PSYCHOLOGYworklifeอยากลาปีใหม่แต่ใจไม่กล้า ปัญหาอยู่ที่เราหรือองค์กร?

อยากลาปีใหม่แต่ใจไม่กล้า ปัญหาอยู่ที่เราหรือองค์กร?

ช่วงใกล้ถึงปีใหม่เช่นนี้ เชื่อว่าหลายคนคงหวนนึกถึงความทรงจำดีๆ ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา และรู้สึกถึงความอบอุ่นขึ้นมาในใจ เพราะช่วงปลายปีเป็นช่วงที่ใครหลายๆ คนได้กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัวของตัวเองที่บ้านเกิด และแน่นอนว่าปีนี้ก็คงไม่ต่างกัน

บางคนวางแผนไว้ว่าอยากจะหยุดยาว แล้วกลับไปพักผ่อนหย่อนใจและใช้เวลากับครอบครัว เพราะตลอดปีที่ผ่านมาวุ่นๆ อยู่กับการทำงาน จนไม่มีเวลาได้ทำเช่นนี้ แต่จะทำอย่างไร หากถึงเวลาที่จะต้องขอลาหยุดกับหัวหน้าขึ้นมาจริงๆ กลับรู้สึกผิดขึ้นมาในใจ จนรู้สึกว่า “หรือเราไม่ลาแล้วดี?”

รู้จัก Vacation Guilt ความรู้สึกผิดเมื่อต้องหยุดพัก

เราต่างรู้กันดีว่าชีวิตคนเราไม่จำเป็นต้องมีแค่เรื่องงาน เราต้องหาเวลาพักผ่อนบ้างเพราะมันสำคัญต่อทั้งสุขภาพกายและใจของเรา แต่บางครั้งพอถึงเวลาที่ใจเรียกร้องให้หยุดพักจริงๆ หัวสมองเรากลับเกิดความกังวลขึ้นมาว่า “เราลาหยุดไปยาวๆ จะดีเหรอ” “แล้วใครจะรับผิดชอบงานเราล่ะ” อยู่ๆ คำถามมากมายก็ผุดขึ้นมาในหัว ทั้งๆ ที่เฝ้ารอวันหยุดยาวช่วงปีใหม่แท้ๆ

จริงๆ แล้วอาการแบบนี้มีชื่อเรียกว่า Vacation Guilt หรือความรู้สึกผิดเมื่อต้องหยุดพักจากงาน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่และเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน เพราะจากข้อมูลโดย Pew Research Center พบว่า คนทำงาน 49% ที่ตอบแบบสำรวจกล่าวว่า ไม่ได้ลางานเพราะกลัวว่าจะทำงานไม่ทัน นอกจากนี้ยังมีเหตุผลอื่นๆ อีก อย่างเช่น รู้สึกแย่ที่เห็นว่าเพื่อนร่วมงานต้องรับภาระงานเพิ่ม หรือกลัวว่าลางานแล้วตัวเองจะตกงาน

ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม สุดท้ายแล้วหากคนทำงานเหล่านี้รู้สึกผิดกับการหยุดพักไปเรื่อยๆ ก็อาจส่งผลต่อสุขภาพกายและใจในระยะยาวได้ ซึ่งปัจจุบันมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์แล้วว่าการหยุดงานเพื่อไปพักผ่อน ไม่ได้ดีต่อแค่ตัวพนักงาน แต่ยังดีต่อบริษัทอีกด้วย ลองมาสำรวจไปพร้อมๆ กันว่าดีอย่างไร

1) ลดความเครียด
การศึกษาที่เผยแพร่โดยสมาคมจิตวิทยาอเมริกันชี้ว่า การลาพักร้อนช่วยลดความเครียดได้ เพราะมันจะช่วยดึงเราออกจากสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเครียดและความวิตกกังวล ไม่เพียงแค่นั้น ยังมีอีกการศึกษาจากแคนาดาที่ชี้ว่า การลาพักร้อนช่วยลดความเครียดในการทำงานลงได้ รวมถึงการศึกษาจากมหาวิทยาลัยเวียนนาเองก็ชี้ว่า ผู้ที่หยุดลาพักร้อนมีอาการทางร่างกายที่เกี่ยวข้องกับความเครียดน้อยลง เช่น ปวดหัวและปวดหลัง

2) ป้องกันโรคหัวใจ
มีงานวิจัยหลายชิ้นชี้ให้เห็นถึงประโยชน์เรื่องสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดที่ได้จากการลาพักร้อน คือผู้ชายที่มีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและไม่เคยลาพักร้อนเลยเป็นระยะเวลาติดต่อกัน 5 ปี มีโอกาสเป็นโรคหัวใจวายมากกว่าผู้ที่ลาหยุดปีละ 1 สัปดาห์มากถึง 30% สำหรับผู้หญิงก็คล้ายกันคือ คนที่ไม่ค่อยลาหยุดพักร้อน มีโอกาสเป็นโรคหัวใจ หัวใจวาย หรือเสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่า

3) ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น
หากพูดถึงประสิทธิภาพในการทำงานแล้วนั้น จริงๆ แล้วมันสำคัญต่อทั้งตัวพนักงานและตัวองค์กร เพราะถ้าพนักงานทำงานได้มีประสิทธิภาพก็จะมีโอกาสได้เลื่อนขั้น และบริษัทเองก็จะได้รับผลงานที่มีคุณภาพจากพนักงานนั่นเอง

แล้วการลาหยุดพักร้อนก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้โดยผลการศึกษาจาก Ernst & Young ที่ได้ทำการศึกษาภายในเกี่ยวกับพนักงานของตัวเอง แล้วพบว่าพนักงานที่ใช้เวลาพักร้อน ตอนสิ้นปีจะมีคะแนนผลงานที่ดีขึ้น และมีโอกาสลาออกจากบริษัทน้อยลง

4) นอนหลับได้ดีขึ้น
ปัญหาเรื่องการนอนหลับเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในคนวัยทำงาน ส่วนมากแล้วมักจะเกิดขึ้นเพราะมีเรื่องในใจมากเกินไป ทำให้มีอะไรผุดขึ้นมาในหัวตลอดเวลาจนนอนไม่หลับ แล้วการนอนไม่หลับก็ส่งผลให้มีสมาธิน้อยลง ตื่นตัวน้อยลง ความจำไม่ค่อยดี รวมถึงโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุก็สูงขึ้น ซึ่งการลาพักร้อนช่วยลดปัญหาตรงนี้ลงได้ โดยนักวิจัยกล่าวว่าการลาพักร้อนจะช่วยลดนิสัยที่รบกวนการนอนหลับของเรา เช่น การทำงานดึกหรือการดูหน้าจอโทรศัพท์ที่เต็มไปด้วยงานก่อนนอน

ทำไมต้องรู้สึกผิด ในเมื่อเป็นสิทธิ์ของเรา?

จะเห็นได้ว่าการลาพักร้อนนั้นมีประโยชน์มากมาย แต่ทำไมเราถึงรู้สึกผิดกันล่ะ? ก็เป็นไปได้ด้วยหลายเหตุผล อาจเป็นเพราะเราเป็นคนขี้กลัวหรือกังวลเกินไป เช่น กลัวว่าจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง กลัวจะถูกมองว่าทำงานน้อยกว่าเพื่อน และกลัวว่าจะมีคุณค่าในที่ทำงานน้อยลง

หรือหากมองอีกมุมหนึ่ง จริงๆ แล้วปัญหาก็อาจมาจาก “องค์กร” ที่เรากำลังทำงานอยู่ก็เป็นได้ อย่างเช่น ความกลัวที่ว่าพอลางานแล้วภาระงานจะตกไปอยู่ที่เพื่อนร่วมงาน ปัญหาความกลัวนี้อาจเกิดขึ้นเพราะบริษัทมีพนักงานจำนวนน้อย ทำให้พอเวลามีพนักงานหายไปสักคนหนึ่ง จะต้องมีคนที่รับภาระอันหนักอึ้งไว้แทน

หรือไม่ก็บางคนอาจทำหน้าที่สำคัญภายในองค์กร และมีเพียงไม่กี่คนที่มีความสามารถหรือมีความรู้เฉพาะตัวเช่นนี้ ทำให้พอถึงเวลาจะลางานจริงๆ ก็อาจมีความคิดหรือความรู้สึกผิดขึ้นมาว่า “แล้วใครจะดูแลงานนี้แทนล่ะ” ด้วยเหตุนี้เองบางคนจึงไม่กล้าลา เพราะรู้สึกว่าการลาหยุดของตัวเองนั้นจะส่งผลเสียต่อทีม

และนอกจากปัญหาข้างต้นแล้ว บางคนก็อาจประสบกับปัญหาเรื่อง “คนในองค์กร” อีก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็น “หัวหน้า”

หัวหน้าบางคนไม่อยากให้ลูกน้องลาหยุด อาจเพราะตัวเองเป็นคนทำงานหนัก จึงคาดหวังให้พนักงานทำงานหนักด้วย หรือด้วยเหตุผลอื่น สุดท้ายแล้วพนักงานจึงไม่กล้าขอลา

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีคนไม่กล้าลางานเพราะรู้สึกผิด แต่ก็ยังมีคนบางกลุ่มที่มองว่า ทำไมเราต้องรู้สึกผิดกับการลางานเพื่อไปพักผ่อนด้วย ในเมื่อมันเป็นสิทธิ์ของเรา

แล้วทีนี้คนที่รู้สึกผิดกับการลางานควรจัดการกับปัญหานี้อย่างไรดี?

Advertisements
Advertisements

3 วิธีรับมือกับ Vacation Guilt

1. วางแผนวันหยุดล่วงหน้า
การวางแผนล่วงหน้าจะช่วยให้เรามีเวลาเตรียมตัวในหลายๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องอารมณ์ แผนการท่องเที่ยว รวมไปถึงการเดินทางในช่วงวันหยุดพักผ่อน และที่สำคัญคือมันจะทำให้เรามีเวลาจัดการกับงานของตัวเองด้วย เช่น ถ้าเรารู้สึกผิดที่ต้องลางาน เราก็สามารถเคลียร์งานไว้ล่วงหน้าก่อนได้ เพื่อคลายความกังวลของตัวเอง

นอกจากนี้แล้ว แม้ว่าเราอาจจะรู้สึกผิดไปบ้างที่ต้องลางาน แต่ก็อย่าลืมว่าการหยุดพักจะช่วยให้เรารู้สึกสดชื่นและผ่อนคลายมากขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มรู้สึกผิดขึ้นมาจริงๆ ก็ให้โฟกัสไปที่เรื่องสุขภาพของตัวเอง และบอกตัวเองว่าสิ่งที่เรากำลังทำนั้นดีที่สุดสำหรับตัวเราแล้ว หลังจากนั้นก็ให้อ้าแขนรับวันหยุดครั้งนี้ไว้ และใช้เวลากับตัวเอง ครอบครัว หรืออาจจะลองหาประสบการณ์ใหม่ๆ ช่วงนี้ดูก็ได้

2. มอบหมายงานให้ผู้อื่น
ถ้าเป็นไปได้ ให้มอบหมายงานให้ผู้อื่นระหว่างที่เราลางาน เพื่อที่งานจะได้เดินต่อไปได้ และไม่ต้องรู้สึกผิด เพราะเราไม่ใช่คนเดียวที่ลางาน แต่คนอื่นก็มีช่วงเวลาที่ต้องลางานและพอถึงเวลานั้นเราก็ต้องช่วยแบ่งเบาภาระงานด้วยเช่นกัน

3. กำหนดขอบเขตให้ชัดเจน
เมื่อถึงเวลาที่เราอยากจะลางานจริงๆ ให้บอกหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานล่วงหน้าว่าเราจะลาไปพักผ่อน เพื่อที่เขาจะได้รู้ว่าเราจะไม่อยู่และไม่ทำงานในช่วงเวลาดังกล่าว พูดง่ายๆ ก็คือเป็นการขีดเส้นให้ชัดเจนว่าเราจะลาพักร้อน คนอื่นจะได้ไม่รบกวนช่วงเวลานั้นนั่นเอง ซึ่งมันจะทำให้เราได้พักผ่อนจริงๆ

เมื่อปีใหม่ใกล้เข้ามา หากใครกำลังคิดจะเลื่อนวันลาพักร้อนออกไป ก็คงถึงเวลาที่ต้องคิดใหม่แล้ว เพราะอย่าลืมว่าเราต้องรักและดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจของตัวเองให้มากๆ เพื่อที่จะได้กลับมามีแรงในการทำงาน พร้อมสุขภาพกายและใจที่แข็งแรงในปีหน้า

ในขณะเดียวกัน หัวหน้าและองค์กรก็ควรหันมาให้ความสำคัญกับการลาพักร้อนของพนักงานให้มากขึ้น เช่น ช่วยให้การทำงานไม่ขึ้นอยู่กับใครคนใดคนหนึ่งมากจนเกินไป และปล่อยให้พนักงานใช้วันลาพักร้อนของตัวเองอย่างแท้จริง เพื่อให้พวกเขาได้ชาร์จพลังงานให้มีแรงกายแรงใจกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง

อ้างอิง
– How to Get Over “Vacation Guilt” and Actually Enjoy Your Time Off : Suzanne Gelb, The Muse – https://bit.ly/3sNTpjI
– Too Many People Feel Guilty Taking Vacation. Here’s How Not To : Forbes – https://bit.ly/46rOVwL
– 4 Scientific Reasons Vacations Are Good for Your Health : LOLLY DASKAL, Inc.com – https://bit.ly/3QJMy2I
– If You Feel Guilty When You Take A Vacation, This Is For You : Anika Nayak, HuffSpot – https://bit.ly/40TLSME
– Why it’s so hard for US workers to ask for time off : BBC – https://bit.ly/40R1q3Q

#worklife
#vacationguilt
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า