ตกงานเพราะ AI แย่งงาน ยังไม่น่ากลัวเท่าตกงานเพราะ “AI ไม่จ้าง”
หนึ่งใน ‘ความเชื่อ’ ที่คนมากมายคิดถึงเมื่อพูดถึงข้อดีของ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ ‘AI’ คือความสามารถในการวิเคราะห์ แยกแยะ จัดกลุ่มและประเมินสิ่งต่างๆ ได้อย่าง “เที่ยงธรรม” กล่าวคือคนจำนวนมากเชื่อว่า AI คือระบบที่มีความเป็นกลางและปราศจากอคติ
ด้วยเหตุนี้ องค์กรน้อยใหญ่มากมายจึงพิจารณาและหันมาใช้ AI ในการคัดเลือกผู้สมัครเข้าทำงาน เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนด้านการจัดหาและจัดจ้างแล้ว ยังสามารถลดต้นทุนด้านเวลาและทรัพยากรบุคคลที่ต้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการคัดสรรผู้สมัครแต่ละครั้งอีกด้วย
จากสถิติรวบรวมโดย Workable และ Demandsage เผยให้เห็นว่า AI สามารถประหยัดเวลาของฝ่ายสรรหาบุคลากรได้ถึง 44% และประหยัดเวลาของผู้ที่มีส่วนตัดสินใจถึง 67% ทำให้ตลาดของธุรกิจซอฟต์แวร์ AI ด้านการสรรหาและคัดเลือกบุคลากรมีมูลค่าสูงถึง 590.50 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 21 ล้านล้านบาท) ในปี 2023 และคาดว่าจะสูงขึ้นถึง 942.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 34 ล้านล้านบาท) ในปี 2030
เห็นได้ชัดในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานมากกว่า 500 คนกว่า 99% ใช้ซอฟต์แวร์ AI ช่วยในส่วนการสรรหาและจัดจ้างผู้สมัคร ขณะที่ฝ่ายสรรหาบุคลากรเลือกใช้งานซอฟต์แวร์ AI ด้วยตนเองถึง 65% โดยภาพรวมแล้วองค์กรต่างๆ มีการเลือกใช้ซอฟต์แวร์ AI เพิ่มขึ้น 6% จากปี 2021
ผลการทำงานของ AI ก็ค่อนข้างเป็นที่น่าพอใจเมื่อผู้สมัครที่ปัญญาประดิษฐ์คัดเลือกมาเบื้องต้นมีโอกาสผ่านการสัมภาษณ์มากกว่า 14% และมีโอกาสตอบรับข้อเสนอจ้างงานมากกว่า 18% เรียกว่าประหยัดเงิน ประหยัดเวลา แต่ได้ผลลัพธ์ที่มี ‘คุณภาพ’ มากขึ้น
ทว่าท่ามกลางความพึงพอใจขององค์กรและฝ่ายทรัพยากรบุคคล กลับมาเสียงจากผู้สมัครจำนวนหนึ่งที่กำลังต่อต้านการเข้ามาของปัญญาประดิษฐ์ในขั้นตอนการสรรหาและคัดเลือกบุคลากรนี้ โดยคนทำงานกว่า 71% ในสหรัฐอเมริกาคัดค้านการนำ AI มาเป็นเกณฑ์ตัดสินใจ และ 66% กล่าวว่าจะไม่สมัครงานองค์กรที่นำ AI มาใช้ในการประเมินและคัดสรรบุคลากร
คำถามคือทำไมถึงมีผู้ออกมาต่อต้านมากมายถึงขนาดนั้น? การไม่เห็นด้วยครั้งนี้มาจากความกลัวว่าตนเองจะไม่มีคุณสมบัติมากพอตามเกณฑ์ขององค์กร หรือแท้จริงแล้วมันมีเหตุผลเบื้องหลังมากไปกว่านั้น หนึ่งในเสียงที่น่าสนใจคือ 15% ของคนทำงานกล่าวว่า AI ไม่ได้พิจารณาใบสมัครเฉกเช่นเดียวกับวิธีของมนุษย์
Hilke Schellmann ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กและผู้เขียนหนังสือ ‘the Algorithm: How AI Can Hijack Your Career and Steal Your Future’ กล่าวว่า “เรายังไม่เคยเห็นหลักฐานมากพอที่จะสรุปได้ว่าปัญญาประดิษฐ์ไม่มีอคติหรือความลำเอียง”
หมายความว่าอย่างไร? ปัญญาประดิษฐ์ที่ไม่ได้มี ‘มุมมอง’ ต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นพิเศษ จะมีอคติหรือการตัดสินใจที่ลำเอียงได้อย่างไร?
กรณีศึกษาหนึ่งในปี 2020 ช่างแต่งหน้าประจำสาขาอังกฤษคนหนึ่งได้รับแจ้งว่าเธอจะต้องสมัครตำแหน่งที่เธอทำอยู่ใหม่อีกครั้งหนังจากการพักงานตลอดช่วงแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเธอต้องเข้ารับการประเมินผ่าน HireVue ซอฟต์แวร์ประเมินและคัดสรรด้วยปัญญาประดิษฐ์โปรแกรมหนึ่ง
ผลปรากฏว่า แม้เธอจะได้รับการประเมินด้านทักษะอื่นๆ อย่างดีเยี่ยม แต่ก็ต้องถูก ‘ให้ออกจากงาน’ เพราะคะแนน “ภาษากาย” ของเธอย่ำแย่ หลังจากกรณีแปลกประหลาดนี้เกิดขึ้นจึงทำให้เกิดข้อสงสัยถึงประสิทธิภาพในการประเมิน ‘รอบด้าน’ ของระบบ จนท้ายที่สุดบริษัทเจ้าของ HireVue ก็ต้องนำฟีเจอร์การวิเคราะห์ใบหน้าออกไปในปีถัดมา การร้องเรียนแบบเดียวกันยังเกิดขึ้นกับแพลตฟอร์มที่มีลักษณะใกล้เคียงกันอีกมากมาย
ไม่ใช่แค่เพราะว่าเทคโนโลยีการตรวจจับและวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของร่างกายและใบหน้ายังไม่แม่นยำมากพอเท่านั้น แต่การวิเคราะห์ภาษากาย หรือการวัดทักษะใดทักษะหนึ่งยังเป็นเรื่องยากสำหรับมนุษย์ การประเมินของ AI จึงออกมาในรูปแบบการคัดเลือกแบบ ‘คร่าวๆ’ ผ่านการ ‘ด่านตัดสิน’ จากชุดข้อมูลบางประการเท่านั้น
นอกจากนี้ ผู้สมัครที่ ‘ถูกปัดตก’ ส่วนมากไม่ได้รับคำอธิบายว่าตนเองได้รับการประเมินในด้านใดบ้าง และสาเหตุที่ยังไม่ผ่าน ‘เกณฑ์พิจารณา’ ดังกล่าวคืออะไร เนื่องจากเจ้าสมองกลแสนฉลาดไม่สามารถบอก ‘เหตุผลเบื้องหลัง’ การตัดสินใจนั้นๆ ได้ กล่าวคือการตัดสินใจของ AI ยังคงครุมเครือ ไม่โปร่งใส และตรวจสอบไม่ได้นั่นเอง
มีการทดสอบหนึ่งที่ให้ผู้สมัครคนเดียวกันเข้ารับการประเมินกับ AI ด้วยชุดข้อมูลที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์แสดงให้เห็นว่าชุดข้อมูลที่มีอายุน้อยกว่าหรือเป็นเพศชายจะได้รับคะแนนการประเมินที่ดีกว่าชุดข้อมูลที่มีอายุมากกว่าหรือเป็นเพศหญิง ยกตัวอย่างเช่น คำว่า ‘บาสเกตบอล’ จะได้คะแนนมากกว่า ‘ซอฟต์บอล’ เป็นต้น
สวนทางกับทิศทางการพัฒนาทักษะทางความคิดของมนุษย์ ที่มีการตระหนักรู้และรณรงค์เรื่องความไม่เท่าเทียมทางอายุและความไม่เท่าเทียมทางเพศในการคัดเลือกคนทำงานมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ แต่ละปีจึงมีผู้สมัครมากความสามารถจำนวนมากต้องตกงานเพราะไม่ผ่านเกณฑ์พิจารณาของ AI นั่นเอง
ถึงแม้ว่า AI จะอยู่ในขั้นตอนของการเรียนรู้และอาจสามารถตระหนักรู้เท่าทันทักษะความคิดของมนุษย์ปัจจุบันได้ในระยะเวลาไม่นาน แต่ตลอดระยะเวลาที่ AI ยังไม่พร้อมดีนั้นต้องมีชีวิตคนจริงๆ อีกจำนวนมากที่เสียเส้นทางชีวิตไป จนเกิดเป็นคำถามว่านักพัฒนา AI กำลังนำ “โอกาสและอนาคตของคนคนหนึ่ง” มาเป็น ‘เครื่องมือ’ ในการเทรนปัญญาประดิษฐ์ของตนอยู่หรือเปล่า?
ที่มา
– AI hiring tools may be filtering out the best job applicants: Charlotte Lytton, BBC Worklife – https://bbc.in/49vLAiU
– 41 AI Recruitment Statistics For 2024 (Latest Data): Daniel Ruby, Demandsage – https://bit.ly/3SSiQtu
– Top AI in Hiring statistics in 2024: Alexandros Pantelakis, Workable – https://bit.ly/49r2miS
#trend
#AI
#HR
#recruitment
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast