เทศกาลแห่งความรักในเดือนกุมภาพันธ์ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เห็นได้ชัดเจนจากป้ายประกาศของเขตหรืออำเภอต่างๆ ที่กระตุ้นให้คนมาจดทะเบียนสมรสกันในวันวาเลนไทน์ หรือวันที่ 14 กุมภาพันธ์ นอกจากนี้ก็ยังมีอีกเหตุการณ์หนึ่งที่เรียกได้ว่าเป็นสัญญาณของเดือนแห่งความรักอย่างแท้จริง
เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีคอนเสิร์ต Ed Sheeran ‘+ – = ÷ x’ Mathematics Tour Bangkok 2024 จัดขึ้นที่ราชมังคลากีฬาสถาน ในระหว่างที่คอนเสิร์ตดำเนินไปอย่างปกติ จนมาถึงเพลงรักสุดโรแมนติกอย่าง Perfect ก็มีคู่รักคู่หนึ่งขอแต่งงานในจังหวะนั้นพอดี
เรื่องราวดังกล่าวกลายเป็นประเด็นไวรัลในโลกออนไลน์ และนำมาซึ่งการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นหรือมุมมองที่แตกต่างกัน หลายคนมองว่าการขอแต่งงานต่อหน้าคนดูจำนวนมากกลางคอนเสิร์ตในขณะที่ฟังเพลงโปรด นับว่าเป็นเรื่องที่พบเห็นได้บ่อย และก็รู้สึกยินดีกับคนทั้งคู่
แต่ในขณะเดียวกันก็มีบางเสียงที่มีความคิดเห็นต่างออกไป มาดูกันว่าอะไรทำให้สังคมมองเรื่องของการขอแต่งงานกลางคอนเสิร์ตเป็นเรื่องถกเถียงที่หาจุดลงไม่ได้เช่นนี้
การขอแต่งงานต่อหน้าฝูงคน นับเป็น ‘การประกาศสัญลักษณ์ทางสถานะสังคม’
สัญลักษณ์ทางสังคมเป็นสิ่งที่มีอิทธิพลอย่างมากในสังคมของเรา การแต่งงานเองก็เป็นหนึ่งในนั้น หากอยู่ด้วยกันโดยปราศจากสถานะ ‘สมรส’ ก็อาจจะทำให้คู่รักคู่นั้นสูญเสียสิทธิชอบธรรมทางกฎหมายบางประการไป หรือบางคนอาจจะขาดสิ่งเติมเต็มชีวิตตามที่คาดหวังได้
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีวัฒนธรรมที่ผูกโยงเกี่ยวกับเรื่องเพศเข้ามา ทำให้การแต่งงานกลายเป็นสิ่งสะท้อนถึงตำแหน่งของบุคคล เช่น ผู้ชายต้องเป็นฝ่ายนำ ต้องเป็นคนขอแต่งงาน ต้องคิดวางแผนและจัดการสถานการณ์ และสร้างบรรยากาศให้โรแมนติก น่าจดจำ และเล่นใหญ่เพื่อให้คนรักตอบตกลง ส่วนผู้หญิงก็จะมีการแสดงสัญลักษณ์ที่ต่างกัน บางคนสวมแหวนแต่งงาน หรือใช้สิ่งของอื่นๆ อย่าง ชุดแต่งงาน ช่อดอกไม้ เครื่องประดับอื่นๆ แทนสัญลักษณ์ว่าแต่งงาน หรือมีคู่ครองแล้ว
การทำสิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ต่อหน้าสาธารณชนจึงเปรียบเหมือนการประกาศให้ผู้คนรับรู้ว่า “สถานะของเราได้เปลี่ยนไปแล้ว” โดยการแต่งงานถือเป็นเรื่องดี คนที่เดินผ่านไปผ่านมาส่วนใหญ่ก็จะรู้สึกยินดีกับการเลื่อนขั้นไปสู่ชีวิตอีกรูปแบบหนึ่ง
ควรจะต้อง ‘เขิน’ หรือ ‘อาย’ เมื่อถูกขอแต่งงานต่อหน้าสาธารณชน?
ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ปัจเจกมาก และไม่มีคำตอบไหนผิดหรือถูก แต่ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจก่อนว่าช่วงเวลาแบบนี้นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในชีวิต เราจะต้องจดจำมันไปอีกนานแสนนาน เพียงแค่การเปลี่ยนสถานะจากคู่รักไปเป็นคู่แต่งงานก็นับว่าเป็นเรื่องใหญ่อยู่แล้ว การต้องตัดสินใจภายใต้แรงกดดันจากผู้คนรอบข้าง โดยเฉพาะกับคนที่ไม่รู้จักด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ฝ่ายที่ถูกขอรู้สึกกดดัน
คนที่เป็นฝ่ายขอแต่งงานก็พยายามที่จะทำให้น่าอับอายน้อยที่สุด ด้วยการพยายามทำให้โดดเด่น โรแมนติก และน่าจดจำให้มากเท่าที่จะทำได้ เหมือนกับฉากสุดโรแมนติกที่พระเอกขอนางเอกแต่งงานในละคร แต่ในความเป็นจริงมันอาจไม่สวยงามและเต็มไปด้วยความสุขแบบนั้น
หลังจากที่ประเด็นการขอแต่งงานกลางคอนเสิร์ตดังกล่าวได้กลายเป็นไวรัลบนโลกอินเทอร์เน็ต ชาวเน็ตจำนวนมากก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องการขอแต่งงานในที่สาธารณะ ซึ่งดูเหมือนว่าจะแตกต่างจากภาพโรแมนติกในละคร เนื่องจากหลายคนรู้สึกไม่โอเคกับการต้องกลายเป็นจุดสนใจ และมองว่าการแต่งงานถือเป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะเอามาทำเป็นคอนเทนต์
เป็นธรรมดาที่คนเราจะกังวลต่อความคิดของคนอื่น ยิ่งเป็นคนที่มีความสัมพันธ์ห่างเหินกับเรามากเท่าไร เรายิ่งใส่ใจภาพลักษณ์ของตัวเองและระวังตัวมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นการถูกขอแต่งงานในที่สาธารณะซึ่งส่วนมากจะเป็นการขอแบบไม่ทันตั้งตัว ยิ่งทำให้เรารู้สึกกดดันมากขึ้น การวิ่งหนีออกจากสถานการณ์กดดันแบบนี้ไม่ง่ายเลย อีกทั้งจะยิ่งทำให้ฝูงไทยมุงรู้สึกไม่สนุกกับภาพการขอแต่งงานที่ไม่สมหวังด้วย
ถ้าจะกล่าวปฏิเสธออกไปก็จะยิ่งทำให้สาธารณชนเห็นถึงความอับอายของคนที่เป็นฝ่ายขอ ความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในความสัมพันธ์ของคนทั้งคู่ โดยเมื่อรวมยุคที่ใครก็สามารถถ่ายคลิปหรือแชร์เหตุการณ์นี้ลงบนโซเชียลแล้ว มองไปทางไหนก็มีแต่จะเสียความรู้สึกกันทั้งสองฝ่าย ทั้งคนที่ขอและคนที่ถูกขอ
อย่างไรก็ตาม คนที่ชอบความโรแมนติก อยากให้ผู้คนมาร่วมเป็นสักขีพยานความรัก ป่าวประกาศและแสดงสัญลักษณ์ของการเลื่อนสถานะทางสังคม และอยากให้แฟนทำเซอร์ไพรส์ขอแต่งงานอย่างยิ่งใหญ่อลังการในที่สาธารณะก็ยังมีอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น แม้จะมีความรู้สึกอายบ้างเล็กน้อย แต่ความสุขของชีวิตคู่กลับมีมากกว่า ด้วยบรรยากาศของเสียงเพลง รอยยิ้มและเสียงปรบมือยินดีจากผู้คน และการได้เห็นความพยายามจากคนรักก็อาจทำให้การถูกขอแต่งงานในที่สาธารณะยังเป็นความฝันของใครหลายคน
เห็นคนขอแต่งงานกลางคอนเสิร์ตแล้วนอยด์ผิดไหม?
การแต่งงานในที่สาธารณะมีหลายแบบ บางคนขอขณะที่กำลังเดินเที่ยวอยู่ในเมืองท่องเที่ยว บางคนขอกลางสนามบินก่อนคนรักจะต้องออกเดินทาง บางคนขอกลางโรงหนัง บางคนอาจจะทุ่มลงทุนสุดตัวด้วยการจองห้อง จองร้านและขอแต่งงานท่ามกลางคนใกล้ชิด เช่น เพื่อนหรือครอบครัว
แล้วในกรณีนี้แตกต่างอย่างไร?
มีชาวเน็ตจำนวนไม่น้อยที่ยินดีกับเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนออกมาแสดงความเห็นทำนองว่ารู้สึกเฟล รู้สึกนอยด์ ทั้งค่าตั๋วค่าเดินทางที่จ่ายไป ทั้งบรรยากาศ ทั้งโอกาสที่ได้เจอกับศิลปินซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ทำให้แฟนคลับที่เฝ้ารอและอยากมีช่วงเวลาดีๆ กับศิลปิน และมีความทรงจำดีๆ แต่กลับต้องถูกขัดจังหวะด้วยการคุกเข่าขอแต่งงานทำให้รู้สึกเหมือนกับว่าถูกพรากเอาเวลาไปให้คนเหล่านั้นทำเรื่องส่วนตัว
อย่างไรก็ตาม การขอแต่งงานกลางคอนเสิร์ตไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นครั้งนี้เป็นครั้งแรก ก่อนหน้านี้ในคอนเสิร์ต The Eras Tour ของ Taylor Swift ในประเทศญี่ปุ่นเองก็มีเหตุการณ์คุกเข่าขอแต่งงานกลางคอนเสิร์ตเกิดขึ้น และก็มีคอมเมนต์ไปในทางที่คล้ายกัน คือมีทั้งคนที่ร่วมยินดีและคนที่มองว่า การขอแต่งงานในคอนเสิร์ตถือเป็นการละเมิดสิทธิของแฟนคลับที่อยากมาสนุกกับคอนเสิร์ตและศิลปิน และความสุขที่รอมานานอาจจะพังลงเพราะมีคนอื่นเข้ามาแทรกก็ได้
แม้ว่าเรื่องการขอแต่งงานในที่สาธารณะจะยังคงเป็นประเด็นถกเถียงที่หาข้อยุติไม่ลงสักที แต่ในบรรดาความคิดเห็นที่แตกต่างเหล่านั้นก็ยังมีจุดร่วมอยู่ นั่นคือการขอใครสักคนแต่งงานนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตคนสองคน คนที่ถูกขอแต่งงานควรได้เวลาในการตัดสินใจ และไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร คำตอบนั้นก็ควรเป็นสิ่งที่เขาหรือเธอคิดมาอย่างดีแล้ว มากกว่าจะต้องตอบตกลงเพราะแรงกดดันจากฝูงชน
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าอยากขอแต่งงานต่อหน้าคนหมู่มาก บรรยากาศและเสียงยินดีของผู้คนอาจจะสร้างความสุขให้กับคู่รักได้จริงๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสมอไป ใครหลายคนอาจกำลังมีความสุขกับช่วงเวลาสำคัญ แต่ก็ต้องถูกขัดด้วยเรื่องของใครก็ไม่รู้ ฝ่ายที่ขอจึงควรคำนึงถึงสถานการณ์รอบข้างด้วยว่า เรากำลังขโมยความสุขของใครคนอื่นมาสร้างช่วงเวลาความสุขของตัวเองหรือเปล่า?
อ้างอิง
– Public proposals: true romance or unwarranted coercion? : Dean Burnett, The Guardian – https://bit.ly/49dtFNx
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast