“นักแหกกฎ” ต้นแบบของ “โทนี่ สตาร์ก” ตัวละครที่ครองใจคนดู
เมื่อราวปี ค.ศ. 2000 คือตอนที่ทีมเขียนบท Iron Man กำลังระดมสมองเพื่อสร้างตัวละครโทนี่ สตาร์ก (Tony Stark) ขึ้นมา ตอนแรกพวกเขาวางไว้ว่าอยากได้ภาพลักษณ์ที่เหมือน ฮาวเวิร์ด ฮิวจ์ส (Howard Hughes) นักธุรกิจชาวอเมริกันผู้มากความสามารถที่มีชีวิตในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แต่เพราะคิดว่าคนดูคงจะไม่รู้จักแน่ๆ จึงลองหานักธุรกิจคนอื่นที่ร่วมสมัยขึ้นมาอีกเพื่อมาเป็นต้นแบบให้กับตัวละครนี้
มาร์ก เฟอร์กัส (Mark Fergus) หนึ่งในทีมเขียนบท ได้ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ชื่อของ “อีลอน มักส์ (Elon Musk)” โดดเข้ามาในวงสนทนาเหมือนกับเขาเป็นคนคว้าคบเพลิงต่อจากฮาวเวิร์ดได้อย่างพอดิบพอดี
อีลอน มักส์ คือนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จและเป็นผู้ทรงอิทธิพลในโลกปัจจุบัน เขาติดอันดับ 1 ของการเป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกอยู่หลายครั้ง แต่เขาไม่เหมือนกับนักธุรกิจคนอื่นที่เราจะจดจำได้แค่ชื่อกับบริษัทแบบเลือนลาง ต้องยอมรับว่าอีลอนมีวิธีสร้างตัวตนของเขาในสังคมที่แตกต่างจากนักธุรกิจคนอื่นๆ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในแบบที่ไม่เหมือนใคร เช่นเดียวกับกับตัวละครโทนี่ สตาร์กนั่นก็คือการเป็น “นักแหกกฎ” นั่นเอง
“CEO ควรวางตัวดีและอยู่เงียบๆ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์กระทบกับบริษัท” แต่อีลอน มักส์เป็นนักธุรกิจสายเซเลบริตีที่ไม่กลัวการตกเป็นข่าว เราจะเห็นได้ว่าอีลอนใช้ทวิตเตอร์ราวกับเป็นสนามเด็กเล่นของเขาเอง ไม่ว่าจะทั้งเรื่องบริษัทหรือเรื่องส่วนตัวเขาก็ทวิตออกไปหมดแบบไม่แยกแอ็กเคานต์ แน่นอนว่าทำให้เกิดทั้งข่าวดีและข่าวที่ไม่ดี แต่การกล้าเป็นข่าวก็ทำให้ชื่อของอีลอนเป็นที่รู้จักและเป็นที่จดจำได้อย่างง่ายดาย
“เรื่องธุรกิจไม่ใช่เรื่องส่วนตัว” แต่อีลอน มักส์สร้างบริษัทของเขาโดยมีเป้าหมายของตัวเองรวมอยู่ในนั้นด้วยอย่างแยกกันไม่ได้ เหตุผลเพราะคนเก่งสามารถแทนที่กันเองได้ (ซึ่งเขาเคยถูกไล่ออกจากตำแหน่ง CEO ของบริษัท Paypal ตอนที่เขาเผลอมาแล้ว) แต่การผูกเป้าหมายของบริษัทไว้กับเป้าหมายของตนเอง ทำให้ไม่มีใครสามารถมาทำงานแทนที่เขาได้
“เป้าหมายควรชัดเจนและมีความเป็นไปได้” แต่อีลอนตั้งเป้าหมายของบริษัทไว้ว่า “จะต้องพามนุษยชาติไปเยือนดาวอังคารให้ได้” เป้าหมายที่ดูเป็นไปไม่ได้นี้กลับมีพลังพอที่จะทำให้เขาอยู่แนวหน้าในวงการธุรกิจเทคโนโลยีเลยทีเดียว
ถ้าการแหกกฎไม่ใช่ “การกบฏ” แต่เป็น “การคิดนอกกรอบ”
บุคลิกภาพแบบ “นักแหกกฎ” หรือ “Rule Breaker” คือคนที่มีอุปนิสัยไม่ชอบทำตามกฎเกณฑ์ ชื่นชอบอิสระ มีความยืดหยุ่นสูง และมักมีทักษะในการปรับตัวที่ดี แต่มีข้อเสียคืออาจจะร่วมงานด้วยยาก คนลักษณะนี้จึงอาจเป็นกลุ่มคนแรกๆ ที่หลายบริษัทจะไม่รับเข้าทำงาน เพราะอย่างที่เราทราบกันดีว่าการทำงานเป็นทีมและการอยู่ร่วมกันในสังคมจะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขอะไรบางอย่าง แต่อย่าพึ่งมองคนกลุ่มนี้ในแง่ไม่ดีนัก เพราะแท้จริงแล้ว คนกลุ่มนี้อาจเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงไปสู่ “การพัฒนา” ก็ได้!
เหตุผลที่องค์กรต้องมี “Rule Breaker”
[ ] เพราะพวกเขาไม่เคยหยุดตั้งคำถาม
คนเหล่านี้มักไม่ได้แหกกฎเพราะความสนุก แต่แหกกฎเพราะพวกเขาคิดว่ามันมีหนทางที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ หลายองค์กรอาจจะมีระเบียบหรือธรรมเนียมอะไรบางอย่างที่เน้นทำต่อกันมา แต่ไม่เน้นตั้งคำถามว่า “ทำไม” ส่งผลให้บางครั้งเกิดการติดขัดในการทำงาน ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งประสิทธิผลในการทำงานและไม่ดีต่อตัวพนักงานเองเช่นกัน
[ ] เพราะพวกเขากล้าพูดในสิ่งที่เห็นต่าง
มีหลายครั้งที่ข้อสรุปหลังจากประชุมคือ “ความเงียบ” แม้ไม่มีเสียงคัดค้าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าที่ประชุมจะเห็นด้วยทั้งหมด บุคลิกภาพแบบนักแหกกฎจะกล้าท้าทายในสถานการณ์ที่คลุมเครือเช่นนี้ เพื่อหาข้อสรุปที่พวกเขารู้สึกไม่กังขา และนั่นอาจนำไปสู่ข้อสรุปใหม่ที่ดีกว่าเดิมก็ได้
[ ] เพราะพวกเขากล้าคิดนอกกรอบ
นักแหกกฎจะมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ และมีนิสัย “อยากรู้อยากเห็น” โดยธรรมชาติ พวกเขาจะมักจะค้นพบมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากคนอื่นเสมอ เพราะตัวเขาจะไม่ยอมอยู่แต่ในกรอบความคิดที่สังคมปลูกฝังมา แต่จะกล้าคิดนอกกรอบเพื่อหาหนทางใหม่ของตนเอง หากองค์กรสามารถบริหารจุดแข็งนี้ของนักแหกกฎได้ดี พวกเขาจะเป็นบุคลากรที่มีคุณภาพและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาขององค์กรมาก
ควรดูแลเหล่านักแหกกฎนี้อย่างไร เพื่อให้เป็นกำลังสำคัญมากกว่าเป็นโทษ?
ในองค์กรจะมีทั้ง “นักรักษากฎ” และ “นักแหกกฎ” รวมตัวอยู่ โดยขึ้นอยู่กับว่าวัฒนธรรมองค์กรนั้นมีลักษะไปในทิศทางไหน ระหว่าง “ความเข้มงวด” ตามกฎระเบียบของสังคม หรือเน้นไปที่ “ความยืดหยุ่น” ตามการเปลี่ยนแปลง แต่การกำหนดทิศทางองค์กรไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งแบบสุดขั้ว อาจไม่ใช่คำตอบที่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบัน “การรักษาสมดุลของขั้วตรงกันข้าม” ทั้งสองนี้ต่างหาก คือกุญแจของการประสบความสำเร็จ
ถ้าอย่างนั้นผู้นำควรรับมือกับนักแหกกฎอย่างไร?
1. เตรียมคำอธิบายไว้ให้ดี
นักแหกกฎมักมาพร้อมกับคำถามว่า “ทำไม?” เสมอ เราควรเตรียมคำอธิบายที่สมเหตุสมผลและมีน้ำหนักมากพอ ไม่ใช่เหตุผลแบบ “เพราะนั่นคือกฎ” ซึ่งไม่มีแรงจูงใจชวนให้ทำตามสักเท่าไหร่ ในอีกมุมหนึ่ง การเตรียมคำอธิบายนี้คือการได้ทบทวนความเหมาะสมของกฎบางอย่างในองค์กรอีกด้วย
2. เป็นผู้นำที่ผู้ตามเข้าถึงได้
การเป็นผู้นำที่ปกครองคนด้วยความกลัว นับว่าเป็นการปิดกั้นความสามารถของคนในทีม แทนที่จะใช้วิธีการทำงานแบบบังคับหรือออกคำสั่งอย่างเดียว คนที่มีภาวะผู้นำที่ดีควรเน้นไปที่การสื่อสารกับคนในทีม แบ่งปันความเห็นและประสบการณ์ต่างๆ ร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้ทีมคิดตามและประเมินความเสี่ยงด้วยตนเองได้ นอกจากจะเป็นการเปิดรับมุมมองใหม่ๆ จากเหล่านักแหกกฎแล้ว ก็ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในที่ทำงานด้วย
3. ยอมรับความเสี่ยง
แน่นอนว่าการคิดนอกกรอบและการลองทำในสิ่งใหม่ๆ มักมาพร้อมกับความเสี่ยงของการล้มเหลว แต่สิ่งที่อันตรายยิ่งกว่าการล้มเหลว คือ “ความกลัวที่จะเปลี่ยนแปลง” สิ่งที่สำคัญเมื่อประสบกับความล้มเหลว ไม่ใช่การจมอยู่ในความรู้สึกผิดหวัง แต่คือการเรียนรู้จากมันเพื่อนำไปปรับปรุงในอนาคต ผู้นำที่ดีจึงควรส่งเสริมทีมนักแหกกฎให้กล้าเสี่ยงอย่างรอบคอบ และกล้าคิดต่างอย่างไม่เกรงกลัวการล้มเหลว
ทุกบุคลิกภาพมีทั้งด้านที่ดีและด้านที่ไม่ดี การเป็นนักแหกกฎอาจสั่นคลอนความเชื่อหรือความสบายใจที่คนในสังคมยึดถือกันอยู่ บางครั้งเราอาจรู้สึกว่าพวกเขาเป็นนักสร้างปัญหา แต่ในอีกแง่หนึ่งพวกเขาก็เป็นกลุ่มคนที่ขาดไม่ได้เลยในสังคม เพราะหากมนุษย์เราชินชากับสิ่งที่ทำตามกันมาโดยไม่มีการตั้งคำถาม เราจะเหมือนกับการหยุดยืนอยู่กับที่นานๆ โดยไม่เกิดการพัฒนา แทนที่จะคัดค้านหรือกีดกันคนกลุ่มนี้ เราน่าจะลองเปิดใจเพื่อเรียนรู้มุมมองที่แตกต่างจากเขาดูบ้าง เพราะการลองเดินไปสู่เส้นทางใหม่ๆ คือเคล็ดลับความสำเร็จของอารยธรรมมนุษยชาติ
ไม่แน่ว่ามนุษย์เรานอกจากจะสามารถฝากรอยเท้าไว้ที่ดวงจันทร์ได้แล้ว อาจจะได้ลองสร้างบ้านอยู่บนดาวอังคารอย่างที่อีลอน มักส์ฝันไว้ก็ได้
อ้างอิง
– 5 reasons you should hire those rulebreakers: Jackie Fast – https://bit.ly/42TjNVq
– How To Build A Team Of Rule-Breakers And Why You Should: John Hall – https://bit.ly/3XobbF5
– Iron Man Writer Says Elon Musk is Real-World Tony Stark Inspiration: Brady Langmann – https://bit.ly/42PRZkI
– The Richest Person on Earth Breaks Every Rule, And You Should Too: Liliana Pertenava – https://bit.ly/42XfAA7
#worklife
#rulebreaker
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast