PSYCHOLOGYworklifeวันนี้ไม่เห็นค่า วันหน้าไม่อยู่แล้ว! รับมืออย่างไรเมื่อรู้สึกไร้ค่า ไม่มีตัวตนในที่ทำงาน?

วันนี้ไม่เห็นค่า วันหน้าไม่อยู่แล้ว! รับมืออย่างไรเมื่อรู้สึกไร้ค่า ไม่มีตัวตนในที่ทำงาน?

“วันนี้ไม่เห็นค่า วันหน้าไม่อยู่แล้วนะ”

มีมนุษย์เงินเดือนคนไหนกำลังรู้สึกแบบนี้อยู่หรือเปล่า? ถ้าใครกำลังรู้สึกแบบนี้อยู่ บอกเลยว่าคุณไม่ได้รู้สึกคนเดียว

จากผลสำรวจโดย OnePoll พบว่า คนทำงานชาวอเมริกันเกือบ 50% ทิ้งตำแหน่งของตัวเองในบริษัทเดิมเพียงเพราะพวกเขารู้สึกว่าไม่มีใครเห็นค่า อีกทั้งเกือบ 2 ใน 3 หรือประมาณ 63% ยังยอมรับว่าความรู้สึกนี้เกิดขึ้นมาจาก “นายจ้าง” ของพวกเขา รวมถึง 59% ยังชี้ว่ารู้สึกว่าหัวหน้าไม่เคยชื่นชมงานที่พวกเขาทำจริงๆ เลย

เชื่อว่าความรู้สึกนี้ไม่ได้เกิดแค่กับชาวอเมริกันเท่านั้น แต่เกิดขึ้นกับคนทำงานทุกที่บนโลก ซึ่งรวมถึง “ประเทศไทย” เองด้วย และแน่นอนว่าความรู้สึกที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่เรื่องดี เพราะบางครั้งมันอาจทำให้เรารู้สึกท้อ หมดไฟ หรือกระทั่งหมดใจกับงานที่ทำได้ เพราะคิดว่าทำไปก็ไม่มีใครเห็นค่า จึงไม่รู้ว่าทุกวันนี้จะทำงานไปเพื่อใคร และเพื่ออะไร

คำถามสำคัญจึงตกมาอยู่ที่ว่า “ถ้าเรารู้สึกว่าหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือองค์กรไม่เห็นคุณค่าและความพยายามในการทำงานที่เราลงมือลงแรงไป แล้วเราควรรับมือกับความรู้สึกนี้อย่างไร ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อไปเป็นทอดๆ?”

จุดเริ่มต้นของการรู้สึกว่า “ไม่มีใครเห็นคุณค่า”

การรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นคุณค่าเป็นสาเหตุของความไม่พอใจที่เกิดขึ้นในที่ทำงานอยู่บ่อยครั้ง แต่ก่อนที่เราจะไปค้นหาวิธีรับมือกับความรู้สึกเหล่านี้ ก่อนอื่นเราควรมาทำความเข้าใจกันก่อนว่าจริงๆ แล้วคำว่า “คุณค่า” ของเราหมายถึงอะไร เพราะบางครั้งคำว่าคุณค่าของเรากับของคนอื่นอาจไม่เท่ากัน

อย่างเช่น บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าไม่มีใครเห็นค่าเพราะเวลาทำผลงานดีๆ แล้วไม่มีใครเคารพหรือชื่นชม เพราะมองว่าการที่ตัวเองมีคุณค่าคือการที่คนอื่นให้การยอมรับว่างานที่เราทำนั้นดีและมีคุณค่าต่อคนอื่นๆ และองค์กร

ดังนั้นมาลองสำรวจไปพร้อมๆ กันว่า อะไรคือสัญญาณที่ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองไม่มีคุณค่ากันแน่ เพื่อที่เราจะได้แก้ไขได้อย่างถูกจุด

1. รู้สึกไม่มีตัวตนในที่ประชุมเพราะไม่มีใครให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของตัวเอง

ความรู้สึกของการไม่มีคุณค่าบางครั้งก็อาจเกิดจากการที่พอเรานำเสนอความคิดเห็นอะไรบางอย่างไปแล้วถูกเมิน ไม่มีใครสนใจ คำพูดที่พูดออกไปเหมือนหายไปกลางอากาศ เพราะคนอื่นหันไปสนใจความคิดเห็นของคนอื่นๆ ในที่ประชุมมากกว่า ซึ่งเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ มันทำให้เรารู้สึกราวกับว่าคนอื่นมองว่าสิ่งที่เราพูดไปไม่มีคุณค่าใดๆ นั่นเอง

Advertisements

2. รู้สึกไม่มีส่วนร่วม

ความรู้สึกว่าไม่มีส่วนร่วมกับงาน ผู้คน หรือองค์กรก็เป็นอีกหนึ่งอาการของการรู้สึกไม่มีคุณค่า เพราะมนุษย์เรามีความต้องการอย่างหนึ่งที่เรียกว่า Neuropsychological หรือความต้องการทางประสาทจิตวิทยา คือเรามีความต้องการความรู้สึกเชื่อมโยง ความรู้สึกมีคุณค่า ความรู้สึกว่าเสียงของเราได้รับการได้ยินจากผู้อื่น เมื่อสิ่งเหล่านี้ขาดหายไป เราก็จะเริ่มรู้สึกว่าเราเป็นพนักงานที่ไม่มีส่วนร่วมกับงาน ผู้คน หรือองค์กร

3. ต้องทำงานจุกจิก ไม่มีโอกาสทำงานใหญ่ๆ ที่ช่วยเพิ่มโอกาสเลื่อนขั้น

ถ้าใครเป็นคนที่ต้องทำงานจุกๆ จิกๆ ที่ไม่ใช่งานหลักของตัวเอง เช่น ชงกาแฟ จดประชุม หรือถ่ายเอกสาร สิ่งนี้ก็ทำให้เรารู้สึกไร้คุณค่าในที่ทำงานได้เช่นกัน เพราะถ้าเราทำแต่งานน่าเบื่อๆ และไม่มีความท้าทาย ในขณะที่เห็นคนอื่นได้ทำงานใหญ่ๆ ที่เต็มไปด้วยความท้าทายและน่าตื่นเต้น เราก็จะยิ่งรู้สึกว่า “ฉันมาทำอะไรที่นี่ ทำไมคนอื่นได้รับโอกาสมากมาย แต่ฉันไม่เคยได้เลย”

4. รู้สึกว่าถูกจู้จี้จุกจิกมากเกินไป

บางครั้งการที่เราไม่มีอิสระในการทำงานเลย ถูกจู้จี้จุกจิกจากเจ้านายตลอดเวลา ก็อาจทำให้เรารู้สึกไร้คุณค่าได้เช่นกัน เพราะเราจะรู้สึกว่าหัวหน้าของเราไม่ไว้ใจเรามากพอ จนต้องคอยกำกับการทำงานทุกอย่าง ซึ่งมันจะทำให้เราสงสัยในตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าเราไม่มีความสามารถมากพอหรือเปล่า จนรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่าในที่ทำงาน

5. ทำงานดี แต่ได้เงินน้อย

หากใครที่ทำงานผลงานดีมาตลอด ได้รับการประเมินผลงานอยู่ในเกณฑ์ดีเยี่ยมทุกครั้ง แต่เงินเดือนยังคงเท่าเดิม ไม่ขยับเขยื้อนไปไหน หรือไม่มีแม้แต่ทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับคุณค่าที่ตัวเองมอบให้องค์กร ก็อาจทำให้เรารู้สึกว่าองค์กรไม่เห็นคุณค่าความสามารถของเราได้เช่นกัน เพราะถ้าเราพยายามทุกทาง และทำทุกอย่างได้ดีแล้วผลลัพธ์ไม่คุ้มค่า ก็ไม่แปลกที่เราจะเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่าในจุดที่ยืนอยู่

Advertisements

วิธีรับมือกับความรู้สึก “ไร้คุณค่า” ในที่ทำงาน

เมื่อรู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า เชื่อว่าหลายคนก็คงจะมีความคิดว่า “ไม่รู้จะอยู่ต่อไปทำไม” จึงตัดสินใจว่าจะลาออกในทันที แต่จริงๆ แล้วเราสามารถลองแก้ไขความรู้สึกนี้ด้วยวิธีอื่นก่อนได้ ให้ “การลาออก” เป็นทางเลือกสุดท้ายจะดีกว่า เพราะเป็นไปได้ว่าแม้เราจะลาออกไปแล้ว เราก็อาจจะยังต้องเผชิญกับปัญหาเดิมๆ ได้อยู่

มาดูกันว่านอกจากลาออกแล้ว เราสามารถทำอะไรได้อีกบ้าง

1) อยู่กับความเป็นจริง

ก่อนที่จะเริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างหนึ่ง สิ่งแรกที่เราควรทำคือการถามตัวเองก่อนว่าตอนนี้เรากำลังอยู่กับความเป็นจริงหรือเปล่า เราคาดหวังการชื่นชมจากหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งลูกค้ามากไปหรือเปล่า

เพราะอย่าลืมว่าเราทุกคนต่างก็ยุ่งกับงานและชีวิตของตัวเองกันมากๆ ดังนั้นฟีดแบ็กที่ได้รับกลับมาจากคนอื่นจึงอาจจะไม่ได้มากพอเท่าที่เราต้องการ บางครั้งพวกเขาเหล่านั้นก็อาจจะเผลอมองข้ามเราไปได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ในโลกการทำงาน

ฉะนั้นเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าไม่ได้รับคำชื่นชมหรือการยอมรับ เราก็เพียงแค่ต้องถามตัวเองว่า “งานของเรามันพิเศษไหม?” และที่สำคัญคือให้ถามตัวเองว่า “ถ้าเราจะไปเรียกร้องเครดิตให้ตัวเอง มันจะฟังดูแย่ไหม?” ถ้าใครไม่แน่ใจในคำตอบของคำถามเหล่านี้ ก็ให้ลองถามความเห็นจากคนอื่นๆ ที่เราเคารพรักดูได้ ถ้าเรารู้ตัวเองดีว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันดีแค่ไหน บางครั้งเราก็อาจจะไม่จำเป็นต้องรอรับคำชื่นชมจากใครก็ได้ ลองชื่นชมตัวเองดูก่อน

2) พูดคุยกับหัวหน้า

หากคนที่ทำให้เรารู้สึกไร้คุณค่าคือคนที่มีตำแหน่งสูงกว่าอย่างเช่น “หัวหน้า” ก็ให้หาเวลาไปพูดคุยกัน และอย่าพยายามเปลี่ยนแปลงบุคคลนั้น แต่ให้พยายามส่งสัญญาณให้เขารับรู้ว่าเรากำลังรู้สึกไม่ดี หากเรามีหัวหน้าที่ค่อนข้างดี เขาก็จะรับฟังเรา

และแน่นอนว่าพอถึงเวลาพูดคุยกัน อย่าเดินไปบอกโท่งๆ ว่าเราต้องการคำชื่นชมที่มากกว่านี้ แต่ให้บอกอ้อมๆ เช่น “ผมอยากจะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องเมื่อ 3 เดือนที่ผ่านมา หัวหน้าคิดว่าผมมีจุดแข็งอะไรบ้างและมีอะไรที่ผมสามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้อีกบ้าง” เท่านี้หัวหน้าก็จะเริ่มร่ายเรียงความสำเร็จที่เราทำไปในช่วงเวลาที่ผ่านมา เผลอๆ เราอาจจะได้รับคำชื่นชมมากมายกลับมาด้วยถ้าเรามีผลงานที่ดี

3) ตระหนักถึงการลงทุนลงแรงในการสรรค์สร้างผลงานของผู้อื่น

หนึ่งในวิธีที่จะช่วยให้คนอื่นมองเห็นคุณค่าผลงานของเราคือ เราต้องให้การยกย่องและชื่นชมผลงานของคนอื่นก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากหัวหน้าของเราเป็นคนที่ไม่เคยให้ฟีดแบ็กเชิงบวกกับลูกทีมเลย เรายิ่งต้องให้ค่าและให้ความสำคัญกับผลงานของผู้อื่น

4) ยืนยันคุณค่าของตัวเอง

แน่นอนว่าการได้รับคำชื่นชมจากคนอื่นถือเป็นสิ่งที่ดี แต่เราก็ไม่ควรคาดหวังให้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตและการทำงานมาจาก “คนอื่น” ตลอดเวลา เราควรสร้างแรงจูงใจภายใน เพราะมันจะทรงพลังกว่ามาก เราต้องหา “ความหมาย” ในการทำงานด้วยตัวเอง พยายามพาตัวเองออกมาให้ห่างจาก “การยอมรับของผู้อื่น” ให้มากที่สุด แล้วชีวิตเราจะมีความสุขมากขึ้น

อาจจะลองพยายามหาเวลามานั่งสะท้อนภาพชีวิตที่ผ่านมาของตัวเองในทุกๆ สัปดาห์ว่าเราทำอะไรสำเร็จไปแล้วบ้าง เพื่อจดจำเรื่องราวและประสบการณ์ดีๆ ที่ผ่านมา “ด้วยตัวเอง”

5) ก้าวเดินต่อไปข้างหน้า

สุดท้ายแล้วหากเราคิดว่าความรู้สึกไร้คุณค่านั้นไม่มีวันหายไปจริงๆ ก็อาจถึงเวลาที่เราต้องมานั่งทบทวนอีกครั้งแล้วว่า “หรือที่นี่ไม่ใช่ที่ของเราจริงๆ?”

แน่นอนว่าเราทุกคนต่างก็กำลังทำงานที่อาจจะไม่ได้ดีเลิศมากนักด้วยหลายๆ เหตุผล เพราะทุกอย่างบนโลกใบนี้ไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ เราอาจเจอกับเพื่อนร่วมงานใจร้ายหรืออาจเจอกับหัวหน้าที่ละเลยความสำคัญเราไปบ้าง แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าตัวเรานั้นลองพยายามปรับตัวอย่างสุดความสามารถแล้วไม่มีอะไรดีขึ้นจริงๆ เราก็คงทำได้เพียงก้าวเดินออกมาจากองค์กรเก่า และก้าวไปหาองค์กรใหม่ที่มีงานที่จะช่วยยืนยันคุณค่าและเติมเต็มจิตใจให้กับเราได้มากกว่านี้

ความรู้สึกไม่มีใครเห็นค่าเกิดขึ้นได้กับคนทำงานทุกคน หากใครรู้สึกว่ายังปรับตัวไหว ก็ให้ลองปรับตัวและแก้ไขปัญหาที่มีให้ดีขึ้น แต่ถ้าวันไหนที่รู้สึกว่ายังไงที่แห่งนี้ก็ไม่ใช่ที่ของเรา ก็เพียงแค่ก้าวออกมาและเดินหน้าต่อ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะได้พบเจอกับที่ทำงานที่เหมาะกับตัวเองจริงๆ

อ้างอิง
– 10 Things To Do When You Feel Undervalued At Work : Caroline Castrillon, Forbes – https://bit.ly/3TrTu78
– 5 Signs You’re Being Undervalued At Work, And What To Do About It : Monica Torres, Huffpost – https://bit.ly/49INj4a
– What to Do When You Don’t Feel Valued at Work : Rebecca Knight, HBR – https://bit.ly/3IvV9SZ

#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า