PSYCHOLOGYworklifeอวยก่อนแล้วค่อยใช้งานหนัก! รู้ทัน Love Bombing การตบหัวแล้วลูบหลัง แสน Toxic ในองค์กร

อวยก่อนแล้วค่อยใช้งานหนัก! รู้ทัน Love Bombing การตบหัวแล้วลูบหลัง แสน Toxic ในองค์กร

ไม่ว่าใครก็อยากเป็นคนสำคัญหรือเป็นที่ต้องการกันทั้งนั้น
บางครั้งแค่คำชื่นชมเพียงไม่กี่คำก็สามารถดึงพลังใจของเราให้ฮึดสู้ต่อไปได้
ถ้ามีใครสักคนแสดงออกว่าต้องการเราหรือชื่นชมเรามาก เราจะรู้สึกอย่างไร?
แล้วถ้าแท้ที่จริง คำชมที่เราได้รับเป็นเพียงเครื่องมือที่ใครคนนั้นใช้เพื่อจ้องจะหาผลประโยชน์จากเรา เราจะทำอย่างไร?

การประจบชมเชยเพื่อหวังผลประโยชน์ที่ว่านั้นคือ ‘Love Bombing’ หรือการปาระเบิดความรัก ปกติแล้วจะถูกใช้ในความสัมพันธ์ที่ฝ่ายหนึ่งจงใจใช้คำหวานเพื่อเล่นกับความรู้สึก ตอกย้ำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเป็นที่รัก เป็นที่ต้องการ แล้วฉวยโอกาสควบคุมอีกฝ่าย

แต่ในโลกของการทำงานนั้นหมายถึงการใช้ถ้อยคำชมเชยเกินพอดี นำเสนอเฉพาะด้านดีๆ ขององค์กร และซื้อใจพนักงานในช่วงแรก ทำให้พนักงานรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนสำคัญขององค์กร แต่พอได้เข้ามาทำงานจริงๆ กลับเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ ความภาคภูมิใจและรักในองค์กรแปรเปลี่ยนเป็นความรู้สึกไร้ค่า ไม่เป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และรอวันที่จะยื่นซองลาออกไปในที่สุด

ก่อนที่จะตอบรับการเสนองานของบริษัทใดๆ ก็ตาม เราจึงต้องเปิดโหมดป้องกันตัวเองด้วยการตรวจสอบให้ดี แต่จะรู้ได้อย่างไรว่าคำพูดแบบไหนคือคำชมที่จริงใจ ยอมรับในความสามารถของเราจริงๆ หรือคำพูดแบบไหนเป็น Love Bombing?

จับพิรุธ Love Bombing ขององค์กรตั้งแต่สัมภาษณ์

โดยปกติแล้ว การหางานเป็นเรื่องไม่ง่ายเลยแม้แต่น้อย โดยเฉพาะสำหรับเด็กจบใหม่และคนที่กำลังมองหาโอกาสใหม่ๆ เพราะโลกการทำงานนั้นเป็นเหมือนสนามแข่งย่อมๆ ที่เราต้องแย่งชิงโอกาสเพื่อเข้าไปทำงานในองค์กรต่างๆ

แต่ปัจจุบันมันมีตัวแปรอื่นๆ ที่ทำให้เรื่องราวเหล่านี้เริ่มเปลี่ยนไป เมื่อไม่นานมานี้ ซาร์มอน เซลิม (Samorn Selim) ที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านอาชีพ ได้กล่าวว่า นอกจาก ‘ภาวะตลาดแรงงานตึงตัว’ (Labour Tightness) ที่ทำให้เกิดปัญหาแรงงานขาดตลาดแล้ว ทักษะที่ผู้สมัครชำนาญยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทเข้าหาและพยายามดึงตัวผู้สมัครมาร่วมงานด้วย กลายเป็นองค์กรเสียเองที่ต้องแข่งขันกันเพื่อแย่งพนักงานที่มีคุณสมบัติเข้าทำงาน

บริษัทต่างๆ จึงใช้ ‘Love Bombing’ ดึงตัวผู้สมัครที่มีความสามารถเข้ามาทำงาน โดยลักษณะสำคัญของ Love Bombing ที่เห็นได้ชัดอย่างแรกคือ ในขั้นตอนการสมัครจะเร่งรัดและไม่มีคำอธิบายตำแหน่งงานที่ชัดเจน นอกจากนี้ผู้สัมภาษณ์หรือฝ่ายบุคคลยังมีท่าทีกระตือรือร้นนำเสนอด้านดีของบริษัทมากเกินพอดี

นอกจากนี้ อแมนดา เฟอร์กูสัน (Amanda Ferguson) นักจิตวิทยาองค์กรยังชวนให้สังเกตวัฒนธรรมภายในของบริษัทปัจจุบันที่ทำงานอยู่ว่าเป็นองค์กรที่เฟ้นหาพนักงานด้วย Love Bombing หรือไม่ โดยให้สังเกตจากพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงาน เช่น เมื่ออยู่ต่อหน้าก็จะพูดชมอีกฝ่าย แต่กลับนินทาอีกฝ่ายลับหลัง การเลือกที่รักมักที่ชัง การแบ่งพรรคแบ่งพวก หรือการยึดระบบชนชั้นในองค์กรมากกว่าหน้าที่ตำแหน่งงาน

ส่วนพนักงานคนไหนไม่เคยมีประสบการณ์ถูก Love Bombing มาก่อนก็อาจจะสับสนได้ว่าพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานเข้าข่าย Love Bombing หรือเป็นเพียงคำชมทั่วๆ ไป ก็สังเกตได้จากความรู้สึกตัวเองว่าความรู้สึกจากวันแรกที่ได้รับการติดต่อจากบริษัท จนถึงวันนี้เปลี่ยนแปลงไปบ้างไหม เป็นบริษัท หรือเป็นทีมที่ดีแค่ช่วงแรกๆ หรือเปล่า นี่ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ใช้ตรวจจับ Love Bombing ได้

จากถ้อยคำหวานหู สู่องค์กรที่เป็นพิษต่อสภาพจิตใจ

Love Bombing ทั้งในความสัมพันธ์แบบคนรักและองค์กรมีสิ่งที่เหมือนกันก็คือการฉาบหน้าความสัมพันธ์ด้วยคำหวานๆ และท่าทีเอาใจใส่ แต่ความจริงแล้วต้องการให้อีกฝ่ายรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณที่ได้รับความสำคัญและความรัก แล้วฉกฉวยโอกาสนี้เพื่อควบคุมความคิดและการกระทำของอีกฝ่าย

แล้วการจะรู้สึกตัวว่ากำลังถูกเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือองค์กร Love Bomb ใส่ได้ช้าหรือเร็วนั้นขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัว รวมถึงความสามารถในการตรวจจับบรรยากาศรอบข้างด้วย หากเรารู้ตัวเร็วก็จะเตรียมตัวรับมือหรือหาทางโต้กลับอย่างทันท่วงที ในทางกลับกัน หากเรารู้ตัวช้า ก็จะถูกหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานบงการอยู่อย่างนั้น จนสูญเสียความมั่นใจ คุณค่าในตัวเอง และรู้สึกไม่มีค่าต่อองค์กรในที่สุด

โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารจิตวิทยาประยุกต์ ปี 2015 ระบุว่าการโดน Love Bombing เกิดขึ้นได้จากเพื่อนร่วมงานรุ่นราวคราวเดียวกัน รวมถึงจากรุ่นพี่และหัวหน้าด้วย แต่วัฒนธรรมเคารพผู้อาวุโสในที่ทำงานทำให้เรารู้สึกตัวได้ยากกว่า พนักงานหลายคนที่หลงเข้ามาในองค์กรด้วย Love Bombing จึงต้องจมอยู่กับความรู้สึกถูกด้อยค่าเป็นเวลานานโดยไม่รู้ตัว

ในขณะเดียวกัน บทความใน Harvard Business Review ปี 2022 บอกว่าคนวัยทำงานใช้เวลาหนึ่งในสามของชีวิตไปกับสังคมที่ทำงาน ซึ่งก็หมายความว่า หากเราต้องทนอยู่กับคำพูดชมเชยแบบฉาบฉวยจากคนในองค์กรที่จ้องจะหาผลประโยชน์ จนรู้สึกว่าตัวเองถูกควบคุม บงการ และด้อยค่า มันก็จะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเราเอง เพราะองค์กรที่เป็นพิษเช่นนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้ามากถึง 3 เท่า

Advertisements
Advertisements

เปิดคู่มือจัดการกับเพื่อนร่วมงานที่ชอบ Love Bomb

ในช่วงหางานอาจเป็นเวลาที่ยากลำบากสำหรับใครหลายคน การตอบกลับจากบริษัทเพียงแค่ที่เดียวก็อาจต่อความหวังของผู้สมัครงานได้ แต่อย่างไรก็ต้องศึกษาองค์กรนั้นๆ ให้ถี่ถ้วนเสียก่อน โดยเฉพาะเรื่องค่านิยม หรือสิ่งที่องค์กรและพนักงานในบริษัทนั้นๆ ให้ความสำคัญ แล้วพิจารณาว่าตัวเราเองมีค่านิยมหรือเป้าหมายสอดคล้องกับบริษัทนั้นไหม

เมื่อได้เข้าทำงานไปแล้ว เราต้องฝึกอ่านบรรยากาศรอบข้างให้แตก แยกให้ออกระหว่าง “มีอิทธิพล” กับ “บงการ” เพราะทั้งสองคำคล้ายคลึงกันก็จริงแต่มีความหมายและน้ำเสียงต่างกันมาก การมี “อิทธิพล” เป็นคำที่มีความหมายกลางๆ หมายถึง ความสามารถที่เหนือกว่าของใครสักคน ซึ่งส่งผลต่ออีกคนและสามารถใช้ความเหนือกว่านั้นโน้มน้าวบุคคลอื่น

ในขณะที่การ “บงการ” เป็นคำที่มีความหมายเชิงลบ หมายถึง ใช้กลวิธีทางจิตวิทยาและใช้ประโยชน์จากอารมณ์ของอีกฝ่าย มาเปลี่ยนพฤติกรรมและการรับรู้ในทางที่ผิด หรือบิดเบือนออกไป

หากเราถูก Love Bomb แต่ตรวจจับได้เร็ว ก็จะทำให้เตรียมหาทางเลือกใหม่ได้ทันท่วงที เช่น หาบริษัทใหม่ งานใหม่ หรือปูทางสำหรับการก้าวหน้าไปสู่สังคมใหม่ๆ แต่ในระหว่างนั้นก็ต้องอดทนรับมือกับคำป้อยออย่างมีสติที่สุดเสียก่อน ด้วยการตอบสนองต่อคำอวยเกินจริงด้วยท่าทีตอบรับแบบกลางๆ ไม่ตื่นเต้นไปกับคำหวานเหล่านั้น

อีกวิธีหนึ่งที่ช่วยได้ดี ในกรณีที่องค์กร Toxic มากๆ คือ “การขีดเส้น” ให้ชัดเจนไปเลยว่าเราจะติดต่อ พูดคุยกันแค่เรื่องงาน และร่วมมือกันแค่เรื่องงานเท่านั้น แยกเรื่องงานออกจากเรื่องส่วนตัวอย่างเด็ดขาดชัดเจน และไม่ยอมให้ใครมาก้าวก่ายพื้นที่ส่วนตัวของเรา

และอย่าลืมฝึกวิชา “สลัดออก” ด้วยวิธีที่มีชั้นเชิง เช่น ตอนที่เพื่อนร่วมงานเริ่มมีพฤติกรรม Love Bombing หรือแสดงความ Toxic ออกมาด้วยการเห็นด้วย แล้วพยายามเบี่ยงประเด็นอย่างเนียนๆ เช่น “จริงสินะ แล้วเรื่องนั้นล่ะ” หรือ “ก็จริงนะ แล้วเรื่องนี้ล่ะ” เป็นต้น

วิธีเหล่านี้ถือเป็นวิธีที่ตั้งรับและป้องกันตัวเราจากการถูก Love Bombing ได้ดี แต่หากเรารู้ตัวว่ามีสัญญาณ Toxic จากเพื่อนร่วมงานหรือองค์กรได้เร็ว ทางที่ดีก็ควรหาลู่ทางใหม่ที่จะเป็นแผนสองให้ชีวิต อย่ายึดติดกับความรู้สึกเป็นหนี้บุญคุณที่ได้รับโอกาสดีๆ จากบริษัท และสับเท้าเดินออกมาจากสภาพแวดล้อมที่จะส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตของเรา

บริษัทที่ดีคือบริษัทที่ชื่นชมและยอมรับความสามารถของพนักงาน รวมถึงให้พื้นที่ในการพัฒนาทักษะ โดยไม่มีการให้ความหวังหรือล่อลวงกันด้วยถ้อยคำสวยหรูให้มาเสียความรู้สึกกันทีหลัง โดยเฉพาะบริษัทที่จั่วหัวว่า “เราอยู่กันแบบครอบครัว” หรือ “เราอยู่กันเหมือนพี่น้อง”

หากองค์กรที่เราอยู่เป็นที่ที่พร้อมจะผลักดันศักยภาพของพนักงานและมีสภาพแวดล้อมที่ดีกับชีวิตในที่ทำงานของเราจริงๆ เราก็จะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญขององค์กรและพัฒนาความสามารถต่อไป จนกลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของบริษัทได้ โดยไม่จำเป็นต้องสนใจถ้อยคำเยินยอที่เกินจริงเลยแม้แต่คำเดียว

อ้างอิง
– ‘Love Bombing’ Happens In The Workplace, Too — It’s Just Harder To Spot : Sukriti Wahi, Refinery29 – https://bit.ly/46TRNUN
– Work ‘love bombing’: When companies come on too strong : Leah Carroll, BBC – https://bit.ly/3pYj8EH

#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า