขอบเขตหน้าที่ของตัวเอง และยอมรับศักยภาพของเพื่อนร่วมงาน ไม่ว่าตำแหน่งอะไร อายุเท่าไหร่ หรือเพศอะไรก็ตาม
และถ้าหากว่าจำเป็นต้องรับภาระงานเพิ่มที่นอกเหนือจากขอบเขตหน้าที่ของตัวเอง ก็ต้องมั่นใจว่าอยู่ในขอบเขตที่เรารับไหว ไม่หนักจนเกินไป และเราจะได้รับค่าตอบแทนจากการทำงานชิ้นนั้นให้แก่บริษัทหรือเพื่อนร่วมงาน เช่น เครดิตในชิ้นงาน ค่าโอที หรือวันลาเพิ่ม เป็นต้น
ถ้าในทีมมีสมาชิกหลายคน แต่มีคนที่เหนื่อยและทุ่มเทอยู่เพียงคนเดียว ก็จะทำให้ตีคุณค่าของสิ่งที่ทำอยู่ต่างกันไปด้วย แม้ว่าองค์กรจะมีพนักงานที่เก่ง มีศักยภาพและความสามารถ แต่กลับเลือกที่จะแสดงออกว่าไม่เก่ง และโยนงานที่ไม่อยากทำให้แก่เพื่อนร่วมงาน องค์กรนั้นก็คงไม่สามารถพัฒนาสู่จุดที่ดีกว่านี้ได้
แต่ถ้าพนักงานเห็นคุณค่าของตัวเอง และมีใจรักในการทำงาน การหาข้ออ้างว่าไม่เก่ง เพื่อเทงานให้คนอื่นก็จะหายไป ยิ่งไปกว่านั้น องค์กรยังได้พนักงานที่มีประสิทธิภาพ และแสดงศักยภาพของตัวเองอยู่ในทุกตำแหน่ง ทำให้สุดท้ายแล้วองค์กรก็จะสามารถพัฒนาและเติบโตได้อย่างยั่งยืน
อ้างอิง
– WTF is weaponized incompetence in the workplace? : Hailey Mensik, worklife – https://bit.ly/3r7GTKD
– 7 Signs Of Weaponized Incompetence In Relationships & How To Deal With It : Julie Nguyen, mbg relationships – https://bit.ly/442NNiN
#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast