ทำไม “อุตสาหกรรมศิลปะไทย” ไม่ไปไหนสักที?

11826

ทำไม “อุตสาหกรรมศิลปะไทย” ไม่ไปไหนสักที? | รูปภาพจาก Number 24 x Shutterstock Thailand

“ศิลปะ” นอกจากจะมีความสำคัญในแง่คุณค่าทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นเครื่องมือสร้างกำไรให้กับนักลงทุนมากมายทั่วโลก ผ่านการประมูล ซื้อขาย ส่งต่อ เปลี่ยนมือ ซึ่งนับวันมูลค่าของงานศิลปะเหล่านี้ก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

ประเทศไทยเองก็เป็นประเทศที่ศิลปะมีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แต่กลับไม่ได้รับการสนับสนุนในฐานะของ “อาชีพ” หรือ “ธุรกิจ” อย่างจริงจัง ทั้งที่อาชีพหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับวงการศิลปะก็สามารถสร้างรายได้เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ

แล้วอะไรทำให้ “อุตสาหกรรมศิลปะไทย” ถึงไปไม่ถึงไหนสักที? 

Advertisements

1. สภาพสังคมที่ไม่สนับสนุนการสร้างคุณค่าของ “ศิลปะ และศิลปิน”

ตั้งแต่อดีตมาจนถึงตอนนี้ ประเทศไทยไม่เคยหลุดพ้นจากปัญหาความเหลื่อมล้ำได้เลย ประชาชนที่ออกมาจากระบบการศึกษาก็มุ่งไปสู่สายงานที่ตอบโจทย์ความต้องการในตลาด เพื่อพยายามสร้างความมั่นคงในชีวิต แทนที่จะหันไปทำอาชีพทางเลือก งานสายศิลปะจึงไม่เป็นที่นิยม และไม่มี Value เท่าที่ควร

2. ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศยังมีปัญหาเรื่องปากท้อง ไม่มีเวลามาชื่นชมสิ่งจรรโลงใจ

ประชาชนในประเทศส่วนใหญ่เป็นชนชั้นแรงงาน และชนชั้นกลาง ที่ยังต้องทำงานหนัก หาเช้ากินค่ำ การแบ่งเวลาไปใช้กับการเสพงานศิลป์คงไม่คุ้มค่ามากนัก เมื่อต้องแลกกับเวลาพักผ่อนอันน้อยนิด หรือเงินรายวันที่ต้องเสียไป

3. ทัศนคติของคนในประเทศที่ลดทอนคุณค่าของงานศิลปะโดยไม่รู้ตัว

อีกเหตุผลที่ทำให้อุตสาหกรรมศิลปะไทยไปไหนไม่ได้ไกล ก็มาจากทัศนคติของใครหลายคน ที่ยังมองว่างานศิลปะเป็น “งานฟรี” ซึ่งความคิดแบบนี้ยิ่งไปลดคุณค่าของงานศิลปะให้น้อยลงไปอีก

อย่างในประเทศเพื่อนบ้านของไทย ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม ลาว พม่า หรือกัมพูชา ศิลปินมีงานมูลค่าหลักสิบล้าน แต่บ้านเรายังอยู่ที่หลักแสน หรือล้านต้นๆ เป็นเพราะเรทราคามักตั้งขึ้นตามความพอใจของคนขายและคนซื้อ ต่างจากประเทศอื่นๆ ที่มีการกำหนดมาตรฐานราคางาน ตามคุณภาพและความนิยมของศิลปิน

4. ระบบการจัดการศิลปะยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

ระบบของจัดการศิลปะในประเทศ ถือว่ายังไม่ดีพอเมื่อเทียบกับระดับสากล ปัจจุบัน แกลลอรี่ในไทย ยังเป็นแค่พื้นที่ฝากขายงานศิลปะของกลุ่มเอกชน ไม่ได้มีระบบจัดการที่ดีเพื่อเกื้อหนุนให้วงการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ในขณะที่อุตสาหกรรมศิลปะในระดับสากล จะมีการทำงานประสานกันระหว่าง Gallery, Dealer และ Agency อย่างเป็นระบบไม่มีการแยกจากกัน ซึ่งถือเป็นการวางรากฐานให้วงการศิลปะแข็งแรงมากขึ้น

Advertisements

แล้วอุตสาหกรรมศิลปะไทย จะก้าวไกลสู่ระดับโลกได้หรือไม่?

คำตอบในตอนนี้ คือค่อนข้างยาก ระหว่างที่อุตสาหกรรมศิลปะไทยยังคงย่ำอยู่กับที่ ประเทศอื่นๆ ต่างพยายามนำจุดแข็งด้านนี้มาสร้างรายได้เข้าประเทศ เช่น การเข้าร่วมกับตลาดศิลปะโลก (The global art market) เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างเม็ดเงินจากงานศิลปะ

ซึ่งมูลค่าตลาดศิลปะโลกนี้ ก็มีการเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา 

ปี 2016 มีมูลค่า 56.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ปี 2017 มีมูลค่า 63.74 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 

ปี 2018 มีมูลค่า 67.38 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

สำหรับภูมิภาคที่มีการซื้อขายในตลาดศิลปะโลกมากที่สุด คือ อเมริกาเหนือ มีสัดส่วนเป็น 36% รองลงมาคือ ทวีปยุโรป 23% และเอเชีย อยู่ที่ 21%

ความแข็งแกร่งของระบบศิลปะในต่างประเทศ เป็นสิ่งดึงดูดให้นักลงทุนหลายคนเริ่มหันมาลงทุนกับงานศิลปะแทนการซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือทรัพย์สินมีค่าต่างๆ เพราะตลาดศิลปะมีอิสระ มีสภาพคล่อง และมีศักยภาพสูง หากเลือกถูก และศึกษาอย่างดีก็มีโอกาสสร้างกำไรได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว

แต่ปัญหาที่วงการอุตสาหกรรมศิลปะไทย และทั่วโลกต้องเจอ คือสิทธิ์ในการเป็นเจ้าของงานศิลปะมักจำกัดไว้เฉพาะกลุ่มคนที่เงิน นักลงทุนรายย่อย คนทั่วๆ ไปแทบจะไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดได้ ยกตัวอย่างภาพ Salvator Mundi ของ Leonardo da Vinci ที่ถูกประมูลไปในราคา 450.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณครึ่งหนึ่งของ GDP ประเทศแกมเบีย ความจริงแล้ว ก็คงมีไม่กี่คนในโลกที่จะมีทรัพย์สินครึ่งหนึ่งของ GDP ของประเทศใดประเทศหนึ่ง

หากต้องการลดช่องว่างในการเข้าถึงงานศิลปะ ก็ต้องสร้างบรรทัดฐานใหม่ เพิ่มมูลค่าให้กับงานของนักวาดรุ่นใหม่ แทนที่จะเก็บสะสมเฉพาะงานศิลปินรุ่นเก่า สร้างระบบการซื้อขายงานศิลปะอย่างเปิดเผย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนมือแล้วราคาจะไม่ตกลง ศิลปินก็มีรายได้ นักสะสมเองก็ได้เก็บสะสมของที่ชอบ รวมถึงนักลงทุนก็จะได้ผลกำไรที่น่าพอใจ

การสร้างระบบแบบนี้ นอกจากเป็นการสร้าง Value ให้ผลงาน และสร้างพื้นที่ให้ศิลปินหน้าใหม่มีชื่อเสียง นี่ยังถือว่าเป็นโอกาสครั้งใหญ่ที่จะปฏิวัติวาทกรรม “งานศิลปะ เป็นเรื่องของคนชั้นสูง” ได้อีกด้วย

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่