SOCIETY"แก่ เดียวดาย และชายขอบ" สังคมผู้สูงอายุ ของไทยในอนาคต

“แก่ เดียวดาย และชายขอบ” สังคมผู้สูงอายุ ของไทยในอนาคต

‘อนาคตจะเป็นอย่างไร’ อาจเป็นคำถามที่หลายๆ คนสงสัย ไม่ใช่เพียงเพราะความอยากรู้อยากเห็นอย่างเดียว แต่เป็นเพราะเราเริ่มมองเห็นแล้วว่า มีความเป็นไปได้ที่อนาคตจะเปลี่ยนไปมากกว่าที่คิด และ เราอยากรู้ว่าจะต้อง ‘เตรียมรับมือ’ อย่างไร

ไม่แปลกเลยที่เราจะกังวล ปัจจุบันนี้โลกเผชิญกับภัยคุกคามอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ทั้งสงคราม โรคระบาด การก่อความไม่สงบ ปัญหาสังคมอย่างความเหลื่อมล้ำ และภัยธรรมชาติอย่างภาวะโลกร้อน ในขณะเดียวกัน เทคโนโลยีก็ก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็วกว่าที่คิด ประเด็นอย่าง หุ่นยนต์จะมาแย่งงาน ก็ถูกพูดถึงบ่อยกว่าเคย

องค์กรอย่าง มูลนิธิสถาบันศึกษานโยบายสาธารณะ ได้ให้ความสนใจ ‘อนาคตของประเทศไทย’ เป็นอย่างมาก ในรายงานเรื่อง “อนาคตประเทศไทย พุทธศักราช 2585” มีการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน เช่น โครงสร้างเศรษฐกิจ สังคมไทย การศึกษา แรงงาน และอื่นๆ อีกมากมาย

วันนี้ Mission To The Moon ได้สรุปหนึ่งประเด็นน่าสนใจและส่งผลกระทบต่อเราไม่น้อย อย่าง ประเด็น “สังคมผู้สูงอายุของไทยในอนาคต” เพื่อให้ทุกคนเข้าใจและเตรียมพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง ในวันที่ประชากรกว่าร้อยละ 30% จะเป็นคนสูงวัย

สังคมไทยในอนาคตจะเป็นอย่างไร

ประเทศไทยนั้นได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 และกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด (Super-aged society) ภายในไม่เกิน 10 ปีนี้

ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรราวๆ 66.2 ล้านคน รายงานคาดการณ์ว่าตัวเลขจะเพิ่มไปถึง 67 กว่าล้านคนและลดลงเหลือเพียง 65.4 ล้านคนในปี 2583 อย่างไรก็ตาม ตัวเลขของ “ประชากรสูงวัย” จะเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ จนสูงถึง 1 ล้านคนต่อปี ทำให้ในอนาคตนั้น สัดส่วนประชากรสูงอายุต่อประชากรทั้งหมดจะอยู่ที่ 1 ใน 3

ในรายงานระบุว่า ที่เราเห็นประชากรในไทยอายุยืนเพิ่มขึ้นนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสวัสดิการด้านสุขภาพดีขึ้นด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลายงานวิจัยจากชาติอื่นๆ ที่พบว่ามนุษย์จะอายุยืนกว่าเดิม แม้จะฟังดูย้อนแย้งในตอนแรก เพราะเมื่อมองไปรอบๆ ตัว เราจะเห็นว่าโลกกำลังเผชิญกับปัญหามากมาย แบบนี้คนจะอายุยืนขึ้นได้อย่างไร? แต่เมื่อพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเราจะพบว่า ปัจจุบันวิทยาการทางการแพทย์ได้ก้าวไปไกล และผู้คนต่างมีความรู้ด้านโภชนาการและสุขภาพเพิ่มขึ้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจนัก หากคนรุ่นเราจะอายุยืนกว่ารุ่นปู่ย่าตายาย

ความไม่พร้อมในการรับมือกับผู้สูงอายุ

ในปัจจุบันการยื่นมือเข้ามาช่วยผู้สูงอายุจากภาครัฐยังไม่ทั่วถึงนัก และมีแนวโน้มว่าแม้เวลาจะผ่านไปอีก 20 ปี สวัสดิการจะยังไม่เพียงพอต่อคนกลุ่มนี้ ดังนั้นความหวังที่จะได้เห็นว่า ผู้สูงอายุจะได้อยู่ในบ้านพักคนชราที่ดี และมีผู้ดูแลคอยช่วยเหลือในบั้นปลายชีวิต อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิด

คำถามที่ตามมา คือ ภาระการเลี้ยงดูผู้สูงอายุจะตกเป็นของ ‘ครอบครัว’ อย่างนั้นหรือ

อาจจะไม่ง่ายเช่นนั้น ด้วยค่านิยมที่เปลี่ยนไป คนเจเนอเรชันหลังๆ หันมาให้ความสำคัญกับการศึกษาและไลฟ์สไตล์มากขึ้น รายงานพบว่าคนรุ่นใหม่นิยมอยู่คนเดียว แม้จะมีคู่ครองแล้ว ซึ่งเป็นเพราะปัจจัยเศรษฐกิจและการทำงาน ซึ่งปรากฏการณ์ใหม่นี้นำมาสู่แผนการสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนไป คนยุคใหม่นั้นแต่งงานช้าลงและมีบุตรน้อยลงกว่าคนรุ่นก่อนๆ

หากหญิงไทยวัยเจริญพันธุ์มีบุตรเฉลี่ย 6.1 คน และขนาดครอบครัวยังเป็นครอบครัวขยายเช่น 60 ปีก่อน การรับผิดชอบผู้สูงอายุอาจพอเป็นไปได้ แต่ในปัจจุบัน ผู้หญิงไทยมีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.5 คนเท่านั้น ประกอบกับขนาดครอบครัวเฉลี่ยที่เหลือเพียง 2.4 คน (ต่างกับ 30 ปีก่อนที่เฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 คน)

Advertisements

แก่เดียวดายและชายขอบ

ผลที่ตามมาคือ กลุ่มผู้สูงอายุที่ต้องอยู่อย่างเดียวดายมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง

ในปี 2563 ประชากรสูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวมีอยู่ร้อยละ 12 ของประชากร รายงานคาดการณ์ว่าจะเพิ่มเป็นร้อยละ 15 (หรือเท่ากับผู้สูงอายุจำนวน 3 ล้านคน) ในปี 2583 ซึ่งหากในอนาคตยังไม่มีการดูแลจากภาครัฐที่ดีขึ้น จะเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะรายงานจากกรมสุขภาพจิตยังพบอีกว่า อัตราการฆ่าตัวตายของผู้สูงอายุในไทยเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี

แล้วเราจะรับมือได้อย่างไร? ในต่างประเทศได้หันมาให้ความสนใจ “Active Aging” หรือการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยให้มีงานทำ มีส่วนร่วมในสังคม มีสุขภาพดี มั่นคง และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดี

การผลักดันให้ผู้สูงอายุมีความรู้ด้านเทคโนโลยี และ ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life-long learning) จะเป็นวิธีที่ดีต่อทั้งตัวผู้สูงอายุและเศรษฐกิจ กล่าวคือ ในสังคมที่มีแรงงานสูงอายุอาจมีประสิทธิภาพการผลิตไม่มาก หากเทียบกับสังคมที่มีแต่แรงงานวัยหนุ่มสาว-วัยกลางคน อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคนสูงวัยเหล่านี้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่ใช้ทุ่นแรง ประกอบกับประสบการณ์และความเชี่ยวชาญเดิมที่มี ผลิตผลอาจเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เท่านั้นยังไม่พอ ผู้สูงอายุจะได้มีงานทำด้วย

Advertisements

โอกาสของเศรษฐกิจสีเงิน

สังคมผู้สูงอายุมีทั้งด้านลบดังที่กล่าวไปข้างต้น และด้านบวก อย่างโอกาสในการทำเงินใน “เศรษฐกิจสีเงิน”

เศรษฐกิจสีเงิน (Silver Economy) นั้นคือธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพและการประกัน ตลอดจนเทคโนโลยีที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กลุ่มผู้สูงอายุ เช่น การฟัง การเดิน และการมองเห็น ปัจจุบันตลาดนี้กำลังขยายตัว โดยไม่ใช่แค่เฉพาะในไทย แต่รวมถึงต่างประเทศอีกด้วย บริษัทและสตาร์ทอัปหลายแห่งทั่วโลกหันมาสนใจในการสร้างนวัตกรรม ที่จะตอบสนองความต้องการของคนสูงวัย รายงานพบว่า ตลาดสีเงินในเอเชียแปซิฟิกนั้น จะโตถึง 4.56 ล้านล้านเหรียญภายในปี 2025 ซึ่งสูงกว่ามูลค่าในปี 2020 ถึง 43%

เราคงเห็นภาพกันบ้างแล้วว่า อนาคตที่เราสงสัยนั้นจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด แต่คำถามที่เราต้องกลับไปคิดต่อคือ เราและธุรกิจของเราจะ ‘ปรับตัว’ อย่างไร ให้ตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่กล่าวไปข้างต้น เมื่ออนาคตประเทศไทยในปี 2585 มาถึง

อ้างอิง:
รายงานอนาคตประเทศไทย พ.ศ.2585
https://bbc.in/3wt4EM3
https://bit.ly/3yzRyiQ

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#society

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Tanyaporn Thasak
Tanyaporn Thasak
ผู้โดยสารคนหนึ่งบนยาน Mission To The Moon ที่หลงใหลในวรรณกรรม ภาพยนตร์ บทกวี การอ่าน การเขียน และการนอน

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า