เมื่อพูดถึงสิ้นปีทุกคนก็มักจะคิดถึงความสนุกสนานของเทศกาล ตั้งหน้าตั้งตารอคอยวันหยุด พอกับอีกหลายคนที่ตั้งความหวังว่าจะได้รีเซตชีวิตด้วยการเก็บกวาด กลั่นกรอง และคัดความสัมพันธ์แย่ๆ ออกจากชีวิตก่อนเริ่มต้นใหม่
ช่วงเวลาเพียงหนึ่งปีกลับเกิดเรื่องราวแสนล้านอย่าง ผู้คนมากมายเข้าและออกจากชีวิตของเราราวกับรถไฟแล่นผ่าน บางคนก็เพียงเข้ามาทักทายและจากไป บางคนก็จอดอยู่อย่างนั้นเพื่อวางแผนเดินทางไปข้างหน้าพร้อมกัน แต่บางคนก็เข้ามาเพื่อทิ้งไว้เพียงร่องรอยความทรงจำที่ไม่อยากคิดถึงก่อนจากลา
ทว่าความสัมพันธ์ที่จบลงไปแล้วก็ยังไม่สร้างความเจ็บปวดทรมานได้เท่าความสัมพันธ์ที่เหมือนกำลังจะจบลง เมื่อเวลาเอ่ยคำลากำลังใกล้เข้ามาก็ราวกับหัวใจโดนบีบคั้น จนหลายคนเลือกที่จะกอดและล่ามโซ่ความสัมพันธ์นั้นไว้และแบกมันข้ามปีไปด้วยกัน
การฝืนรั้งความสัมพันธ์ที่แตกสลายมีแต่จะย้อนกลับมาทิ่มแทงให้ใจตนเองร้าวไปด้วย แย่กว่านั้นเมื่อความดันทุรังกลายมาเป็นต้นตอของปัญหาที่ทำให้เราต้องสละความสัมพันธ์ดีๆ กับคนอื่นอีกมากมาย จนสุดท้ายเหลือเพียงตนเองและความสัมพันธ์เป็นพิษ
ก่อนที่จะปล่อยให้ชีวิตเราไปถึงตรงนั้น สิ้นปีนี้ Mission To The Moon จึงอยากชวนทุกคนมาทบทวนความสัมพันธ์กับตนเองและกับผู้อื่น หันกลับมาสำรวจกายและใจของตนเองอีกครั้ง เพื่อปลดปล่อยตนเองจากความสัมพันธ์ทำร้ายใจ แล้วมาเริ่มต้นใหม่ในปีใหม่นี้ไปด้วยกัน
ถึงเวลาต้องออกมาจากความสัมพันธ์ได้แล้วหรือยัง?
ความสัมพันธ์เป็นเรื่องที่น่ามหัศจรรย์ การที่คนเราสามารถเชื่อมต่อกับมนุษย์ สิ่งมีชีวิต และสิ่งของอย่างอื่นได้เป็นโมเมนต์ที่ราวกับปาฏิหาริย์ แต่ไม่ใช่ทุกความสัมพันธ์จะเป็นสิ่งที่ดีเสมอไป บางครั้งหากความสัมพันธ์ฉุดรั้งเราไว้ในความขมขื่น การทิ้งไปอาจจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
การจากลาคือเรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นการจากลาที่ดีหรือการจากลาที่แสนเศร้า คนจำนวนมากจึงมักจะฝืนพยายามเฮือกสุดท้าย ทำลายเส้นความอดทนของตนเองไปเรื่อยๆ เพียงเพราะหวังว่าการจากลาจะไม่มาถึง ตนจะได้ไม่ต้องเจอกับความเปลี่ยนแปลงและความรู้สึกที่ถาโถม
เชื่อว่าคนเหล่านี้รู้อยู่แก่ใจว่าสักวันหนึ่งวันสัมพันธ์นี้จะต้องจบลง แต่สักวันหนึ่งนั้นจะเป็นเมื่อไรจะรู้ได้อย่างไร จะต้องอดทนไปถึงขั้นไหน แล้วเรากำลังข้ามเส้นความอดทนของตนเองอยู่หรือเปล่า ลองมาสังเกตความสัมพันธ์ที่ควร ‘ลดละเลิก’ จาก BetterUp เว็บไซต์ด้านจิตวิทยาการพัฒนาตนเองไปพร้อมกัน
1. รู้สึกไม่เป็นตัวของตนเอง
ความสัมพันธ์ที่เป็นพิษจะทำให้เราขาดการเชื่อมต่อกับตนเอง บางครั้งออกมาในรูปแบบของความคิดแง่ลบมากขึ้น บางคนก็ถอยห่างจากสิ่งที่เคยทำให้ตนเองมีความสุข หรือถอยห่างจากความสัมพันธ์สำคัญอื่นๆ เช่น ถอยห่างจากครอบครัว กลุ่มเพื่อนสนิท หรือคนที่เป็นที่พึ่งพิงทางใจ
จริงที่ว่าความสัมพันธ์ทำให้คนเปลี่ยนไป แต่การเปลี่ยนแปลงควรเป็นการที่ตนเองเป็นคนดีที่ขึ้น หากความสัมพันธ์ทำให้เราตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงกลายเป็นคนแบบนี้ ทำให้เราคิดถึงตนเองเมื่อก่อนมากกว่าพอใจในตัวตนที่เป็นอยู่ ก็เป็นสัญญาณว่าเราควรออกมาจากที่ที่ยืนอยู่
2. เข้ากันไม่ได้
คำว่า ‘เข้ากันไม่ได้’ นั้นแสนจะกว้าง กว้างจนบางคนก็มองข้ามความไม่เข้ากันนี้ไปเพราะคิดว่าส่วนที่เข้ากันได้ก็มีอยู่ แต่การผิดใจกันในเรื่องเดิม ทะเลาะกันเรื่องเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนทำให้รู้สึกว่ายังไงเสียประเด็นนี้คงไม่ได้รับการแก้ไข สุดท้ายก็ปล่อยเบลอให้มันค้างคาต่อไปไม่มีทีท่าว่าจะหาตรงกลางกันได้ เป็นสัญญาณว่าความสัมพันธ์กำลังมาถึงทางตันแล้วนั่นเอง
3. ขาดความเชื่อมั่น รู้สึกไม่มั่นคง
คงเป็นเรื่องยากและชวนให้เหนื่อยหากเราอยู่ในความสัมพันธ์ที่ทำให้เรากลัว หวาดระแวง หรือกังวลอยู่ตลอดเวลา เช่น เขาอาจหยิบยกจุดอ่อนหรือข้อเสียของคุณมาแว้งกัดอยู่เสมอ ข้ามเส้นขอบเขตที่เคยกำหนดกันไว้อย่างชัดเจน ขัดไอเดียและความคิดของคุณเป็นประจำ
ความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความเคลือบแคลงสั่นไหว และความสัมพันธ์ที่ทำให้เราต้องหลบซ่อนปกปิดส่วนหนึ่งของตนเองไว้จนไม่สามารถแสดงความเป็นตัวตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่ เป็นสัญญาณ ‘ธงแดง’ ของความสัมพันธ์เป็นพิษที่ควรรีบออกมา
4. พยายามหาข้ออ้างให้กับความผิดของเขา
การมีความเห็นอกเห็นใจเป็นเรื่องที่ดี แต่หลายคนมักสับสนระหว่างความเห็นอกเห็นใจกับความพยายามกลบเคลื่อนความผิดของอีกฝ่ายด้วยข้ออ้างที่ ‘คล้ายจะดูสมเหตุสมผล’ หรือ ‘เข้าใจและยอมรับได้สำหรับเรา’ จนรู้ตัวอีกทีก็ติดลูปให้อภัยความผิดของเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยที่เจ้าตัวก็ไม่คิดจะแก้ไข
สิ่งสำคัญที่เราต้องทำความเข้าใจคือไม่ว่าเขาจะเจอเรื่องอะไร หรือความยากลำบากแบบไหนในชีวิตมาก็ไม่ใช่ข้ออ้างที่เราจะต้องยอมรับและกลายร่างเป็นกระสอบทรายให้เขาระบายความยากลำบากนั้นใส่ด้วยพฤติกรรมแย่ๆ
5. แค่รู้ว่าจะต้องเจอหน้าก็รู้สึกเหนื่อยแล้ว
ความสัมพันธ์ที่ดีจะทำให้เรารู้สึกสบายใจและเป็นอิสระได้อย่างเต็มที่ กลับกันหากเราเริ่มมีความคิดว่าการไปเจอหน้าอีกฝ่ายช่างเป็นเรื่องที่จะต้องก้าวผ่านไปให้ได้ รู้สึกว่าต้องเตรียมตัวเตรียมใจจนเหนื่อยล้าทางอารมณ์และความคิด เป็นไปได้ว่าความสัมพันธ์นั้นอาจยังไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยที่เราควรอยู่ต่อ
6. ให้ความสำคัญกันคนละอย่าง แต่เราต้องเป็นผู้เสียสละเสมอ
การจัดลำดับความสำคัญสิ่งต่างๆ ในชีวิตแตกต่างกันออกไปในแต่ละคนเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อไรก็ตามที่เขาไม่เคารพสิ่งที่เราให้ความสำคัญและใช้วิธีต่างๆ เพื่อทำให้เราต้องเสียสละจากสิ่งที่เราให้คุณค่ามาวิ่งตามลำดับความสำคัญของเขา จนสุดท้ายเราก็พลาดโอกาสมากมายและที่สำคัญคือออกนอกเส้นทางชีวิตที่เราต้องการ ถึงตอนนั้นเราก็ควรพิจารณาจุดจบของความสัมพันธ์ไว้ได้เลย
7. ไม่เชื่อมั่นในตนเอง
การอยู่ในความสัมพันธ์หนึ่งควรส่งเสริมให้เราเดินหน้าต่อได้อย่างมั่นใจ แต่ความสัมพันธ์เป็นพิษจะทำตรงกันข้าม เมื่อไรก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกไม่เชื่อมั่นใจตนเอง เช่น ไม่กล้าตัดสินใจ ไม่เชื่อในความคิดของตนเอง ขาดความมั่นใจในการทำสิ่งต่างๆ ตั้งคำถามกับคุณค่าของตนเองอยู่เสมอ ทั้งหมดนี้เป็นสัญญาณว่าความสัมพันธ์นั้นไม่เหมาะกับเรานั่นเอง
8. ไม่เคยขอโทษหรือยอมรับผิด
หากเราตกอยู่ในความขัดแย้งที่เขาเป็นผู้กระทำผิด แต่อีกฝ่ายไม่เคยยอมรับผิด หรือบางครั้งเขาก็ขุดเส้นทางวกกลับมาให้ตนเองกลายเป็นเหยื่อได้ พฤติกรรมการปั่นหัว (gaslight) จนทำให้เรารู้สึกผิดจากการกระทำของเขานี้แสดงให้เห็นถึงการขาดความเคารพและการสะท้อนตนเอง ทั้งยังเป็นสัญญาณ ‘ธงแดง’ ตัวใหญ่ที่เราควรรีบพาตนเองถอยออกมาให้เร็วที่สุด
9. ไม่ยินดีหรือขอบคุณ
หากคนในความสัมพันธ์ไม่เคยหรือไม่ค่อยเห็นคุณค่าและความสำคัญของเรา ไม่เคยยินดีกับสิ่งที่เรามอบให้ ทั้งเรื่องใหญ่และเรื่องเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน แสดงให้เห็นทัศนคติที่ละเลยตัวตนและความสำคัญของเราจนอาจทำให้เราตั้งคำถามกับตัวตนของตนเอง ก็เป็นอีกหนึ่งความสัมพันธ์ที่ไม่ควรดันทุรังรั้งไว้ต่อไป
10. เคลือบไว้ด้วยความริษยา
ความอิจฉาเป็นความรู้สึกที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่หากอีกฝ่ายไม่เพียงอิจฉาในความก้าวหน้าหรือความสำเร็จของเรา แต่ยังไม่สามารถยินดีให้กับก้าวเดินของเรา หรือบางครั้งเกิดความไม่พอใจเมื่อเราได้ดิบได้ดี ก็เป็นเหตุผลที่เพียงพอแล้วที่เราจะก้าวออกมาจากความสัมพันธ์ไม่สร้างสรรค์นี้
