งานดี เงินเดือนโอเค เพื่อนร่วมงานช่วยเหลือกัน
แต่ชีวิตสะดุด เพราะเจอกำแพงปัญหาที่ใหญ่ที่สุดอย่าง “หัวหน้า Toxic”
การเจอหัวหน้างานที่ร้ายๆ และไม่สามารถทำงานร่วมกันได้จนต้องแยกทางนั้น แทบจะเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดในชีวิตการทำงานของคนทั่วไป หลายครั้งที่คนไม่ได้เครียดเพราะเนื้องาน แต่เครียดเพราะต้องรับมือกับหัวหน้า จนเสียพลังในการทำงานและการใช้ชีวิตไปจนหมด
การรับมือกับ “หัวหน้าจอมท็อกซิก” เป็นเรื่องที่มีหนังสือและบทความสอนมากมาย แต่แท้จริงแล้ว เราไม่ได้ต้องการที่จะพบกับหัวหน้าที่เปลี่ยนจากซูเปอร์ฮีโร่ตอนสัมภาษณ์ ไปเป็นจอมท็อกซิกตั้งแต่แรก การจับความ “ท็อกซิก” จึงเป็นศิลปะในการทำงานที่เราควรรู้ให้ทันเพื่อที่จะได้ระวังตัว ระวังใจ หรือถึงขั้น “หนีไปให้ไกล” ก่อนที่จะอยู่ในจุดที่ไม่อยากเจอ
ตามงานวิจัย The Real Self: From Institution to Impulse ของ Ralph H. Turner ที่ถูกตีพิมพ์ผ่าน American Journal of Sociology พบว่ามนุษย์คนหนึ่งจะกล้าแสดงตัวตนที่แท้จริง ก็ต่อเมื่อเขาอยู่ภายใต้ความกดดัน หรือแรงกระตุ้น จึงสามารถกล่าวได้ว่าเราจะเห็นตัวตนที่แท้จริง หรือเห็นว่ามนุษย์คนนั้นเป็นคน “ท็อกซิก” หรือไม่ ก็ต่อเมื่อได้อยู่ร่วมกับเขาในสถานการณ์ที่มีแรงกระตุ้น อย่างการทำงานนั่นเอง
โดยอดีต Recruiter ของ Google ที่ผ่านการทำงานกับหัวหน้าจอมท็อกซิกมานับไม่ถ้วน ได้สรุป 7 พฤติกรรมที่เรียกว่า “สัญญาณท็อกซิก” ที่หัวหน้าแสนร้ายมักจะใช้ และทำให้ลูกน้องไม่สบายใจที่จะร่วมงานด้วย
หากเราทำงานกับหัวหน้าคนนี้มาสักระยะหนึ่ง
อะไรที่เป็นสัญญาณของการเป็นหัวหน้าที่แสนร้าย?
อะไรที่เป็นสัญญาณของความอันตราย ที่เราควรจะปักธงและจับตามองเอาไว้?
1. ขอฟีดแบ็กคุณ แต่ไม่เปิดโอกาสให้คุณฟีดแบ็กกลับ
หากพนักงานถูกคาดหวังให้เปิดรับความคิดเห็นที่ตรงไปตรงมาจากหัวหน้า หัวหน้าก็ควรรับฟังความคิดเห็นจากพนักงานเช่นกัน
หัวหน้าที่ไม่เต็มใจรับฟีดแบ็กจากลูกน้อง บอกปัดไปมา หรือผัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าเขาไม่เปิดรับ และไม่เคารพความคิดเห็นของคุณ ยิ่งไปกว่านั้น เขาอาจจะมองว่าความคิดเห็นของลูกน้องไม่ใช่สิ่งที่ควรใส่ใจ
2. ให้ความสำคัญกับคุณทุกเรื่องแต่ไม่ชัดเจนสักเรื่อง
[ ] เขามอบหมายงานสำคัญให้คุณเสมอ แต่กลับไม่มีความชัดเจนว่าคุณจะได้รับการเลื่อนขั้น[ ] งานล้น งานหนัก แต่ไม่มีวี่แววว่าหัวหน้าจะหาคนมาช่วยแบ่งงาน
[ ] ให้ทำงานนอกเวลา แต่ไม่อนุมัติโอที
กระบวนการทำงานที่ล่าช้าสามารถเกิดขึ้นได้เสมอ แต่สิ่งที่พนักงานต้องการมีเพียง “ความชัดเจน” หากหัวหน้าของคุณพยายามพูดหว่านล้อมว่าคุณสำคัญกับเขามาก เพื่อให้คุณตั้งใจทำงานให้เขา แต่กลับไม่แสดงความชัดเจนในเรื่องการแก้ไขปัญหาหรือเรื่องผลประโยชน์ ก็ขอฟันธงก่อนเลยว่าคุณกำลังเจอกับ “จอมท็อกซิก” เข้าแล้ว
3. ปิดบังข้อมูลสำคัญที่คุณต้องการ
ในการทำงาน เราเสมือนถูกมอบหมายให้ต้องสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ผ่านการสื่อสารที่โปร่งใสและชัดเจน แต่ถ้าหากหัวหน้าของคุณปิดบังข้อมูลบางส่วนที่คุณต้องการ ไม่ยอมส่งข้อมูลนั้นให้กับคุณ คุณจะเชื่อมั่นและมีความสัมพันธ์ที่ดีในตัวเขาได้อย่างไร?
หัวหน้าที่ทำพฤติกรรมประเภทนี้มักจะพยายามเก็บข้อมูลทั้งหมดไว้ที่ตัวเอง และให้ลูกน้องทำงาน “เท่าที่รู้” ซึ่งส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการทำงานได้ง่าย หากเราทำงานอยู่บนความไม่แน่นอนเหล่านี้ ก็เหมือนกับว่าเรากำลังทำงานทั้งๆ ที่ตาบอดนั่นเอง
4. “เรื่องขึ้นเงินเดือนเดี๋ยวค่อยว่ากันนะ”
หากเงินเดือนของเราไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่ากับคุณค่าที่เราเพิ่ม หรือเงินเดือนของเราต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด ให้ลองคิดใหม่อีกครั้งว่าเราจะยังทุ่มเทการทำงานให้กับที่นี่ต่อไปหรือไม่ ซึ่งอีกหนึ่ง Red Flag ของความท็อกซิกคือการที่หัวหน้าพยายามเลื่อนการประเมินขึ้นเงินเดือนของคุณออกไปเรื่อยๆ โดยไม่มีที่สิ้นสุด
หากคุณกำลังเจอเหตุการณ์แบบนี้ ให้ลองพูดคุยกับเพื่อนร่วมงานว่ากำลังอยู่ในสถานการณ์เดียวกันหรือไม่ และพยายามทำให้การประเมินเพื่อขึ้นเงินเดือนเกิดขึ้นให้ได้ (ในกรณีที่คุณตัดสินใจว่าจะยังอยู่)
5. กดดันผู้สัมภาษณ์ให้โกหกผู้สมัครงาน
“อย่าเพิ่งบอกแคนดิเดตนะ ว่าต้องทำงานนี้”
“น้อง A ช่วยไปเขียนสวัสดิการบริษัทแบบปังๆ หน่อย”
หากคุณเป็นพนักงานในบริษัทที่กำลังถูกหัวหน้ากดดันให้ไม่เปิดเผยข้อมูลบางส่วน หรือจงใจให้บิดเบือนข้อมูลของบริษัทบางส่วนเพื่อดึงดูดผู้สมัคร ไม่ว่าจะเป็นเวลาการทำงาน ขั้นตอนในการทำงาน หรือสวัสดิการ นั่นหมายความว่าบริษัทกำลังพยายามขายฝันให้กับผู้สมัครอยู่ การจงใจบิดเบือนแบบนี้จะเป็นการละเมิดค่านิยมส่วนบุคคลของพนักงานในระยะยาว และยังเป็นการทำลายชื่อเสียงของเรา ในกรณีที่เราเป็นส่วนหนึ่งในการบิดเบือนได้อีกด้วย
6. ไม่เคารพเวลาส่วนตัวของคุณ
“พี่โทรหาตั้งแต่เมื่อวานตอน 5 ทุ่ม ทำไมไม่รับสายพี่เลย?”
การเต็มที่กับการทำงานช่วยให้เราเติบโตและเข้าใกล้เป้าหมายได้เร็วขึ้น แต่ก็ไม่ควรแลกการทำงานที่หนักจนเกินไปกับการมีชีวิตที่สมดุล
หากหัวหน้าของคุณพูดประโยคนี้ แสดงออกถึงการไม่ให้ความสำคัญกับชีวิตส่วนตัวของคุณ ซึ่งวัฒนธรรมของที่ทำงานที่ต้องติดต่อได้ตลอดเวลา มีความเร่งด่วนนอกเวลางานบ่อยครั้ง หรือไม่เคารพเวลานอกงานของคุณ นั่นหมายความว่าคุณกำลังอยู่ท่ามกลางความท็อกซิกเข้าแล้ว
7. ยอมรับไม่ได้หากคุณพยายามผ่อนคลายระหว่างเวลางาน
การทำงานที่กำลังเข้มข้น หรือใกล้เดดไลน์ ก็เป็นเรื่องปกติที่เราต้องนั่งทำงานด้วยใจที่จดจ่อเป็นพิเศษ แต่ตามหลักการแล้ว เราควรที่จะมีเวลาที่ได้ผ่อนคลาย ทำงานให้ช้าลงบ้าง หรือหันไปพูดคุย กินขนมกับเพื่อนร่วมงานบ้าง
แต่หัวหน้าจอมท็อกซิกจะยอมรับไม่ได้ และรู้สึกหงุดหงิดขึ้นมาทันทีหากคุณกำลังผ่อนคลายและลุกออกจากโต๊ะทำงาน สิ่งที่ตามมาจึงมักจะเป็นประโยคอย่าง “งานเสร็จแล้วเหรอ” “อู้งานแบบนี้ไม่ควรเลิกงานตรงเวลานะ”
หากคุณเจอหัวหน้าที่ทำพฤติกรรมประเภทนี้ ให้รู้ไว้ว่าเขากำลังพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว ซึ่งไม่ใช่สภาพแวดล้อมที่ดี เพราะมนุษย์ควรได้รับความภาคภูมิใจและความสุขในการทำงานมากกว่าความกลัวและความตึงเครียด
นอกจาก “หนีไปให้ไกล” แล้วมีอะไรที่เราสามารถทำได้อีก
แน่นอนว่าวิธีแก้ที่ดีที่สุดและจบปัญหากับหัวหน้าจอมท็อกซิกได้เร็วที่สุดคือ การลาออก แต่ข่าวร้ายคือมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตตที่พบว่า จอมท็อกซิกเป็นกลุ่มที่ได้รับการเลื่อนขั้นให้อยู่ในระดับหัวหน้าเยอะที่สุด และผลลัพธ์นี้เพิ่มความมั่นใจให้กับความท็อกซิกของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ นั่นแปลว่า โอกาสในการพบกับหัวหน้าจอมท็อกซิกของเราก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ดังนั้น ถ้าหากเราอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถลาออกได้ เราจะสามารถรับมือกับหัวหน้าจอมท็อกซิกเหล่านี้ได้อย่างไรบ้าง ?
การรับมือกับหัวหน้าจอมท็อกซิก (ที่นอกเหนือจากการ “หนีไปให้ไกล”) นั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ยากต่อการควบคุมไปทั้งหมด โดยมีวิธีสั้นๆ ที่สรุปมาทั้งหมด 5 ข้อด้วยกัน
[ ] กำหนดขอบเขตความสัมพันธ์ อย่าสนิทหรือเป็นผู้ตามมากเกินไป
[ ] จดบันทึกสถานการณ์ หรือประโยคที่เป็นการละเมิดไว้
[ ] สร้างความสัมพันธ์ในทีมให้แข็งแรง และช่วยเหลือกันเสมอ
[ ] อย่าใช้อารมณ์ อย่าเล่นตามสิ่งที่หัวหน้าจอมท็อกซิกสร้างขึ้น
[ ] พูดคุยกับหัวหน้าอย่างจริงจัง โดยใช้บันทึกจากข้อ 2 เป็นข้อมูลอ้างอิง
ทุกวันนี้หลายคนใช้เวลาไปกับการทำงานมากกว่าเวลาส่วนตัว การอยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษจึงบั่นทอนกำลังของเราได้มากกว่าที่คิด สิ่งสำคัญที่ทำให้เราสามารถรับมือกับ “หัวหน้าจอมท็อกซิก” ได้นอกเหนือจาก 5 วิธีข้างต้นนั้น จึงเป็นการเตรียมพร้อมจิตใจให้แข็งแรง นอนหลับให้พอ ลดความเครียดลงบ้าง เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาในที่ทำงานได้อย่างมีคุณภาพ
แต่สุดท้ายแล้ว หากวิธีเหล่านี้มันยากกับใจเกินไป การ “หนีไปให้ไกล” ก็เป็นอีกวิธีที่คุณสามารถทำได้ และไม่ได้ดูเป็นผู้แพ้แต่อย่างใด
อย่าลืมว่าเรามีสิทธิ์เลือกที่ทำงาน เลือกหัวหน้า เลือกสภาพแวดล้อมที่ดีและส่งเสริมการทำงานให้มีประสิทธิภาพได้เสมอ เพราะต้นไม้ไม่สามารถเติบโตในกระถางที่ดินแห้ง วัชพืชเยอะ หรือได้รับปุ๋ยผิดประเภท การย้ายที่ทำงานจึงเป็นเพียงแค่การแยกย้ายไปเติบโตในกระถางใหม่ ที่มีดิน มีปุ๋ย มีน้ำที่เหมาะสมกว่าก็เท่านั้นเอง
อ้างอิง
– Former Google recruiter shares 7 toxic phrases bosses use that are ‘major red flags’ : Nolan Church, CNBC – https://cnb.cx/3PKVKo6
– The Real Self: From Institution to Impulse : Ralph H. Turner, American Journal of Sociology – https://bit.ly/3PO3khO
– How To Deal With Toxic Leadership [6 Key Tactics] : David Burkus – https://bit.ly/456lorQ
#worklife
#psychology
#toxicleaders
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast