หนึ่งในเรื่องที่เจ้าของธุรกิจ หัวหน้างาน หรือแม้แต่พนักงานรู้กันดีคือข้อเสีย “ข่าวลือ” ที่นำมาซึ่งหายนะแก่องค์กรไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ โดยเชื่อว่าทุกคนต่างฝังหัวกันว่าข่าวลือเปรียบเสมือนกับแมงกินฟันที่คอยกร่อนโครงสร้างองค์กรให้อ่อนแอลงทีละน้อย
เมื่อพูดถึง “ข่าวลือ” นอกจากจะทำให้บรรยากาศในทีมอึมครึม เต็มไปด้วยความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน รวมถึงเกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายแล้ว การส่งข่าวลือต่อกันยังเบี่ยงเบนสมาธิของพนักงานในองค์กรจนไม่เป็นอันทำงาน และเมื่อโรคร้ายลุกลามมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดก็กลายเป็นสาเหตุให้พนักงานลาออกหนีความวุ่นวายกันไปหมด
แม้ว่าทุกคนจะรู้ซึ้งถึงความน่ากลัวของข่าวลือมากขนาดไหน สุดท้ายเมื่อมีเรื่องราวใหม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นเรื่องร้ายหรือดี เราก็มักจะพาตัวเองเข้าไปรับรู้หรือพัวพันด้วยเสมอ พฤติกรรมนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ผลสำรวจจาก Human Capital Hup ผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตวิทยาเผยให้เห็นว่า กว่า 75% ของพนักงานออฟฟิศยอมรับว่ามีส่วนร่วมกับข่าวลือในที่ทำงาน
มีหลากหลายสาเหตุที่มนุษย์เราเลือกจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับข่าวลือแม้รู้ว่ามันมีผลเสียมหาศาล ประการหนึ่งคือ เราใช้ข่าวลือเป็นเครื่องมือเข้าสังคม คล้ายคลึงกับความรู้สึกกลัวตกกระแสหรือ FOMO (Fear Of Missing Out) การเข้าไปมีส่วนร่วมในข่าวลือทำให้เราสามารถคุยกับคนอื่นได้มากขึ้นและไม่ต้องกังวลว่าจะพลาดโอกาสอะไรไป
เหตุผลอีกประการหนึ่งคือ พนักงานใช้ข่าวลือเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสาร เพื่อระวังตัวอยู่เสมอว่าตอนนี้เกิดอะไรขึ้นรอบตัวพวกเขาบ้าง เป็นกระบวนการเตือนภัยที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่โบราณคือการเล่าสู่กันฟังปากต่อปากเพื่อระวังและป้องกันภัย นอกจากนี้การคุยจุ้บจิ้บเรื่องอื่นๆ นอกจากงาน ยังช่วยบรรเทาความเครียดให้เหล่าพนักงานระหว่างวันอีกด้วย
นอกจากข้อดีที่ว่าข่าวลือสามารถเติมเต็มสัญชาตญาณความปลอดภัยของมนุษย์ได้แล้วนั้น ยังมีงานศึกษาที่น่าสนใจเผยให้เห็นว่าข่าวลือไม่ได้สร้างแค่ผลเสีย แต่หากรู้จักใช้ให้ถูกวิธีจะสามารถสร้างประโยชน์ในกับองค์กรได้อีกด้วย
งานวิจัยหัวข้อ “ผลกระทบเชิงบวกของข่าวลือในที่ทำงาน” (Positive Effect of Gossiping at Work) ของ Rasha Ali Mueed Alshehre เผยให้เห็นว่า กระบวนการแสดงความคิดเห็นหรือแบ่งปันความคิดส่วนตัวให้ผู้อื่นได้รู้ในวงข่าวลือช่วยกระตุ้นให้คนทำงานได้ดีขึ้น กลับกันการเก็บความลับหรือข้อมูลไว้กับตัวมากเกินไปอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้
ยิ่งไปกว่านั้น ข่าวลือยังทำหน้าที่เป็นบรรทัดฐานของสังคมในที่ทำงานในฐานะ ‘รางวัล’ และ ‘คำเตือน’ ได้อีกด้วย กล่าวคือหากข่าวลือนั้นเกี่ยวกับการทำดีของพนักงานสักคนหนึ่งก็จะช่วยเป็นกำลังใจและแนวทางให้พนักงานที่เหลือทำตาม ในที่สุดอาจเป็นกลิ่นหอมที่เชิญชวนให้ผู้มีความสามารถจากที่อื่นสนใจสมัครเข้ามาร่วมทีมด้วยก็ได้
ขณะที่หากเป็นข่าวลือด้านลบก็จะเป็นตัวอย่างให้พนักงานคนอื่นระมัดระวังไม่กระทำพฤติกรรมเดียวกัน นอกจากนี้ข่าวลือยังเป็น ‘บทลงโทษ’ สำหรับผู้ที่เป็นต้นเหตุของข่าวลือด้านลบ กล่าวคือข่าวลือเป็นกระจกสะท้อนไปยังผู้กระทำพฤติกรรมไม่เหมาะสมว่าตนเองนั้นไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมนั่นเอง
จะเห็นได้ว่าตัวตนของข่าวลืออาจไม่ใช่แมงกินฟันที่มีแต่ข้อเสีย แต่เป็นเสมือนกับดาบสองคนที่ถ้าใช้ให้ถูกวิธีก็จะสร้างผลกระทบที่ดี แต่หากใช้ผิดหรือใช้ไม่เป็นก็สามารถสร้างความหายได้ในวงกว้าง เช่นนั้นเราจะมีวิธีใช้งานข่าวลืออย่างไรไม่ให้กลับมาทำร้ายตัวเราและองค์กร?
รู้ทันคมข่าวลือ รับมือให้ถูกวิธี
ประการแรกที่ควรทำคือแยกระหว่างข่าวลือที่ดีและข่าวลือที่ไม่ดี ข่าวลือที่ดีคือเรื่องราวที่สร้างประโยชน์ให้กับผู้ที่ถูกกล่าวถึงหรือสังคมโดยรอบ แต่ข่าวลือไม่ดีคือข่าวลือที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาใดนอกจากความเสียหายให้แก่บุคคลและบรรยากาศในสังคม
ถัดมาคือการสนับสนุนให้เกิดข่าวลือดีๆ ในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการชื่นชมเพื่อนร่วมงาน การแสดงความยินดีกับความสำเร็จ หรือการแชร์ข้อมูลเพื่อป้องกันไม่ให้เพื่อนร่วมงานกระทำผิดจากกฎสังคม การแสดงออกเชิงบวกอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยให้บรรยากาศการทำงานดีขึ้นและช่วยสร้างบรรทัดฐานการทำงานร่วมกันภายในทีมได้อีกด้วย
แน่นอนว่าการควบคุมข่าวลือไม่ดีก็เป็นสิ่งที่จำเป็น แต่บางครั้งเราอาจจะไม่สามารถบังคับทิศทางของสังคมได้ ทางออกที่ดีคือการไม่เข้าร่วมวงสนทนานั้น เช่น การเปลี่ยนเรื่องคุยเพื่อบอกทางอ้อมว่าหัวข้อนี้ไม่ใช่เรื่องที่น่าคุย การพูดถึงเรื่องราวแง่บวกเพื่อสร้างสมดุลให้ข่าวลือ การตักเตือนผู้เผยแพร่เรื่องราวแง่ลบ หรือสุดท้ายคือการรายงานให้หัวหน้าได้รับรู้ถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นภายในทีม
แล้วในฐานะหัวหน้าทีม จะสามารถรับมือกับข่าวลือไม่ดีอย่างไร?
1. สื่อสารข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาและไม่เอียงข้าง เนื่องจากตัวตนของหัวหน้าแบกความน่าเชื่อถือเอาไว้ เมื่อได้ฟังจากปากคนที่น่าเชื่อถือ สุดท้ายแล้วเรื่องราวไม่มีมูลก็จะค่อยๆ จางลงไป
2. สื่อสารนโยบายการอยู่ร่วมกันของบริษัท คุณค่าที่ยึดถือและความคาดหวังอย่างชัดเจนว่าองค์กรรับและไม่รับพฤติกรรมใดบ้าง
3. เป็นผู้ฟังที่ดี เปิดโอกาสให้พนักงานได้พูดเรื่องราวที่ได้ยินมา ความคิดเห็นและความรู้สึกที่มีต่อข่าวลือนั้นๆ เพื่อหาต้นตอของปัญหาที่แท้จริงและแก้ไขได้อย่างถูกต้อง
การส่งต่อข้อมูลข่าวสารเป็นหนึ่งในธรรมชาติของมนุษย์เราก็จริง แต่เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติการตระหนักถึงสิ่งที่เรากำลังพูด เผยแพร่ หรือเข้าไปมีส่วนร่วมก็เป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมที่สำคัญเช่นกัน สุดท้ายแล้วสังคมที่เราอยู่จะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของเราเป็นตัวกำหนด
ที่มา
– THE ROOT CAUSE OF GOSSIP : Baird Group – https://bit.ly/3PJqpRC
– Can Gossip in the Workplace be Positive? : Orobi Bakhtiar, The Daily Star – https://bit.ly/45lNorP
– The Negative Impact of Gossip in the Workplace : Syntrio – https://bit.ly/3PR7QLh
– Positive Effects of Gossiping at Work : Rasha Ali Mueed Alshehre, Scientific Research – https://bit.ly/3QaoxTs
#trend
#gossip
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast