หากพูดถึงเรื่องการเงิน แต่ละคนก็มีจุดโฟกัสที่แตกต่างกันออกไป บางคนมองว่าเกิดมาครั้งเดียว ต้องใช้เงินหาให้ความสุขให้ตัวเอง หรือบางคนก็อาจจะมองว่าประหยัดเงินไว้จะดีกว่า เพราะในอนาคตข้างหน้าเราไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น การเก็บเงินไว้ใช้ยามฉุกเฉินจึงเป็นเรื่องจำเป็น
เราจึงเห็นบุคคลหลากหลายรูปแบบในโซเชียล อย่างเช่น เราไม่อาจปฏิเสธได้จริงๆ ว่ามีบางคนที่อวดฐานะของตัวเองผ่านข้าวของเครื่องใช้ หรือการซื้อของแพงๆ หรือบางคนก็อาจจะทำตามเทรนด์ไวรัลใหม่อย่าง Quiet Luxury ที่เป็นการแต่งตัวแพงแบบไม่ตะโกนมาก เพราะไม่อยากโอ้อวดความรวยแบบสุดโต่ง
หรืออย่างล่าสุดในโลกโซเชียลก็มีเทรนด์ใหม่เกิดขึ้นอีกแล้ว ซึ่งเป็นเทรนด์ที่ถือว่าตรงข้ามกับ Quiet Luxury เลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ Loud Budgeting ซึ่งเป็นเทรนด์การ “อวดประหยัด” ของชาว Gen Z
ทำความรู้จัก Loud Budgeting
Loud Budgeting เป็นกลยุทธ์ทางการเงินใหม่ของชาว Gen Z ที่มองว่าการเก็บเงินถือเป็นเรื่องดีและเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องเขินอายกับการประหยัดเงินของเรา ไม่จำเป็นต้องซื้อของตามกระแส เราสามารถตะโกนบอกคนอื่นได้เลยว่า ทำไมเราถึงเลือกที่จะไม่ใช้จ่ายเงิน แม้ว่าเราจะมีเงินก็ตาม เช่น การบอกเพื่อนว่า ขอโทษนะ ไปทานข้าวข้างนอกด้วยไม่ได้ เพราะเหลือเงินใช้แค่วันละ 200 บาทเอง
ซึ่งเทรนด์นี้มีประโยชน์ตรงที่จะทำให้เรายึดมั่นถือมั่นกับแผนการเงินของตัวเองได้โดยไม่ต้องรู้สึกผิด หรือไม่ต้องรู้สึก FOMO (การกลัวที่จะพลาดบางสิ่งบางอย่าง) อีกทั้งเทรนด์นี้ยังทำให้เห็นถึงความก้าวหน้าของคนรุ่นใหม่ว่ามีสติในการใช้เงิน จัดสรรงบประมาณ และเก็บออมได้ดีมากยิ่งขึ้น
โดยเทรนด์นี้เริ่มดังขึ้นมาจาก TikTok และกำลังเป็นที่นิยมในหมู่ชาวมิลเลนเนียลและชาว Gen Z เป็นอย่างมาก เพราะเป็นช่วงวัยที่ติดตามเทรนด์และอัปเดตข่าวสารมากที่สุด อินฟลูเอนเซอร์ต่างชาติหลายคนก็กำลังให้ความสนใจกับเทรนด์นี้ จนถึงขั้นออกมาให้คำแนะนำบางอย่างเกี่ยวกับเรื่องการเงินและงบประมาณ เช่น การแนะนำให้เปิดบัญชีออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูง และวิธีการเพิ่มเงินออมหลังเกษียณให้มากขึ้น
ทำไมเทรนด์นี้ถึงไวรัล? ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะหลายคนรู้สึกเครียดกับเงินที่มีอยู่ในบัญชีของตัวเอง ในแต่ละเดือนต้องใช้จ่ายไปกับหนี้บัตรเครดิต และภาระอื่นๆ อีกมากมาย หรือบางคนก็อาจจะรู้สึกว่าไม่อยากใช้ชีวิตตามกระแส อยากประหยัดเงินให้ได้มากขึ้น ชาวโซเชียลจึงสร้างชาเลนจ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเงินขึ้นมา เช่น ชาเลนจ์ทานข้าวที่บ้านเพื่อลดการทานอาหารนอกบ้าน ซึ่งจะช่วยให้เราประหยัดเงินได้มากกว่าเดิม
ชาวเน็ตหลายคนก็เห็นดีเห็นงามด้วยกับแนวคิดนี้ อีกทั้งยังสนับสนุนให้ทุกคนสามารถพูดคุยเรื่องการเงินกันอย่างเปิดเผย เพราะความเปิดกว้างนี้เป็นกุญแจสำคัญของ “Loud Budgeting” ซึ่งจะช่วยขจัดความเขินอายและการตีตราทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพูดคุยถึงเรื่องการเงินให้หมดไป
Loud Budgeting ดีต่อทั้งการเงินและชีวิตทางสังคม
ทีนี้มาพูดถึงประโยชน์ของ Loud Budgeting กันดีกว่าว่ามีอะไรบ้าง
1. Loud Budgeting ส่งเสริมความรับผิดชอบทางการเงิน
การที่เราจะทำตามเทรนด์การประหยัดนี้ได้ เราจำเป็นต้องมีการตั้งงบประมาณตั้งแต่แรก ซึ่งมันจะช่วยให้เราสื่อสารกับผู้อื่นถึงขอบเขตงบประมาณที่เราตั้งไว้ได้ พูดง่ายๆ คือ เราจะเข้าใจเรื่องการเงินของตัวเองมากขึ้น รวมถึงเห็นได้อย่างชัดเจนว่าควรใช้จ่ายหรือไม่ควรใช้จ่ายไปกับอะไร
2. ช่วยลดแรงกดดันจากคนรอบข้าง
.
การสื่อสารถึงงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดของเรากับคนรอบข้างจะช่วยให้พวกเขารับรู้ถึงขอบเขตทางการเงินของเรา และพวกเขาจะเข้าใจได้ว่าตอนไหนควรชวนหรือไม่ควรชวนเราออกไปใช้จ่ายเงินที่ไม่จำเป็นข้างนอก เรียกได้ว่าเป็นการช่วยลดแรงกดดันทางสังคมไปได้เปลาะหนึ่ง
3. ช่วยเพิ่มแรงสนับสนุนเป้าหมายทางการเงิน
เมื่อคนอื่นรับรู้ถึงเป้าหมายทางการเงินของเรา พวกเขาก็จะคำนึงถึงเรื่องงบประมาณกันมากขึ้น อย่างน้อยก็เวลาที่อยู่กับเรา ซึ่งเขาก็อาจมีส่วนช่วยให้เราประหยัดงบประมาณได้มากขึ้น บางครั้งเราอาจยังมีโอกาสได้แชร์เคล็ดลับ ประสบการณ์ และความท้าทายในการจัดสรรงบประมาณของกันและกันอีกด้วย
อยาก “อวดประหยัด” ควรเริ่มอย่างไร?
เราสามารถเริ่มได้จากการเปิดใจพูดเรื่องเป้าหมายทางการเงินและงบประมาณกับคนอื่น แต่ก็ต้องบอกว่าข้อเสียของ Loud Budgeting คือ การที่เราแชร์เป้าหมายทางการเงินของเราให้กับคนอื่น ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเห็นด้วยกับเราไปเสียหมด ดังนั้นก็หมายความว่าการทำตามแผนอาจเป็นไปได้ยากขึ้น
บางครั้งการแชร์เป้าหมายทางการเงินของเรากับคนอื่นก็อาจทำให้เรารู้สึกท้อใจไปบ้าง หากคนอื่นไม่เห็นด้วย หรือบางครั้งเราก็อาจจะรู้สึกท้อที่การใช้จ่ายของตัวเองไม่เป็นเหมือนดั่งคนรอบๆ ตัว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราควรเลิกหรือไม่ควรทำ Loud Budgeting เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่าเทรนด์นี้มีประโยชน์หลายอย่าง
แต่สุดท้ายแล้วเราต้องมั่นใจจริงๆ ว่า เราทำสิ่งนี้แล้วเรามีความสุขหรือเปล่า สิ่งสำคัญคือให้โฟกัสที่ความต้องการของเรา อย่าฟังเสียงกดดันจากคนรอบข้างมาก
หรือถ้าใครอยากเริ่มประหยัดง่ายๆ แบบไม่ตะโกนมาก ก็สามารถเริ่มได้จากการปิดแจ้งเตือนแอปฯ ร้านค้าในโทรศัพท์ เลิกติดตามแบรนด์บนโซเชียลมีเดีย ลบบัตรเครดิต/เดบิตที่ผูกไว้กับแอปฯ ต่างๆ เพื่อสร้างอุปสรรคในการซื้อของให้กับตัวเอง สิ่งเล็กๆ เหล่านี้จะช่วยให้เราหลบเลี่ยงสิ่งที่ล่อตาล่อใจและเซฟเงินของเราไว้ได้มากขึ้น
อ้างอิง
– Loud Budgeting is Taking TikTok by Storm. Why Experts Love this 2024 Money Trend : Dashia Milden, CNET – https://bit.ly/4bVJ2fx
– 3 Ways Loud Budgeting Is Good For Your Money And Your Social Life : Bernadette Joy, Forbes – https://bit.ly/3wxrwhm
– ‘Loud budgeting’ is having a moment — here’s how to take advantage of it : Jessica Dickler, CNBC – https://bit.ly/3UX99g4
#trend
#loudbudgeting
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast