PODCASTMISSION TO THE MOONความสุขแท้จริงคืออะไร? ตามหาความหมายของความสุข มุมมองจากอดีตสู่ปัจจุบัน

ความสุขแท้จริงคืออะไร? ตามหาความหมายของความสุข มุมมองจากอดีตสู่ปัจจุบัน

หนึ่งสิ่งที่คนมักจะนึกถึง รอคอย และคาดหวังในช่วงเดือนสุดท้ายของปีอย่างเดือนธันวาคม คงจะหนีไม่พ้นความสุข ความรื่นเริงและความรื่นรมย์อย่างแน่นอน จินตนาการถึงเทศกาลแห่งความอบอุ่นมากมายที่จะพาทั้งคนใกล้คนไกลกลับมารวมตัวกันอีกครั้ง บรรยากาศรอบข้างอบอวลฟุ้งไปด้วยความอิ่มเอมในใจ เรียกได้ว่าเป็นโมเมนต์สำคัญที่รวมความสุขของทั้งปีมาอยู่ด้วยกัน

นอกจากจะเป็นช่วงเวลาที่ได้กลับไปพบเจอกับคนสำคัญมากมายให้หายคิดถึงกันแล้ว ช่วงท้ายปียังเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้กลับมานั่งคิดทบทวนเรื่องราว สำรวจ และเชื่อมต่อกับตนเองใหม่อีกครั้งหลังจากวิ่งวุ่นมาตลอดทั้งปี เพื่อตระหนักได้ว่าเรายืนอยู่จุดไหนของเส้นทางชีวิตแล้ว และมันมอบความสุขให้เราได้อย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่

ช่วงเวลาแห่งปาฏิหาริย์เช่นนี้ Mission To The Moon จึงอยากชวนทุกคนมาเฉลิมฉลองผ่านการย้อนตามรอยแนวคิด การเดินทางของความสุขในประวัติศาสตร์ตะวันตก ตลอดพันปีที่ผ่านมานี้นิยามของความสุขและหนทางคว้ามันไว้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง สุดท้ายแนวคิดความสุขที่ยึดถือในปัจจุบันจะเพียงพอแล้วหรือไม่ ลองมาสำรวจเส้นทางนั้นไปพร้อมกัน

ความสุขเริ่มต้นจากศีลธรรมอันดี

ย้อนกลับไปในช่วงเวลาก่อนคริสตกาล คนยุคกรีก-โรมันมีมุมมองต่อการดำรงอยู่ของมนุษย์ในแง่ร้าย โดยเชื่อกันว่ามีเพียงผู้ที่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าเท่านั้นที่จะได้รับความสุข กล่าวคือความสุขไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเองได้ และไม่ได้เกิดขึ้นกันง่ายๆ นั่นเอง

ทว่า “โสเครตีส” (Socretes) บิดาผู้บุกเบิกปรัชญาตะวันตก กลับมีความคิดที่ฉีกความเชื่อกระแสหลักตอนนั้นไป เขาเชื่อว่ามนุษย์สามารถมีความสุขได้ด้วยความพยายามของตนเอง ซึ่งความพยายามนั้นหมายถึงการควบคุมความปรารถนาเบื้องลึกไว้ด้วยเหตุผล เบี่ยงเบนความสนใจออกจากสิ่งภายนอกแล้วพินิจข้างในจิตวิญญาณ

ตามความเชื่อของโสเครตีส หากสามารถรวมจิตวิญญาณแต่ละส่วนเข้าด้วยกันแล้วประสานเป็นหนึ่งเดียว จะสามารถเข้าสู่ “สภาวะเสมือนพระเจ้า” หรือก็คือความสงบภายในจิตใจเหมือนกับอยู่บนสวรรค์ นั่นเองคือความสุขที่โสเครตีสนิยาม นอกจากนี้เขายังเสนอแนวคิดที่ว่าชีวิตเปี่ยมคุณธรรมจะมีความสุขมากกว่าชีวิตที่ไร้คุณธรรมอีกด้วย

แนวคิดดังกล่าวของโสเครตีสถ่ายทอดต่อมาถึง “เพลโต” (Plato) นักปราชญ์ลูกศิษย์เอกของเขาเอง โดยเพลโตก็สืบทอดแนวคิดที่ยึดโยงความสุขกับคุณธรรมลงในงานเขียน ‘The Republic’ ของเขาด้วยเช่นกัน เขายังเน้นย้ำแนวคิด ‘ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว’ นั่นคือผู้ที่จะมีความสุขได้คือผู้ที่ทำแต่ความดี ส่วนผู้ที่กระทำไม่ดีจะมีแต่ความทุกข์นั่นเอง

ความดีที่เพลโตหมายถึงไม่ได้แตกต่างจากความหมายของโสเครตีสเท่าไรนัก ในงานเขียนเขายกตัวอย่างถึง ‘ความยุติธรรม’ ผ่านคำถามว่าความยุติธรรมคืออะไร และมันเกี่ยวข้องกับความสุขอย่างไร ซึ่งข้อสรุปที่ได้จากเนื้อความนั้น ความยุติธรรมคือส่วนหนึ่งของความสุข คนที่มีความยุติธรรมนั้นเองจึงจะเป็นคนที่มีความสุข

แนวคิดนั้นได้แพร่หลายมาถึงนักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่คนหนึ่งในประวัติศาสตร์ตะวันตกอย่าง “อริสโตเติล” (Aristotle) บิดาแห่งศาสตร์หลายแขนง ศิษย์คนสำคัญของเพลโต และใจความที่ว่า ‘ความดีคือความสุข’ นั้นยังคงตกทอดมาถึงรุ่นนี้เช่นกัน

โดยเขายกตัวอย่างว่าคนที่มีความสุขคือผู้ที่ประพฤติพร้อมด้วยความดีเลิศ เพียบพร้อมด้วยสิ่งดีงาม ในที่นี้หมายถึงความดีภายนอกอย่างบริวาร เงินทอง อำนาจ สถานะทางสังคม ชาติกำเนิด และเกียรติยศ เป็นต้น ซึ่งจะต้องดำรงสภาพเช่นนั้นอยู่เสมอไม่ใช่เพียงเวลาใดเวลาหนึ่ง ดำรงชีวิตเช่นนั้นและสิ้นชีพลงเช่นนั้น

อริสโตเติลได้เสนอแนวคิดความสุขที่เรียกว่า ‘Eudaimonia’ อันไม่ได้เฉพาะเจาะจงความสุขว่าเกิดจากเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ และความสุขเป็นหลักฐานว่าคนผู้นั้นดำรงชีวิตที่น่าภาคภูมิชื่นชม ผู้ที่ต้องการมีความสุขจะต้องยึดมั่นในคุณธรรม เช่น ความกล้าหาญ ความพอประมาณ และความยุติธรรม เป็นต้น

เรียกได้ว่าความสุขในยุคแรกเริ่มนั้นผูกติดอยู่กับคุณค่าทางศีลธรรมบางประการ หากไม่ยึดถือยึดมั่นในศีลธรรมก็จะพบพานแต่ความทุกข์และไม่สามารถบรรลุความสุขได้ แต่แนวคิดดังกล่าวก็ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปจนเกิดเป็นแนวคิดใหม่ที่ครอบครองยุคกลางและยุคสมัยใหม่ตอนต้นไว้อย่างยาวนาน

ความสุขคือเมตตาจากพระเจ้า

เหตุการณ์ชนวนการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญคือการเปลี่ยนศาสนาของจักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งจักรวรรดิโรมันจากเดิมที่นับถือเทพปกรณัมก็เข้าสู่วงการคริสต์ศาสนา และกำหนดให้ศาสนาคริสต์ที่โดนกดทับมานานกลายเป็นศาสนาประจำรัฐ

หนึ่งในผู้ให้นิยามความสุขคนสำคัญคือ “ออกัสตินแห่งฮิปโป” (Augustine of Hippo) นักบวชผู้เป็นบิดาแห่งศาสนจักรและนักเทววิทยาแห่งศาสนาคริสต์ เขากล่าวว่ามนุษย์ย่อมแสวงหาความสุขเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิต เช่นนั้นแล้วความสุขของนักบุญออกัสตินคืออะไรกัน?

นักบุญออกัสตินเสนอว่าพระเจ้าเป็นแหล่งที่มาของความสุขที่แท้จริงหากเทียบกับแหล่งที่มาอื่นๆ กล่าวคือความสุขที่เกิดจากสิ่งอื่นนอกเหนือจากพระเจ้าเป็นความสุขที่ไม่จีรังและไม่ใช่แก่นแท้ นอกจากนี้เขายังกล่าวอีกว่าหากเราสนใจตนเองมากไปและไม่เอาใจอยู่กับพระเจ้าก็จะมีความทุกข์มากกว่า

สำหรับนักบุญออกัสติน ความสุขไม่ใช่สิ่งที่ต้องแสวงหาเพราะเราทุกคนมีความสุขอยู่ในตนเอง และ ‘ความเชื่อมั่น’ (Faith) ต่อพระเจ้าจะช่วยปลดปล่อยความสุขนั้นออกมา เช่นเดียวกับในงานเขียน ‘De beauta vita’ ของเขาที่เสนอไว้ว่า ‘Happy is he who has God’

ข้อเสนอของเขาสอดคล้องกับในพระคัมภีร์ (John, 14:20) ที่กล่าวไว้ว่า “ในวันนั้นท่านจะตระหนักได้ว่าข้าพเจ้าสถิตในพระบิดาของข้าพเจ้า และท่านสถิตในข้าพเจ้า และข้าพเจ้าสถิตในท่าน” อันหมายถึงในที่สุดผู้ที่ศรัทธาจะตระหนักได้ว่าเขารวมเป็นหนึ่งเดียวกับเทพเจ้า

อีกหนึ่งนักคิดคนสำคัญในช่วงยุคกลางคือ “โทมัส อไควนัส” (Thomas Aquinas) นักปรัชญาและนักเทววิทยาผู้ได้ชื่อว่าเป็น “หมอเทวดา” จากคริสตจักรโรมันคาทอลิก ผู้ผสมผสานปรัชญากรีกเข้ากับความเชื่อทางศาสนาคริสต์ในงานเขียนเรื่อง ‘The Summa Theologica’

ในบทสั้นชื่อว่า ‘Summa contra Gentiles’ โทมัสได้ตอบคำถามที่ว่าความสุขคืออะไร และจะได้มาอย่างไร ผ่านการแบ่งความสุขออกเป็น 2 ประเภทคือ ความสุขสมบูรณ์แบบ (Beautitudo) และความสุขที่ไม่สมบูรณ์แบบ (Felicitas)

โดยตามความเชื่อของเขาความสุขสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะโลกใบนี้เต็มไปด้วยความปรารถนาที่ไม่น่าพึงพอใจเกินกว่ามนุษย์จะสามารถบรรลุความดีสูงสุด การจะมีความสุขสมบูรณ์ได้นั้นจะต้องบรรลุความรู้อันสมบูรณ์เกี่ยวกับพระเจ้าด้วยจิตวิญญาณที่บริสุทธิ์สมบูรณ์เท่านั้น

นั่นหมายถึงผู้ที่จะได้รับความสุขสมบูรณ์คือผู้ที่บรรลุความรู้และสัมผัสถึงพระเจ้าโดยตรงในชีวิตหลังความตายเท่านั้น เช่นเดียวกับเนื้อหาในพระคัมภีร์ที่กล่าวถึงคนที่อ่อนโยน มีเมตตา และใจบริสุทธิ์ เขาผู้นั้นจะได้รับเมตตาแห่งพระองค์ในอาณาจักรแห่งสวรรค์ ที่นั่นผู้ที่เคยทุกข์ก็จะมีสุขและดำรงในฐานะบุตรแห่งพระเจ้า

แต่ความสุขที่ไม่สมบูรณ์แบบเกิดขึ้นได้ผ่านการไตร่ตรองด้วยเหตุผล อันเป็นความสามารถสูงสุดของมนุษย์ตามปรัชญากรีกของอริสโตเติล ดังนั้นแล้วผู้ที่จะมีความสุข (ที่ไม่สมบูรณ์แบบแต่ไขว่คว้าได้) คือผู้ที่ใคร่ครวญถึงความจริงและการมีคุณธรรม

จะเห็นได้ว่าแนวคิดเกี่ยวกับความสุขเคลื่อนที่จากการยึดโยงกับคุณธรรมมาเชื่อมโยงกับหลักคำสอนและความเชื่อทางศาสนาอย่างตัดไม่ขาด แม้ว่าจะมีความแตกต่างกันเล็กน้อยในความเชื่อของนักคิดแต่ละคนแต่ภาพรวมแล้วความสุขในยุคกลางยังคงเกี่ยวข้องกับพระเจ้าในฐานะความเมตตาของพระองค์นั่นเอง

Advertisements

ความสุขคือปริมาณที่วัดได้

แนวคิดเกี่ยวกับความสุขแบบที่ยึดโยงกับพระเจ้าดำรงคงอยู่มากว่าพันปีจนกระทั่งถึงจุดหักเหครั้งใหญ่อีกครั้งของประวัติศาสตร์ตะวันตก นั่นคือยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่วงเวลานี้ ‘สินค้า’ กลายเป็นของที่เข้าถึงง่ายและต้องมีมากขึ้นเนื่องจากความสามารถในการผลิตที่สูงขึ้นหลายเท่าตัว จนเกิดเป็นแนวคิด ‘วัตถุนิยม’ ที่ให้คุณค่ากับสิ่งของหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมมากกว่านามธรรม

ผลที่ตามมาจากแนวคิดดังกล่าวคือการเกิดขึ้นของลัทธิสุขนิยมสากล (Hedonistic utilitarianism) ที่ก่อตั้งโดย “เจเรมี เบนแธม” (Jeremy Bentham) นักปรัชญา นักกฎหมาย และนักปฏิรูปสังคมชาวอังกฤษ ผู้เสนอว่า ‘ความมั่งคั่ง’ (Wealth) คือหนึ่งในตัวชี้วัดความสุข

เบนแธมได้กล่าวไว้ว่าบุคคลสองคนที่มีโชคลาภไม่เท่ากัน ผู้ที่มีทรัพย์สมบัติมากที่สุดย่อมมีความสุขมากกว่า หนึ่งในผลงานเด่นของเขาคือ “Hedonis calculas” หรือตัวชี้วัดปริมาณความสุข ประกอบไปด้วยความเข้มข้น ระยะเวลา และความคงทนถาวรของความสุข เป็นต้น โดยเขาเสนอให้รัฐบาลนำตัวชี้วัดดังกล่าวไปใช้ในการตัดสินใจเพื่อการปกครองและอรรถประโยชน์ทางสังคมด้วย

งานเขียนของเขายังมีการเชื่อมโยงความสุขเข้ากับความมั่นคงส่วนบุคคล การเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพและอนามัย อัตราการเกิดอาชญากรรม การศึกษา และมลพิษ เรียกได้ว่านิยามความสุขได้แผ่ขยายวงกว้างออกไปนอกจากเพียงสิ่งที่อยู่ภายในอย่างคุณธรรมไปสู่ความเป็นส่วนรวมมากขึ้น

จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์อย่างสงครามปฏิวัติฝรั่งเศส การเปลี่ยนระบบการปกครองจากราชาธิปไตยไปสู่ยุคสมัยแห่งสาธารณรัฐที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมของพลเมือง (Equality of citizens) ซึ่งแนวคิดนี้ก็ส่งผลถึงนิยามความสุขของเบนแธมด้วยเช่นกัน โดยเขากล่าวว่าความดีนั้นเป็นกลาง ไม่มีความดีของใครที่มีค่าหรือสูงส่งกว่าความดีของคนอื่น

ขณะที่แนวคิดความสุขของเบนแธมยึดติดและให้น้ำหนักอย่างมากกับ ‘สิ่งดีและสิ่งมีค่า’ ที่สามารถสร้างความสุขสบายในชีวิต อีกแนวคิดหนึ่งในยุคเดียวกันกลับมีความเห็นต่าง “จอห์น สจ๊วต มิลล์” (John Stuart Mill) นักปรัชญาชาวอังกฤษ นักเศรษฐศาสตร์การเมืองและอดีตข้าราชการในรัฐสภาได้แย้งตัวชี้วัดความสุขของเบนแธมว่าตัวชี้วัดที่แท้จริงแล้วคือคุณภาพของความสุขมากกว่าความเข้มข้นของความสุข

เขายกตัวอย่างว่าโสเครตีสที่ไม่พึงพอใจย่อมมีความสุขกว่าคนโง่ที่พึงพอใจ เพราะความสุขที่เกิดจากการเรียนรู้นั้นมีคุณภาพมากกว่าสุขที่ได้จากการกินดื่ม มาถึงตรงนี้จะเริ่มเห็นว่านิยามความสุขเริ่มกลับมายึดโยงเข้ากับคุณธรรมหรือสิ่งดีงามบางประการแล้ว

และเป็นอย่างที่คิด เมื่อศตวรรษที่ 20 มาถึง แนวคิดความสุขก็ได้วนกลับมาหาคุณธรรมอีกครั้งหนึ่ง โดย “เกอร์ทรูด เอลิซาเบธ มาร์กาเร็ต อันสคอมบ์” (Gertrude Elizabeth Margaret Anscombe) นักปรัชญาคนสำคัญของยุคนี้ได้วิจารณ์แนวคิดสุขนิยมดังกล่าวว่าเป็นนิยามความสุขที่ ‘เรียบง่ายอย่างน่าสิ้นหวัง’ (hopelessly simplistic)

นอกจากนี้ “โรเบิร์ต นอซซิก” นักปรัชญาชาวอเมริกันผู้เขียนหนังสือเรื่อง ‘Anarchy, State and Utopia’ (1974) เพื่อวิจารณ์แนวคิดสุขนิยมผ่าน ‘การทดลองทางความคิด’ (Experience Machine) โดยทำการสอบถามผู้เข้าร่วมทดลองว่าสนใจจะเชื่อมต่อตนเองเข้ากับเครื่องจักรที่จะสร้างความสุขแบบไร้ที่ติให้โดยที่ไม่รู้เลยว่าเชื่อมต่ออยู่หรือไม่

ผลการทดลองของเขาคือคนจำนวนมากเลือกที่จะไม่เชื่อมต่อกับเครื่องจักรดังกล่าว โดยเขาสรุปผลว่าเนื่องจากคนส่วนใหญ่เห็นชีวิตจริงสำคัญกว่าชีวิตที่น่าพึงพอใจเกินจริง กล่าวคือความพึงพอใจตามแบบสุขนิยมนั้นไม่อาจตอบโจทย์ความสุขที่แท้จริงในความรู้สึกของมนุษย์ได้

“วลาดิสลาฟ ตาตาร์กีแยวิตช์” (Władysław Tatarkiewicz) นักปรัชญาชาวโปแลนด์และนักประวัติศาสตร์ศิลปะ ก็ได้สนับสนุนแนวคิดของนอซซิกด้วยการเสนอผ่านงานเขียน ‘Analysis of Happiness’ ว่า แม้ว่าทุกความสุขจะนำมาซึ่งความพึงพอใจ แต่หาใช่ทุกความพึงพอใจจะนำมาซึ่งความสุข

ความสุขคือพันธะทางการเมือง

ในยุคสมัยใหม่นี้เองที่ความสุขแปรเปลี่ยนจากเรื่องส่วนบุคคลมาเป็นพันธะทางการเมืองอย่างเต็มตัว เป็นอิทธิพลที่สืบต่อกันมาจากอดีตสู่ปัจจุบัน ผสานรวมกันจนเกิดเป็นแนวคิดที่ว่าความสุขไม่ใช่สิ่งที่บุคคลหนึ่งจะไขว่คว้าด้วยตนเองเท่านั้นก็ได้มาเฉกเช่นแนวคิดของปรัชญากรีกโบราณ และความสุขก็ไม่ใช่การทำเพื่อส่วนรวมเพียงอย่างเดียวเท่านั้นเหมือนแนวคิดสุขนิยม

แต่ความสุขในยุคสมัยใหม่ต้องเกิดมาจากทั้งการขวนขวายของตัวบุคคลและการส่งเสริมสนับสนุนของรัฐ ยุคนี้จึงเกิดตัวชี้วัดความสุขขึ้นมากมาย โดยหนึ่งในตัวชี้วัดสำคัญที่เปลี่ยนมุมมองของสังคมคือ ‘ความสุขมวลรวมประชาชาติ’ (Gross National Happiness) แนวคิดของสมเด็จพระราชาธิบดีจิกมี เคเซอร์ นัมเกล วังชุกแห่งราชอาณาจักรภูฏาน

ขณะที่รัฐบาลของประเทศส่วนใหญ่เชื่อว่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ (GDP) เป็นตัวชี้วัดสำคัญว่าพลเมืองมีความสุขหรือไม่ ยิ่ง GDP สูงเท่าไรยิ่งมีความสุขเท่านั้น กษัตริย์จิกมีกลับกล่าวว่าความสุขมวลรวมประชาชาตินั้นสำคัญกว่า GDP เสียอีก เนื่องจากแม้บางครั้ง GDP จะสูงแต่ผลลัพธ์ความสุขของประชาชนกลับไม่สูงตามหรือต่ำลงก็เป็นกรณีที่เกิดขึ้นมาก

สรุปแล้วแนวคิดว่าด้วยเรื่องความสุขเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยกรีกโรมันโบราณแล้ว ขณะนั้นความสุขยังขึ้นอยู่กับคุณธรรมของผู้กระทำ จนกระทั่งยุคกลางความสุขกลายมาเป็นความเชื่อและศรัทธาในพระเจ้า ยิ่งเข้าใกล้พระเจ้ามากเท่าไรยิ่งมีความสุข มาจนถึงยุคก่อนสมัยใหม่ที่ความสุขเริ่มเกี่ยวข้องกับความสุขสบายนอกกายและประโยชน์ส่วนรวม จนถึงปัจจุบันที่ความสุขกลายเป็นภารกิจแห่งชาติ

เรียกได้ว่าการเดินทางของความสุขยาวนานและเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ จากนี้ความสุขก็ยังจะเดินทางไปสู่อนาคตและเปลี่ยนแปลงไปในทางใดก็ขึ้นอยู่กับบริบทปัจจุบันจะนำมา มาถึงตรงนี้แล้วทุกคนคงได้พบกับแนวคิดที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมากมาย สุดท้ายแล้วนิยามความสุขจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเรากำหนดเอง

ที่มา
– A Short History of Happiness: Kunal Kashyap, Daily Philosophy – https://bit.ly/3NmFcl1
– History of Happiness: Pursuit of Happiness – https://bit.ly/47OZTxz

#selfdevelopment
#history
#happiness
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า