PSYCHOLOGYworklife“คู่มือเอาตัวรอดของโนบิตะ” พนักงานที่ไม่โดดเด่นมีประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่าที่คิด

“คู่มือเอาตัวรอดของโนบิตะ” พนักงานที่ไม่โดดเด่นมีประโยชน์ต่อองค์กรมากกว่าที่คิด

คำแนะนำ : บทความต่อไปนี้เป็นความรู้ทั่วไป สามารถอ่านได้ทุกเพศทุกวัยและเหมาะสำหรับทุกคน

โดราเอมอน ตอน คู่มือเอาตัวรอดในที่ทำงานของโนบิตะ!

เช้าวันหยุดในความทรงจำของใครหลายคนนั้นแตกต่างกัน บางคนเป็นละครไทยย้อนยุค บางคนเป็นซีรี่ส์หรือหนังต่างประเทศ และอีกหนึ่งสิ่งที่ครองใจผู้ชมไม่แพ้กันก็คือการ์ตูนแอนิเมชัน ยุคที่การ์ตูนเป็นป๊อบคัลเจอร์และถูกบรรจุไว้ในรายการทีวีวันเสาร์อาทิตย์ของเด็กๆ มีทั้งตัวละครที่เป็นที่ชื่นชอบมากมายและกลายเป็นแรงบันดาลใจ รวมถึงตัวละครที่สร้างภาพจำของตัวร้ายในใจเด็กด้วยเช่นกัน หนึ่งในนั้นคือ “โดราเอมอน”

โดราเอมอน เป็นการ์ตูนแอนิเมชันสัญชาติญี่ปุ่น เล่าถึงเรื่องราวของ ‘โนบิ โนบิตะ’ เด็กชายชั้นประถมที่มีนิสัยไม่เอาถ่านคนหนึ่งกับหุ่นยนต์แมวไร้หูตัวสีฟ้าจากศตวรรษที่ 22 ที่ชื่อว่า ‘โดราเอมอน’

แม้ว่าทั้งคู่จะเป็นตัวละครหลักของเรื่อง แต่คอการ์ตูนมักจะมีภาพจำเกี่ยวกับโนบิตะว่าเป็นคนไม่เอาไหน สอบตก และอ่อนแอ เพราะถูกเพื่อนแกล้งอยู่เป็นประจำ ทำให้เด็กบางคนไม่อยากโตไปเป็นเหมือนโนบิตะ

แต่รู้อะไรไหม ความจริงแล้ว ‘โนบิตะ’ อยู่รอบตัวเรา อาจเป็นคนใกล้ชิดของเราก็ได้ อาจเป็นคนที่เราเดินสวนกันก็ได้ บางครั้งเราก็รู้สึกเหมือนเป็น ‘โนบิตะ’ ที่ขี้เกียจลุกจากที่นอนเพื่อมาทำงาน หรือทำงานอย่างไม่มีเป้าหมายชัดเจน ทำแล้วไม่ได้ผลลัพธ์ดีอย่างที่คาดไว้ แล้วเราต้องทำอย่างไรถึงจะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้

ด้านดีที่ซ่อนอยู่ของโนบิตะ

คำนิยามตัวตนของโนบิตะมีอยู่หลายข้อ เช่น ขี้เกียจ ซุ่มซ่าม ซื่อบื้อ หัวทึบ อ่อนแอ และโชคร้าย ในทุกตอนโนบิตะมักจะถูกเพื่อนร่วมชั้นอย่างไจแอนกับซูเนโอะกลั่นแกล้ง แล้วโนบิตะก็จะกลับบ้านมาฟ้องโดราเอมอนอยู่ร่ำไป บางครั้งเดินอยู่ก็ตกท่อ สอบตกแทบทุกครั้ง เขามักถูกคุณครูดุว่า พอกลับบ้านมาก็จะถูกคุณแม่ดุซ้ำอีกที และในบางครั้งก็ถูกโดราเอมอนดุปิดท้ายด้วย

‘ความไม่เอาไหน’ ของโนบิตะถูกแสดงออกมาผ่านคำดุด่า และเขาก็แก้ไขมันด้วยการขอตัวช่วยจากโดราเอมอนทุกครั้ง เราอาจจะมองโนบิตะเหมือนที่ครูประจำชั้นหรือคุณแม่ของเขามองก็ได้ แต่ถ้าเราเปิดใจให้กับโนบิตะมากกว่านี้ หรือเป็นแฟนคลับของโดราเอมอนจริงๆ ก็จะมองเห็นด้านดีๆ ของเด็กชายคนนี้ได้

หากใครเป็นแฟนตัวยงของการ์ตูนเรื่องนี้ก็จะพอรู้ว่า โนบิตะมีความสามารถที่โดดเด่นอยู่ นั่นคือการเล่น ‘อายาโทริ’ หรือเกมพันด้าย การยิงปืนที่แม่นระดับมืออาชีพ อ่านมังงะแล้วก็เขียนรีวิว แล้วเขายังแต่งมังงะเองด้วย ยิ่งไปกว่านั้น โนบิตะยังชอบช่วยเหลือคนอื่น เห็นคนเดือดร้อนก็ไม่สามารถปล่อยผ่านไปได้ เขาจึงยังเป็นตัวละครที่ชื่นชอบของใครหลายคนเช่นกัน

อีกด้านหนึ่งของความไม่เอาไหน โนบิตะมี ‘ความสร้างสรรค์’ อย่างเต็มเปี่ยม เห็นได้จากงานอดิเรกเกี่ยวกับมังงะ และความชอบประดิษฐ์ของเล่นจากวัสดุรอบตัว เขายังคิดประยุกต์ของวิเศษจากโดราเอมอนเข้ากับชีวิตประจำวันเพื่อแก้ไขปัญหาได้อีกด้วย เช่น ใช้ดินสอกดคอมพิวเตอร์เพื่อโกงให้ได้คะแนนสอบมากขึ้น หรือใช้ถุงมือแตะสับเปลี่ยนเพื่อลดภาระงานของตัวเอง แม้ว่าจะใช้ผิดวิธีไปหน่อยก็ตาม

ยิ่งไปกว่านั้นคือความทุ่มเทและความรักอันบริสุทธิ์ที่โนบิตะมอบให้ชิซุกะอย่างสม่ำเสมอ และเมื่อรู้ว่าตัวเองยังไม่ดีพอก็ยินดีถอยห่างออกมา นั่นทำให้โนบิตะกลายเป็นตัวละครที่ไม่ได้มีแต่นิสัยด้านลบอย่างเดียว

โนบิตะมีทักษะการพลิกแพลง และแน่วแน่เกินกว่า ‘คนไม่เอาถ่าน’

หลายครั้งที่ทักษะของโนบิตะกลายเป็นเรื่องไร้ค่า แม้ว่าเขาจะเก่งกาจหาตัวจับยากก็ตาม อย่างความสามารถในการเล่นอายาโทริ (เกมพันด้าย) ของโนบิตะก็ถูกมองข้ามเพราะมันเป็นเกมการละเล่นของเด็กผู้หญิง แต่ความจริงเกมที่ไม่ต้องออกแรงนี้ช่วยให้ระบบประสาทและกล้ามเนื้อนิ้วมือทำงานประสานกันได้ดียิ่งกว่าการเล่นมวยปล้ำเสียอีก

ส่วนความสามารถในการยิงปืนของโนบิตะ ก็เรียกได้ว่าเป็นนักแม่นปืนตัวฉกาจ แสดงให้เห็นว่าเขาสามารถโฟกัสและมีสมาธิกับการเล็งเป้าหมายได้ดี นิ่ง สุขุม และตัดสินใจได้ดีกว่าเวลาปกติ ดังนั้นคงไม่แปลกหากเราจะพูดว่าโนบิตะก็คือเด็กธรรมดาคนหนึ่ง

ไม่ต่างกับคนๆ หนึ่งที่รูปร่างหน้าตาธรรมดา มีความสามารถ แต่ไม่ถูกจัดว่าโดดเด่น ถูกเอาเปรียบอยู่บ่อยครั้ง และมีความรู้จำกัด แต่ในความรู้ที่จำกัดนั้นกลับเป็นสิ่งที่เชี่ยวชาญ รวมถึงจินตนาการสุดล้ำและสมาธิที่แน่วแน่ เมื่อคนเหล่านี้หมกมุ่นอยู่กับความคิดบางอย่าง เขาก็จะเป็นเหมือนกับโนบิตะ

