เมื่อ Work-Life ไม่ Balance คุณกำลัง “ทำงานเพื่อใช้ชีวิต” หรือ “มีชีวิตเพื่อทำงาน” กันแน่?

4551

“Work to Live” หรือ “Live to Work” ทุกวันนี้เรากำลังทำงานแบบไหนกันอยู่…

นี่คงเป็นคำถามที่ค้างคาในใจเราตลอดชีวิตการทำงาน หลายคนมักถามตัวเองอยู่เสมอว่า สรุปแล้ว ตัวเราในตอนนี้ทำงานไปเพื่อใช้ชีวิตอยู่ต่อ หรือว่าเรากำลังมีชีวิตไว้เพื่อทำงานกันแน่

จริงๆ แล้ว การ “Work to Live (ทำงานเพื่อใช้ชีวิต)” หมายถึง การทำงานเพื่อให้เราสามารถสนุกกับสิ่งอื่นในชีวิตที่นอกเหนือจากงาน เช่น นำเงินเดือนไว้พาตัวเองไปเที่ยวต่างประเทศ และหลังเรากลับบ้านมา ก็ไม่ควรมีงานติดกลับมาให้ทำต่ออีก ซึ่งในชีวิตจริง นี่เป็นเรื่องที่ยังคงเป็นปัญหาและท้าทายคนวัยทำงานอยู่มาก

ในขณะที่ การ “Live to Work (มีชีวิตเพื่อทำงาน)” อาจแปลได้สองความหมาย อย่างแรกคือ “ชีวิตเราขึ้นอยู่กับงาน” และไม่มีสิ่งอื่นใดมีความหมายต่อชีวิตนอกจากงาน เพราะเราต้องทำงานโดยไม่มีเวลาใช้ชีวิต สิ่งอื่นอาจจะมีความหมายมากกว่า แต่กลับถูกงานจำกัดให้ต้องละทิ้งมันไป ซึ่งแบบนี้ไม่ดีต่อชีวิตเราแน่ๆ สองคือ เรารักงานของเรามากจนไม่มีเส้นกั้นระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว

ปัจจุบัน คนส่วนมากทำงานประมาณ 8 ชั่วโมงต่อวัน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และมากกว่า 2,000 ชั่วโมงต่อเดือน บางคนอาจทำงานหนักและมากเกินกว่านี้ แต่จะโทษที่ตัวพวกเขาไม่ได้ เพราะพวกเขากำลังปฏิบัติตามสิ่งที่เรียกว่า “วัฒนธรรมการทำงาน (Working Culture)”

ข้อมูลจาก Kisi (2021) เผยเมืองท็อป 5 ที่พนักงานทำงานหนักที่สุด ซึ่งประเทศไทยครองอันดับ 3 และมีอีกหลายๆ ประเทศส่วนใหญ่ในฝั่งเอเชีย ทั้งฮ่องกงที่เป็นอันดับ 1 สิงคโปร์ครองอันดับ 2 และเกาหลีใต้อันดับ 5 ที่เชิดชูวัฒนธรรมทำงานหนักอย่างเช่น การที่ลูกจ้างจะต้องทำงานหนักตลอดเวลา พร้อมตอบข้อความเสมอ กลับบ้านเย็น ต่อให้งานเสร็จก็กลับก่อนเวลาไม่ได้

ในขณะที่บางประเทศสนับสนุนให้พนักงานมีชีวิตการทำงานที่ดีขึ้น ซึ่งส่วนมากเป็นประเทศในแถบยุโรป เช่น เดนมาร์ก สเปน เนเธอร์แลนด์ ฯลฯ ซึ่งแม้จะมีบางคนต้องทำงานหนัก แต่พวกเขาก็ยังสามารถมีเวลาให้ชีวิตตัวเองได้เกิน 50% ของวัน และเปอร์เซ็นต์ผู้ที่ต้องทำงานหนักน้อยกว่ามากเมื่อเทียบกับฝั่งเอเชีย

ปัญหาของการทำงานหนักเกินไปคงหนีไม่พ้นสุขภาพกายและใจของพนักงานที่พังลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้เรามีวิถีชีวิตการทำงานที่ดีคือ “สมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว (Work-Life Balance)”

ทำไมเราถึงต้องรักษาสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัว?

หลายคนถูกสอนมาว่า อย่าให้เรื่องส่วนตัวกระทบเวลางาน จนเผลอมองข้ามงานที่เข้ามากระทบเวลาส่วนตัว ทำให้เราให้ความสำคัญกับงานมากจนไม่รู้ว่าตนเองกำลังเครียด และมีอารมณ์ที่ไม่มั่นคง แม้ว่าปัญหาที่เผชิญจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ผู้ที่ขาดสมดุลก็จะรู้สึกกดดันและเครียดเกินกว่าที่เป็น ทำให้มีปากเสียงกับคนรอบข้างได้ง่ายขึ้น จนไม่อยากจะคุยหรือมองหน้ากัน หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ต่อไป ผู้ที่ทำงานหนักอาจเป็นโรควิตกกังวลและโรคซึมเศร้ามากขึ้นได้

นอกจากสุขภาพจิตจะพังแล้ว สุขภาพกายก็ทรุดโทรมลงจนเพิ่มโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจมากขึ้น ซึ่งการวิจัยปี 2015 บอกว่า ผู้ที่ทำงานประมาณ 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือมากกว่านี้ เสี่ยงเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) เพิ่มขึ้น 1.3 เท่าของผู้ที่ทำงานตามมาตรฐานชั่วโมงทำงาน (ประมาณ 40-44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์)

สาเหตุที่การทำงานหนักเพิ่มความเสี่ยงให้ร่างกายเกิดโรคต่างๆ ได้ นั่นเป็นเพราะ ร่างกายเรานอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จนร่างกายปรับการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้ไม่ดี สมองต้องทำงานหนักตามไปด้วย จากเดิมในปี 1910 เรามีช่วงเวลาการนอนอยู่ที่ 9 ชั่วโมงต่อวัน แต่ในปัจจุบันผู้คนมีแนวโน้มนอนหลับโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 7 ชั่วโมงหรือต่ำกว่านี้

แม้ในขณะนี้ เราอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบของการไม่รักษาสมดุลการทำงาน แต่การวิจัยจากมหาวิทยาลัย Jyväskylä ในฟินแลนด์ได้ศึกษาผลกระทบจากการทำงานหนักรวมถึงพักผ่อนน้อยที่มีต่อสภาพการทำงานร่างกายของผู้ที่อยู่ในวัยกลางคน

พวกเขาเก็บข้อมูลจากนักธุรกิจชายมากกว่า 1,000 คน โดยใช้เวลา 26 ปีในการเก็บข้อมูล นักวิจัยพบว่า พอถึงช่วงวัยกลางคน ผู้ที่ทำงานหนักจนพักผ่อนน้อย มีสภาพร่างกายที่ทำงานได้สมบูรณ์น้อยกว่าทั้งผู้ที่มีชั่วโมงทำงานและระยะนอนหลับตามปกติ และผู้ที่ทำงานหนักแต่ได้นอนหลับตามปกติ

เมื่อรู้ผลกระทบที่ตามมาอย่างนี้แล้ว เราอาจจะคิดว่า จะมีวิธีที่จะรักษาสมดุลชีวิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีได้อย่างไรกัน เพราะรู้สึกว่า มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะไม่ทำงานหนัก หรือจะเอาเวลาที่ไหนไปพัก ถ้างานยังไม่เสร็จ

แต่จริงๆ แล้ว ถ้าเราปรับที่งานไม่ได้ ก็ปรับพฤติกรรมในการทำงานก่อนเลยให้เกิดสมดุลในการใช้ชีวิตมากขึ้น ซึ่ง 3 วิธีนี้จะช่วยให้ทุกคนทำงานหนักอย่างไรให้ไม่กระทบต่อสุขภาพ

1. มองหาประสิทธิผลของงานและชีวิต

ความหมายของการบรรลุประสิทธิผลของงานและชีวิตในที่นี้คือ การทำให้งานพอดีกับมุมมองอื่นๆ ในชีวิต เพราะในชีวิตจริง การจัดสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวให้แบ่งเวลาได้ชัดเจนหรือแยกออกจากกันเป็นเรื่องที่ยากมาก ดังนั้นเราจึงควรปรับสิ่งต่างๆ ในงานและชีวิตให้เป็นไปในทางเดียวกัน เพื่อให้เรามีพลังใจและกายรวมไปถึงสมาธิในการทำงานมากขึ้น ไม่ต้องว่อกแว่กโฟกัสสลับกันไปมา

เช่น ลองให้ครอบครัวของเราเป็นแหล่งรวมแรงบันดาลใจหรือไอเดียดีๆ ในการทำงาน ซึ่งการหมั่นพูดคุยเรื่องงานในครอบครัว จะทำให้ตัวเราไม่รู้สึกแบกรับอยู่เพียงคนเดียว ยังคงมีครอบครัวหรือคนรอบข้างที่ให้กำลังใจอยู่เสมอ แถมถ้าบางความคิดสามารถนำมาปรับใช้ในงานได้ ยังเป็นการลดเวลาที่ต้องใช้คิดงานอีกด้วย

Advertisements
Advertisements

2. ลองใช้เวลาหาคำจำกัดความของความสำเร็จในชีวิตดู

บางคนเลือกทุ่มเทให้กับงานจนหมดตัว เพราะเชื่อว่านี่คือความสำเร็จเดียวในชีวิตที่พวกเขาทำได้ ซึ่งจริงๆ แล้ว เราก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตด้านอื่นๆ ที่ไม่ใช่งานได้เหมือนกัน เช่น ด้านกีฬา เราอาจมีความสามารถในการตีแบดมินตันเก่งมาก หรือด้านการสังสรรค์ เราอาจเป็นคนที่สามารถเล่นเกมกับเพื่อนแล้วชนะตลอดก็ได้

การที่เรามองหาความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ นี้จะช่วยเป็นแรงจูงใจให้เรารู้สึกอยากปรับเวลาทำงานให้สมดุลกับชีวิตมากขึ้น เพื่อที่เราจะได้มีเวลาไปทำสิ่งที่ไม่ใช่งานมากขึ้นกว่าเดิม

3. เก็บงานไว้ทำแค่ที่ทำงานให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

นี่อาจเป็นสิ่งที่เราแก้ไขได้ยากที่สุดแล้ว เพราะมีปัจจัยอื่นๆ อยู่ที่ประเภทของงานที่ทำ และเราทำงานให้ใคร แต่ถ้าเป็นไปได้ ลองแยกที่ทำงานกับบ้านที่เราใช้ชีวิตออกจากกัน อย่าให้ทับซ้อนจนเราไม่รู้ว่า ตอนนี้เรากำลังพักอยู่ที่บ้านหรือแค่เปลี่ยนที่ทำงานกันแน่

แม้ว่าการ Work From Homeจะทำให้ข้อนี้ดูแทบเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้สำเร็จ แต่เรายังพอมีทางอื่นอยู่ เช่น ลองแยกสัดส่วนห้องในตัวบ้านสำหรับการนั่งทำงานและการพักผ่อน ไม่เอางานมาทำในห้องนอน อาจจะจำกัดพื้นที่ในการทำงานอยู่แค่ที่ห้องทำงานหรือห้องนั่งเล่น หากรู้สึกเครียด หรือคิดงานไม่ออกให้พัก แล้วย้ายตัวเองกลับมาห้องสำหรับพักผ่อนจริงๆ

การฝึกให้ตัวเองแยกที่ทำงานออกจากพื้นที่พักผ่อนนี้เป็นการทำให้ร่างกายรับรู้เวลาทำงาน ไม่ให้เรารู้สึกเครียดมากเกินไปในช่วงเวลาเลิกงาน จนนอนหลับไม่เพียงพอ

สุดท้ายนี้ หากเราเลือกที่จะ Live to Work หรือไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากปัจจัยที่เราพยายามทำให้ชีวิตการทำงานสมดุลกับชีวิตส่วนแล้ว ปัจจัยภายนอกอย่างวัฒนธรรมการทำงานก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ที่อาจจะเป็นตัวกำหนดความพยายามนั้นว่าจะสำเร็จได้หรือไม่

ดังนั้น หากเป็นไปได้ ภาครัฐและภาคเอกชนอาจต้องลองปรึกษาหารือ สร้างวัฒนธรรมหรือกฎหมายด้านการทำงานเสียใหม่ เช่น ล่าสุดที่ประเทศโปรตุเกสออกกฎหมายใหม่ที่เรียกว่า “สิทธิในการพักผ่อน (Right to Rest)” ซึ่งห้ามให้หัวหน้างานส่งข้อความและอีเมลอื่นๆ ถึงพนักงานนอกเวลาทำงาน หากฝ่าฝืนจะถูกปรับเงิน

หรือในประเทศฝรั่งเศสที่ออกกฎหมาย “สิทธิที่จะตัดขาดการสื่อสารนอกเวลาทำงาน (Right to Disconnect)” นอกจากพนักงานไม่จำเป็นต้องตอบข้อความหัวหน้าหลังเลิกงานแล้ว กฎหมายยังกำหนดให้พนักงานต้องไม่ทำงานเกิน 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งจะช่วยให้พนักงานไม่ต้องทำงานมากไปจนกระทบเวลาส่วนตัวของพวกเขา

แม้ในมุมมองของผู้ประกอบการหรือเจ้าของบริษัทอาจรู้สึกว่า นี่จะทำให้พวกเขาขาดทุน แต่หากพนักงานทำงานหนักมากไป จนพวกเขามีสุขภาพกายหรือใจไม่สมบูรณ์ก็อาจทำให้งานที่ได้ไม่สมบูรณ์ตาม เพราะฉะนั้นการให้พนักงานได้พักผ่อนตามที่ควรจะเป็นอาจเป็นการลงทุนที่ดีและคุ้มค่าที่สุดก็ได้


อ้างอิง:
https://bit.ly/3qheoYe
https://bit.ly/33ceyXQ
https://bit.ly/3FsBRtT
https://bit.ly/3tgFznH
https://bit.ly/33uoQCs

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskill

Advertisements

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่