ทำไมเราจึงลืมเนื้อหาทั้งๆ ที่เพิ่งอ่านจบ? มาดู 5 วิธีสร้างความจำกัน

5423
ความจำ

หนังสือที่อ่านจบไปเมื่อสองวันก่อน เราลืมเนื้อหาไปหมดแล้วใช่มั้ย?

จากกลอนบทหนึ่งของ Siegfried Sassoon กล่าวว่า เราจำได้เกือบทุกครั้งว่าหนังสือเล่มนี้ซื้อที่ไหน ใครซื้อมาให้ จำหน้าปกของมันได้ แต่สิ่งที่เรากลับจำไม่ได้คือ ‘เนื้อหาในหนังสือ’ 

Advertisements

“To open almost any book a second time is to be reminded that we had forgotten well-nigh everything that the writer told us. Parting from the narrator and his narrative, we retain only a fading impression; and he, as it were, takes the book away from us and tucks it under his arm.”

– Siegfried Sassoon –

แน่นอนว่ามีหลายคนสามารถอ่านหนังสือเพียงครั้งเดียวก็สามารถจำเนื้อเรื่องได้ทั้งหมด แต่สำหรับหลายๆ คน การเพิ่มข้อมูลเข้าไปในสมองก็เหมือนการหย่อนหินลงไปในน้ำที่เต็มถัง และความทรงจำคือน้ำที่พร้อมจะไหลออกจากภาชนะได้ทุกเมื่อ เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น?

Jared Horvath นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ให้ความเห็นว่าเมื่อเราได้รับข้อมูลข่าวสารแล้ว เราจะเปลี่ยนที่จัดเก็บความทรงจำไปไว้ส่วนที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญ

การวิจัยพบว่าความทรงจำเป็นเหมือนอินเทอร์เน็ตที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยความจำภายนอก (Externalized Memory) เราเก็บความทรงจำเหมือนการเก็บไฟล์งานไว้ในคอมพ์ มันถูกเก็บไว้ในระบบ Cloud ที่สามารถเรียกคืนข้อมูลได้ทุกเมื่อและไม่ต้องกลัวว่ามันจะหายไป ตราบใดที่เรารู้ว่าข้อมูลนั้นอยู่ที่ใดและเข้าถึงได้อย่างไร เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องจำข้อมูลนั้นให้เปลืองพื้นที่สมองเลย

ในขณะเดียวกัน เรารู้ว่าเราสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นไม่จำเป็นที่จะต้องเซฟข้อมูลเก็บไว้ในเครื่องหรือต้องจำเนื้อหาในหนังสือ ในเมื่อเราสามารถเปิดอ่านมันได้ทุกเมื่อ หรือช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ทำให้เราสามารถดูหนังย้อนหลังได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องเซฟมันไว้ และนี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราลืมสิ่งที่เราอ่านหรือดูไป เพราะมันเป็นข้อมูลที่เรารู้ว่าอย่างไรเราก็หามันเจอ

จริงอยู่ว่า เราสามารถอ่านหนังสือได้ทีละหลายๆ เล่ม ดูซีรีส์มาราธอนหนึ่งวันหนึ่งคืน เราสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้มากมาย แต่ข้อมูลที่เราได้รับเพียงผ่านเข้ามาแล้วก็ไหลออกไป

mm2021

Jared Horvath และเพื่อนร่วมงานของเขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับความถี่ในการเสพข่าวสารข้อมูลที่สัมพันธ์กับคุณภาพความจำอย่างมีนัยสำคัญ พบว่าผู้ที่ดูรายการทีวีอย่างเมามันจะลืมเนื้อหาได้เร็วกว่าคนที่ดูหนึ่งตอนต่อสัปดาห์ หลังจากรายการทีวีจบ คนที่ดูมาราธอนทำคะแนนสูงสุดในการทดสอบความจำเกี่ยวกับรายการทีวี แต่หลังจาก 140 วัน พวกเขาได้คะแนนต่ำกว่าผู้ชมรายสัปดาห์ และพวกเขาเปิดเผยว่าพวกเขาเพลิดเพลินกับการแสดงน้อยกว่าคนที่ดูวันละครั้งหรือทุกสัปดาห์ จะเห็นได้ว่าการเว้นช่วงเพื่อรับข้อมูลสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการจำได้มากกว่าการดูแบบรวดเดียวจบ

จากการสำรวจในปี 2009 พบว่าคนอเมริกันโดยเฉลี่ยเจอคำศัพท์ 100,000 คำต่อวัน แม้ว่าคนเหล่านี้จะไม่ได้อ่านทุกคำก็ตาม Nikkitha Bakshani ได้เขียนบทความ “Binge-Reading Disorder” วิเคราะห์ตัวเลขจากการสำรวจนี้ว่า การอ่านนี้ไม่ใช่การอ่านเพื่อทำความเข้าใจ แต่เป็นการอ่านเพื่อ ‘บริโภค’ ที่เป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด โดยเฉพาะบนโซเชียลมีเดียที่อ่านเพียงเพื่อให้ได้ข้อมูล ข้อมูลที่ไม่มีโอกาสกลายเป็นความรู้  มันมีไว้เพียงเพื่อให้เรา ‘เกาะติด’ สถานการณ์ให้เรารู้ว่ามันเคยมีสิ่งนี้เกิดขึ้นมาก่อน 

เหมือนอย่างที่ Jared Horvath กล่าวไว้ “เราเห็นคนในกลุ่มหัวเราะคิกคัก แต่เราก็หัวเราะตาม ทั้งๆ เราไม่ได้รู้เรื่องราวที่พวกเขากำลังอ้างถึงเลย เราทำเพียงเพื่อต้องการประสบการณ์ชั่วขณะเพื่อให้รู้สึกราวกับว่าเราได้เรียนรู้อะไรบางอย่าง” 

ถ้าอยากให้ความรู้ที่ได้รับจากการอ่านหนังสือเป็นความจำที่ติดหนึบอยู่ในหัวนานๆ  มาลองทำวิธีง่ายๆ นี้กันดู

1) การเว้นช่วงอ่านให้ข้อมูลได้ ‘ย่อย’

บ่อยครั้งที่เราอ่าน เราจะเกิดความรู้สึก ‘ไหลลื่น’ ข้อมูลมากมายไหลเข้ามาในหัวอย่างรวดเร็ว และเราคิดว่าเราเข้าใจมัน เพราะความไหลลื่นนี้หลอกให้เราคิดว่ามันได้ถูกวางอยู่ในกล่องความจำเรียบร้อยแล้ว แต่จริงๆ แล้วมันมีไม่อยู่เลย เรามองเห็นและได้ยิน แต่เราไม่ได้สังเกตและฟัง เราเพียงรับสารนั้นเข้ามาในหัว รับเพื่อรู้ แต่ไม่ใช้เพื่อ ‘ทำความเข้าใจ’ เพราะฉะนั้นลองแบ่งช่วงเวลาในการรับข้อมูล จะทำให้เราจดจำมันได้ดียิ่งขึ้น

Advertisements

2) เขียนในสิ่งที่ได้จากการอ่าน

เพราะเราคิดว่าเราจำได้ เราจึงไม่เขียน การเขียนจะช่วยกักเก็บความรู้ อารมณ์ความรู้สึกและบทเรียนที่อาจจะหล่นหายระหว่างทางตามเวลาที่ล่วงเลยไป การเขียนจะสร้างกล่องความจำที่สามารถจับต้องได้จริงๆ เมื่อเราย้อนกลับมาดูสิ่งที่เราจดบันทึก มันจะเป็นหลักฐานที่เตือนความทรงจำเราเป็นอย่างดี 

สนใจเทคนิคการเขียนเพื่อความจำที่ดี ลองอ่านบทความ“อยากจำให้ได้ อยากเข้าใจให้ดี ลองกลับมา ‘เขียนด้วยมือ’ ดูสิ!”

3) กลับมาอ่านซ้ำอีกรอบ

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เรากลับมาอ่านซ้ำอาจมาจากความรู้สึกผิดในการอ่านเพื่อพิชิตมัน เมื่ออ่านจบเล่มลองตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราได้อะไรจากหนังสือเล่มนี้ หลังจากกวาดสายตาไล่ไปที่ตัวหนังสือ ลองหยุดสักครู่หนึ่งเพื่อนึกถึงสิ่งที่พึ่งอ่านมาแล้วย้อนกลับประโยคนั้น หน้านั้นอีกรอบหนึ่ง การอ่านที่ได้ประสิทธิภาพที่สุดคือการอ่านซ้ำ อ่านจนกว่าจะเข้าใจมันอย่างลึกซึ้ง อ่านให้ถึงแก่นของมันเพื่อเก็บตกในส่วนที่เราพลาดไป 

4) ให้ความสนใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

เสียงแจ้งเตือนจากโทรศัพท์ เสียงโทรทัศน์หรือความคิดที่วนเวียนอยู่ในหัวเรา สิ่งนี้จะเป็นตัวรบกวนการอ่านหนังสือในขณะที่เรากำลังทำความเข้าใจกับเนื้อหาและลดโอกาสในการจดจำเนื้อหา เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้ปัจจัยภายนอกมาขัดขวางการอ่านหนังสือของเรา

5) เข้าร่วมชมรมหรือกลุ่มหนังสือ

การใช้เวลาสองสามนาทีคิดถึงหนังสือที่เราเพิ่งอ่านหรือพูดคุยกับสมาชิกในชมรมหนังสือเกี่ยวกับหนังสือสามารถกระตุ้นความทรงจำให้ดีขึ้นได้ ซึ่งในปัจจุบัน กลุ่มชมรมผู้สนใจหนังสือมีจำนวนมากขึ้นและสามารถเข้าร่วมง่ายๆ ผ่านกลุ่มบนโซเชียลมีเดียต่างๆ อย่างเฟซบุ๊ก เป็นต้น ทำให้เราสามารถที่จะติดตามอัปเดต พูดคุย และแนะนำหนังสือได้ในกลุ่มเหล่านี้เช่นกัน

การอ่านที่มีประสิทธิภาพเริ่มต้นจาก ‘ความเข้าใจ’ เมื่อเข้าใจจึงจำได้ และจะจำได้ก็ต่อเมื่อเราใช้ข้อมูลนั้นบ่อยๆ


แปลและเรียบเรียงจาก:
https://bit.ly/3kj9Cq8
https://bit.ly/3nITSi0

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill

ติดตามความเคลื่อนไหวและเนื้อหาน่าสนใจอื่นๆ ได้ที่ https://missiontothemoon.co/

Advertisements