คนเราย่อมมีข้อเสียปะปนอยู่ในข้อดีเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่หากข้อเสียนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไขเพื่อทำให้ความสัมพันธ์เดินหน้าต่อไป เราก็ควรเป็นคนเดินออกจากความสัมพันธ์นั้นเสียเอง สำหรับคนที่อยากจะเดินออกมาแต่ไม่รู้จะต้องทำอย่างไร เรามาเรียนรู้แนวทางการปลดปล่อยตนเองจากความสัมพันธ์เป็นพิษไปด้วยกัน
วิธีปล่อยมือจากความสัมพันธ์ที่ไม่สร้างสรรค์
การเป็นฝ่ายปล่อยมือออกมาจากความสัมพันธ์จะทำให้เรารู้สึกเหมือนตนเองเป็นคนผิด ผิดที่ไม่ยอมอดทน ผิดที่ไม่ยอมเข้าใจ ผิดที่ไม่พยายามหาทางแก้ไข แต่ในความเป็นจริงแล้วการจากลาเป็นเรื่องปกติและการเดินออกมาจากที่ที่ทำให้ตนเองย่ำอยู่กับที่หรือแย่ลงก็ไม่ใช่เรื่องผิดเลย
ปีใหม่นี้เป็นโอกาสดีที่เราจะสละพันธะที่รัดเราเกินไปแล้วเริ่มต้นเดินหน้าใหม่ด้วยคำแนะนำที่น่าสนใจจาก BetterUp และ mbgmindfulness สองเว็บไซต์จิตวิทยาพัฒนาตนเองที่จะมาพาทุกคนก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงนี้ไปด้วยกันใน “ 7 วิธีปล่อยมือจากความสัมพันธ์”
1. เอาตนเองเป็นสำคัญ
ความสัมพันธ์เป็นพิษมักทำให้เราเลือนลางจางหาย หรือตัวเล็กลงจนตนเองก็ไม่สังเกตเห็นความสุขและความต้องการของตนเอง การเริ่มต้นปล่อยมือนั้น อันดับแรกที่ควรทำจึงเป็นการฟื้นฟูความรักและความเมตตาต่อตนเอง (Self-love and self-compassion) และกลับมาให้ความสำคัญกับตนเองมากกว่าคนอื่นอีกครั้ง
2. ปล่อยใจไปกับความเศร้า
บางครั้งเรามักรู้สึกผิดที่เกิดความอาลัยต่อการสูญเสียไม่ว่าเขาจะทำร้ายเรามากเท่าไรก็ตาม เป็นการจากลานับเป็นการสูญเสียประเภทหนึ่งที่จะเหลือทิ้งความโหยหาและคิดถึงเอาไว้เป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะความทรงจำดีๆ ที่เกิดขึ้นก็ยังคงเป็นเรื่องจริง
เราไม่จำเป็นต้องทิ้งที่ความทรงจำเพราะเขาเลวร้าย เพียงแค่เราโอบกอดความเศร้าและอาลัยนั้นพร้อมกับเตือนตนเองอยู่เสมอถึงสาเหตุที่ออกมา และตั้งมั่นว่าจะไม่กลับไปก็เพียงพอสำหรับการปล่อยมือแล้ว
3. พึ่งพาคนอื่นและอยู่ในที่ปลอดภัย
การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงคนเดียวอาจเป็นเรื่องหนักหนา การพึ่งพาคนอื่นอันเป็นพื้นที่ปลอดภัย เบี่ยงเบนความสนใจด้วยการทำสิ่งที่มีความสุข อยู่กับคนที่ทำให้มีความสุข ที่สำคัญคือการระบายออกมาก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะทำให้เราปล่อยมือจากความสำคัญได้ราบรื่นขึ้นนั่นเอง
4. ฝึกการให้อภัย
ความสัมพันธ์เป็นพิษมักจะทิ้งรอยแผลไว้ให้เราระลึกถึงอยู่เสมอ และหลายครั้งที่รอยแผลนั้นกลับกลายมาเป็นกำแพงกั้นไม่ให้เราสามารถเดินหน้าต่อ การให้อภัยและปล่อยวางจากอดีตหรือสิ่งที่เขาเคยทำให้เราเจ็บปวดจะเป็นค้อนอันโตทุบทำลายกำแพงเหล่านั้นและพาเราก้าวเดินต่อไปได้อย่างไม่มีติดค้าง
5. เรียนรู้จากความผิดพลาด
หลังจากให้อภัยคนอื่นแล้ว สิ่งที่จะปลดปล่อยเราจากโซ่ตรวนคือการให้อภัยตนเอง ให้อภัยที่เลือกทำความรู้จักเขา ให้อภัยที่เคยทำร้ายตนเองด้วยการอดทนแบบไม่จำเป็น ให้อภัยที่ตัดสินใจผิดพลาด และเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น เพื่อไม่ให้เผลอทำร้ายตนเองซ้ำสอง
6. ตัดการติดต่อหากเป็นไปได้
โลกปัจจุบันทำให้เราเชื่อมต่อกันได้ง่ายเกินไป บางครั้งความสัมพันธ์ที่เราตัดไปอาจหลงเหลือสายใยเส้นเล็กๆ ที่เหนี่ยวรั้งเอาไว้ เช่น เรายังมีโซเชียลมีเดียเขาอยู่นี่นา อยากรู้จังเลยว่าหลังจากตัดกันแล้วเขาจะเป็นอย่างไรบ้าง สุดท้ายเราก็ยังไม่สามารถพาเขาออกไปจากชีวิตได้จริงๆ เสียที
หากไม่ใช่เพื่อนร่วมงานที่ต้องเจอกันทุกวัน หรือครอบครัวที่ต้องอยู่ใต้หลังคาเดียวกันทุกคน เป็นไปได้ก็ควรตัดทุกสายใยที่ยังเชื่อมต่อเรากับเขาเอาไว้เพื่อไม่ให้สายใยนั้นเหนี่ยวรั้งเราไม่ให้เดินหน้าต่อนั่นเอง
7. พึ่งพาตนเอง
แน่นอนว่าการพึ่งพาคนอื่น ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นเป็นเรื่องจำเป็นที่จะช่วยแบ่งเบาภาระเราจากการเปลี่ยนแปลง แต่สุดท้ายแล้วคนที่สำคัญที่สุดยังคงเป็นเราที่ต้องแน่วแน่ในการเปลี่ยนแปลงนี้และไม่หันหลังกลับไป
‘การทิ้ง’ ย่อมเป็นเรื่องยากเสมอ โดยเฉพาะเมื่อสิ่งที่เราจะทิ้งไว้เคยเป็นคุณค่าทางใจมาก่อน แต่สุดท้ายแล้วการเปลี่ยนแปลงก็จะมาถึงและเราจะต้องเติบโตอยู่เสมอ ปีใหม่นี้จึงเป็นโอกาสดีที่เราจะมาตั้งใจ ‘ทิ้ง’ ทุกอย่างที่ล่ามและเหนี่ยวรั้งเราไว้ ก่อนเดินหน้าต่อไปพร้อมกัน
ที่มา
– How to let go of someone and embrace change: Allaya Cooks-Campbell, BetterUp – https://bit.ly/3GHfe7Z
– 11 Steps To Let Go Of The Past & Actually Move Forward: Sarah Regan, mbgmindfulness – https://bit.ly/46Ytynk
#selfdevelopment
#relationship
#toxicrelationship
#lettinggo
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast