นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายที่เพิ่งผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อไม่นานมานี้ ได้ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนจำนวนมาก เนื่องจากนโยบายดังกล่าวบังคับใช้เฉพาะรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดงเท่านั้น ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ไม่ได้ใช้งานรถไฟฟ้าทั้งสองสายนี้เกิดความไม่พอใจ
ความคิดเห็นส่วนมากมาจากผู้ที่อยู่อาศัยในกรุงเทพมหานครและสมุทรปราการ ที่อาศัยโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นหลัก จึงเกิดการตั้งคำถามว่าเพราะเหตุใดจึงบังคับใช้นโยบายนี้กับรถไฟฟ้าสายที่ ‘ไม่มีคนใช้’ หรือเกิดความคิดเห็นทำนองว่านโยบายนี้ ‘ไม่มีใครได้ประโยชน์’
รถไฟฟ้า 20 บาท ไม่มีใครได้ประโยชน์จริงหรือ?
ข้อมูลจากรถไฟฟ้ามหานคร (รฟม.) เผยให้เห็นว่าผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายรัชธรรมหรือสายสีม่วงปีงบประมาณ 2566 (สิ้นสุดเดือนสิงหาคม) มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2565 ถึง 48.86% เฉลี่ยแล้วเพียงสายสีม่วงสายเดียวก็มีผู้โดยสารมากกว่า 50,000 คน-เที่ยว/วัน ในหนึ่งเดือน สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดงเองหลังจากเปิดให้บริการครบหนึ่งปีก็มีผู้โดยสารรวมกว่า 3.9 ล้านคน
นอกจากนี้ภาพความแออัดของรอยต่อสถานี โดยเฉพาะรอยต่อระหว่างสายสีม่วงกับสายสีน้ำเงินในทุกๆ ชั่วโมงเร่งด่วนของแต่ละวัน ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า “มีคนจริงๆ” กำลังใช้บริการขนส่งสาธารณะสายรองที่ไม่ได้อยู่ในเมืองนี้อยู่
ความคิดเห็นดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นมุมมองการเอา ‘กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง’ ในการพัฒนาหรือสร้างความเจริญ และเป็นตัวอย่างพฤติกรรมที่เรียกว่า ‘What About Me Effect’ (WAME) ที่คนยุคใหม่เคยชินกับการเป็นตัวละครหลักจนคิดไปว่าโลกจะต้องหมุนเพื่อพวกเขา จนละเลยการมองในมุมคนอื่นไปอย่างไม่ตั้งใจ
เพราะฉะนั้นอาจสรุปได้ว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนี้แม้ไม่ได้สร้างประโยชน์ให้คนเมืองโดยตรง แต่ก็ยังคงมีประชาชนอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รับประโยชน์ นอกจากนี้คนเมืองอาจจะได้รับประโยชน์ทางอ้อมหากนโยบายบรรลุผลสำเร็จ
เนื่องจากจุดประสงค์ของนโยบายนี้ไม่ใช่แค่เพียงลดค่าใช้จ่ายให้พี่น้องประชาชนในปัจจุบัน แต่เป้าหมายระยะยาวคือการปรับพฤติกรรมประชาชนให้หันมาใช้ขนส่งสาธารณะโดยเฉพาะรถไฟฟ้ามากขึ้น โดยคาดหวังว่าจะทำให้สามารถปิดหนี้ของรถไฟฟ้าสายสีเขียวได้ในอนาคตด้วยเช่นกัน
ถึงอย่างนั้นก็ต้องยอมรับว่านโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทเป็นภาระที่รัฐบาลจะต้องแบกระยะยาวไม่ต่ำกว่า 2 ปี หรือครึ่งหนึ่งของวาระรัฐบาลยุคปัจจุบัน ซึ่งภาระดังกล่าวมีมูลค่าที่ต้องจ่ายมากกว่า 100 ล้านบาทจนชวนให้ตั้งคำถามว่าการลงทุนนี้จะคุ้มค่าหรือไม่กับจำนวนผู้ได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้
เสียงเรียกร้องจากคน “นอกเมือง”
นอกจากตัวเลขผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีแดงจะแสดงให้เห็นว่าประชนชนคนไทยที่มีสิทธิได้รับการสนับสนุนและพัฒนาจากภาครัฐไม่ได้มีแต่คนกรุงเทพฯ แล้ว ยังแสดงให้เห็นผลจากการยึดกรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาความเจริญ ผ่านตัวตนของ “ประชากรแฝง” อีกด้วย
ประชากรแฝง หมายถึงผู้คนที่เข้ามาอาศัย เรียนหนังสือ ทำงานหรือใช้ชีวิตอยู่ในเมืองหนึ่งๆ แต่ไม่ได้มีทะเบียนบ้านอยู่ในเมืองนั้น โดยแบ่งออกเป็นประชากรแฝงกลางวัน ที่เดินทางไปกลับเมือง-ที่พักอาศัยนอกเมือง และประชากรแฝงกลางคืนที่พักอาศัยอยู่ในเมืองนั้นๆ เลย
ตัวตนของประชากรแฝงส่วนหนึ่งเกิดมาจากความเจริญที่กระจุกอยู่ในตัวเมือง ไม่เพียงกรุงเทพมหานครแต่ในหัวเมืองใหญ่ๆ ที่เต็มไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวก ปัจจัยการใช้ชีวิตที่ครบครัน และโอกาสที่มากกว่าก็เป็นเหตุผลอันดีที่ก่อให้เกิดการย้ายถิ่นฐานเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต
ทว่าสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเผยว่ามีจำนวนประชากรแฝงในกรุงเทพมหานครประจำปี 2564 กว่า 800,000 คน นับเป็นเมืองหลวงที่ครองตำแหน่งประชากรแฝงสูงสุดของประเทศแทบจะตลอดกาล
นอกจากนี้ จำนวนประชากรแฝงในกรุงเทพมหานครยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องโดยปี 2553 มีจำนวนประชากรแฝงอยู่ที่ 36.86 % แต่ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติเผยให้เห็นว่าปี 2565 กรุงเทพมหานครมีประชากรแฝงถึง 50.11% คิดเป็นจำนวนกว่า 2.7 ล้านคนจากประชากรในกรุงเทพฯ ทั้งหมดเกือบ 5.5 ล้านคน
ตัวตนของประชากรแฝงพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้ไม่ได้อยู่ในเมืองก็ใช่ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเมือง และเป็นเรื่องน่าเศร้าหากจะบอกว่าพวกเขาเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยจึงไม่ควรได้รับผลประโยชน์จากนโยบาลรัฐบาล เพราะสุดท้ายแล้วไม่ว่าคนคนหนึ่งจะเป็นคนเมือง ประชนกรแฝง หรือคนนอกเมือง ก็ล้วนเป็น ‘ประชาชน’ ที่ควรได้รับประโยชน์จากการบริหารงานของรัฐบาลด้วยกันทั้งนั้น
นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายยังมีก่อให้เกิดคำถามและเสียงคัดค้านอีกมาก โดยเฉพาะคำถามเกี่ยวกับที่มาของงบประมาณที่นำมาดำเนินการนโยบายนี้ รวมไปถึงแนวทางที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์กันอย่างยั่งยืนเช่นกัน
อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้น อย่างที่กล่าวไปว่านโยบายนี้เพิ่งได้รับการอนุมัติไม่นานมานี้ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมอาจต้องใช้เวลาประมาณหนึ่งกว่าจะเห็นผล เราจึงยังไม่สามารถตีตราว่านโยบายดังกล่าวนี้เป็นนโยบายที่ “มีประโยชน” หรือ “ไร้ประโยชน์” ได้อย่างกระจ่างแจ้ง จากนี้ไปจึงเป็นหน้าที่ของประชาชนที่จะจับตามองและเฝ้าดูผลลัพธ์ในอนาคตไปพร้อมๆ กัน
ที่มา
– จำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล และจำนวนผู้โดยสารรถไฟฟ้า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม รายเดือน ปี 2566 เปรียบเทียบกับ ปี 2565 : รถไฟฟ้ามหานคร – https://bit.ly/46CMiJE
– ครบ 1 ปี รถไฟฟ้าสายสีแดงผู้โดยสารใช้บริการ 3.9 ล้านคน : ไทยโพสต์ – https://bit.ly/3rY2g1J
– เรื่องเล่าจากประชากรแฝงในมหานครแห่งความหวัง : อภิวัฒน์ อุต้น, Urban Creature – https://bit.ly/3tDLCVR
– ดุลยภาพดุลยพินิจ : ประชากรแฝง ภารกิจของท้องถิ่นและเงินอุดหนุนรายหัว : Matichon Online – https://bit.ly/46DK8cL
– รายงานการศึกษาประชากรแฝงในเขตกรุงเทพมหานคร ปี พ.ศ. 2557-2560 : กองนโยบายและแผนงาน สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพมหานคร – https://bit.ly/45GfCxF
#trend
#society
#รถไฟฟ้า20บาท
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast