self developmentพร้อมหรือยังกับรักครั้งใหม่? เช็ก Emotional Availability ก่อนเริ่มต้นความสัมพันธ์

พร้อมหรือยังกับรักครั้งใหม่? เช็ก Emotional Availability ก่อนเริ่มต้นความสัมพันธ์

“รักใครให้เผื่อใจเอาไว้”

เคยมีใครสอนให้เรารักคนอื่นแบบนี้บ้างหรือเปล่า? เราอาจเคยมีประสบการณ์ไม่ดีกับความรัก หรือความสัมพันธ์กับคนรอบตัว จนทำให้รู้สึกว่าประโยคนี้มันช่าง “จริงเหลือเกิน”

ในหนังสือปรัชญาแอดเลอร์ “กล้าที่จะถูกเกลียด 2” กล่าวว่า “ความทุกข์ทั้งหมดของมนุษย์ล้วนมาจากความสัมพันธ์กับคนอื่น” เพราะทันทีที่มนุษย์เกิดมาต้องอาศัยสังคมเพื่อที่จะอยู่รอดและรู้สึกปลอดภัย แต่ในขณะเดียวกัน การเข้าสังคมและการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่น ก็อาจทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว คาดหวัง ผิดหวัง อิจฉา ขัดแย้ง และอยุติธรรมตามมาอย่างห้ามไม่ได้

เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่า สุดท้ายแล้วคนที่เรา “เลือก” สร้างความสัมพันธ์ด้วย จะเป็นคนที่ทำให้เรารู้สึก “ปลอดภัย” หรือ “เจ็บปวด” การรักหรือเชื่อใจใครได้อย่างสนิทใจจึงเป็นเรื่องยาก ทางที่ดีให้ “ไม่เชื่อใจ” ไปเลยตั้งแต่ต้นไม่ดีกว่าหรือ?

แม้สาเหตุที่เราจะรู้สึกไม่กล้าวางใจใคร อาจเพราะตัวตนของคนอื่นด้วยส่วนหนึ่ง แต่ถ้าลองย้อนกลับมาทบทวนความคิดนี้ และมองดูคำพูดที่ว่า “รักใครให้เผื่อใจเอาไว้” ให้ดี เราจะเห็น “ความกลัว” ของเราแฝงตัวอยู่ในนั้น และความกลัวนั้นเอง ก็อาจเป็นอีกต้นเหตุที่บ่อนทำลายความสัมพันธ์ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของเรา

ถึงแม้ความกลัวที่จะเจ็บปวด อาจทำให้เราไม่อยากมีใครเข้ามาในชีวิต และอาจทำให้เรากีดกันคนอื่นออกไป แต่มนุษย์เราไม่สามารถตัดขาดจากสังคม หรือความสัมพันธ์กับใครได้อย่างสิ้นเชิง ซึ่งในหลักปรัชญาของแอดเลอร์มองว่า มนุษย์ต้องการความสัมพันธ์จากคนอื่น และอาจเรียกได้เป็นสิ่งที่ “จำเป็นที่สุด” สำหรับมนุษย์  เพราะความสุขทั้งหมดของมนุษย์ก็มาจากความสัมพันธ์เช่นกัน

ในบทความนี้จะไม่ใช่การบอกคุณว่า เราควรหา “คนที่พร้อม” เพื่อมีความสัมพันธ์ที่ดี เราถึงจะมี​ “ความสุข” ได้ แต่เนื้อหาข้างล่างต่อจากนี้ จะเป็นการจูงใจให้เราหันกลับมามองตัวของเราเอง ว่า เราพร้อมและกล้าพอที่จะเป็น “คนเริ่มต้น” สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับใครหรือยัง?

“ความพร้อมทางอารมณ์” บ่งบอกความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์

คนที่มีการจัดการความสัมพันธ์ที่ดี มักเป็นคนที่มี “ความพร้อมทางอารมณ์” หรือ “Emotional Availability (EA)” ซึ่งหมายถึง ความสามารถในการสร้างความผูกพันในความสัมพันธ์ ด้วยการแลกเปลี่ยนทั้งประสบการณ์ ความรู้สึกและอารมณ์ระหว่างกัน ยิ่งมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และแชร์ความรู้สึกกันมากเท่าไหร่ ความสัมพันธ์นั้นก็จะยิ่งลึกซึ้ง และคนสองคนจะยิ่งผูกพันกันมากขึ้น

บุคลิกภาพของคนที่มีความพร้อมทางอารมณ์ (Emotionally Available Person) เช่น

[  ] มีความเข้าใจในอารมณ์และความต้องการของตนเอง
[  ] สามารถเปิดเผยหรือแสดงอารมณ์ของตนเองในเชิงบวก
[  ] สามารถเปิดใจที่จะแชร์เรื่องราวทั้งดีและไม่ดีของตนเองให้คนอื่นรู้
[  ] สามารถมีบทสนทนาที่ลึกซึ้งเรื่องความรู้สึกกับคนอื่น
[  ] สามารถแสดงความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจผู้อื่น

ในทางตรงกันข้าม บางคนอาจไม่สามารถเปิดเผยตัวตนของตนเอง หรือแสดงด้านที่อ่อนแอของตนเองให้คนอื่นเห็น และไม่อยากมีความสัมพันธ์ระยะยาวกับใคร เราอาจเรียกเขาได้ว่า “คนที่ไม่พร้อมในความสัมพันธ์ (Emotionally Unavailable Person)”

คนที่ไม่พร้อมในความสัมพันธ์อาจมีรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ไม่มีคุณลักษณะตายตัวที่ชัดเจน บางคนอาจรู้ตัวเองดีและบอกกับคู่ของเขาตรงๆ ว่า “เขาไม่พร้อม” แต่ในบางคนอาจไม่ทันได้รู้ตัวเองเลย จนกระทั่งความสัมพันธ์พัฒนาไปได้ระยะหนึ่ง ถึงจะรู้สึกว่าตัวเอง “ไม่พร้อมในความสัมพันธ์”

ถ้าอ่านมาถึงตรงนี้แล้วรู้สึกสงสัยว่า นั่น “ใช่เราหรือเปล่า?” ลองทบทวนตัวเองดูจาก “ตัวอย่าง” สัญญาณของคนที่ไม่พร้อมข้างล่างนี้ แต่ขอย้ำอีกทีว่า รูปแบบของการไม่พร้อมในความสัมพันธ์นั้น “ไม่ตายตัว” และอยากให้เราลองทบทวนแค่ “ตนเอง” ก่อนเท่านั้น

[  ] เย็นชา และห่างเหินจากคนอื่น
[  ] หลีกเลี่ยงการพูดคุยที่ลึกซึ้ง
[  ] สร้างระยะห่างในความสัมพันธ์
[  ] เลือกอยู่กับความสัมพันธ์ชั่วข้ามคืนไม่จริงจัง
[  ] กลัวการสูญเสียตัวตนเมื่อมีความสัมพันธ์
[  ] รู้สึกว่าการเชื่อใจเป็นเรื่องยาก
[  ] มักดึงดูดคนที่ไม่พร้อมเหมือนกันเข้ามา
[  ] รู้สึกยากที่จะอธิบายความรู้สึกให้ใครฟัง
[  ] รู้สึกยากที่จะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น
[  ] รู้สึกไม่ปลอดภัยถ้าต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง

ทำไมเราถึงเกิดกลัวการเปิดใจ?

การไม่พร้อมในความสัมพันธ์ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าเรารู้ตัวแล้วว่าเราคือคนที่ไม่พร้อมในความสัมพันธ์ วางใจเถอะว่านั่นไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนไม่ดี คนที่รู้สึกไม่ปลอดภัยและไม่กล้าที่จะมีความสัมพันธ์ต่างเป็นคนที่มีประสบการณ์และเบื้องหลังหลากหลาย และอาจมีบาดแผลในใจที่ไม่ทันได้สังเกตเห็น ที่มาของความรู้สึกไม่พร้อม และความกลัวที่จะเปิดเผยความอ่อนแอจึงแตกต่างไปด้วย ดังเช่น

1. ปัจจัยเรื่องวัฒนธรรมและสังคม

บางวัฒนธรรมมีค่านิยมของความอดทนเก็บกลั้นความรู้สึก เพราะการเผยอารมณ์คือการทำให้คนเห็นถึง “ความอ่อนแอ” และการแสดงความอ่อนแอให้คนอื่นเห็นกลับเป็นเรื่อง “ไม่ดี” ในสังคม เราน่าจะได้ยินคำพูดที่สอนเด็กผู้ชายเมื่อก่อนว่า “เป็นลูกผู้ชายห้ามร้องไห้” สอนเด็กผู้หญิงให้เป็นภรรยาที่อยู่ใน “โอวาทสามี” และสอนให้เด็กๆ “ห้ามเถียงผู้ใหญ่” ความเชื่อเหล่านี้สั่งสมในความคิดคนในสังคมมาเนิ่นนาน จนเราไม่กล้าที่จะเปิดเผยความคิดหรือความรู้สึกของตัวเอง

Advertisements

2. ประสบการณ์วัยเด็ก

ภายในตัวเรามีเด็กคนหนึ่งที่น่าสงสารอยู่หรือเปล่า?

เราอาจเคยเป็นเด็กคนหนึ่งที่ต้องการความรักจากพ่อแม่ ต้องการคำพูดปลอบใจ ชื่นชม ให้กำลังใจและต้องการอ้อมกอด แต่ในวัยเด็กเรากลับไม่ได้ในสิ่งที่เราต้องการ และยังถูกสอนให้สะกดกลั้นความต้องการเอาไว้  เมื่อเราโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ ความต้องการในวัยเด็กที่ไม่ได้รับการสนอง จึงสะท้อนออกมาเป็น “ความกลัว” ที่จะเชื่อใจตนเอง และเชื่อในคนอื่น ซึ่งทางจิตวิทยาเรียกพฤติกรรมนี้ว่า “Attachment Issues”

3. ความเจ็บปวดจากความสัมพันธ์ในอดีต

คนที่ไม่พร้อมในความสัมพันธ์ เป็นไปได้ว่าเขา “เคยพยายาม” ที่จะพร้อมมาก่อน เขาเลือกที่จะกล้ารักคนอื่นก่อน แต่แล้วความคาดหวังของเขาก็ทำให้เกิดความผิดหวังตามมา ประสบการณ์ที่เจ็บปวดจึงทำให้เราเลือกที่จะปิดกั้นตัวเองอีกครั้ง เหตุการณ์ที่ทำให้เราผิดหวัง อาจเป็นได้ทั้งการถูกบอกเลิกจากคนที่รักมาก การสูญเสียโดยไม่ทันตั้งตัว และการอยู่ในความสัมพันธ์ที่เป็นพิษ

4. กำลังมีเหตุการณ์ยุ่งเหยิงในชีวิต

แน่นอนว่าในชีวิตของเรามีสิ่งที่ควบคุมไม่ได้อยู่หลายอย่าง อาจมีบางครั้งที่เหตุการณ์ไม่คาดฝันกระทบกับเราในทุกๆ ด้าน และธรรมชาติของมนุษย์ ถ้ายังรู้สึกว่าชีวิตยังไม่มั่นคงมากพอ การเงินมีปัญหา และปัจจัย 4 ยังไม่พร้อม เราก็มีแนวโน้มว่าจะยังไม่สนใจและไม่พร้อมที่จะพัฒนาความสัมพันธ์กับใคร

ตัวอย่างเช่น เราอาจยุ่งกับงานตำแหน่งใหม่ และงานนั้นสำคัญกับเรามาก เราถึงโฟกัสและให้ความสำคัญกับเรื่องงานก่อน จนไม่ได้ตอบแชตคนที่กำลังคุยด้วย และทำให้เรามีเวลาในการพัฒนาความสัมพันธ์น้อยเกินไป

เราจะเปลี่ยนตัวเองให้พร้อมได้อย่างไร?

ความพร้อมไม่ใช่สิ่งที่เปลี่ยนได้ในชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้ “ความพยายาม” และ “เวลา” กับการฝึกเปิดใจ เพื่อเรียกความมั่นใจในตัวเองให้กลับมา “กล้า” รักใครเสียก่อน ถ้าเราอยากเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อ “กล้า” ที่จะเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครแล้ว ลองเอาแนวทางต่อไปนี้ไปปรับใช้ดู

[  ] หาต้นเหตุที่ทำให้เราไม่พร้อมให้เจอ : เพราะต้นเหตุที่ต่างกันย่อมมีวิธีการที่ต่างกันด้วย ถ้าสาเหตุที่ทำให้เรารู้สึกไม่กล้ารักใคร เป็นเพราะเราไม่มั่นใจว่าเราจะสามารถรับความเจ็บปวดหรือรับ “ความเสี่ยง” จากความสัมพันธ์นั้นได้ บางทีนี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราหันมามองว่า “ความรัก”ที่มีให้ตัวเราเองเพียงพอแล้วหรือยัง? เรา “ดูแล” และ “รับผิดชอบ” ความรู้สึกของตัวเองได้มากขนาดไหน?

[  ] จดบันทึกอารมณ์ของตนเอง : ลองหาสมุดสักเล่มเอาไว้เขียนบันทึกความรู้สึกของเราในแต่ละวัน แล้วลองกลับไปย้อนอ่าน โดยสังเกตตัวเองว่า “เหตุการณ์” หรือ “คำพูด” รูปแบบไหนที่มักจะทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่สบายใจ หรือทำให้เรารู้สึกโกรธ  วิธีนี้จะทำให้เราเห็นว่าเราอ่อนไหวกับเรื่องอะไร และยังทำให้เรามีโอกาสได้มองย้อนกลับไปในสถานการณ์เดิม แต่ครั้งนี้เราได้มองในมุมมองที่ต่างกันออกไป

ตัวอย่างเช่น เมื่อวันก่อน แฟนไม่ได้คุยกับเราเวลาที่เราต้องการ เราจึง “แปล” การกระทำนั้นว่า “เขาไม่รักเราเลย” เราเขียนความน้อยใจของเราลงไปในสมุด และวันนี้เราลองกลับไปอ่านด้วยอารมณ์ที่ต่างกันออกไป เราจะเห็นเป็น “เด็กน้อย” คนหนึ่งที่กำลังต้องการความรัก และเห็นว่าแฟนของเราในตอนนั้นแค่ “ไม่ว่าง” เท่านั้น ไม่ได้แปลว่าเขาไม่ได้รักเราอย่างที่เข้าใจ ครั้งต่อไปเมื่อคนที่เรารักไม่มีเวลาให้กับเรา เราจะได้รับมือกับความคิดและหัวใจของตนเอง ไม่ให้แปลการกระทำของเขาผิดไป

[  ] เริ่มพูดคุยเรื่องความรู้สึกกับคนที่ไว้ใจก่อน : ถ้าความสัมพันธ์แบบโรแมนติกยังดูไม่มั่นคงพอที่จะเริ่มต้น หรือยังไม่กล้าแสดงด้านอ่อนแอให้คู่ของเราเห็น ให้เราลองเริ่มจากการเปิดเผยความรู้สึกของตนเอง และอธิบายปัญหากับคนที่ไว้ใจได้ก่อน เช่น เพื่อนสนิท หรือครอบครัว

[  ] ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ : เรื่องความไม่พร้อมทางอารมณ์บางครั้งก็ไม่ใช่สิ่งที่เราจะสามารถแก้ไขปัญหาคนเดียวได้ อาจต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเพื่อช่วยเหลือ และหาสาเหตุของอารมณ์บางอย่างในใจเราให้เจอ

การที่เรายัง “ไม่พร้อม” ที่จะรักใครไม่ใช่เรื่องที่ผิด และการไม่พร้อมก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สามารถ “รัก” ใครได้ แอดเลอร์มองว่าความสัมพันธ์คือความสุขของมนุษย์ เพียงแค่เราต้อง “กล้า” ที่จะลองเป็นฝ่าย “เชื่อใจอย่างไม่กลัวเจ็บ” แต่ก่อนที่เราจะรักคนอื่นได้แบบนั้น ให้เรารักษาบาดแผลในใจและเตรียมตัวให้พร้อมกับ “การเริ่มต้นใหม่” เท่านั้นเอง

อ้างอิง
– Emotional Unavailability: Causes, Characteristics, and Coping: Sanjana Gupta- https://bit.ly/3ruay0T
– Emotionally Unavailable: Meaning, Signs, and FAQs : Crystal Raypole – https://bit.ly/3pRq7z2
– หนังสือ กล้าที่จะถูกเกลียด: เขียนโดย คิชิมิ อิชิโร และโคะกะ ฟุมิทะเกะ

#selfdevelopment
#relationship
#selfawareness
#emotionalavailability
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า