ฝึกความคิดสร้างสรรค์แบบนักเขียนมืออาชีพผ่านการฝึก “People-watching”

919
1920-People-watching

“ผิวเธอดำขลับจนดูราวกับว่า หากถลอกคงลอกออกมาเหมือนผิวลูกพลัม แต่กระนั้นก็ไม่มีใครคิดจะกล้าเข้าใกล้คุณนายฟลาวเวอร์ขนาดที่ทำให้ชุดเธอยับหรอก ลืมเรื่องทำให้ผิวเธอถลอกไปได้เลย เธอไม่ได้ให้ความรู้สึกเป็นมิตร เธอสวมถุงมืออีกด้วย ฉันไม่คิดว่าฉันเคยเห็นคุณนายฟลาวเวอร์หัวเราะ แม้เธอจะยิ้มอยู่บ่อยครั้ง เธอจะคลี่ริมฝีปากบางดำของเธออย่างช้าๆ บางทีก็เห็นฟันขาวซี่เล็กๆ จากนั้นก็หุบยิ้มช้าๆ อย่างเป็นธรรมชาติ ฉันรู้สึกอยากขอบคุณเธอเสมอเวลาที่เธอยิ้มให้ฉัน ” — มายา แองเจลู

อ่านข้อความนี้จบ เราก็พอจะจินตนาการภาพและคาดเดานิสัยของคุณนายฟลาวเวอร์ได้ ผ่านการเปรียบเปรย การพรรณนาลักษณะและการกระทำเพียงไม่กี่อย่างของตัวละคร โดยไม่ต้องอธิบายหมดตั้งแต่หัวจรดเท้าหรือทุกการขยับตัว เราในฐานะผู้อ่านก็ได้แต่รู้สึก ‘ว้าว’ ในพลังความคิดสร้างสรรค์ของผู้เขียน

แน่นอน บนโลกนี้มีหลายคนที่เกิดมาพร้อมกับ ‘พรสวรรค์’ ในการคิดและเขียน อย่างมายา แองเจลู นักเขียนชื่อดังเจ้าของหนังสือ I Know Why the Caged Bird Sings พวกเขาผลิตไอเดียเจ๋งๆ ออกมามากมายและมีความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ ทิ้งให้ใครหลายๆ คนสงสัยว่าพวกเขา ‘คิดได้อย่างไร’

และจะทำอย่างไรถึงจะมีความคิดสร้างสรรค์เช่นนั้นได้บ้าง

หากเราอ่านหนังสือหรือบทความที่พูดถึงเรื่องการพัฒนาทักษะความคิดสร้างสรรค์ คงจะเห็นว่ามีหลายวิธีที่เป็นที่แนะนำ ตั้งแต่การอ่านให้เยอะ ดูให้เยอะ ฝึกทำจริง ไปจนถึงการ ไม่ทำอะไรเลย เพื่อให้สมองของเราได้คิดเรื่อยเปื่อย ซึ่งวิธีเหล่านี้จะได้ผลหรือไม่ก็แล้วแต่คน บางคนอาจไม่ชอบวิธีอย่างการไม่ทำอะไรเลย เพราะฟังดูแล้วไม่น่าจะได้อะไรเป็นรูปธรรมนัก

วันนี้เราเลยอยากจะมาแนะนำอีก ‘แบบฝึกหัด’ ที่จะพัฒนาสมองเราให้คิดอย่างสร้างสรรค์ และเป็นกิจกรรมที่ทุกคนทำได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนบนโลกนี้ ขอแค่คุณมีเวลาซัก 2-3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์และความตั้งใจ! ฟังดูน่าสนใจใช่ไหม

หากพร้อมแล้วให้หยิบปากกาและสมุดขึ้นมาหนึ่งเล่ม
จากนั้นมาทำความรู้จักแบบฝึกการสังเกตที่ชื่อว่า “People-watching” กัน

ความหมายของ People-watching: เพิ่มพลังความคิดสร้างสรรค์ด้วยการสังเกต

คำนิยามของ People-watching ก็แปลได้ตรงตัวง่ายๆ เลย คือการสังเกตผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมานั่นเอง คนในวงการเขียนหลายคนใช้วิธีนี้ในการสร้างตัวละคร ฝึกบรรยาย ฝึกสังเกต และเป็นแรงบันดาลใจในการคิดค้นเนื้อเรื่องใหม่ๆ

แล้วการสังเกตผู้คนเฉยๆ นี้ ช่วยให้เรามี ‘สร้างสรรค์’ กว่าเดิมได้อย่างไร

การสังเกต เป็น 1 ใน 4 ทักษะสำคัญในการฝึกความคิดสร้างสรรค์ (อีก 3 ทักษะที่เหลือคือการคิด การรับรู้ถึงความรู้สึก และการลงมือทำ) แต่โชคร้าย ปัจจุบันนี้โลกเราไม่เอื้อต่อการสังเกตเสียเลย! ตั้งแต่ตื่นนอนมาในทุกๆ วัน เราเห็นข้อมูลข่าวจำนวนมากผ่านตา ทั้งในโซเชียลมีเดียและในชีวิตจริง จนเราแทบจะจดจำอะไรไม่ได้เลย หากเปรียบให้เห็นภาพก็เหมือนกับการนั่งรถไฟความเร็วสูงและมองออกไปนอกหน้าต่างนั่นเอง เราจะไม่เห็นอะไรเลยนอกจากภาพมัวๆ ที่ชวนเวียนหัว

แต่ถ้าหากเราอยากเห็นบ้านเรือนในชนบท ดอกไม้ที่ขึ้นอยู่ริมทาง หรือทะเลสาบอันแสนสงบ เราคงต้องให้คนขับแตะเบรกและชะลอความเร็วลงเสียหน่อย ชีวิตจริงก็เช่นกัน หากเราอยากมองโลกให้ชัดกว่าเดิม เราต้องอยู่กับที่บ้าง

Advertisements
Advertisements

หนังสือ “Creative Acts For Curious People” ได้แนะนำขั้นตอนการฝึกสังเกตผู้คนดังนี้

1) เตรียมอุปกรณ์และสถานที่
เตรียมสมุดสักเล่ม ปากกาที่เขียนลื่นๆ สักด้าม และหาสถานที่ที่นั่งได้สบายๆ นั่งได้นาน อาจมีผู้คนมาก อย่างห้าง สวนสาธารณะ หรือที่ที่มีคนน้อยอย่างพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ก็แล้วแต่เรา

2) จับเวลา 1-3 ชั่วโมง (แล้วแต่ความถนัด) ปิดแจ้งเตือนโทรศัพท์ และวางมันไว้ให้ไกล

3) เขียนทุกอย่างที่เราสังเกตเห็น
เราสามารถเขียนได้ตั้งแต่สีผมของคนที่เดินผ่าน ท่าทางการเดิน ลักษณะการถือโทรศัพท์ หรือสีหน้า หากเราต้องการฝึกเขียนอธิบาย (Objective writing) อย่างเดียว ให้พยายามไม่ใส่ความคิดตัวเองลงไป แต่เขียนรายงานตามที่เห็นเท่านั้น

หรือถ้าหากเราอยากปล่อยจินตนาการให้ทำงานเต็มที่ไปพร้อมๆ กับการสังเกต เราก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างการเขียนจินตนาการชีวิตของคนเหล่านั้น โดยยึดจากท่าทางของพวกเขา หรือคิดว่าวันของเขาเป็นอย่างไร โดยดูจากสีหน้าของพวกเขา ณ ขณะนั้น

ช่วงแรกๆ เราจะรู้สึกสนุกและเขียนจนหยุดมือไม่ได้ แต่ผ่านไปสักพักเราจะรู้สึกเบื่อแน่นอน ในช่วงเวลานี้ พยายามอย่าหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาเล่น แต่ให้อดทนและพยายามต่อไป หากผ่านไปได้เราอาจได้พบกับไอเดียดีๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน หรือแง่มุมใหม่ๆ ที่ไม่เคยสังเกตก็ได้นะ

ไม่ใช่แค่เหล่าศิลปินเท่านั้นที่ต้องใช้ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ ในการทำงาน ปัจจุบันศาสตร์ในการออกแบบเพื่อแก้ปัญหาอย่าง Design Thinking ก็จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์อย่างมาก และไม่ว่าจะอุตสาหกรรมไหนๆ ก็ต้องการคนที่คิดนอกกรอบจนแก้ปัญหาและนำเสนอไอเดียใหม่ๆ ทั้งนั้น

หากใครสนใจ วันหยุดนี้ก็สามารถไปหาที่นั่งสังเกตผู้คน และโยนความคิดของตัวเองลงหน้ากระดาษดูได้ นอกจากจะได้ฝึกการสังเกตแล้ว เรายังได้ใช้เวลานี้พักจากโลกออนไลน์ที่แสนวุ่นวายด้วย 🙂


อ้างอิง:
https://bit.ly/3nVSM1W
หนังสือ Creative Acts For Curious People

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่