“เวลาเปลี่ยนไป ความต้องการของคนก็เปลี่ยนตาม”
คำพูดข้างต้นเป็นคำพูดที่ไม่เกินจริงนัก เพราะหลังจากเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19 กันมาหลายปี พฤติกรรมผู้บริโภคก็เริ่มเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการที่ผู้คนหันมารักสุขภาพทั้งกายและใจกันมากขึ้น และหันมาใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่เคยเป็นมา ในปี 2023 ที่จะถึงนี้ก็จะเป็นช่วงแห่งการฟื้นฟูและเปลี่ยนแปลงอีกช่วงหนึ่งเช่นกัน ทำให้การเตรียมตัวรับมือจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะคนที่อยู่ใน “ภาคธุรกิจ” เพราะไม่ว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการจะดีแค่ไหน แต่ถ้าไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ ก็ไม่มีประโยชน์ใดๆ เพราะ “ลูกค้า” เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ธุรกิจอยู่ต่อไปได้
เพราะฉะนั้น เราจึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจให้แน่ชัดว่า กลุ่มลูกค้าเป้าหมายของเราต้องการอะไรกันแน่
ในรายงาน “เจาะเทรนด์โลก 2023” ของ TCDC ได้รวบรวมและสรุปความเป็นไปได้ของพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละอุตสาหกรรมไว้ เรามาดูกันว่าความต้องการตั้งแต่เบบี้บูมเมอร์ ไปจนถึงเจเนอเรชันอัลฟามีความแตกต่างกันอย่างไรบ้าง
1.) เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) หรือคนที่เกิดในปี 1946-1964
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาทั่วโลกต่างก็เผชิญกับวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่สามารถออกไปพบปะสังสรรค์กับเพื่อนฝูงนอกบ้านได้ ซึ่งโดยปกติแล้วชาวเบบี้บูมเมอร์ชอบการเข้าสังคม หลังเกิดการแพร่ระบาดใหญ่ชาวเบบี้บูมเมอร์จึงหันมาเล่นโซเชียลมีเดียกันมากขึ้น และเมื่อสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลายลงชาวเบบี้บูมเมอร์ก็ยังคงยึดติดกับไลฟ์สไตล์การเข้าสังคมผ่านโลกออนไลน์อยู่
แม้จะมีหลายงานวิจัยชี้ว่า เบเบี้บูมเมอร์ไม่ต้องการเกษียณตัวเองจากการทำงาน จนมีการขยายเวลาเกษียณอายุไป แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมากลับทำให้ชาวเบบี้บูมเมอร์เหนื่อยล้ากับการทำงานประจำ คนกลุ่มนี้จึงหันมาให้ความสำคัญกับการค้นหาความหมายของชีวิต การสร้างอาชีพที่ยืดหยุ่น และการหาเพื่อนใหม่ๆ มากขึ้น ซึ่งส่วนสำคัญในการเริ่มต้นความสัมพันธ์ใหม่ๆ ของชาวเบบี้บูมเมอร์คือ “โซเชียลมีเดีย”
อีกทั้งบูมเมอร์ยังใช้เวลากับคอนเทนต์วิดีโอถึง 54% โดยแอปพลิเคชันที่ครองใจวัยนี้มากที่สุดคือ TikTok เรียกได้ว่ามีส่วนสำคัญต่อการทำการตลาดในระยะยาว เพราะรายงานจาก MGID เผยว่า “วิดีโอ” มีผลต่อยอดขายถึง 81% ในปี 2021
นอกจากนี้ บูมเมอร์ยังชอบสั่งของจากร้านค้าออนไลน์ถึง 90% ซึ่งส่วนใหญ่ซื้อผ่านร้านค้าบน Facebook และมากกว่าครึ่งเลือกจ่ายแบบเก็บเงินปลายทาง ข้อควรระวังสำหรับร้านค้าคือ บูมเมอร์ไม่ชอบการลิงก์หน้าเพจไปยังแพลตฟอร์มอื่น และไม่ชอบอินบ็อกซ์ถามร้านค้า
2.) เจเนอเรชันเอ็กซ์ (Gen X) หรือคนที่เกิดในปี 1965-1980
เจเนอเรชันเอ็กซ์เป็นช่วงวัยที่ต้องเผชิญกับการรับมือด้านการทำงานและการดูแลครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่สูงวัย หรือลูกๆ ที่ต้องเรียนจากที่บ้าน ทำให้คนเจนนี้ให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายและความประหยัด
มีการศึกษาชี้ว่า คนเจนเอ็กซ์กว่า 40% ต้องเผชิญกับความท้าทายในการใช้จ่ายให้น้อยที่สุด กว่า 65% เครียดเรื่องการเงิน และวิกฤตการณ์โควิดทำให้เจนเอ็กซ์ 22% หมดความมั่นใจว่าจะได้ใช้ชีวิตสุขสบายหลังเกษียณ ซึ่งทั้งหมดนี้กำลังก่อให้เกิดรูปแบบการใช้จ่ายใหม่ที่แบรนด์ต่างๆ จะต้องสร้างกลยุทธ์ขึ้นมาเพื่อรับมือต่อไป
เจนเอ็กซ์เป็นกลุ่มคนที่มีความภักดีต่อแบรนด์สูงกว่าคนวัยอื่น คนเจนนี้ชอบแบรนด์ระดับพรีเมียมที่มีคุณภาพสูง โดยตัวอย่างแบรนด์ที่ชื่นชอบเช่น Apple, Netflix, Disney, Samsung และ Nike อีกทั้งยังเริ่มหันมาใช้ TikTok ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว และยังเป็นวัยที่ใช้งานเกมมือถือมากกว่าคนวัยอื่นอีกด้วย
3.) มิลเลนเนียล (Millennials) หรือคนที่เกิดในปี 1981-1996
มิลเลนเนียลเป็นกลุ่มคนที่กำลังเตรียมพร้อมเข้าสู่วัยกลางคนและต้องเผชิญกับความกดดันในหลายๆ ด้าน คนกลุ่มนี้จึงให้ความสำคัญกับความสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว หันมาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตัวเองมากขึ้น เช่น การกินอาหารเสริมและวิตามิน ส่วนในด้านพฤติกรรมการดื่ม คนวัยนี้หันมาดื่มเครื่องดื่ม Non-Alcohol มากขึ้นถึง 40% เพราะ “การเมาทิพย์” ช่วยให้มีสติมากกว่า จึงสามารถสร้างโมเมนต์ที่ผ่อนคลายกับตัวเองและเป็นมิตรต่อผู้อื่นกว่า
จากการสำรวจยังระบุอีกว่า คนเจนนี้มักจะกลัววันอาทิตย์ (Sunday Scaries) กลัวโดนตามงานและกลัวไม่ได้ใช้วันหยุดอย่างคุ้มค่า ดังนั้นคนกลุ่มนี้จึงเชี่ยวชาญในการวางแผนเที่ยววันหยุดยาวมากกว่าการเที่ยวระยะสั้น แต่ชาวมิลเลนเนียลรู้ดีว่าตัวเองจะเป็นกลุ่มแรงงานสำคัญในองค์กรภายในปี 2025 เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่จะเข้ามาแทนที่แรงงานเจนเอ็กซ์ ทำให้พนักงาน 75% คาดหวังว่าบริษัทจะมีเครื่องมือทำงานที่ทันสมัย เพื่อช่วยผ่อนแรงในการทำงาน
นอกจากนี้ ชาวมิลเลนเนียล 76% ยังตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกัน กว่า 82% ก็มีความกังวลเรื่องค่าครองชีพของตัวเอง แต่คนวัยนี้กลับยินดีจ่ายเงินให้กับผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
4.) เจเนอเรชันซี (Gen Z) หรือคนที่เกิดในปี 1997-2012
ชาวเจนซีให้ความสำคัญกับการเรียนต่อมหาวิทยาลัยน้อยกว่าคนวัยอื่น เพราะอาชีพในฝันของคนวัยนี้คือ การหารายได้จากโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มออนไลน์
.
WGSN ระบุว่า 52% ของชาวเจนซีให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ระยะยาว แต่ไม่เจาะจงว่าจะต้องเรียนอะไร เพราะสามารถเรียนเพิ่มเติมได้ทุกเมื่อ สิ่งที่เจนซีเรียนเยอะที่สุดคือ “ภาษาต่างประเทศ” รวมถึง “ทักษะทางสังคมและการเมือง”
.
จะเห็นได้ว่า เจนซีชอบ “การเรียนรู้ด้วยตนเอง” และชอบหาความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยสถิติจาก Yplus พบว่า คนเจนซี 70% มักใช้กูเกิลในการค้นหาข้อมูลที่สงสัยระหว่างเรียน นอกจากนี้ยังใช้ TikTok ในการหาความรู้หรือเปิดช่องทางไปสู่การเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดด้านการเงิน (Fin-Influencer) เช่น การลงทุนในคริปโตเคอเรนซี การสร้างแบรนด์ และอื่นๆ ชาวเจนซีชอบเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ จึงเป็นบุคคลที่ไม่ยึดติดกับการทำงานสายใดสายหนึ่ง แต่เน้นสร้างรายได้และสะสมทักษะใหม่ๆ มากกว่า
.
ชาวเจนซียังเป็นกลุ่มวัยที่จองทริปไปท่องเที่ยวระหว่างประเทศเป็นกลุ่มแรกหลังการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 อีกด้วย ซึ่งจากสถิติโดย Contiki พบว่า ทริปที่เจนซีชอบไปมากที่สุดคือ ทริปดูดาว 87% ทริปเอาต์ดอร์ 62% และทริปผจญภัย 56% โดยรวมคือการออกไปดื่มด่ำกับวิวทิวทัศน์ สร้างแรงบันดาลใจ และจะต้องเป็นการท่องเที่ยวที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
.
แม้ว่าชาวเจนซีจะชอบทำกิจกรรมบนโลกออนไลน์ แต่ก็ยังให้ความสำคัญกับร้านค้าออฟไลน์ที่มีหน้าร้านอยู่ โดยแบรนด์ที่คนเจนนี้ให้ความสำคัญคือ “แบรนด์สินค้าที่แตกต่าง” โดยการเลือกสินค้าตามรสนิยมของตัวเอง พูดง่ายๆ คือ มีความเป็นปัจเจกสูงกว่าคนวัยอื่น รวมถึงส่งเสริมแบรนด์ที่มีความโปร่งใสในจริยธรรมการค้าขาย เป็นธรรม และเท่าเทียม อีกทั้งยังพร้อมหันหลังให้แบรนด์ที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้นแบรนด์จึงควรจูงใจคนกลุ่มนี้ด้วยการทำให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วม มากกว่าการขายด้วยโปรโมชันและสินค้าลดราคา
5.) เจเนอเรชันอัลฟา (Alpha) หรือคนที่เกิดปี 2012-2024
เจเนอเรชันอัลฟา (Alpha) หรือมีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า เจเนเรชันโควิด (Generation COVID) เด็กเจนนี้เป็นชาวดิจิทัลโดยกำเนิด และเป็นกลุ่มวัยที่มีจำนวนมากที่สุด
ในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมาได้ทิ้งรอยแผลใหญ่ในใจไว้กับคนรุ่นใหม่ คนกลุ่มนี้จึงให้คุณค่ากับ “ครอบครัว” เพราะเชื่อว่าครอบครัวคือซูเปอร์ฮีโร่ในโลกแห่งความเป็นจริง และด้วยความที่เติบโตท่ามกลางวิกฤต เด็กเจนนี้จึงสามารถรับมือกับสถานการณ์ร้ายๆ ได้ดีกว่าคนเจนอื่น
แม้อัลฟาจะยังไม่สามารถสร้างบัญชีโซเชียลมีเดียเองได้ แต่ผู้ปกครองเองได้สร้าง Digital Footprint ของเด็กวัยอัลฟาไว้ในบัญชีของตัวเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเจนอัลฟาอ่อนไหวต่อความเป็นส่วนตัวเป็นอย่างมาก
ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยบาธชี้ว่า เด็กเจนอัลฟามีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้า 3 เท่า เนื่องจากเด็กวัยนี้ไม่ได้ออกไปเล่นกับเพื่อนเหมือนวัยอื่น แบรนด์ต่างๆ สามารถคว้าใจคนกลุ่มนี้ได้ด้วย “การสร้างพื้นที่ปลอดภัย” เพื่อป้องกันความเหงา เช่น การสร้างพื้นที่หรือกิจกรรมสนุกๆ ที่สามารถทำร่วมกันผ่านช่องทางออนไลน์ได้
“คุณภาพดีเยี่ยม ใส่ใจความยั่งยืน ตระหนักถึงผลเชิงสุขภาพ เข้าถึงได้ผ่านโซเชียลมีเดีย มีหน้าร้านที่สร้างเสริมประสบการณ์พิเศษในการเข้าซื้อ” เป็นสิ่งที่แบรนด์จะต้องพัฒนาต่อไปหากต้องการเจาะกลุ่มวัยอัลฟา
การศึกษาพฤติกรรมลูกค้าในแต่ละช่วงวัย จะช่วยให้เราเข้าใจได้มากขึ้นว่ากลุ่มลูกค้าตั้งแต่เบบี้บูมเมอร์ ไปจนถึงเจเนอเรชันอัลฟามีความต้องการแบบไหน ซึ่งหลังจากเกิดวิกฤตการณ์โควิด-19 พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละวัยก็เปลี่ยนไป โดยแต่ละวัยก็มีพฤติกรรมและความต้องการที่แตกต่างกันออกไป
[ ] เบบี้บูมเมอร์ (Baby Boomer) ใช้เวลาไปกับคอนเทนต์วิดีโอบน TikTok มากขึ้นและชอบสั่งของจากร้านค้าออนไลน์บน Facebook เรียกได้ว่ามีความคุ้นชินกับโซเชียลมีเดียมากขึ้น
[ ] เจนเอ็กซ์ (Gen X) เป็นช่วงวัยที่เผชิญความกดดันหลายๆ ด้าน จึงให้ความสำคัญกับการประหยัดเงิน อีกทั้งยังมีความภักดีต่อแบรนด์สูงและชอบแบรนด์ระดับพรีเมียมที่มีคุณภาพสูง
[ ] มิลเลนเนียล (Millennials) หันมาดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตัวเองมากขึ้น เช่น การกินวิตามินและดื่มเครื่องดื่ม Non-Alcohol และให้ความสำคัญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย
[ ] เจนซี (Gen Z) ให้ความสำคัญกับการเรียนต่อมหาวิทยาลัยน้อยลง หันมาหาความรู้ผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น และพร้อมสนับสนุนแบรนด์ที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม
[ ] เจนอัลฟา (Alpha) มีแนวโน้มสนใจแบรนด์ที่สร้างพื้นที่ปลอดภัยสูง เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่ต้องเผชิญกับความโดดเดี่ยวในช่วงโควิด-19 ตั้งแต่เด็ก
ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้จะช่วยให้ธุรกิจต่างๆ สามารถเตรียมตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีทิศทางและตรงใจลูกค้าแต่ละวัยมากยิ่งขึ้น
อ้างอิง
– เจาะเทรนด์โลก 2023: CO-TOPIA : TCDC – bit.ly/3DP4dQ3
#trend
#business
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast