เพราะคำพูดเปรียบเสมือน “ดาบสองคม”
เราอยู่ในยุคที่ความเจริญของเทคโนโลยีมอบ “อิสรภาพ” ในการวิจารณ์ให้แก่เรา ทั้งปุ่มไลก์ ปุ่มแชร์ และช่องคอมเมนต์ล้วนเปิดโอกาสให้เราได้แสดงความคิดเห็น เพื่อสร้าง “ตัวตน” ของเราที่แตกต่างและน่าจดจำในสังคม แต่ “อิสรภาพ” นั้นยังหมายถึงโอกาสที่คนอื่นจะวิจารณ์ตัวเราด้วยเช่นกัน
ในพอดแคสต์ Mission To The Moon EP. 1919 “รู้จักปรากฏการณ์ทางสังคมที่เป็นเหมือนดาบสองคม” คุณรวิศกล่าวถึงกระแสการขับเคลื่อนในสังคมที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่โลกออนไลน์ส่งพลังให้กระแสนี้เด่นชัดขึ้น นั่นคือ “Political Correctness (การหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาและพฤติกรรมที่ส่งเสริมการกดทับเชิงโครงสร้าง)” และ “Cancel Culture (วัฒนธรรมการแบน)” ซึ่งทั้งสองปรากฏการณ์สัมพันธ์กับการผลักดันค่านิยมต่างๆ ในสังคม ทั้งการเมือง สิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และความเท่าเทียมทางเพศ
บริบทสังคมปัจจุบันขับเคลื่อนโดยการทบทวนค่านิยมชุดเก่า ช่วยกันให้ความรู้ชุดใหม่ ตักเตือนกันเอง และสนับสนุนการแสดงจุดยืนทางความคิดโดยวิธีการต่างๆ แม้ว่าการขับเคลื่อนสังคมด้วยวิธีนี้จะสร้างผลลัพธ์แห่งการเปลี่ยนแปลงที่มีพลังมาก แต่ในอีกมุมหนึ่งกลับกลายเป็น “เครื่องมือ” สำหรับทำลายฝั่งที่เห็นต่างและไม่ถูกใจ
หากเราใช้ “Cancel Culture” ในการวิจารณ์และตัดสินผู้อื่นอย่างขาดตรรกะและจริยธรรมที่เหมาะสม จะทำให้ “Cancel Culture” เป็นอีกหน้าตาหนึ่งของ “การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbully)” และ “การคว่ำบาตร (Boycotting)” ซึ่งปัจจุบันก็มีเหยื่อจำนวนมากจาก “Cancel Culture” ซึ่งเป็นทั้งคนทั่วไปและคนมีชื่อเสียง
เนื่องจาก “Cancel Culture” มักจุดติดเป็นกระแสในโลกออนไลน์ได้ง่าย ผู้คนยังสามารถติดตามประเด็นต่างๆ จากแฮชแท็ก (#) ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว พลังของมวลชนหมู่มากยังส่งเสริมกันเองจนกลายเป็นการคล้อยตาม และเกิดเป็น “The Bandwagon Effect” ที่อาจเต็มไปด้วยอคติทางความคิด หรือ “Cognitive Bias”
เราคล้อยตามกระแสเพราะอคติทางความคิด (Cognitive Bias) หรือเปล่า?
ปรากฏการณ์เกาะกระแสอธิบายได้ด้วยหลายปัจจัย เช่น มนุษย์ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโดยธรรมชาติและไม่ต้องการรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น อีกทั้งมนุษย์เรายังมีอีโก้ของความต้องการที่จะเป็น “ฝ่ายถูก” หรือ “ฝ่ายชนะ” เสมอ ยิ่งคนที่เห็นด้วยกับเรามีมากขนาดไหน ความมั่นใจว่าตนเองจะเป็นฝ่ายถูกก็ยิ่งมีมากเท่านั้น
การคล้อยตามไปกับกระแสสังคม ในบางครั้งอาจแอบแฝงไปด้วยอคติทางความคิด (Cognitive Bias) ที่เป็นหลุมพรางทำให้เราอาจตัดสินใจพลาด หรืออาจทำให้เราตัดสินใจอย่างไม่สมเหตุสมผล
ตัวอย่างของอคติทางความคิด (Cognitive Bias) เช่น
[ ] The Confirmation Bias
เรายืนยันความถูกต้องของตนเอง ด้วยการอ้างข้อมูลที่ “สนับสนุน” ว่าเราถูกต้อง เราอาจเข้าใจว่าตนเองได้หาข้อมูลอย่างรอบด้านและเพียงพอที่จะสรุปการตัดสินใจแล้ว แต่หากลองทบทวนใหม่อีกครั้ง เราจะพบว่า แหล่งที่มาของข้อมูลมักมาจากแหล่งที่เราเชื่อถือ จากสื่อที่มีความคิดแบบเดียวกับเรา หรือจากคอมเมนต์ของคนที่เรากดติดตาม เพราะเขาให้คุณค่าในสิ่งเดียวกันกับเรา
อคติที่เกิดจากการห้อมล้อมด้วยข้อมูลที่เป็นมิตรต่อความเชื่อตนเองมากจนเกินไป อาจทำให้เรามองเห็นเหรียญไม่ครบทั้งสองด้าน เพราะเราเลือกจับแต่ข้อมูลที่เรารู้สึกว่าถูกต้องเท่านั้น ในบางสถานการณ์จึงทำให้คนสองคนที่กำลังชมรายการเดียวกัน แต่กลับได้ข้อสรุปออกมาแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าตนเองพอใจในข้อสรุปแบบใด
[ ] The Anchoring Bias
“The Anchoring Bias” คืออคติที่เราจะเชื่อ “ข้อมูลแรก” ที่เราได้รับก่อน ซึ่งอคติในข้อนี้ถูกนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดชนิดหนึ่ง ถ้าแบรนด์ไหนสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้ก่อน แม้ว่าภายหลังจะมีแบรนด์อื่นๆ เข้ามาแข่งขันในตลาดเดียวกัน แต่ก็มีแนวโน้มว่า ผู้บริโภคจะจดจำและเชื่อใจแบรนด์ที่เข้าถึงพวกเขาได้ก่อนอันดับแรก
งานวิจัยจำนวนหนึ่งยังศึกษาพบว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดอคติปักใจเชื่อแต่ข้อมูลแรก (The Anchoring Bias) คือแหล่งที่มาของข้อมูล และปัจจัยอื่นๆ คือความรู้สึกและอารมณ์ของผู้รับสาร ฉะนั้นสื่อและคอมเมนต์ของคนที่เราติดตามจึงมีผลต่อ “ความคิดแรก” ของเราเป็นอย่างมาก และความรู้สึกตามกระแสสังคมอาจทำให้เรารู้สึกเชื่อตามโดยไม่ได้ตั้งใจ
เราจึงควรสร้างระยะห่างก่อนตัดสินใจเชื่อความคิดแรกของตนเอง เพราะเมื่อครั้งหนึ่งเราตัดสินใจเชื่อไปแล้ว แม้ว่าจะมีข้อมูลอื่นเข้ามาหักล้างภายหลัง แต่เราก็มีแนวโน้มว่าจะยังจดจำแต่ภาพแรกที่เคยเห็น จนยากที่จะเปลี่ยนความคิดอีกครั้ง
ผลของการปักใจเชื่อและเสริมพลังกันเอง ทำให้เกิดเป็นชุดความคิดที่อาจไม่ตรงกับความเป็นจริง หลายครั้งจึงทำให้เกิดเหตุการณ์ “โดนแบน” ทั้งที่เหยื่อไม่ได้ทำอะไรผิด กรณีของนักแสดงชื่อดัง จอห์นนี่ เดปป์ (John Christopher Depp) เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของผู้บริสุทธิ์ที่สูญเสียทั้งอาชีพ ความสัมพันธ์และหน้าตาทางสังคม เพราะถูกตัดสินจากโลกออนไลน์ที่ปักใจเชื่อข้อมูลเพียงด้านเดียว
ดังนั้น ก่อนเราจะแสดงความเห็นเรื่องใดก็ตาม ให้สงสัยไว้ก่อนว่าความคิดแรกของเราอาจจะไม่ได้สมเหตุสมผลตามความเป็นจริง แต่เป็นความคิดที่อาจผ่านอคติของคนอื่นมาก่อนจะถึงตัวเรา และออกมาเป็นความเห็นของเราที่ไม่สมเหตุสมผลเท่าที่ควร
ก่อนวิจารณ์ใครให้ลองเช็กความคิดของตนเองเป็นอันดับแรก
การรับข้อมูลรอบด้านก่อนสื่อสารออกไปจึงสำคัญมากในโลกปัจจุบัน ผู้คนจ้องมองและพร้อมวิจารณ์เราตลอดเวลา ก่อนที่เราจะคอมเมนต์หรือวิจารณ์ใคร อย่างน้อยให้เราถอยออกมาจากความคิดนั้นก่อน และประเมินตามแนวทางนี้ดูว่า เราเผลอทำให้ความคิดของตนเองกลายเป็นดาบสองคม ซึ่งสุดท้ายจะย้อนกลับมาทำร้ายตัวเราหรือไม่?
1. เรากำลังใช้ตรรกะวิบัติ (Logical Fallacy) ในความเห็นนี้หรือเปล่า?
ในทุกคำพูดของเรามีเหตุผล แต่บางครั้งเหตุผลอาจไม่ “สมเหตุสมผล” เสมอไป บางตรรกะของเราอาจมีรอยรั่วบางประการโดยที่เราไม่รู้ตัว ตรรกะวิบัติ (Logical Fallacy) มีหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น
[ ] The Straw Man Fallacy : บิดเบือนคำพูดหรือคำโต้เถียงของอีกฝ่าย ทำให้เนื้อหาของฝ่ายตรงข้ามไม่ตรงตามความหมายเดิมเพื่อให้ง่ายต่อการโจมตีและการโต้แย้ง เช่น “เราต้องเลื่อนการหารือเรื่องนี้ไปก่อน” อาจโดนบิดเป็น “คุณจะบอกว่ามติเรื่องนี้ไม่สำคัญหรือ?”
[ ] The Appeal to Authority Fallacy : อ้างความถูกต้องเพราะว่าเป็นข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญ มักเห็นได้ทั่วไปตามการรีวิวสินค้าและการโฆษณา เช่น สินค้าที่ศิลปินดาราไว้วางใจ ข้อมูลที่รับรองโดยนักวิจัย หรือคำพูดจากอาจารย์คณะมหาวิทยาลัยชื่อดัง
[ ] The Correlation/Causation Fallacy : อ้างความเป็นเหตุและผลของสองเหตุการณ์ แม้ว่าสองเหตุการณ์นั้นจะมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ไม่ได้หมายความว่าจะนับเป็นสาเหตุให้เกิดผลลัพธ์เสมอไป เช่น เพราะว่าเขาเป็นคนจนจึงทำให้เขาก่ออาชญากรรม เพราะว่าเขาเป็นคนรวยจึงเป็นคนที่หวังผลประโยชน์เสมอ
2. คำวิจารณ์ของเรากระทบใครบ้าง?
คำวิจารณ์ที่มักทำให้เกิดประเด็นถกเถียงจนเป็นเรื่องใหญ่โตคือ คำวิจารณ์ที่ “พาดพิง” บุคคลอื่น แม้ว่าการวิจารณ์ในบางเรื่องจะไม่สามารถเลี่ยงชื่อผู้อื่นเข้ามาเกี่ยวข้องได้ แต่อย่างน้อยให้เราลองประเมินดูว่าคำวิจารณ์ของเราที่กล่าวถึงคนอื่นนั้น เป็นการกล่าวถึงในลักษณะใด? เรากำลังพูดถึงผลงานหรือตัวตนของเขา? และเรากำลังดูถูกหรือเหยียดหยามเขาหรือเปล่า?
หากเราแสดงความเห็นเร็วเกินไป โดยที่ไม่ได้ทบทวนเนื้อหาอย่างรอบด้าน อาจทำให้การวิจารณ์ที่ควรใช้เหตุผลเป็นหลัก กลายเป็นการด่าหรือมุ่งทำลายฝั่งตรงข้ามโดยใช้อารมณ์นำ
3. จุดยืนของเราต่อเรื่องนี้คืออะไร?
เป็นไปไม่ได้ที่คอมเมนต์ของเราจะไม่โดนโต้ตอบกลับมาเลย ในสังคมย่อมมีผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับเราและพร้อมชี้แจงแก้ต่างตลอดเวลา ดังนั้นการโต้ตอบกันไปมาจึงเลี่ยงได้ยาก แต่จุดสำคัญของการโต้ตอบคือ เราต้องรู้ว่าเราควรโต้ตอบอย่างไรที่จะไม่ทำให้เรื่องแย่ลง และไม่ทำให้เราย้อนแย้งกับคุณค่าในตนเอง
บางทีก่อนการแสดงความเห็น เราควรตั้งคำถามถึงจุดยืนของตนเองในปัจจุบัน เช่น เราอยากให้ตนเองเป็นคนแบบไหน? เราอยากให้ผู้อื่นมองเราในฐานะอะไร? เราให้ความสำคัญหรือให้คุณค่ากับเรื่องอะไรมากที่สุด? เราพบว่าความเห็นของเรามีจุดบกพร่องอะไรบ้าง?
การสงสัยที่ไม่ทำร้ายหรือส่งผลเสียต่อสังคมคือ การตั้งข้อสงสัยกับความคิดของตนเอง แม้ว่าเราอาจจะไม่ชอบใจและไม่เห็นด้วยกับค่านิยมของคนบางกลุ่ม แต่ใช่ว่าความเชื่อของเราจะเป็นฝ่ายถูกเสมอ เพราะความถูกต้อง ความเชื่อ และความพอใจสามารถเปลี่ยนผันกันได้ตามกาลเวลา
อ้างอิง
– รู้จัก 2 ปรากฏการณ์ทางสังคม ที่เป็นเหมือนดาบสองคม | Mission To The Moon EP.1919
: รวิศ หาญอุตสาหะ – https://bit.ly/3R1TFp5
– List of Common Cognitive Biases : Kendra Cherry – https://bit.ly/3sEwCGq
– The Bandwagon Effect as a Cognitive Bias : Kendra Cherry – https://bit.ly/3L5tdHk
– 16 Common Logical Fallacies and How to Spot Them : Karla Hesterberg – https://bit.ly/3P0IEl2
#society
#cancelculture
#cognitivebias
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast