PSYCHOLOGYworklifeชีวิตเราแย่หรือแค่เสพโซเชียลเยอะไป? เมื่อการเห็นชีวิตคนอื่นมากเกิน ทำให้เราพอใจชีวิตน้อยลง

ชีวิตเราแย่หรือแค่เสพโซเชียลเยอะไป? เมื่อการเห็นชีวิตคนอื่นมากเกิน ทำให้เราพอใจชีวิตน้อยลง

เสียงที่ทำให้เรารู้สึกแย่ที่สุด คือเสียงจากภายในหัวของเรา

“ว้าว เพื่อนเราได้เลื่อนตำแหน่งอีกแล้ว”
“โอโห คนนี้ได้ไปเที่ยวต่างประเทศบ่อยจัง”
“เพื่อนซื้อบ้านได้แล้ว แต่เรายังต้องเช่าห้องอยู่เลย”
“ทำไมชีวิตของพวกเขาดีจังเลยนะ?”

ถ้าทุกครั้งที่กำลังไถโทรศัพท์มือถือฆ่าเวลา มีเสียงดังเหล่านี้ก้องอยู่ในหัวตลอด เราเคยหันกลับมาสังเกตความรู้สึกหรืออารมณ์ของตัวเองบ้างหรือเปล่าว่ากำลังคิดไปในทิศทางไหน?

กดสตอรีเจอรูปภาพเพื่อนแต่งตัวดี ใส่เสื้อผ้าราคาแพง ถ่ายรูปตอนไปเที่ยวในสถานที่สวยๆ ความรู้สึกแรกอาจเป็น “ดีใจกับเพื่อนจังที่เพื่อนมีแต่เรื่องดีๆ ในชีวิต” แต่พอเราเผลอเท่านั้น สมองนิสัยไม่ดีก็จะวกความคิดกลับมาที่ตัวเราว่า “แล้วตอนนี้เรามีอะไรดีบ้าง?”

ในพอดแคสต์ Mission To The Moon EP.1879 เรื่อง “วิกฤตของเหล่าคนติดมือถือ” ได้พูดถึงประเด็นเรื่อง “การติดโทรศัพท์กับการมี Self-Esteem ที่น้อยลง” โดยอ้างอิงจากผลการสำรวจในหนังสือ Smartphone Brain ว่า คนที่ยิ่งเสพโซเชียลมีเดีย จะยิ่งรู้สึกโดดเดี่ยว แม้เราจะมีเพื่อนในเฟซบุ๊กมากมายหรือสร้างคอนเนกชันกับคนนับพัน แต่เราก็จะยังรู้สึกมีความสุขน้อยกว่าคนที่ได้พบปะพูดคุยกับคนในชีวิตจริง

หนึ่งวันเราอยู่กับผู้คนในโซเชียลมีเดียนานขนาดไหน?

Ted Talk ของ อดัม อัลเทอร์ (Adam Alter) เมื่อปี 2017 ได้กล่าวถึง การใช้เวลาในหนึ่งวันของคนเรา โดยอธิบายว่า ใน 24 ชั่วโมงของเรานั้นแบ่งเป็น 4 ส่วน คือ

1. “นอน” ประมาณ 8 ชั่วโมง
2. “ทำงาน” ประมาณ 8 ชั่วโมง
3. “กิจวัตรประจำวัน เช่น กินข้าว อาบน้ำ ดูแลลูก” นับรวมประมาณ 3 ชั่วโมง
4. “เวลาส่วนตัว” คือเวลาที่เหลือจากนั้นประมาณ 5 ชั่วโมง

โดย “เวลาส่วนตัว”นี้อาจใช้กับงานอดิเรก การพักผ่อน การพัฒนาความสัมพันธ์กับคนรักและการตกผลึกเพื่อพัฒนาตนเอง แต่สถิติของปี 2017 อดัมกลับพบว่าคนเรามักใช้เวลาเกือบทั้งหมด 5 ชั่วโมงนั้นไปกับ “หน้าจอมือถือ”

ปัจจุบันผ่านมาเกือบ 5 ปี ในการสำรวจสถิติการใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วโลกปี 2023 จาก Datareportal ได้สำรวจผู้ใช้งานที่มีช่วงอายุ 16-64 ปี พบว่า ระยะเวลาเฉลี่ยที่คนทั่วโลกใช้งานอินเทอร์เน็ตในหนึ่งวันสูงถึง 6 ชั่วโมง 37 นาที และ“การเล่นโซเชียลมีเดีย” คิดเป็น 38% ของการใช้งานทั้งหมดหรือคิดเป็นประมาณ 2 ชั่วโมง 31 นาที

รายงานนี้ยังทำการสำรวจการใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยของเราด้วย พบว่า เวลาทั้งหมดที่คนไทยใช้ในอินเทอร์เน็ตคือ 8 ชั่วโมง 6 นาที และใน 33.7% (ประมาณ 2 ชั่วโมง 42 นาที) ของเวลานั้นคนไทยใช้ในการเล่นโซเชียลมีเดีย

ทำไมเราถึงรู้สึกโดดเดี่ยวจากการเล่นโซเชียลมีเดีย?

“โซเชียลควรเป็นสิ่งที่เชื่อมทุกคนเข้าด้วยกันไม่ใช่หรือ?” คำตอบของคำถามนี้คือ “ใช่” เทคโนโลยีในปัจจุบันก้าวหน้าขนาดที่สามารถทำให้คนที่อยู่คนละซีกโลกสามารถคุยและเห็นหน้ากันได้ แต่เพราะการที่เราสามารถเห็นคนเป็น “ล้านคน” ในหนึ่งวัน และสามารถเห็นชีวิตประจำวันของกลุ่มคนจากหลากหลายฐานะ หลากหลายอาชีพ และหลากหลายเชื้อชาติ จนทำให้เราเกิดการ “เปรียบเทียบ” ตัวเองกับคนอื่น เชื่อว่าหลายคนคงมีความรู้สึกเช่นนี้

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องการสังคม กล่าวคือ นับแต่โบราณธรรมชาติสร้างพวกเรามาให้ต้องอยู่ร่วมกันเพื่อช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ถ้าเราไม่สามารถอยู่กับเผ่าได้ เราอาจมีโอกาสที่จะรอดชีวิตคนเดียวน้อยมาก การสร้างสถานภาพทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ในหนังสือ Smartphone Brain จึงเชื่อมโยงเรื่องสถานภาพทางสังคมกับ “ฮอร์โมนเซโรโทนิน”

โดยกล่าวถึง สมองของลิงจ่าฝูงที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้นำจะมีเซโรโทนินสูง แต่หากมันถูกลดลำดับขั้น ระดับเซโรโทนินจะดิ่งลงในทันที เพราะฮอร์โมนเซโรโทนินแปรผันตามความเข้าใจถึง “สถานภาพ” ตัวเองในสังคม คนที่รู้สึกเป็นผู้ชนะจะมีเซโรโทนินสูงกว่าคนที่แพ้ และตอนที่คนกำลังรู้สึก “พ่ายแพ้” สมองก็จะหลั่งเซโรโทนิน “น้อยลง”

ทำให้ในที่นี้ความรู้สึก “พ่ายแพ้” นั้นจะเกิดขึ้นตอนที่เราเห็นคนในโซเชียลมีเดียมี “ชีวิตที่ดีกว่าเรา” ตัวอย่างเหตุการณ์อื่นที่อาจทำให้เราเกิดความรู้สึกใกล้เคียงกันนี้ เช่น ตอนที่ถูกบอกเลิกจากคนรัก ตอนที่เราได้รับคำปฏิเสธ ตอนที่เราได้รับคำตำหนิจากคนที่เรานับถือ หรือตอนที่เราโดนไล่ออก

แม้เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวกำหนดหรือตัดสินว่าเราเป็น “ผู้แพ้” โดยตรง แต่เมื่อเราเจอสถานการณ์เหล่านั้น เป็นเราเองที่อาจจะทำการตีความว่าเรากำลัง “พ่ายแพ้” โดยที่เราไม่รู้ตัว เมื่อเราเห็นว่าตนเอง “ไม่เป็นที่ต้องการในสังคม” ฮอร์โมนเซโรโทนินจะลดลงในทันที ทำให้คนเราเกิดความรู้สึกซึมเศร้า โดดเดี่ยว มองโลกในแง่ร้าย และทำให้เรามีความสุขในชีวิตน้อยลง

Advertisements

เราจะฟื้นความสุขและความพอใจในชีวิตได้อย่างไร?

1. กลับมาสู่ Analog บ้าง

เหตุผลไม่ใช่เพียงเพื่อลดเวลาที่เราอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์ แต่เพื่อให้ได้เราหันมามองเห็นและสัมผัสความสุขในชีวิตผ่านสองมือและผ่านเลนส์ดวงตาของเราเอง

ในเวลาที่เรากำลังอยู่กับคนสำคัญ ลองวางโทรศัพท์ในมือลงและเงยหน้าขึ้นพูดคุยกับเขา ลองยิ้มบนริมฝีปากให้แทนการส่งสติกเกอร์ หัวเราะหรือร้องไห้ไปพร้อมกับคำพูดของเขาที่ไม่ใช่ตัวอักษร ในเวลาที่คุณไปเที่ยวทะเล ลองเก็บโทรศัพท์มือถือให้ห่างตัว ถ่ายภาพวิวสวยๆ ด้วยดวงตาไม่ใช่เลนส์กล้อง เดินย่ำเท้าบนหาดทราย ให้ตัวเรากระทบกับแสงแดดและน้ำทะเล

คุณจะพบว่าประสบการณ์ที่ได้ยินกับหู มองเห็นด้วยตา สัมผัสด้วยร่างกาย จะเป็นความทรงจำที่ฝังลึกในใจ ขนาดที่ต่อให้อีก 10 ปีผ่านไปคุณก็ไม่อาจลืมมันได้ลง

2. ฝึกขอบคุณแม้แต่สิ่งเล็กๆ ในชีวิต

เราอาจหลงลืมไปว่าชีวิตของเราก็มีสิ่งมากมายที่น่ายินดีเช่นกัน คนอื่นอาจมีบ้านหลังใหญ่ราคาแพง แต่เราก็มีครอบครัวที่รักใคร่กลมเกลียว คนอื่นอาจได้กินมื้อหรูในร้านอาหารดีๆ แต่เราก็มีมื้ออาหารประจำบ้านที่คุณแม่ชอบทำให้ทานเหมือนกัน

ถ้าเราวางโทรศัพท์ในมือลง เราจะเริ่มมองเห็นสิ่งเล็กๆ ที่น่าขอบคุณในชีวิต

Advertisements

3. ฝึกมี Empathy ให้กับตนเอง

เรามักพยายามทำความเข้าใจคนอื่น แต่เรากลับลืมที่จะเข้าอกเข้าใจตนเอง คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตที่เราเห็นในโซเชียล เราเข้าใจว่าเขามีความพยายาม แต่เรากลับลืมไปว่าเราเองก็มีความพยายามในทุกๆ วันเหมือนกัน

ผลลัพธ์อะไรบางอย่างที่เกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตัวเราในอดีต ตัวเราในตอนนั้นได้ทำเต็มที่เท่าที่เราจะทำได้แล้ว ดังนั้นขอให้เข้าใจตัวเราในอดีตและในปัจจุบันนี้ให้มากๆ

4. แยกสิ่งที่ควบคุมได้และควบคุมไม่ได้

ในชีวิตของคนเรามีสิ่งที่สามารถควบคุมได้และควบคุมไม่ได้เสมอ สิ่งที่ควบคุมไม่ได้บางครั้งเข้ามาหาเราพร้อมกับผลกระทบร้ายแรงในชีวิต วันที่เรากำลังไปสมัครงานฝนอาจเทลงมานาน 4 ชั่วโมง จนเราเดินทางไม่ทัน วันที่เราตั้งใจจะไปหาคนที่เรารัก กลับได้ข้อความขอจบความสัมพันธ์

ในหนังสือเมื่อโลกเสียงดังเกินไป (Calm in the Chaos) กล่าวถึงปรัชญาสโตอิกที่จะบอกเราว่า เราอาจไม่สามารถเลือกเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในชีวิตเราได้อย่างใจ แต่เราสามารถเลือกมุมมองของเราที่มีต่อเหตุการณ์เหล่านั้นได้

ในวันที่เราประสบกับความล้มเหลวหรือเจอเรื่องที่ทำให้ผิดหวัง ให้เราลองแยกแยะสาเหตุของปัญหานั้นออกมา การที่คนรักของเราไม่ได้รักเราแล้ว นั่นเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้หรือเปล่า? การที่ฝนตกลงมากะทันหัน เป็นสิ่งที่เราสามารถกำหนดไม่ให้เกิดขึ้นได้หรือไม่?

หากเราพิจารณาเจอสาเหตุที่พอจะแก้ไขและพัฒนาได้ ให้ลงมือแก้ไขอย่างมีสติโดยไม่โทษตนเอง แต่ถ้าเราพบสาเหตุที่เกินการควบคุมของเรา นั่นก็เป็นเรื่องที่เราทำได้เพียงหาทาง “รับมือ” หลังปัญหานั้นเกิดขึ้น เพราะเราควบคุมไม่ให้ปัญหานั้นเกิดไม่ได้จริงๆ

5. รู้ทันเสียงดังที่ก้องในหัวเรา

“สิ่งที่ผมรู้ได้อย่างแน่ชัดคือ เสียงในหัวหรือความคิดของเรามันไม่ใช่ตัวเรา” คือคำกล่าวของคุณรวิศในหนังสือเมื่อโลกเสียงดังเกินไป

ในวันที่เรากำลังเปรียบเทียบเรากับคนอื่น หรือในวันที่เรากำลังมุ่งมั่นตั้งใจ เราอาจพบว่าเสียงในหัวกลับพูดว่าเราด้อยกว่าคนอื่น มันอาจบอกให้เรายอมแพ้ หรืออาจบอกว่าเราทำไม่ได้ แต่เมื่อเราผ่านมาประสบการณ์นั้นในชีวิตได้ (ซึ่งตรงข้ามกับเสียงในหัวเคยว่าไว้) เราจะรู้ว่าสิ่งที่พูดกับเรา “ไม่ใช่ตัวเรา” แต่เป็น “ความกลัว” ที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวเรามาตลอด และจะออกมาหาเราเมื่อเราอ่อนแอ

เราในทุกวันนี้เจอเสียงที่มากมายเหลือเกิน เสียงแจ้งเตือนโพสต์ใหม่ของคนดัง เสียงแจ้งเตือนอีเมลเรื่องงาน เสียงแช็ตไลน์ เสียงคอมเมนต์ของคนอื่นที่วิพากษ์วิจารณ์ตัวเรา และยิ่งเรามองดูชีวิตของคนอื่นมากเท่าไหร่ เสียงที่ดังมากที่สุดก็คือเสียงสบประมาทตัวเอง “ในหัวของเรา”

โซเชียลมีเดียมีแต่การสร้างภาพจำและบรรทัดฐานของการประสบความสำเร็จ ทว่าในชีวิตจริงของคนเรา ไม่ว่าคนรวยหรือคนจน หัวหน้าหรือลูกน้อง ดาราหรือคนธรรมดา เพื่อนหรือตัวเราเองก็ตาม “ไม่มีใคร” ที่ไม่เคยเจอกับความล้มเหลวและความผิดหวัง ยังมีข้อเท็จจริงอีกมากมายที่เสียงในหัวของเรา “ไม่รู้” แต่ “ตัวเรารู้”

เสียงที่มีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงชีวิตของเรามากที่สุดคือ เสียงที่มาจาก “ตัวตนที่แท้จริง” ของเราเอง ขึ้นอยู่กับเราแล้วว่าเราจะสามารถสร้างตัวตนที่มั่นคงและสงบนิ่ง เพียงพอที่จะรับมือกับเสียงรบกวนจากภายนอกและจากภายในตัวเราได้มากขนาดไหน

ค้นพบความสงบและความหวังในโลกที่มีเสียงวุ่นวายนี้ได้ในหนังสือ “เมื่อโลกเสียงดังเกินไป (Calm in the Chaos)” โดยรวิศ หาญอุตสาหะ สั่งซื้อได้แล้ววันนี้ที่ร้านหนังสือชั้นนำทั่วประเทศ (Kinokuniya, B2S และนายอินทร์) หรือผ่านช่องทางออนไลน์
[ ] LINE SHOPPING : https://shop.line.me/@missiontothemoon
[ ] Shopee :​ https://shope.ee/9eovnwIQUa
[ ] Lazada : https://s.lazada.co.th/l.XyN0

อ้างอิง
– DIGITAL 2023 DEEP-DIVE: HOW MUCH TIME DO WE SPEND ON SOCIAL MEDIA?: Simon Kemp – https://bit.ly/3pzZRcn
– Why our screens make us less happy : Adam Alter – https://bit.ly/3D7VXul
– วิกฤตของเหล่าคนติดมือถือ สรุปหนังสือ Smartphone Brain | Mission To The Moon EP.1879
: รวิศ หาญอุสาหะ – https://bit.ly/3pAfSPw
– หนังสือ เมื่อโลกเสียงดังเกินไป (Calm in the Chaos): รวิศ หาญอุสาหะ


#worklife
#smartphoneaddict
#selfesteem
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า