SOCIETYรับมืออย่างไรหากผลเลือกตั้งไม่ตรงกับที่เราคาดหวัง

รับมืออย่างไรหากผลเลือกตั้งไม่ตรงกับที่เราคาดหวัง

หลังจากตั้งตารอกันมานาน ในที่สุดก็เหลือเวลาอีกเพียงแค่ 1 วันก่อนที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครฯ จะเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ เป็นเวลาหลายเดือนที่พวกเราทุกคนได้มีโอกาสเห็นถึงวิสัยทัศน์ นโยบาย และลักษณะนิสัยของผู้สมัครแต่ละคนผ่านการหาเสียงมากมายไม่ว่าจะเป็นแผนการนโยบาย ป้ายหาเสียง หรือการดีเบตโต้วาทีก็ตาม เชื่อว่าตอนนี้ใครหลายๆ คนก็คงจะมีคำตอบในใจแล้วว่าอยากจะออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งให้กับใคร

แน่นอนว่าที่ผ่านมาสื่อต่างๆ ก็ได้มีการเจาะประเด็นและตั้งโพลสอบถามความคิดเห็นประชาชนชาวกรุงเทพฯ ว่าต้องการเห็นผู้สมัครคนใดขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้ว่ากรุงเทพฯ จนเกิดการคาดการณ์ว่าใครกันแน่ที่จะคว้าชัยในศึกเลือกตั้งนี้ไป

แต่ว่าในการเลือกตั้งนั้นสามารถเกิดการพลิกโผได้เสมอ ไม่ว่าผลการสำรวจ หรือโพลจะให้ข้อมูลในการคาดการณ์ผู้ชนะมากแค่ไหน มันก็ไม่อาจการันตีถึงผลแพ้ชนะในการเลือกตั้งได้เลย ผู้สมัครที่เราคิดว่าต้องชนะแน่ๆ อาจจะแพ้ หรือม้านอกสายตาบางคนก็อาจไต่อันดับขึ้นมามีคะแนนเสียงสูงอันดับต้นๆ ก็เป็นได้ ซึ่งถ้าเกิดว่าผู้สมัครที่เราเป็นฝ่ายเทใจให้ได้รับชัยชนะก็คงจะเป็นเรื่องดี แต่ถ้าหากว่าเราต้องพบกับความผิดหวังในการเลือกตั้งครั้งนี้ล่ะ เราจะสามารถเตรียมใจยอมรับความผิดหวังนี่ได้หรือเปล่า

การรับมือกับความผิดหวังนั้นเป็นสิ่งที่รับมือได้ยากเสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องส่วนตัว การเมือง หรือทั้งสองอย่าง อันตรายของความผิดหวังคือมันอาจทำให้เราตกอยู่ในภวังค์ ไปจนถึงติดอยู่กับวงจรเชิงลบ วนเวียนอยู่ในใจซ้ำแล้วซ้ำเล่า กล่าวโทษตัวเองหรือผู้อื่น รวมถึงรู้สึกถึงความรู้สึกเศร้าจากอาการผิดหวังนี้จะไม่มีจุดสิ้นสุด

แต่บางคนอาจจะยังตั้งคำถามว่า แค่ผู้สมัครที่เราเชียร์แพ้การเลือกตั้งนั้นมันเลวร้ายขนาดไหน มันสามารถสร้างความเสียใจจนถึงกับช่วงชิงความสุขของเหล่าผู้คนไปได้จริงๆ หรือ

สำหรับข้อพิสูจน์นั้นเราอาจไม่ต้องไปมองที่ไหนไกล เพราะเหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยห้วงอารมณ์ของความผิดหวังนี้กำลังเกิดขึ้นภายในประเทศฟิลิปปินส์ ที่เพิ่งมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีกันไปสดๆ ร้อนๆ

ในฟิลิปปินส์ ประชาชนหลายคนไม่พึงพอใจกับผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอย่างไม่เป็นทางการ เนื่องจากเฟอร์ดินานด์ “บงบง” มาร์กอส จูเนียร์ ลูกชายของเผด็จการผู้ล่วงลับดูเหมือนจะได้รับคะแนนเสียงเกินครึ่ง และกลายเป็นตัวเต็งที่จะชนะการเลือกตั้งแบบแลนสไลด์

โดยเพียงแค่หนึ่งวันหลังจากการเลือกตั้ง ก็ได้มีผู้ประท้วงโบกธงและเดินขบวน ขณะที่คนอื่นๆ ถือศีลอด ยังมีอีกหลายคนหันไปใช้โซเชียลมีเดียเพื่อโวยวายและระบายความคับข้องใจ แสดงความโกรธ ความเศร้า และความผิดหวังไปตามๆ กัน

ยิ่งไปกว่านั้น ความรู้สึกเศร้าโศกของผู้แพ้สามารถอยู่ได้นานกว่าความสุขในชัยชนะของผู้ชนะ ถ้าย้อนกลับไปมองการวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐในปี 2016 นั้น จะพบว่าชัยชนะของโดนัลด์ ทรัมป์ ทำให้คนที่โหวตให้เขามีความสุขเพิ่มขึ้นในช่วงสั้นๆ อย่างไรก็ตาม ภายในหกเดือน ความสุขแห่งชัยชนะได้หมดลง ผู้สนับสนุนกลับสู่ระดับความสุขก่อนการเลือกตั้ง แต่ในทางตรงกันข้าม คนที่ให้การสนับสนุนฮิลลารี คลินตัน ยังคงรายงานว่ารู้สึกมีความสุขน้อยลง และยังคงมีความโศกเศร้าในการพ่ายแพ้การเลือกตั้งอยู่ โดยเฉพาะกับกลุ่มที่ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนโซเชียลมีเดียนั้นมีอาการแย่ที่สุด

อีกทั้งผลการศึกษาในญี่ปุ่นปี 2015 พบว่าระดับความสุขของผู้คนเปลี่ยนไปหลังจากการพ่ายแพ้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน แต่คนที่มีอาการแย่ที่สุดมักจะมีความคาดหวังแบบสุดโต่งว่าพรรคของพวกเขาจะต้องได้รับชัยชนะ นี่แสดงให้เห็นว่าผู้ที่หวังมากที่สุดมักจะเจ็บปวดมากที่สุดนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ​​Rea Celine Villa นักจิตวิทยาคลินิกในฟิลิปปินส์กล่าวว่า เป็นเรื่องปกติธรรมดาสำหรับผู้คนที่พวกเขาจะรู้สึกหงุดหงิด โกรธ สับสน หงุดหงิด เข้าใจผิด ตั้งสมาธิไม่ได้ และเหมือนอยากจะหนีช่วงเวลาแบบนี้ออกไป

ซึ่งในการที่จะจัดการกับความรู้สึกเหล่านี้ Villa ยังได้ให้คำแนะนำกับเหล่าชาวฟิลิปปินส์ หรือประชาชนประเทศใดก็ตามที่ต้องพบเจอกับความผิดหวังในการเลือกตั้งเอาไว้ 5 ข้อด้วยกัน

1. กลับไปทำกิจวัตรประจำวันตามเดิม

ช่วงเวลาของการเลือกตั้งอาจเป็นช่วงเวลาที่เครียดสำหรับหลายๆ คน ซึ่งในการรับมือกับความรู้สึกนี้ เราควรกลับไปจดจ่ออยู่กับกิจวัตรที่ทำให้ตัวเองรู้สึกได้กลับไปโฟกัสกับสิ่งอื่น และการได้พักผ่อนอย่างเต็มที่ ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในตอนนี้ที่รู้สึกเหนื่อยหรือเครียด จากข่างที่ถาโถมเข้ามา

2. หยุดเล่นโซเชียลเกินความจำเป็น

การจำกัดเวลาในการเสพข่าวบนโซเชียลมีเดียอาจช่วยได้เช่นกัน เนื่องจากว่าในช่วงการเลือกตั้ง กระแสหลักบนโลกโซเชียลมีเดียนั้นจะเต็มไปด้วยเนื้อหาของการเลือกตั้งที่น่าผิดหวังสำหรับตัวเรา เพราะฉะนั้นแล้ว การปลีกหนีออกจากโซเชียลมีเดียสักพัก อาจจะทำให้เราได้พักใจบ้าง ซึ่งการจำกัดเวลาบนโซเชียลมีเดีย ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อปิดกั้นตัวเองจากความเป็นจริงแต่อย่างใด แต่เป็นการพยายามหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นอารมณ์ในแง่ลบมากเกินไป

Advertisements

3. หากลุ่มสนับสนุนทางสังคม (Support System)

การหาระบบสนับสนุนทางสังคม หรือ Support System และพื้นที่ปลอดภัยนั้นอาจจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับความผิดหวังได้ดีขึ้นในช่วงเวลาที่อ่อนไหวเช่นนี้ ถ้าหากเราเผชิญหน้ากับความผิดหวังอย่างโดดเดี่ยว มันสามารถนำไปสู่อาการดิ่ง และเพิ่มความตึงเครียดของอารมณ์ได้ เพราะฉะนั้นแล้ว การได้อยู่ท่ามกลางผู้คนที่ไว้ใจได้จะเป็นประโยชน์ตัวเราอย่างแน่นอน

Advertisements

4. มองหาช่องทางใหม่ๆ ที่เราสามารถทำได้ ในการสนับสนุนนโยบายที่เราชื่นชอบ

สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่าการลงคะแนนไม่ใช่วิธีเดียวที่ผู้คนสามารถมีส่วนร่วมในสังคมได้ อย่างในกรณีของฟิลิปปินส์ หลายๆ ฝ่ายก็ได้ออกมาสนับสนุนให้ชาวฟิลิปปินส์ใช้วิธีอื่นๆ เช่น การค้นหาองค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อช่วยผลักดันประเด็นที่เราอยากเปลี่ยนแปลง

5. จำไว้ว่า การเลือกตั้งนี้ไม่ใช่จุดจบเสมอไป

ความรู้สึกของการพ่ายแพ้การเลือกตั้งอาจทำให้ผู้คนรู้สึกไร้ค่า ถูกคุกคาม และไม่มีอำนาจ แต่สิ่งสำคัญคือต้องจำไว้ว่านั่นมันไม่ใช่ความพ่ายแพ้เสมอไป เพราะว่าวันนี้เรายังมีชีวิตอยู่เพื่อดำเนินการค้นหาความหวังได้ ผลการเลือกตั้งไม่ใช่จุดจบ ยังไงชีวิตก็ต้องเดินหน้าต่อไปไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาเป็นเช่นไร เรายังมีช่องทางอีกมากในการส่งเสียงสนับสนุนนโยบายที่เชื่อว่าจะทำให้ประเทศดีขึ้นได้

และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือให้จำไว้ว่า ความเศร้า และความรู้สึกพ่ายแพ้นี้จะไม่ได้คงอยู่ไปตลอดกาล มองภาพกว้างเข้าไว้ และเปลี่ยนพลังลบนี้ให้กลายเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่า

กระบวนการของการใช้ความผิดหวังเพื่อขับเคลื่อนสิ่งที่ดีกว่านี้เรียกว่า “Cognitive Reappraisal” หรือ “การประเมินความรู้ความเข้าใจใหม่” โดยพื้นฐานแล้ว หลังจากที่เราปล่อยให้ตัวเองรู้สึกแย่ไปซักพักแล้ว ให้พิจารณาภาพรวมและสิ่งที่หวังว่าจะบรรลุจริงๆ แล้ววางแผนลงมือทำมัน โดยพฤติกรรมนี้ต้องผ่านฝึกฝนในระดับหนึ่ง ซึ่งสามารถฝึกได้ด้วยการคิดทบทวนประสบการณ์ที่น่าผิดหวังที่ผ่านมาในชีวิต ยอมรับ เรียนรู้ และสุดท้ายเราจะก้าวข้ามมันไปได้

Sarah Schnitker รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Baylor ประเทศสหรัฐอเมริกา ให้เหตุผลว่าการปรับประสบการณ์เชิงลบใหม่ โดยเชื่อมโยงประสบการณ์เหล่านั้นเข้ากับเรื่องราวที่ใหญ่ขึ้นจะช่วยให้เราพัฒนาความอดทน เพื่อเปลี่ยนการสูญเสียให้เป็นชัยชนะ ซึ่งจะทำให้ความผิดหวังของเราในแต่ละครั้งจะมีความหมาย

เพราะฉะนั้นแล้ว ถ้าเกิดว่าเราสนับสนุนใครก็ตาม หนทางที่ดีที่สุดในการสนับสนุนผู้สมัครคนนั้นก็คือการออกไปเลือกตั้งอย่างถูกต้องใสสะอาด และจำไว้ว่าเราได้ทำหน้าที่ของประชาชนที่ดีอย่างเต็มที่แล้ว เราสามารถควบคุมได้แค่ผลการเลือกตั้งของตัวเราเองเท่านั้น ถ้าหากต้องพบเจอกับความผิดหวังก็ไม่เป็นไร ถ้าเราไม่หยุดพยายามย่อมมีแสงที่ปลายอุโมงค์ไปสู่ความสำเร็จในท้ายที่สุดได้อย่างแน่นอน

อ้างอิง:
https://bit.ly/3l0fX9p
https://bit.ly/3FAIqfq
https://bit.ly/3w0VasE

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า