ในองค์กรแต่ละที่ก็มีคนแบบโนบิตะอยู่ไม่น้อย บางทีเราเองอาจจะเป็นคนแบบโนบิตะ หรือเดินสวนกับพนักงานออฟฟิศที่ผมเผ้ากระเซิงเพราะตื่นสาย หรือมีคราบซอสเลอะที่ปกเสื้อ มองเผินๆ ก็ดูเป็นคนไร้ความรับผิดชอบ ดูเหมือนจะไร้ภูมิฐาน แต่บางทีอาจเป็นเพราะคนที่มองไม่ได้ให้คุณค่ากับทักษะที่เขามีเลย

การที่เราไม่โดดเด่นนั้นไม่ได้แปลว่าเราไร้ประโยชน์ แต่ต้องรู้จักตัวเองว่ามีความสามารถหรือโดดเด่นในเรื่องอะไร และภูมิใจกับข้อดีของตัวเอง รวมถึงองค์กรก็ต้องให้คุณค่าและนำทักษะของพนักงานไปใช้ให้เกิดประโยชน์ด้วย

Advertisements
Advertisements

คู่มือเอาตัวรอดของพนักงานแบบโนบิตะ

ก่อนอื่นเราต้องรู้จักตัวเองก่อนว่าเรามีจุดแข็งและจุดอ่อนในด้านไหน เมื่อค้นพบทักษะที่ตัวเองชำนาญแล้วก็ต้องใช้พรสวรรค์นั้นให้เกิดประโยชน์ อย่างไรก็ตาม ในแต่ละองค์กรก็มีคนเก่งมากพออยู่แล้ว เราจึงต้องรู้ว่าจะทำอย่างไรให้จุดแข็งของเราโดดเด่นกว่าคนอื่น

ความสามารถในการพลิกแพลงเองก็สำคัญ หากเรารู้จักใช้เหลี่ยมเล็กๆ น้อยๆ แบบโนบิตะ ภาระงานของเราก็จะเบาลง แต่ผลลัพธ์ของงานจะยังคงมีคุณภาพ บทความจาก The Week กล่าวว่าคนที่ฉลาดแต่ขี้เกียจมีแนวโน้มจะประสบความสำเร็จและเป็นผู้นำคนมากกว่าคนที่ฉลาดและขยันด้วยซ้ำ โดยในแต่ละองค์กรก็จะมีพนักงานที่ต่างกันแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่อยู่ 4 กลุ่ม ได้แก่

เป็นคนหัวไม่ดีแต่ขยัน – คำว่า ‘ขยัน’ ฟังดูดีก็จริง แต่ถ้าผู้นำองค์กรมีลูกน้องแบบนี้คงปวดหัวไม่เว้นวัน หากเรารู้ตัวเองว่ายังไม่มีความสามารถ แต่ก็พยายามทำงาน เราอาจจะกำลังเป็นโนบิตะที่สร้างปัญหาให้กับเพื่อนร่วมงานและองค์กรตลอด ทำให้จากงานที่เคยดีก็จะแย่ลง และงานที่ไม่ดีก็จะย่ำแย่ลงไปได้อีก

ดังนั้นเราจึงต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนและรอบด้าน หันมามองตัวเองว่ายังบกพร่องในจุดไหน แล้วจะแก้ไขหรือจัดการกับข้อบกพร่องนั้นอย่างไร บางทีเราก็เผลอมองข้ามรายละเอียดสำคัญของงาน หรือยังไม่รู้จักพลิกแพลงให้งานชิ้นนั้นประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นก็ได้

เป็นคนหัวไม่ดีและขี้เกียจ – เมื่อสองคำนี้มาอยู่ด้วยกันแทนที่จะเลวร้ายไปหมดกลับมีข้อดีเสียอย่างนั้น คนกลุ่มนี้ยังคงทำงานได้ ไม่ได้สร้างปัญหาให้เพื่อนร่วมงาน แต่ก็ยังทำงานไม่ได้คุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ และมักจะถูกแรงงานใหม่ทดแทนได้ตลอดเวลา

หากเราเป็นหนึ่งในพนักงานที่ไม่ได้มีทักษะโดดเด่น แล้วยังทำงานช้า ขาดเอเนอร์จี ก็ต้องมีวิธีบริหารตารางของตัวเอง ให้ลองแบ่งงานเป็นชิ้นย่อยๆ ที่สามารถทำเสร็จได้ในวันเดียว เพิ่มพูนทักษะที่ขาดไป หรือเสริมทักษะที่มีอยู่แล้วให้โดดเด่นยิ่งขึ้น เพื่อที่จะได้เป็นแรงงานคุณภาพและมีคุณสมบัติตามที่บริษัทต้องการ

เป็นคนฉลาดและขยัน – คนกลุ่มนี้มีความสามารถ ทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ดี ทำงานตามตาราง ตามขั้นตอน ตามกระบวนการ ปฏิบัติตามวิสัยทัศน์ขององค์กร และมักไม่ค่อยลุกขึ้นมาท้าทายอำนาจขององค์กร จึงเหมาะกับตำแหน่งพนักงานทั่วไป

แต่คนที่ฉลาดและขยันบางคนก็ลุกขึ้นมาต่อต้านองค์กรได้เหมือนกัน หากเราไม่พอใจในระบบการทำงานหรือต้องแข่งขันเพื่อสิทธิประโยชน์บางอย่าง การท้าทายและพยายามเอาชนะองค์กรหรือเพื่อนร่วมงานจึงเปรียบเสมือนการท้าทายความสามารถของตัวเราเอง ปลดล็อกความสามารถจากระดับเดิมสู่ระดับที่โดดเด่น และมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น พร้อมกับได้รับรางวัลจากบริษัทด้วย

เป็นคนฉลาดแต่ขี้เกียจ – แม้จะมีคำว่า ‘ขี้เกียจ’ แปะอยู่ แต่คุณสมบัตินี้กลับเป็นคุณสมบัติของผู้นำองค์กรส่วนใหญ่ เพราะความขี้เกียจทำให้คนกลุ่มนี้หลีกเลี่ยงขั้นตอนที่จุกจิก ไม่ชอบออกแรงโดยไม่จำเป็น และด้วยนิสัยฉลาดทำให้พวกเขามีข้อมูลในหัวให้คิดเยอะ ประมวลผลงานที่ซับซ้อนได้อย่างถี่ถ้วน และตัดสินใจในเรื่องยากๆ ได้ดีกว่าคนกลุ่มอื่น

ถ้าเราอยากเป็นโนบิตะที่มีผลงานโดดเด่น มีมันสมองเป็นเลิศ แต่ไม่อยากทำงานเยอะหรือเผชิญกับขั้นตอนยุ่งยากในระบบ เราก็ต้องหา ‘ของวิเศษ’ นั่นก็คือทักษะในการพลิกแพลง ทักษะในการปรับตัว และการทำงานแบบ Productive ซึ่งจะช่วยให้เราทำน้อยได้มาก และได้งานแบบมีประสิทธิภาพ

การหาความโดดเด่นของตัวเองเป็นสิ่งที่จะช่วยให้เราหาจุดโฟกัสในชีวิตของเราได้ ยิ่งเรารู้ว่าเก่งในด้านไหนเร็วเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเห็นเป้าหมายของตัวเองได้ชัดขึ้นเร็วเท่านั้น แต่การไม่รู้ย่อมไม่ผิด ลองเริ่มจากการสังเกตว่าเราชอบทำอะไร หรือสิ่งที่เราสามารถอยู่กับมันได้นานๆ และเห็นความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันจากมันได้

หลังจากนั้นพัฒนาความสามารถของเราให้โดดเด่นจนเป็นที่ต้องการขององค์กร เพียงเท่านี้เราก็จะกลายเป็นโนบิตะที่ประสบความสำเร็จ

อ้างอิง
– Nobita Nobi : Fandom – https://bit.ly/3qYpfsY
– Why clever and lazy people make great leaders : The Week – https://bit.ly/3Pj6LNh

#worklife
#inspiration
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า