ย้อนหลังกลับไปไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เราคงได้เห็นข่าวของพนักงานชั้นผู้น้อยออกมาโพสต์ข้อความระบายความในใจเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน หรือปัญหาระหว่างตัวเองกับหัวหน้าที่ทำงาน บางครั้งก็เป็นคลิปวิดีโอล้อเลียนความในใจที่อัดอั้นของพนักงานออฟฟิศกับความท็อกซิกในที่ทำงานให้เห็นอยู่บ่อยๆ
ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า ‘Loud Quitting’ คือการที่พนักงานไม่พอใจกับปัญหาในองค์กร หรือผลตอบแทนที่ได้จากการทำงานมากถึงขั้นอยากลาออก และก่อนไปก็จะต้อง ‘โพสต์’ เล่าเรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นให้เป็นที่รับรู้ก่อนออกอย่างไม่เสียดายด้วย
แม้ว่าตัวเลขจากการสำรวจของ Gallup ปี 2023 จะระบุว่า 18% ของพนักงานทั่วโลกเป็น Loud Quitters จะดูเป็นตัวเลขที่ไม่สูงมากนัก แต่ปรากฏการณ์ซึ่งตรงข้ามกับกระแสที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานอย่าง Quiet Quitting โดยสิ้นเชิงนี้สร้างผลกระทบให้กับองค์กร ผู้นำและเพื่อนร่วมงานได้มากกว่า Quiet Quitting เสียอีก เพราะปัญหาภายในขององค์กรจะถูกตีแผ่สู่สาธารณะอย่างรวดเร็ว และคนบนโซเชียลมีเดียก็จะรับรู้เรื่องราวภายในของบริษัท หรือภายในทีมกันหมด จึงยากที่องค์กรจะแก้ไขสถานการณ์ให้ทันกระแสของโซเชียล
สาเหตุของปรากฏการณ์ Loud Quitting เกิดการที่พนักงานรู้สึกถึงความไม่เป็นธรรม ความขัดแย้งในที่ทำงาน รวมถึงการที่บริษัทไม่สามารถให้ผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความต้องการของพนักงานได้ จึงเลือกที่จะลาออกพร้อมกับบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นให้โลกโซเชียลได้รับรู้ โดยกระแสหลังจากโพสต์ออกไปก็หลากหลายแล้วแต่สถานการณ์ แต่ผลกระทบกลับไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับองค์กร พนักงานที่ลาออก หรือคนที่เป็นคู่กรณีเพียงเท่านั้น
จากการสำรวจของ Gallup จิม ฮาร์เทอร์ นักวิจัยของ Gallup กล่าวว่า Loud Quitters จะไม่พอใจและพูดถึงแต่ปัญหาและแง่มุมด้านลบที่ตนเองเจอ ซึ่งถือเป็นการขัดขวางการไปสู่เป้าหมายขององค์กร สามารถทำลายองค์กรได้ทั้งจากภายในและภายนอก เนื่องจากการเปิดเผยปัญหาภายในขององค์กรส่งผลกระทบกับความไว้วางใจที่พนักงานคนอื่นมีต่อหัวหน้า รวมถึงภาพลักษณ์ของหัวหน้าและผู้นำองค์กรที่ต้องเผชิญจากกระแสในโซเชียล
ยิ่งไปกว่านั้น การสำรวจของ Gallup เผยว่า 51% ของพนักงานทั่วโลกเป็นกลุ่ม Quiet Quittres ที่ยังไม่อยากลาออก แต่ก็ทำงานโดยมองหางานใหม่ไปพร้อมๆ กัน เมื่อรวมกับ Loud Quitters อีก 18% แล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ไม่น้อยสำหรับองค์กร เพื่อไม่ให้ปรากฏการณ์ Loud Quitting กลายเป็นตัวจุดระเบิด ผู้นำจึงต้องส่งเสริมวัฒนธรรมการสื่อสารอย่างเปิดเผย และการให้ฟีดแบ็กซึ่งกันและกันในองค์กร ให้ความสำคัญกับเสียงเล็กๆ ของพนักงานชั้นผู้น้อยให้มากยิ่งขึ้น ขจัดอุปสรรคต่างๆ ให้พนักงาน รวมถึงสร้างคุณค่าให้กับพนักงานก่อนจะสายเกินไป
ไม่ว่าใครก็ล้วนแล้วแต่มีคุณค่าที่ตัวเองให้ความสำคัญด้วยกันทั้งนั้น ผู้นำองค์กรจึงไม่เพียงแต่ต้องปรับตัวให้เข้ากับกระแสของโลกและความต้องการของลูกค้าเท่านั้น ทว่ายังต้องปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของพนักงานในองค์กรตัวเองด้วย
อ้างอิง
– After Quiet Quitting, “Loud Quitting” Is The New Workplace Trend : Anoushka Sharma, NDTV World – https://bit.ly/3Rl7gYF
– Frustrated employees are ‘loud quitting’: What to know about the trend : Katie Kindelan, GMA – https://gma.abc/3rmSNRe
#trend
#worklife
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast