SOCIETYต้นไม้เยอะยังไม่ใช่ ‘เมืองที่ดี’ เจาะองค์ประกอบของ Livable City ที่ต้องมีมากกว่าแค่พื้นที่สีเขียว

ต้นไม้เยอะยังไม่ใช่ ‘เมืองที่ดี’ เจาะองค์ประกอบของ Livable City ที่ต้องมีมากกว่าแค่พื้นที่สีเขียว

หากพูดถึงเมืองในฝันที่ทุกคนอยากอาศัยอยู่ คำตอบใกล้ตัวที่เราพอจะนึกได้เร็วก็คงไม่พ้นเมืองในประเทศญี่ปุ่น เกาหลี หรือเมืองที่แต่ละคนเคยไปท่องเที่ยวแล้วรู้สึกประทับใจ

หรือถ้าให้บรรยายลักษณะของเมืองน่าอยู่ที่เราอยากใช้ชีวิตไปนานๆ คงจะเป็นภาพเมืองที่มีต้นไม้เยอะๆ มีทางเดินสบายๆ มีระบบขนส่งสาธารณะที่สะดวกจนไม่ต้องซื้อรถยนต์ หรือเป็นเมืองสะอาดที่ไม่มีมลพิษมาบั่นทอนสุขภาพของเรา

แนวคิดเรื่องเมืองน่าอยู่ (Livable City) หรือเมืองสีเขียว (Green City) กำลังแพร่หลายอย่างมากในปัจจุบัน เมืองที่น่าอยู่ (Livable City) หมายถึง เมืองที่สร้างความสุขและความสะดวกสบายให้กับผู้อยู่อาศัย ส่วนเมืองสีเขียว (Green City) หมายถึง เมืองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ออกแบบโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อมและธรรมชาติเป็นสำคัญ

ทั้งสองแนวคิดไม่ได้มีลักษณะเดียวกัน แต่ก็เป็นเมืองที่สามารถรักษาทรัพยากรต่างๆ ภายในเมืองได้อย่างยั่งยืน และลดผลกระทบความรุนแรงของปัญหา Climate Change ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น เราเองต่างก็รู้ดีว่าการมีต้นไม้เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้เกิด Cooling Effect ซึ่งทำให้เมืองของเราเย็นลงได้ นั่นก็ฟังดูเป็นความคาดหวังของผู้คนในเมืองร้อนอย่างพวกเรา

หลายๆ เมืองจึงเริ่มตระหนักถึงการพัฒนาเมืองให้เป็น Livable City หรือ Green City โดยพยายามออกนโยบายที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้และสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น เช่น การปรับปรุงทัศนียภาพของเมือง การบำรุงดูแลสวนสาธารณะภายในเมือง หรือโครงการปลูกต้นไม้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่านี่อาจจะเป็นเป้าหมายของผู้นำหลายๆ คน ทั้งในระดับเมืองและระดับประเทศ แต่ก็ยังมีข้อถกเถียงเกิดขึ้นในวงกว้างว่า ‘ต้นไม้’ คือคำตอบที่ใช่ที่สุดแล้วจริงหรือไม่ สำหรับโจทย์ของการเป็น Livable City

“ต้นไม้” จากสัญลักษณ์ของชีวิต เปลี่ยนเป็นความหมายทางการเมือง

หนังสือชื่อ The Living City: Why Cities Don’t Need to Be Green to Be Great ซึ่งเป็นผลงานเขียนของเดส ฟิตซ์เจอรัลด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านมนุษยศาสตร์ด้านการแพทย์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์ก ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับความพยายามคิดนโยบายเกี่ยวกับต้นไม้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมปลูกต้นไม้ การสร้างสวนสาธารณะ หรือการบำรุงพื้นที่ธรรมชาติภายในเมืองของเหล่านักคิด นักการเมืองและสถาปนิกเมืองนั้นแฝงไปด้วยนัยทางการเมืองทั้งสิ้น

จริงอยู่ว่า Livable City และ Green City เป็นนโยบายที่คิดขึ้นมาเพื่อจุดประสงค์ในการยกระดับชีวิตของผู้คนในเมืองให้สุขสบายมากยิ่งขึ้น แต่ฟิตซ์เจอรัลด์มองว่าการพัฒนาที่แฝงไปด้วยผลประโยชน์ทางการเมืองคงไม่ใช่การพัฒนาที่ยั่งยืน

เพราะการสร้างหรือปรับเปลี่ยนทัศนียภาพภายในเมืองให้เป็น Livable City หรือ Green City เป็นนโยบายที่ใช้งบประมาณมหาศาล ทั้งต้องลงทุนกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง การเพิ่มพื้นที่สาธารณะที่เป็นมิตรต่อคนในเมืองและสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนภายในเมือง ยิ่งไปกว่านั้นทั้งต้นไม้และสวนต่างๆ ก็จำเป็นที่จะต้องได้รับการดูแลบำรุงรักษาต่อไปเรื่อยๆ

Liveble City เป็นเมืองที่ต้องเป็นตรงกลางของทุกด้าน คนก็ต้องสุขสบาย พื้นที่สาธารณะก็ต้องมี ธรรมชาติและระบบนิเวศก็ต้องรักษา นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีซึ่งช่วยในการพัฒนาเมืองอีกนับไม่ถ้วนที่มีมูลค่ามหาศาลให้เราได้เลือกลงทุน ดังนั้นหากเมืองไหนดำเนินนโยบาย Livable City หรือ Green City โดยไม่คำนึงถึงความยั่งยืน หรือไม่มีใครสานต่อนโยบายนี้ต่อไป ก็จะกลายเป็นการเสียงบประมาณจำนวนมหาศาลโดยใช่เหตุ

“ป่าไม้” บ้านของคนกลุ่มหนึ่งที่สร้างความรู้สึกเหมือนถูกคุกคามให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง

แม้เราจะรู้คุณประโยชน์ที่ได้จากต้นไม้และป่าไม้ว่าช่วยทำให้โลกของเราเย็นลง และเพิ่มการดูดซับอากาศพิษให้เราได้หายใจอย่างปลอดโปร่งมากขึ้น แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนในเมืองใหญ่ไม่ได้รู้สึกปลอดภัยกับพื้นที่ป่าเท่าไรนัก

ทั้งความไม่เชี่ยวชาญพื้นที่ป่า ทำให้มีเรื่องราวหลงป่าให้ได้ยินบ่อยๆ ทั้งอันตรายจากสัตว์ป่า รวมถึงภาพลักษณ์ที่น่ากลัว ลึกลับและแฝงไปด้วยอันตรายที่มองไม่เห็นจากสื่อ คนเมืองจึงพยายามสร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับตัวเอง ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่ป่าเหล่านั้นให้มีความเป็นเมืองมากขึ้น ให้ผู้คนได้อาศัยและใช้ชีวิตในพื้นที่ตรงนั้นได้อย่างสบายใจ นี่จึงเป็นเหตุผลที่พื้นที่ป่าในเมืองค่อยๆ น้อยลงทุกที

ยิ่งไปกว่านั้นยังมีประเด็นที่อยู่นอกเหนือความคาดหมายของเราไปอีก นั่นก็คือสัญลักษณ์เชิงอำนาจของป่าไม้ โดยเฉพาะพื้นที่อนุรักษ์ในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นเขตที่อยู่อาศัยของชาวพื้นเมืองอเมริกา และเต็มไปด้วยป่าไม้ รวมถึงแหล่งน้ำธรรมชาติที่ชนพื้นเมืองอเมริกาอยู่ร่วมกับสัตว์ป่าบางชนิดที่ยังหลงเหลืออยู่

โดร์เซตา เทย์เลอร์ นักสังคมวิทยาและนักประวัติศาสตร์ได้อธิบายให้เห็นถึงพัฒนาการของกระแสการเรียกร้องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ ว่ามีแนวคิดของการต่อต้านสิ่งแวดล้อม (Anti-environmentalism) เกิดขึ้นมานานแล้ว สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งก็เพราะว่าความรู้สึกถูกคุกคามที่คนเมืองกลัวนั่นเอง

เพราะแต่เดิมอเมริกาไม่ใช่พื้นที่ของฝรั่งตาสีอ่อนที่เราคุ้นชิน การยึดอาณานิคมและอพยพชาวยุโรปบางส่วนเข้ามาในอเมริกาทำให้พื้นที่เดิมของชาวพื้นเมืองที่อยู่มาก่อนถูกรุกราน ก่อนจะพัฒนามาเป็นสหรัฐฯ อเมริกาที่เรารู้จักในปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้พื้นที่เมืองใหญ่จึงเป็นที่อยู่อาศัยของคนขาว ซึ่งเป็นเจ้าอาณานิคม ในขณะที่พื้นที่ป่าซึ่งเหลืออยู่น้อยนิดถูกกันให้เป็นพื้นที่อนุรักษ์และเป็นที่อยู่อาศัยของชนพื้นเมืองเดิม

การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ หรือสร้าง Green City ให้คนเมืองได้อยู่ร่วมกับธรรมชาติมากขึ้นจึงเป็นการยกอำนาจคืนให้แก่ชนพื้นเมืองที่ถูกจำกัดอาณาเขตในการประกอบอาชีพและใช้ชีวิต จึงไม่แปลกที่คนขาวบางกลุ่ม ซึ่งยังยึดติดอยู่กับความยิ่งใหญ่ในฐานะเจ้าอาณานิคมจากอดีต จะรู้สึกถูกคุกคามและถูกลดทอนอำนาจที่พวกเขาเคยยึดเอามาจากชนพื้นเมืองเดิมได้ และพยายามเรียกร้องไม่ให้เกิดการพัฒนาเมือง Green City

แม้ว่าเหตุผลเรื่องภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ที่กล่าวมานี้อาจไม่ใช่เหตุผลหลักของกลุ่มต่อต้านสิ่งแวดล้อม แต่การเรียกร้องของคนกลุ่มนี้ก็ส่งผลกับความก้าวหน้าของนโยบายการพัฒนา Green City ได้ไม่น้อยเลย

Advertisements
Advertisements

ทุกเมืองในฝันที่น่าอยู่ มักมีธรรมชาติที่สวยงามและให้ความสุขแก่ผู้คน

Livable City และ Green City ในปัจจุบันไม่ได้มีแนวคิดเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองเพียงเท่านั้น แต่ยังคำนึงไปถึงการบริหารจัดการทรัพยากรต่างๆ ภายในเมืองที่มีอยู่อย่างจำกัด และมุ่งเน้นไปที่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ทั้งแม่น้ำ ต้นไม้ ป่าไม้ รวมไปถึงทรัพยากรที่ไม่ว่าใครก็ต้องใช้อย่างอากาศที่เราหายใจเข้าไปนั่นเอง

ต้นไม้และพื้นที่ธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ภูเขาและแหล่งน้ำมีส่วนสำคัญมากในการดูดซับมลพิษที่มักจะเป็นปัญหาของเมืองใหญ่หรือเมืองอุตสาหกรรม ในขณะเดียวกันก็ต้องตระเตรียมทั้งเมืองและคนในเมืองให้พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงเป็น Livable City และ Green City ด้วย

โดยเมืองที่สามารถเปลี่ยนแปลงเป็น Livable City ได้ก็จะมีผู้คนจำนวนมากอพยพเข้าไปอาศัยอยู่ จากการสำรวจการอพยพเข้าเมืองตลอด 15 ปีของ Economist Intelligence Unit (EIU) พบว่าเมืองที่เป็นเป้าหมายสูงสุดของผู้คนก็คือ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ตัดมาก็เป็นเมืองโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เมืองเมลเบิร์นและซิดนีย์ จากประเทศออสเตรเลียตามลำดับ

การสำรวจระบุว่าองค์ประกอบที่ทำให้เมืองเหล่านี้เป็นจุดหมายของผู้คนที่ต้องการยกระดับชีวิตตัวเองมีหลายประการ เช่น
[ ] ความมั่นคงด้านสุขภาพ ชีวิตและทรัพย์สิน
[ ] สิ่งสาธาณูปโภคขั้นพื้นฐาน
[ ] รายได้และค่าครองชีพ
[ ] ระบบการศีกษาที่ดี
[ ] ระบบสาธาณสุขที่ดี
[ ] ความตอบโจทย์ทางด้านวัฒนธรรมและความบันเทิง

จะเห็นได้ว่าการมีต้นไม้ หรือพื้นที่ป่าไม่ใช่เหตุผลหลักที่ทำให้คนเราตัดสินใจย้ายเมืองหรือย้ายประเทศเพื่อยกระดับชีวิต แต่เมื่อพิจารณาเมืองต่างๆ เหล่านี้ก็จะพบว่าเป็นเมืองที่มีโครงสร้างทางสังคมตอบโจทย์ผู้คนอย่างกว้างขวาง ไม่ได้เลือกปฏิบัติกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป ยิ่งไปกว่านั้นยังมีพื้นที่ธรรมชาติให้คนได้มารวมตัวและทำกิจกรรมร่วมกันอย่างสบายใจได้

การมีต้นไม้ หรือการปลูกต้นไม้เพิ่มนั้นไม่ใช่คำตอบเพียงหนึ่งเดียวของ Livable City ทัศนียภาพและธรรมชาติสำคัญต่อเมืองก็จริง แต่ผู้ดำเนินนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง ผู้วางผังเมืองหรือสถาปนิกทั้งหลายต้องคำนึงว่าความต้องการของผู้คนในเมืองคืออะไรกันแน่

นอกจากนี้การพัฒนา Livable City ควรเป็นเมืองที่ตอบโจทย์ผู้อาศัยได้อย่างรอบด้าน การเพิ่มพื้นที่สีเขียวจึงต้องครอบคลุมการใช้งานที่เกิดประโยชน์ด้วย ไม่ใช่เพิ่มเพื่อความสวยงามแต่ใช้งานไม่ได้เลย ยิ่งทำให้สูญเสียทรัพยากรด้านพื้นที่ไปโดยไม่เกิดความหมายอะไร การเป็นเมืองที่น่าอยู่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่ามีต้นไม้กี่ต้น หรือมีพื้นที่สวนพื้นที่ป่ากี่ตารางกิโลเมตร แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราพร้อมจะเปลี่ยนแปลงไปสู่เมืองที่ตอบโจทย์ผู้คนได้อย่างแท้จริงแล้วหรือยัง

อ้างอิง
– It takes more than trees to build a livable city : Marin Cogan, VOX – https://bit.ly/3QWELyx
– Anti-Environmentalism : European Center for Populism Studies (ECPS) – https://bit.ly/46u6dcV
– Revealed: the world’s ‘most liveable’ cities in 2023 : Gavin Haines, Positive News – https://bit.ly/4a7nWtI

#society
#livablecity
#greencity
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า