PSYCHOLOGYworklifeขยันเกินไปจนใจพัง? รู้จัก ‘Toxic Productivity’ หลุมพรางของคนทำงานหนัก

ขยันเกินไปจนใจพัง? รู้จัก ‘Toxic Productivity’ หลุมพรางของคนทำงานหนัก

“ยุคนี้ ใครๆ ก็ต้อง Productive” ประโยคนี้เป็นสิ่งที่ไม่เกินจริงเลยสำหรับสังคมการทำงานในยุคนี้ ที่เราต้องแข่งขันกับสภาพแวดล้อมรอบตัว ทั้งเพื่อนร่วมงานที่พัฒนาตัวอย่างไม่มีวันเหน็ดเหนื่อย หรือเทคโนโลยีที่เปลี่ยนจาก “ผู้ช่วย” มาร่วมลงสนามกลายเป็น “ผู้แข่ง” กับเราจนทำให้เราต้องใช้เวลาที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าในทุกวินาที

แต่เมื่อปีที่ผ่านมานี้ คำว่า “Productivity” กลับกำลังทำร้ายคนทำงาน ผ่านความคิดบางอย่างที่ทำให้เรารู้สึกกดดันมากจนเกินไป กลายเป็นอาการหมดไฟ และมองข้ามคุณค่าที่แท้จริงของตัวเองไปเพียงแค่รู้สึกว่าตัวเองไม่ Productive มากพอ จนเส้นกั้นระหว่างคำว่า Productive และ Workaholic นั้นเริ่มเข้าใกล้จนกลายเป็นคำคำเดียวกันมากขึ้น อีกทั้งเริ่มมีคนทำงานที่กำลังได้รับผลกระทบจากการโหมงานหนักผ่านการตีความคำว่า Productive ไปในทางที่เป็นพิษจนทำให้รู้สึกไม่ดีกับการทำงานมากขึ้นเรื่อยๆ

หากจะกลับไปที่ต้นเหตุของการเกิด Toxic Productivity ต้องยอมรับว่าสังคมการทำงานในไทยสมัยนี้มักจะคาดหวังให้พนักงานมีความ Productive ที่สูง สามารถใช้เวลาในทุกชั่วโมงอย่างมีค่า อีกทั้งยังมีวัฒนธรรมยกย่องการทำงานที่ไม่หยุดยั้ง ไม่อยู่นิ่ง พร้อมทำทุกอย่างเพื่อให้บรรลุความสำเร็จ ซึ่งจริงๆ แล้ววัฒนธรรมแบบนี้ไม่ใช่ธรรมชาติของการทำงานของคนไทย แต่กลับเป็นสิ่งที่ค่อยๆ ก่อร่างสร้างขึ้นมาจากวัฒนธรรมการทำงานแบบ Hustle Culture ที่ได้รับความนิยมหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ (Great Depression) ในปี 2008 ที่สภาพเศรษฐกิจ การล้มละลายของบริษัทใหญ่ และการเลิกจ้างงานที่มหาศาลผลักดันให้ผู้คนต้องทำงานหนักขึ้น

จนในยุค 2020s นี้ มรดกวัฒนธรรมจากวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้นก็ยังคงไม่หายไป ถ้าหากใครเคยติดตามทวิตเตอร์ของ Elon Musk ในปีที่แล้วอาจจะเคยเห็นทวีตหนึ่งที่โด่งดัง เป็นที่กล่าวขันในหมู่คนทำงานว่า “Nobody ever changed the world on 40 hours a week.” หรือ “ไม่มีใครสามารถเปลี่ยนโลกได้จากการทำงานแค่ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์” ซึ่งเมื่อผู้ที่มีอิทธิพลบนโลกออนไลน์ออกมาแสดงความเห็นเช่นนี้ มันก็เป็นเรื่องยากถ้าหากเราจะรู้สึกว่าตัวเองทำงานเพียงพอแล้ว หรือหยุดอยู่นิ่ง โดยที่ไม่ลุกขึ้นสู้เหมือนคนทำงานอื่นๆ ในโลกที่เต็มไปด้วยความ Productive ใบนี้

นอกจากนี้ นักจิตวิทยาคลินิกอย่าง Kathryn Esquer ก็ได้ให้ความเห็นไว้ว่า “การทำตัว Productive ทำให้เราตัดขาดตัวเองจากสิ่งรบกวนต่างๆ และทำให้เราได้รับสารแห่งความสุขที่หลั่งออกมาชั่วคราว” หรือกล่าวได้ง่ายๆ ว่าเมื่อเราเริ่มรู้สึกไม่แน่นอนในชีวิต การทำตัวให้ Productive ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้เรารู้สึกมีความมั่นคงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหันมาทำงานบ้านเมื่อคิดงานไม่ออก การพยายามทำผลงานให้ชนะคนอื่นๆ เพื่อให้ตัวเองรู้สึกมั่นคง หรือแม้กระทั่งในช่วงการระบาดของ Covid-19 ที่หลายคนพยายามใช้เวลาที่ว่างในการทำสิ่งต่างๆ เพื่อไม่ให้ตัวเองรู้สึกว่างจนเกินไป

แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ เมื่อเราพยายามนำเอาความ Productive มาการันตีความมั่นคงของชีวิตและจิตใจมากเกินไป เราก็อาจจะหักโหมกับงานนั้นจนลืมหันมองดูจิตใจที่เป็นเนื้อแท้ของเรา จนทำให้เราได้รับความเจ็บปวดจากผลลัพธ์ที่ไม่ได้เป็นอย่างที่หวังมากกว่าเดิม

จริงๆ แล้วความหมายของ Productivity ไม่ใช่การใช้เวลาที่มีอยู่ทั้งหมดไปกับการทำงานโดยไม่ยอมพักผ่อน แต่กลับเป็นการ Balance เวลางานและชีวิตให้สมดุลกัน แล้วจัดการเวลางานที่เราแยกออกมานั้นให้คุ้มค่าที่สุด แต่ก็มีพฤติกรรมบางอย่างที่ตีความคำว่า Productive ผิดไปจนกลายเป็นสิ่งที่บั่นทอนทั้งจิตใจและร่างกายไปในที่สุด

พฤติกรรมแรกคือ “การทำงานเกินชั่วโมงเป็นประจำ” การพยายามเข้างานก่อนคนอื่นเพื่อให้สามารถใช้เวลาทำงานมากกว่าคนทั่วไป การรู้สึกแย่เมื่อเข้าทำงานสายหรือตรงเวลาเกินไป ซึ่งรวมถึงการทำงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ ไม่ว่าเราจะได้รับโอทีหรือไม่ก็ตาม นั่นก็เป็นพฤติกรรมที่ทำให้ชีวิตการทำงานของเรากำลังครอบงำชีวิตในด้านอื่นๆ จนทำให้ความเครียดในการทำงานเป็นความเครียดหลักของชีวิต

พฤติกรรมที่ 2 คือ “รู้สึกผิดที่ไม่ได้ทำงานให้ดีกว่าปกติ” คนปกตินั้นจะรู้สึกพึงพอใจหากพวกเขาทำงานเสร็จตามปกติ แต่คนที่เป็น Toxic Productivity จะรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวหากไม่ได้ทำงานเสร็จและดีมากกว่าปกติ คนกลุ่มนี้จะมีความคาดหวังกับความสมบูรณ์แบบของงานมากเป็นพิเศษ และรู้สึกว่าตัวเองล้มเหลวหากมีจุดผิดพลาดในงานใดงานหนึ่ง

พฤติกรรมที่ 3 คือ “ไม่อยากทำกิจกรรมอื่น นอกจากการทำงาน” อย่างเช่น ไม่อยากเสียเวลาไปดูหนัง เพราะรู้สึกว่าไร้สาระ, ไม่ต้องการทานข้าวเช้า เพราะรู้สึกว่าเสียเวลาเดินทาง เมื่อเราเริ่มมีความคิดแบบ Toxic Productivity เราจะเริ่มรู้สึกว่าการทำกิจกรรมอื่นๆ ทำให้เราเสียเวลาที่เราสามารถใช้ไปกับการทำงานเพื่อเป้าหมายของเราไป และมองว่ากิจกรรมที่ไม่เกี่ยวกับงานเช่น การเที่ยวกับเพื่อนและครอบครัว การพักผ่อน เป็นกิจกรรมที่ “ไม่ Productive” สำหรับตัวเอง

และพฤติกรรมที่ 4 คือ “พยายามเปิดใจกับทุกเรื่อง แม้กระทั่งเรื่องที่ต้องฝืนทำ” แน่นอนว่าคนเราไม่ได้รู้สึกดีกับทุกอย่างบนโลก และไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว แต่คนที่เป็น Toxic Productivity จะรู้สึกว่าตัวเองต้องพยายามฝืนทำทุกเรื่อง แม้จะเป็นเรื่องที่ไม่ชอบก็ตาม ซึ่งการพยายาม “เปิดใจ” ตลอดเวลาก็สามารถส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้เช่นกัน เราอาจจะรู้สึกกังวลอยู่เสมอเกี่ยวกับงานทั้งหมดที่ต้องทำและกังวลว่าเราจะทำมันได้ไม่ดีพอ จนกลายเป็นอาการซึมเศร้า

เมื่อเรากดดันตัวเองมากเกินไปและเป็นเวลานานเกินไป พยายาม Productive จนทำร้ายจิตใจของตัวเองโดยไม่รู้ ความเหนื่อยหน่าย ความหมดไฟก็มักจะตามมาโดยที่เราไม่รู้สึกตัวเช่นกัน

Advertisements
Advertisements

แม้ว่าการพยายามขยันและ Productive แบบผิดๆ จะทำให้เรารู้สึกถึงความมั่นคงมากขึ้น แต่สุดท้ายการที่พยายามมากเกินไป ก็ส่งผลเสียต่อเราได้อย่างมหาศาล และท้ายที่สุดแล้ว ความเป็นมนุษย์ก็เพียงต้องการการทำงานที่มีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง ไม่ใช่การทำงานหนักจนลืมความสุขของการใช้ชีวิตไปจนหมด

มีคำกล่าวที่ว่า “การทำงานให้มีประสิทธิภาพ คือการวิ่งมาราธอน ไม่ใช่การวิ่งระยะสั้น” และเราจะสามารถวิ่งมาราธอนได้สำหรับก็ต่อเมื่อเรารู้สึกผ่อนความหนักเบาของการทำงาน รู้จังหวะที่ควรเร่งมือ และจังหวะที่ควรพัก เพื่อให้เราเข้าถึงเส้นชัยได้สำเร็จ ซึ่งวิธีที่ทำให้เราสามารถออกจากวงจร Productive จนใจพัง และกลับมาสร้างความ Productive ที่เป็นบวกได้สำเร็จมีทั้งหมด 6 วิธีด้วยกันคือ

[ ] กำหนดขอบเขตของการทำงาน: วางตารางให้ชัดเจนว่าเราจะทำงานเวลาไหนบ้าง หากเราเป็นหัวหน้าทีม ให้หลีกเลี่ยงการส่งและตอบกลับข้อความนอกเวลางาน ใช้วันลาให้คุ้มค่าและสนับสนุนให้ทีมทำแบบเดียวกับเรา

[ ] ตั้งเป้าหมายการวัดผลที่สมจริงขึ้น: คนทำงานหลายคนต้องพบกับความเครียดและพยายามทำงานให้หนักกว่าปกติจากเป้าหมายของการวัดผลที่สูงมากจนเกินไป ลองกลับมาเปลี่ยนเป้าหมายนั้นให้มีความเฉพาะเจาะจง วัดผลได้ บรรลุผลได้ สมจริง และมีขอบเขตเวลาที่ชัดเจน

[ ] ใส่เวลาพักเข้าไปในตารางงานของเรา: ทุกคนต้องการเวลาพักและการหยุดพักไม่ใช่การอู้งาน แต่เป็นการเพิ่มคุณภาพของการทำงานในระยะยาว และช่วยให้เรามีสมาธิ คิดอย่างสร้างสรรค์มากขึ้น ซึ่งมีแนวคิดเรื่องการพักผ่อนแบบ 3M จากนักประสาทวิทยาอย่าง ดร. ซาฮาร์ ยูเซฟ ที่บอกว่ามนุษย์วัยทำงานควรแบ่งเวลาพักผ่อนออกเป็น 3 ประเภท คือ Macro break (ลาหยุดครึ่งวันหรือเต็มวันทุกเดือนเพื่อไปเที่ยวบ้าง), Meso break (พักผ่อน 1-2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เพื่อทำกิจกรรมที่ตัวเองชอบ เช่นการเล่นดนตรี ออกกำลังกาย ว่ายน้ำ) และ Micro break (พักสั้นๆ ไม่กี่นาทีต่อวันเพื่อยืดเส้นยืดสาย หรือทำสมาธิ)

[ ] ต้องมีวันที่ไร้ประโยชน์บ้าง: มนุษย์ Toxic Productive จะรู้สึกแย่หากตัวเองมีความผิดพลาดหรือไร้ประโยชน์ ซึ่งการที่จะลดความขยันแบบเป็นพิษนั้น ต้องเริ่มจากการ Normalize หรือมองเห็นความไร้ประโยชน์เป็นเรื่องปกติเสียก่อน ให้ลองกำหนดวันที่ไม่มีเป้าหมาย ไม่ต้องพยายามทำอะไรให้สำเร็จเลยสัก 1 วันต่อสัปดาห์ แล้วใช้เวลานั้นทำกิจกรรมที่เราชอบหรือแม้แต่ไม่ทำอะไรเลยก็ได้

[ ] จัดการกับความรู้สึกแย่ๆ ต่อตัวเองให้ได้: หลายครั้งที่ความ Toxic Productivity มักจะถูกใช้เพื่อลดความรู้สึกแย่ต่อตัวเอง ผ่านการทำงานให้หนักเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่พิสูจน์ได้ว่าตัวเองเป็นคนที่มีคุณค่า แต่กลับกัน หากเราเรียนรู้และสามารถจัดการกับความรู้สึกแย่เหล่านั้นได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาความ Toxic Productivity เราก็จะสามารถลดความเป็นพิษเหล่านั้นได้

[ ] หยุดพักจากหน้าจอบ้าง: การพกโทรศัพท์มือถือไปในทุกที่ จดจ่อกับหน้าจอทุกครั้งที่มีเสียงแจ้งเตือน หรือหยุดออกกำลังกายแล้วมาจดจ่อกับเรื่องงานทุกครั้งที่ Smart Watch สั่น ก็ไม่ต่างกับการสะพายกระเป๋าโน้ตบุ๊กไปในทุกที่ ให้เปลี่ยนนิสัยและหยุดพักจากหน้าจอบ้าง อย่างเช่นการวางโทรศัพท์ไว้ในกระเป๋าหรือลิ้นชักเพื่อไม่ให้มองเห็น, ไปเดินเล่นแล้วทิ้งโทรศัพท์ไว้, เปิดโหมด “ห้ามรบกวน” และปิดการแจ้งเตือนสำหรับแอปงานในเวลาหลังเลิกงาน

แม้ว่าสังคมและสภาพเศรษฐกิจในยุคนี้จะทำให้คนคนหนึ่งกลายเป็นคนที่ขยัน จดจ่อกับคำว่า Productivity เกินไปจนกลายเป็นพิษ แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้จดจำไว้เสมอก็คือ ไม่ว่าเราจะทำงานหนักมากเท่าไหร่ สิ่งที่เราต้องให้ความสำคัญเสมอและไม่ควรละเลยก็คือ “ความสุขของตัวเอง” เพราะอย่าลืมว่าการทำงานเพื่อเป้าหมายในชีวิต ก็เหมือนการวิ่งมาราธอน ถ้าหากเรามีชีวิตอยู่โดยปราศจากความสุขแล้ว นั่นก็เท่ากับว่าเรากำลังตัดเสบียงสำคัญในการวิ่งมาราธอนอยู่นั่นเอง

เพราะฉะนั้น อย่าทำงานมากเกินไปจนลืมให้ความสุขกับตัวเองล่ะ


อ้างอิง
– Toxic productivity is no good—here’s how to stop it. : Caeleigh MacNeil, Asana – https://bit.ly/3vHJcqh
– The Link Between Toxic Productivity and Workplace Burnout : Chanie Hyde, Pioneera – https://bit.ly/3vR0Yag
– Elon Musk said ‘nobody ever changed the world on 40 hours a week’ — and he couldn’t be more wrong : Dave Smith, Business Insider – https://bit.ly/48RgVvK

#worklife
#toxicproductivity
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า