WHO เปิดชื่อ 55 ประเทศที่ขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างหนัก
เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า กว่า 55 ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ขั้นรุนแรง จากการที่บุคลากรกลุ่มนี้โยกย้ายไปทำงานในประเทศที่มีฐานะมากกว่า เพื่อหาโอกาสก้าวหน้าทางการงานและรายได้ที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ปัญหานี้ยิ่งทวีคูณเพิ่มขึ้น จากการที่ประเทศพัฒนาแล้วหลายๆ ประเทศมีความพยายามในการดึงดูดบุคลากรทางแพทย์จากพื้นที่อื่นๆ เข้าไปทำงานในประเทศของตนเองอีกด้วย
โดยใน 55 ประเทศนี้ ประกอบไปด้วย ประเทศที่อยู่ในทวีปแอฟริกา 37 ประเทศ ในหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิก 8 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกกลาง 6 ประเทศ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 3 ประเทศ และในทวีปอเมริกา 1 ประเทศ
ทาง WHO ย้ำว่าประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องมีการดูแลและปรับปรุงระบบสาธารณสุขเป็นอย่างแรก ทั้งยังต้องมีมาตรการเพิ่มเติมในการควบคุมการโยกย้ายของบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างประเทศ ที่ต้องทำควบคู่ไปด้วยกัน
การนำเข้าแพทย์จากที่อื่นอาจทำให้สถานการณ์แย่ลง
จากข้อมูลของ STAT เว็บไซต์ข่าวสุขภาพสัญชาติอเมริกัน พบว่าความต้องการบุคลากรทางการแพทย์จากถิ่นอื่นกำลังเพิ่มขึ้นในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (Global North) จากการสำรวจพบว่าพยาบาลเกือบร้อยละ 5 ในสหรัฐฯ เป็นคนฟิลิปปินส์ และในปัจจุบัน จำนวนบุคลากรทางการแพทย์ทั่วโลกที่กำลังทำงานนอกประเทศบ้านเกิดของตนเองนั้นมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 15 โดยแพทย์มากกว่า 1 ใน 4 ในสหรัฐอเมริกาและแพทย์กว่า 1 ใน 3 ในสหราชอาณาจักรเป็นแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมาจากที่อื่น
อย่างไรก็ตาม การโยกย้ายบุคลากรทางการแพทย์ระหว่างประเทศมีผลกระทบที่ตามมาอย่างมากในประเทศที่มีกำลังทรัพย์ปานกลางจนถึงกำลังทรัพย์น้อย จากรายงานที่เผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคมโดยสภาพยาบาลระหว่างประเทศ (International Council of Nurses) ระบุว่า บางประเทศที่มีการฝึกอบรมพยาบาล “เพื่อการส่งออก” กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาการขาดแคลนบุคลากรอย่างมาก เช่น ฟิลิปปินส์ ที่ได้ยอมรับว่าขาดแคลนพยาบาลถึง 350,000 คนในประเทศ
การดึงแรงงานไปยังประเทศที่มีกำลังทรัพย์สูงทำให้ประเทศที่มีกำลังทรัพย์น้อยไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์วิกฤตสาธารณสุขภายในประเทศได้ ทั้งยังเป็นการบั่นทอนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ประเทศเหล่านี้ยังต้องแบกรับภาระหนี้จากค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งเป็นการลงทุนที่จะไม่มีวันได้รับทุนคืน ดังนั้นปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์นี้ ไม่มีหนทางแก้ไขที่ง่ายและรวดเร็ว แต่จะต้องอาศัยทั้งนโยบายระดับระหว่างประเทศและภายในประเทศสนับสนุน
เสียงจากบุคลากรทางการแพทย์กว่า 3,000 คน
Elsevier Health องค์กรศึกษาปัญหาและแนวทางการแก้ไขในวงการวิชาการ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และด้านสาธารณสุข ได้ออกรายงาน “Clinician of the Future 2022” มีเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาในระบบสาธารณสุข โดยได้สำรวจความเห็นจากบุคลากรทางการแพทย์กว่า 3,000 คน จาก 111 ประเทศทั่วโลก เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบสาธารณสุข และเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เหล่าบุคลากรทางการแพทย์ต้องการ
รายงานฉบับนี้ได้รวบรวมประเด็นปัญหาที่บุคลากรทางการแพทย์ต้องเผชิญอยู่ 6 ประการ คือ
1. เกิดภาวะหมดไฟจากการทำงาน
2. ขาด Work-Life Balance
3. ชั่วโมงงานมากเกินไป โดยแพทย์ที่ตอบแบบสำรวจมีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 58 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เมื่อยิ่งเกิดการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ คนที่เหลือก็ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้น
4. แพทย์ต้องรับผิดชอบงานอื่นนอกเหนือไปจากการดูแลคนไข้ เช่น งานสอน งานบริหาร และงานค้นคว้าวิจัย
5. ความเครียดจากค่าแรงที่ไม่สมเหตุสมผลกับภาระงาน
6. ความคาดหวังและความกดดันจากทางภาครัฐและเอกชน
แล้วอะไรคือทางออกของวิกฤตการแพทย์ทั่วโลก?
ในการรับมือกับความท้าทายนี้ เราทุกคนจำเป็นที่จะต้องเข้าใจก่อนว่า วิกฤตใหญ่ที่หลายประเทศกำลังเผชิญล้วนมีสาเหตุมาจากปัญหาภายในประเทศที่แตกต่างกันออกไปจากปัจจัยหลายๆ ด้าน ทำให้แนวทางแก้ไขในแต่ละประเทศก็อาจจะต้องมีความแตกต่างกันไปเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความเห็นของบุคลากรทางการแพทย์กว่า 3,000 คน ในประเทศที่แตกต่างกัน 111 ประเทศ โดยภาพรวมเห็นว่า วิกฤตนี้ไม่ใช่เพียงปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์เพียงอย่างเดียว แต่ยังมีปัญหาจากการที่ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น และการเกิดโรคระบาด ซึ่งเกินกว่าที่ระบบจะรองรับไหว ดังนั้นการสร้าง “ระบบสุขภาพครบวงจร” จึงเป็นหัวใจหลักของการแก้ปัญหานี้
ระบบสุขภาพครบวงจร คือการพัฒนาจากระบบ “รักษาโรค” เป็น “ส่งเสริมสุขภาพ” กล่าวคือ เป็นการดูแลผู้ป่วยแบบเชิงรุกซึ่งมีเทคโนโลยีมาสนับสนุน เช่น แพทย์สามารถดูแลและให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพกับผู้ป่วยจากระยะไกลได้ โดยจะต้องมีมาตรการป้องกันการเจ็บป่วยร่วมด้วย เช่น การให้วัคซีน การตรวจพันธุกรรมเพื่อหาความเสี่ยงโรคร้ายแรง และการมีโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชน
โดยการไปสู่จุดนั้นมี 3 ประเด็นที่จำเป็นต้องพัฒนาและแก้ไข
[ ] ความเป็นอยู่ของบุคลากรทางการแพทย์ต้องได้รับการใส่ใจมากขึ้น: ลดความเสี่ยงการลาออก และรักษาบุคลากรที่ยังคงอยู่ในระบบไว้คือสิ่งสำคัญที่สุด โดยการสร้าง Work-Life Balance ให้กับบุคลากร ลดภาระงานที่ไม่จำเป็นลง แบ่งเบาภาระงานของแพทย์โดยการใช้เทคโนโลยี AI เข้ามาร่วมด้วย เพื่อลดโอกาสการเกิดอาการหมดไฟ ความเครียดจากการทำงาน และความเหนื่อยสะสมของบุคลากรทางการแพทย์
[ ] นโยบายจากภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ: รัฐบาลควรเพิ่มงบประมาณในการพัฒนาระบบสาธารณสุข และจัดสรรทรัพยากรที่สามารถช่วยเหลืองานของบุคลากรทางการแพทย์ได้ เช่น เทคโนโลยีทางการแพทย์ อีกทั้งรัฐควรมีส่วนร่วมในการเสริมสร้างสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน โดยออกนโยบายที่มุ่งเน้นให้ประชาชนดูแลสุขภาพ เช่น รัฐบาลอังกฤษเคยรณรงค์ให้ผู้ปกครองใส่ใจคุณค่าทางโภชนาการในอาหารของลูกๆ
[ ] ปฏิรูปการศึกษาสาขาสุขภาพ: การเตรียมความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงในอนาคตเป็นสิ่งจำเป็น โดยการพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์ให้ทันสมัย และส่งเสริมทักษะด้านเทคโนโลยีของบุคลากรทางการแพทย์ในอนาคตเพื่อนำไปใช้ในการแบ่งเบาภาระงาน ทั้งนี้ยังต้องสร้างบุคลากรระดับผู้นำวงการการแพทย์ที่มีวิสัยทัศน์ ทักษะ ความรู้และความสามารถที่สอดคล้องกับโมเดลในอนาคตด้วย
แต่อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่านี่เป็นเพียงความเห็นโดยรวมจากแพทย์ 3,000 คนใน 111 ประเทศเท่านั้น ซึ่งนอกจากประเด็นเหล่านี้ที่ต้องได้รับการพัฒนา ยังมีประเด็นอื่นๆ อีกมากมายที่แต่ละประเทศจะต้องเข้าไปแก้ไข เพื่อจัดการกับ “ต้นเหตุ” ของปัญหาที่ประเทศตนเองเจอ จึงจะทำให้แก้ไขได้อย่างตรงจุดมากที่สุดและเป็นผลดีต่อการทำงานในระยะยาวของเหล่าบุคลากรทางการแพทย์
วิกฤตการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ เปรียบเสมือนระเบิดเวลาที่อาจนำไปสู่การล้มครืนของระบบสาธารณสุขในทุกประเทศ ในประเทศไทยบ้านเราได้เกิดการตระหนักรู้ครั้งใหญ่ ทำให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะต้องแง้มดูปัญหาที่อยู่ใต้พรมมาเนิ่นนาน ถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องใส่ใจความเป็นอยู่ของบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลพวกเรามาโดยตลอด การแก้ไขปัญหาที่สะสมมาเนิ่นนานนี้ไม่อาจสำเร็จได้โดยระยะเวลาอันสั้น นอกจากการแก้ไขเชิงโครงสร้าง พวกเราในฐานะประชาชนก็ควรมีส่วนร่วมโดยการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเองให้ดี เพื่อลดความเหนื่อยล้าของบุคลลากรทางการแพทย์ของเรา
อ้างอิง
55 countries face a health worker crunch linked to COVID-19: WHO – https://bit.ly/3NqMxAt
Clinician of the future Report 2022 : ELSEVIER – https://bit.ly/45NDNLJ
The Global North can’t solve its health care worker shortage by recruiting from the Global South : Vanessa Kerry and Travis Bias, STAT – https://bit.ly/3JnIMt9
#trend
#healthcareworker
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast