self development“กลัวการเปลี่ยนแปลง” กับดักทางความคิดที่ทำให้ชีวิตเราวนอยู่ที่เดิม

“กลัวการเปลี่ยนแปลง” กับดักทางความคิดที่ทำให้ชีวิตเราวนอยู่ที่เดิม

“กลัวการเปลี่ยนแปลง” เป็นความรู้สึกลึกๆ ในใจที่เกิดขึ้นได้กับใครหลายๆ คน ส่วนใหญ่แล้วความรู้สึกนี้จะผุดขึ้นมาในใจเราเมื่อถึงเวลาต้องก้าวข้ามอะไรบางอย่าง เช่น เมื่อเจอเพื่อนร่วมงานแย่ๆ จนอยากลาออก หรือเมื่อจับได้ว่าแฟนนอกใจแล้วอยากเลิก

ด้วยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต เรารู้ทั้งรู้ว่าถึงเวลาที่เราจะต้องเปลี่ยนแปลงและต้องก้าวข้ามมันไปเสียที แต่พอถึงเวลาจริงๆ กลับรู้สึกตัดใจไม่ลง เพราะ “ความกลัว” ที่เกิดขึ้นมาในใจ เช่น กลัวว่าย้ายงานไปแล้วจะเจอเพื่อนร่วมงานที่แย่กว่าเดิม หรือกลัวว่าเลิกกับแฟนไปแล้วจะอยู่คนเดียวไม่ไหว จนทำให้เราต้องติดอยู่ในวังวนชีวิตเดิมๆ และไม่อาจก้าวไปสู่ Chapter ใหม่ของชีวิตได้เสียที

หากใครกำลังเผชิญกับสถานการณ์ข้างต้นนี้และต้องการที่จะละทิ้งความกลัวในใจ เพื่อที่ตัวเองจะได้ก้าวต่อไปข้างหน้า ในบทความนี้ก็จะพาทุกคนไปรู้จักกับ “ต้นเหตุ” ของความกลัวในใจ พร้อมชวนทุกคนมา “สลัด” กับดักทางความคิดที่ทำให้ชีวิตวนอยู่ที่เดิมออกไป

ทำไมคนเราถึงกลัวการเปลี่ยนแปลง?

เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินกันมาว่า “มนุษย์นั้นกลัวการเปลี่ยนแปลง” แต่ทุกคนทราบไหมว่า ทำไมคนเราถึงกลัวการเปลี่ยนแปลงกันขนาดนั้น?

จริงๆ เหตุผลหลักๆ ก็คงจะเป็นเพราะเราต้องเจอกับ “ความไม่รู้” – ไม่รู้ว่าจะเจอกับอะไรข้างหน้าและไม่รู้ว่าชีวิตจะเป็นอย่างไรต่อไปบ้าง

ความกลัวเป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์อยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของ “การเปลี่ยนแปลง” เพราะมนุษย์ชอบอะไรที่เป็นกิจวัตรและเป็นขั้นเป็นตอน แต่การเปลี่ยนแปลงมันคือความไม่แน่นอนที่นำมาซึ่งการขาดความปลอดภัยและความรู้สึกไม่มั่นคง ซึ่งมันจะทำให้เราเกิดความรู้สึกเครียดและวิตกกังวลตามมา เพราะไม่สามารถคาดเดาอะไรได้

ในทางกลับกัน หากชีวิตเราคาดเดาได้ เราก็จะรู้สึกเครียดและวิตกกังวลน้อยลง เพราะเรารู้ว่าตัวเองจะต้องเจอกับอะไรบ้างและจะต้องรับมือกับเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นตรงหน้าอย่างไร

และนอกจากความกลัวสิ่งที่คาดเดาไม่ได้แล้ว ก็ยังมีเหตุผลอื่นๆ อีกที่อาจทำให้เรากลัวการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่น “การกลัวความล้มเหลว” อาการนี้เกิดขึ้นได้บ่อยกับคนที่ “รักความสมบูรณ์แบบ” หรือที่หลายคนเรียกกันว่า “Perfectionist”

เนื่องจากว่าคนประเภทนี้ชอบตั้งความคาดหวังไว้สูง เช่น คาดหวังให้สิ่งต่างๆ ออกมาเป็นดั่งใจคิด 100% ซึ่งแน่นอนว่ามันเป็นการตั้งมาตรฐานที่สูงเกินจริงไปหน่อย ทำให้เสี่ยงต่อการเจอข้อผิดพลาดมากๆ คนเหล่านี้จึงกลัวความล้มเหลวไปโดยปริยาย แล้วพอกลัวความล้มเหลวก็จะทำให้กลัวการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยนั่นเอง

วิธีเอาชนะความกลัวการเปลี่ยนแปลง

เราทุกคนต่างรู้กันดีว่า เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนแปลงของชีวิตได้ เพราะในชีวิตเรามีช่วงเปลี่ยนผ่านมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนผ่านจากรั้วโรงเรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย การเปลี่ยนผ่านจากรั้วมหาวิทยาลัยเข้าสู่โลกการทำงาน หรือการเปลี่ยนผ่านจากการต้องย้ายจากงานหนึ่งไปสู่อีกงานหนึ่ง เราต่างต้องเจอกับเรื่องราวเช่นนี้ในวันใดวันหนึ่งกันทั้งนั้น

ถึงแม้ว่าเราจะรู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การที่เราจะต้องมารับมือกับความกลัวการเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันอาจหมายความว่ากิจวัตรที่เราเคยทำมานานต้องเปลี่ยนแปลงไป จู่ๆ เราก็ถูกผลักให้ต้องก้าวออกจากคอมฟอร์ตโซน ซึ่งบางครั้งมันอาจถึงขั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพกายและใจของเราได้ เช่น ซึมเศร้า หงุดหงิดง่าย ปวดหัว ปวดท้อง หรือนอนไม่หลับ เพราะฉะนั้นการรับมือกับเรื่องนี้ให้ได้จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก

มาสำรวจไปพร้อมๆ กันว่า มีกลยุทธ์อะไรบ้างที่จะช่วยให้เรารับมือกับความกลัวและช่วยให้เราปรับตัวเข้ากับช่วงเปลี่ยนผ่านของชีวิตได้ดีขึ้น

Advertisements

1. เตรียมรับปรับแผนให้ดี

ถ้าเราลองพิจารณาดูให้ดี ก็จะรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่นั้นมักจะเกิดขึ้นโดยที่เราไม่เคยคาดคิดมาก่อน ดังนั้นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เรารับมือกับมันได้ดีขึ้นก็คือ การจับตาดูอนาคตและเตรียมพร้อมรับมือกับมันเสมอ โดยอย่างแรกสุดที่เราทำได้คือ การเตรียมใจเอาไว้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่แน่นอน อะไรก็เกิดขึ้นได้ในอนาคต และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจเข้ามาทำให้กิจวัตรของเราเปลี่ยนไปได้ หลังจากนั้นก็ค่อยๆ วางแผนรับมือกับมันไปเรื่อยๆ

เช่น สมมติว่าเราจะต้องเริ่มทำงานที่ใหม่ แต่ไม่รู้ว่าต่อไปจะต้องเจออะไรบ้าง เราก็สามารถเตรียมตัวรับมือได้โดยการทำเช็กลิสต์ดูว่าเมื่อเริ่มงานใหม่แล้วเราควรทำอะไรบ้าง เพื่อลดความกังวลใจลง เพราะอย่างน้อยๆ เราก็รู้ว่าเมื่อเริ่มงานวันแรกเราต้องทำอะไร ถือว่าลด “ความไม่รู้” ที่คนเรามักจะกลัวไปได้หนึ่งอย่าง เชื่อว่าสุดท้ายแล้วมันจะดีกว่าการเดินเข้าไปทำงานวันแรกแบบงงๆ อย่างแน่นอน

อีกเรื่องที่อยากแนะนำคือ แม้ว่าเราจะกลัวการเปลี่ยนแปลงแค่ไหน ก็อย่าเลี่ยงการเปลี่ยนแปลง เพราะมันจะทำให้เราเครียดและทุกข์ใจมากกว่าเดิมเสียอีก!

Advertisements

2. ลองเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองสักนิด

ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งที่เรากลัวมันเกิดขึ้นมาจาก “ความคิด” ของเราเอง บางครั้งเราก็ชอบคิดไปเองว่าเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมันจะต้องแย่แน่ๆ หรือจะต้องส่งผลเสียต่อเราแน่ๆ ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้วมันไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป

ความคิดเช่นนี้จะบั่นทอนจิตใจของตัวเราเอง และเมื่อเราดำดิ่งไปกับความคิดลบๆ เราก็จะเริ่มมองหาวิธีการแก้ปัญหาหรือวิธีเผชิญกับเรื่องตรงหน้าได้ยากขึ้น ดังนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงให้ลองเปลี่ยนวิธีคิดของตัวเองดู

เช่น จากเดิมที่คิดว่าเมื่อย้ายงานจะต้องเจอเพื่อนร่วมงานแย่กว่าเดิมแน่เลย ให้ลองพิจารณาดูอีกครั้งว่าเราคิดลบเกินไปหรือเปล่า หลังจากนั้นให้ลองคิดใหม่ว่าเมื่อย้ายงานเราก็มีโอกาสเจออะไรที่ดีขึ้นเหมือนกัน เราอาจเจอเพื่อนร่วมงานที่ดีขึ้น เจองานที่สนุกขึ้น เจอหัวหน้าที่ดีขึ้นก็ได้ พยายามใจดีกับตัวเองให้เยอะๆ

3. พยายามรักษากิจวัตรของตัวเองไว้

เมื่อการเปลี่ยนแปลงมาถึง วิธีหนึ่งที่จะช่วยลดความเครียดของเราไว้ได้คือ “การรักษากิจวัตร” ของตัวเองไว้ เพราะงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน ScienceDirect ชี้ว่า การรักษากิจวัตรของตัวเองไว้ช่วยให้เราจัดการกับความเครียดและความวิตกกังวลได้ดียิ่งขึ้น

โดยกิจวัตรที่เราสามารถรักษาไว้ได้ง่ายๆ คือ การเข้านอนและตื่นนอนเวลาเดียวกันในทุกๆ วัน การทำเช่นนี้จะช่วยให้เรามีโครงสร้างพื้นฐานของชีวิตที่ดี ถึงแม้ว่าส่วนอื่นๆ ของชีวิตจะคาดเดาได้ยากก็ตาม

นอกจากเรื่องการนอนให้ตรงเวลาแล้ว เรายังสามารถรักษากิจวัตรอื่นๆ ของตัวเองได้ด้วย เช่น ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นประจำ นั่งสมาธิในทุกๆ วัน หรือทำกิจกรรมอะไรก็ได้ที่สร้างความสบายใจและความสงบสุขให้กับตัวเองในทุกๆ วัน

4. หาที่พึ่งทางใจ

อีกวิธีที่จะช่วยให้เรารับมือกับความกลัวการเปลี่ยนแปลงได้คือ “การหาที่พึ่งทางใจ” โดยที่พึ่งทางใจในที่นี้หมายถึงคนที่สามารถซัปพอร์ตจิตใจเราได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน คนรัก ครอบครัว หรือคนอื่นๆ ซึ่งถ้าถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าใครสามารถซัปพอร์ตจิตใจเราได้บ้าง ก็ให้ลองพิจารณาจาก 1 ใน 4 เรื่องดังนี้
[ ] คนเหล่านั้นสามารถให้การสนับสนุนทางอารมณ์ได้หรือไม่ เช่น สามารถรับฟังและปลอบโยนเราได้หรือเปล่า
[ ] คนเหล่านั้นสามารถส่งเสริมเราให้ก้าวไปสู่ความสำเร็จเมื่อต้องเจอกับความท้าทายได้หรือไม่
[ ] คนเหล่านั้นให้ข้อมูลหรือคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อเราได้หรือไม่
[ ] คนเหล่านั้นสามารถให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมได้หรือไม่ เช่น เมื่อเราป่วยคนคนนั้นสามารถนำอาหารมาส่งให้เราได้ไหม

อย่างไรก็ตาม เราต้องจำไว้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ว่าเราต้องการการสนับสนุนในเรื่องไหน ทางที่ดีถ้าถึงเวลาที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องใด ก็ให้เอ่ยปากขอความช่วยเหลือไปตามตรงจะดีกว่า

การเปลี่ยนแปลงถือเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายเสมอไป เพียงแค่เราต้องรู้จัก เข้าใจ และหาทางรับมือกับมันให้ดี เพื่อที่ชีวิตเราจะได้ไม่วนอยู่ที่เดิม

ขอเป็นกำลังใจให้กับคนที่กำลังเจอกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในชีวิตให้ก้าวข้ามผ่านมันไปได้ด้วยดีนะ (:

อ้างอิง
– How to Cope With the Fear of the Unknown : Morgan Mandriota, Verywell Mind – https://bit.ly/3Yz4mkw
– How to Deal With the Fear of Failure :  Kendra Cherry, Verywell Mind – https://bit.ly/3KCRFzq
– How to Get Better at Dealing With Change : Kendra Cherry, Verywell Mind – https://bit.ly/3KH6IrI

#selfdevelopment
#fearofchange
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า