PODCASTMISSION TO THE MOONสงครามภายในของบริษัทยักษ์ใหญ่ เมื่อผู้บริหาร ‘บังคับ’ ให้พนักงาน กลับมาทำงานที่ออฟฟิศ

สงครามภายในของบริษัทยักษ์ใหญ่ เมื่อผู้บริหาร ‘บังคับ’ ให้พนักงาน กลับมาทำงานที่ออฟฟิศ

ตั้งแต่เกิด ‘วิถีชีวิตแบบปกติใหม่’ (New normal) ขึ้นมา บริษัทมากมายก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับการทำงานนอกบริษัทหรือการทำงานแบบเคลื่อนที่ จนปัจจุบันพนักงานเคยชินกับการทำงานที่บ้าน (Work from home) หรือการทำงานที่ไหนก็ได้ (Work from anywhere) เพราะมองว่าวิถีการทำงานแบบนี้เป็นอิสระ ยืดหยุ่น และช่วยให้จัดการสมดุลชีวิตได้ดีกว่า

ทว่าท่ามกลางการปรับตัวนี้ก็ยังคงมีบางบริษัทที่ยืนกรานว่า “ไม่นับการทำงานที่ไหนก็ได้เป็นการทำงาน” และบังคับใช้การทำงานแบบดั้งเดิมคือเข้าออฟฟิศทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ เริ่มงาน 9 โมงเช้า ออกงาน 5 โมงเย็นเหมือนเดิม ขณะเดียวกันหลังจากหลายปีของการปรับตัวก็มีผู้บริหารจากหลายบริษัทที่เริ่มตระหนักถึงข้อเสียของการทำงานที่ไหนก็ได้ที่ส่งผลต่อบริษัท

บริษัทยักษ์ใหญ่จำนวนมากอย่าง Apple และ X (Twitter) ก็เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เริ่มหันมาใช้มาตรการเข้มงวดในการบังคับให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศ ยกตัวอย่างเช่น Apple มีการขู่ว่าจะดำเนินการกับพนักงานที่ไม่ยอมกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศอย่างน้อยสามวันต่อสัปดาห์

เช่นเดียวกันกับ X (Twitter) หลังจาก Elon Musk ซีอีโอคนใหม่ขึ้นรับตำแหน่งและเคลียร์ดราม่ามากมายเกี่ยวกับตัวเขาเองแล้ว เขาก็ส่งอีเมลให้พนักงานในเวลา 02.30 น. ว่า “ออฟฟิศไม่ใช่ทางเลือก” หลังจากที่พบว่าออฟฟิศสำนักงานใหญ่ในซานฟรานซิสโกกว่าครึ่งไม่มีคนใช้

การเคลื่อนไหวของผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่ก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากพนักงานจำนวนมาก อย่าง Amazon ก็ปฏิเสธคำร้องเรียนของพนักงานที่รวมกันแล้วกว่า 30,000 คนหลังจากประกาศนโยบายกลับมาทำงานออฟฟิศ Walz Disney Co. ก็ประสบกับเสียงคัดค้านของพนักงานหลังประกาศให้กลับมาทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ พนักงาน Starbucks เองก็เขียนจดหมายเปิดผนึกแสดงความไม่เห็นด้วยลงโซเชียลมีเดียเพื่อเป็นการประท้วง

ทำไมผู้บริหารถึงอยากให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ?

ในมุมของคนทำงานแล้วการทำงานที่บ้านหรือการทำงานที่ไหนก็ได้ช่วยให้จัดสรรเวลาได้ดีกว่าเดิมและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้เป็นอย่างดี แต่นั่นก็เป็นเพียงความเห็นของคนที่ทำงานในส่วนย่อยเท่านั้น แต่สำหรับคนที่ทำงานภาพรวมอย่างผู้บริหารอาจจะมีมุมมองที่ต่างกัน

1. ผลิตภาพ (Productivity)

แม้ความคิดเห็นของพนักงานที่กล่าวว่ารู้สึกทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและตัวเลขสถิติในปีแรกๆ ของการเปลี่ยนวิถีการทำงานจะออกมาในทางเดียวกัน แต่ไม่นานมานี้ตัวเลขสถิตินั้นกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัดติดต่อกันกว่า 5 ไตรมาสเมื่อคิดเป็นรายปี นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยพบมาตั้งแต่ปี 1948

นอกจากนี้ Jake Wood ผู้บริหารของบริษัทการกุศลอย่าง Groundswell ยังกล่าวอีกว่า ประสิทธิภาพการทำงานไม่ใช่เรื่องของคนคนเดียว แต่หมายถึงการสนับสนุนความพยายามและเพิ่มผลลัพธ์การทำงานของเพื่อนร่วมงานด้วย “พนักงานชั้นนำจะช่วยยกระดับผลงานของคนรอบข้าง” แต่สิ่งนี้จะไม่เกิดขึ้นหากแยกย้ายกันทำงานคนละที่

2. การทำงานร่วมกัน (Collaboration)

แม้แต่ฝั่งที่สนับสนุนการทำงานทางไกลก็ยังต้องยอมรับว่าการทำงานจากบ้านหรือจากที่ไหนก็ได้ทำให้มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานน้อยลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็นการพบปะแบบไม่ทางการหรือเป็นการคุยงานกันอย่างเป็นทางการก็ตาม

ปฏิสัมพันธ์ที่ลดลงนี้นำไปสู่โอกาสในการเรียนรู้งานที่ลดลง และแลกเปลี่ยนไอเดียได้น้อยลง ไม่ใช่จากการประชุมคุยงานอย่างเป็นทางการ แต่รวมถึงจากการพบเจอกันโดยบังเอิญผ่านการเดินขวักไขว่ในออฟฟิศอีกด้วย โดยผลสำรวจจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดพบว่า การทำงานที่ออฟฟิศช่วยให้มีการพบปะที่เสริมสร้างไอเดียและความคิดสร้างสรรค์มากกว่าทำงานระยะไกลกว่า 15-20%

3. วัฒนธรรมองค์กร (Organizational culture)

แม้จะมีผลเพียงเบาบาง แต่วัฒนธรรมองค์กรก็ยังนับว่าเป็นตัวแปรในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในบริษัท ซึ่งวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งจะทำให้พนักงานมีส่วนร่วม อันจะนำไปสู่การสร้างประสิทธิภาพการทำงานและผลิตภาพได้สูงขึ้น

ส่วนหนึ่งเพราะการอยู่ร่วมกันภายในออฟฟิศจะช่วงสร้างความเชื่อใจซึ่งกันและกัน ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ การรับมือกับปัญหา และการใช้เวลาร่วมกัน แต่เมื่อมีการทำงานระยะไกลที่เข้ามาทำลายระบบเหล่านี้ วัฒนธรรมองค์กรจึงกลายเป็นข้ออ้างหลักของผู้บริหารในการดึงตัวพนักงานกลับมาเข้าออฟฟิศ

4. เส้นทางพัฒนาด้านอาชีพ (Career development)

อย่างที่กล่าวไปว่าการทำงานระยะไกลลดโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงานและผู้อาวุโสทางสายงาน แม้ว่าช่วงเริ่มต้นของสายอาชีพการทำงานระยะไกลอาจไม่ได้สร้างความแตกต่างมากนัก แต่เมื่อเวลาผ่านไปสักพักจนพบว่าตนเองไม่ใช่น้องใหม่ในที่ทำงานแล้ว แต่ทักษะและความสามารถยังย่ำอยู่ที่เดิมหรือเพิ่มมาเพียงเล็กน้อย เมื่อนั้นจึงจะเห็นผลกระทบจากการทำงานระยะไกลขึ้นมา

นอกจากนี้การทำงานระยะไกลยังลดโอกาสที่จะถูกมองเห็นความสามารถบางประการ เนื่องจากเป็นความสัมพันธ์แบบสั่งและส่งงานให้กันเพียงเท่านั้น ระหว่างทางเกิดกระบวนการอย่างไร เต็มเปี่ยมด้วยความคิดสร้างสรรค์หรือความพยายามมากแค่ไหนก็ไม่เป็นที่สังเกตเห็น โอกาสในการเลื่อนขั้นหรือเลื่อนตำแหน่งก็ลดน้อยลงตามไปด้วย

แต่ไม่ว่าผู้บริหารจะมีเหตุผลอย่างไร สำหรับพนักงานแล้วการทำงานระยะไกลยังคงมีน้ำหนักมากกว่าเนื่องจากชีวิตของคนหนึ่งคนไม่ได้มีเพียงแค่การทำงานแต่ยังมีชีวิตส่วนตัวที่ยังต้องบริหาร การทำงานระยะไกลจึงเป็นวิธีการที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า

จากผลสำรวจพนักงานกว่า 32,000 คน ในหลากหลายประเทศพบว่า 64% คิดว่าการลาออกหรือมองหางานใหม่อาจจะดีกว่าการกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศ โดยกลุ่มที่มีความเห็นเช่นนี้เป็นอันดับแรกคือกลุ่มเด็กรุ่นใหม่ ช่วงอายุ 18-24 ปี (71%) ถัดมาเป็น 35-44 ปี (61%) และสุดท้ายคือกลุ่ม 45-54 ปี (56%)

นอกจากนี้ยังเกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่าหากผู้บริหารรู้ว่าการทำงานระยะไกลมีช่องโหว่ที่ใด ทำไมไม่รังสรรค์วิธีแก้ปัญหาที่ตอบโจทย์และปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงมากกว่าจะบังคับให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศอีกด้วย

ที่มา
– When Office Return Turns Sour: Apple And Twitter’s Struggles Reveal Fractures In Corporate Culture : Dr. Gleb Tsipursky, Forbes – https://bit.ly/3uusmdv
– 64% of workers would consider quitting if asked to return to the office full-time : Morgan Smith, CNBC Make It – https://cnb.cx/3utU8H4
– Why CEOs Want Employees Back in the Office : Patrick DiDomenico, SHRM – https://bit.ly/46l0rKA

#trend
#remotework
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements
Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า