เนื่องด้วยการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนไปอย่างมาก ไม่ใช่แค่ชีวิตประจำวันทั่วไป แต่ชีวิตการทำงานเองก็ได้รับผลกระทบและเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง หนึ่งในการเปลี่ยนแปลงสำคัญคือ “การทำงานที่บ้าน”
การทำงานที่บ้านเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการทำงานไม่จำเป็นต้องเจอหน้ากันทุกวันเสมอไปและไม่จำเป็นต้องทำงานต่อเนื่อง 8 ชั่วโมงอย่างที่เคยเป็น ความยืดหยุ่นด้านการทำงานที่เกิดขึ้นนี้เองส่งผลให้คนทำงานจำนวนมากหันมาให้ความสำคัญกับ ‘Work-Life Balance’ หรือการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวมากขึ้น
ช่วงไม่กี่ปีมานี้จึงเกิดเป็นแนวคิดการทำงาน 4 วันแล้วหยุด 3 วัน มาแทนที่วิถีการทำงานปกติอย่างการทำงาน 5 วันแล้วหยุด 2 วันนั่นเอง นับเป็นอีกหนึ่งคลื่นใต้น้ำที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้างและบริษัทต่างประเทศจำนวนมากก็เริ่มมีการทดลองนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ โดยเชื่อว่าแนวคิดนี้จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพหรือ ‘Productivity’ ในการทำงานให้พนักงานอย่างเต็มที่
จากผลสำรวจของ Fiverr แหล่งหางานออนไลน์สำหรับฟรีแลนซ์เผย พนักงานกว่า 75% กล่าวว่าพวกเขาสามารถจัดการงานปริมาณเดิมให้เสร็จภายใน 4 วันแทนที่จะเป็น 5 วันอย่างที่เป็นอยู่ โดยเจเนอเรชัน ‘Millenials’ ที่มีสัดส่วนกว่า 35% ของตลาดแรงงานเห็นด้วยและสนับสนุนแนวคิดนี้ถึง 87%
Michal Miller Levi กรรมการฝ่ายการวิจัยตลาดและข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภคจาก Fiverr ได้อธิบายไว้ว่า แนวคิดทำงาน 4 วันนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะพนักงานขี้เกียจ แต่เกิดมาจากการให้คุณค่าการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป
กล่าวคือพนักงานไม่ต้องการถูกประเมินประสิทธิภาพการทำงานจากจำนวนเวลาที่ทำงานในหนึ่งสัปดาห์ หรือจำนวนเวลาที่เข้าออฟฟิศอีกต่อไป แต่ต้องการให้ประเมินด้วยผลลัพธ์จากการทำงานเป็นที่ตั้งมากกว่า โดยผลการสำรวจพบกว่าคนอเมริกากว่า 2 ใน 5 รู้สึก ‘Productive’ มากขึ้นเมื่อไม่ยึดติดกับชั่วโมงทำงานแบบเข้า 9 โมง เลิกงาน 5 โมงอย่างเช่นเคย
แนวคิดนี้ไม่ใช่แค่กระแสที่เข้ามาในความคิดคนทำงานแค่ชั่วคราวแล้วจากไป แต่ส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจและเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานอีกมากมายโดยเฉพาะในหมู่พนักงานรุ่นใหม่ คนทำงานชาวอเมริกันกว่า 22% คาดการณ์ว่าแนวคิดนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานสังคมภายใน 5 ปีข้างหน้า
จากผลสำรวจของ Bankrate พบว่า 92% ของพนักงานรุ่นใหม่ยอมเสียสละสวัสดิการหรือผลตอบแทนอื่นๆ เพื่อแลกกับการได้ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ ยิ่งไปกว่านั้น 1 ใน 3 ของ Generation Z และ Millenials ที่ถูกมองว่าติดใจการทำงานแบบ ‘Remote work’ ยังยอมที่จะเข้าไปทำงานที่ออฟฟิศแบบ 4 วันเต็มแลกกับการมีวันหยุดเพิ่มขึ้นมา 1 วันอีกด้วย
Sarah Foster นักวิเคราะห์จาก Bankrate กล่าวว่า “คนรุ่นใหม่มีชีวิตอยู่ท่ามกลางปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจสำคัญๆ เช่น การระบาดของไวรัสโคโรนา ทำให้เส้นแบ่งระหว่างสถานที่ทำงาน วิธีการทำงาน และจำนวนเวลาทำงานเลือนรางไป”
นอกจากการแลกการทำงานที่ไหนก็ได้กับการทำงานเพียง 4 วันแล้ว 48% ของ Generation z และ Millenials ยอมทำงานยาวขึ้นแต่ทำเพียง 4 วัน และ 27% ยอมทำงานช่วงสุดสัปดาห์หรือช่วงกลางคืนเพิ่มขึ้นมาอีกด้วย
ไม่ใช่แค่ยอมแลกสวัสดิการเพียงเท่านั้น แนวคิดการทำงาน 4 วันยังกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาลาออกหรือเข้าสมัครที่บริษัทใหม่อีกด้วย โดย 35% ของ Generation Z และ Millenials ยอมเปลี่ยนงานหรือบริษัท ที่สำคัญคือพนักงานกว่า 13% ยอมลดเงินเดือนเพื่อสานฝันแนวคิดนี้ด้วยเช่นกัน
ข้อมูลจาก Bankrate อธิบายปรากฏการณ์นี้ว่า เพราะคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงานอย่างมาก “ความยืดหยุ่น” จึงถูกพิจารณาให้เป็นหนึ่งในสวัสดิการที่มีความสำคัญในการตัดสินด้วยนั่นเอง
ไม่เพียงแค่คนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับแนวคิดการทำงาน 4 วันแทน 5 วันนี้ แต่เจเนอเรชันที่โตกว่าก็แสดงความสนใจต่อแนวคิดนี้เป็นอย่างมาก โดย Generation X และ Boomers กว่า 86% ก็ยินยอมที่จะแลกสวัสดิการบางอย่างเพื่อให้วันทำงานน้อยลง
หนึ่งในสิ่งที่ Generation X และ Boomers ยินยอมอย่างมากที่จะแลกเปลี่ยนคือชั่วโมงการทำงานที่มากขึ้น โดยพบว่ากว่า 61% กล่าวว่ายอมทำงานนานขึ้นต่อวันเพื่อแลกกับวันทำงานที่น้อยลง นับเป็นสัดส่วนที่มากกว่าคนรุ่นใหม่อย่าง Generation Z และ Millenials เสียอีก
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแนวคิดนี้จะแพร่หลายในหมู่คนทำงานและมีบริษัทที่ทดลองนำแนวคิดไปปฏิบัติจริง แต่เทรนด์การทำงานปัจจุบันกับไม่สะท้อนให้เห็นถึงอนาคตของแนวคิดนี้เท่าที่ควร แนวคิดดังกล่าวยังคงเป็นแค่เทรนด์กระแสรองที่ไม่ค่อยมีบริษัทใดกล้านำไปปฏิบัติจริงสักเท่าไร
เหตุผลหนึ่งอาจเป็นเพราะสิ่งที่คนทำงานคิดว่าเป็นกับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงอาจไม่สอดคล้องกันก็เป็นได้ เช่นคำกล่าวของ Michal Miller Levi ที่กล่าวว่า “มันมีช่องว่างระหว่างสิ่งที่พนักงานพูดกับสิ่งที่พนักงานทำ” อยู่นั่นเอง
ที่มา
– Over 75% of U.S. workers say they could complete the same amount of work in 4 days rather than 5 : Ece Yildirim, CNBC Make It – https://cnb.cx/3FPA98e
– 92% of young people would sacrifice other perks for a 4-day workweek—here’s what they’d give up : Anne Probert, CNBC Make It – https://cnb.cx/3QXpYoN
#trend
#worklife
#generation
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast