PSYCHOLOGYผิดมากไหมถ้าเรารู้สึกไม่อินกับคำว่า “ครอบครัว”?

ผิดมากไหมถ้าเรารู้สึกไม่อินกับคำว่า “ครอบครัว”?

การมีครอบครัวอันแสนอบอุ่นที่สามารถพูดคุยปรึกษากันได้ทุกเรื่องเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครต่างก็ต้องการ แต่ในความเป็นจริงแล้ว พวกเราทุกคนไม่สามารถเลือกเกิดได้ ทำให้บางคนก็อาจจะเจอครอบครัวที่ดีและมีความสุข ในขณะที่บางคนก็อาจเจอกับครอบครัวที่นำพามาแต่ความทุกข์ใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้สึกผูกพันใกล้ชิดกับครอบครัวของตัวเอง บางคนอาจมีความรู้สึกไม่อินกับคำว่าครอบครัว ไปจนถึงขั้นเกลียดครอบครัวของตัวเองเลยก็เป็นได้ อาจด้วยเพราะเจอปัญหาภายในครอบครัวมาหลายอย่าง จนความสัมพันธ์เริ่มเหินห่างกันไปเรื่อยๆ จนต่อความรู้สึกกันไม่ติด

อย่างไรก็ดี Joshua Coleman นักจิตวิทยาคลินิกผู้เขียนหนังสือ When Parents Hurt: Compassionate Strategies When You and Your Grown Child Don’t Get Along กล่าวว่า สังคมเราให้ความสำคัญกับการให้อภัย ดังนั้นการที่เราไม่ชอบหรือรู้สึกเกลียดครอบครัวของตัวเองจึงอาจทำให้เรารู้สึกผิดหรือละอายใจได้

ในบทความนี้จึงจะพาไปสำรวจถึงปัญหาการ “ไม่อิน” กับคำว่าครอบครัวว่าความรู้สึกนี้มีต้นตอมาจากไหน และเราควรรับมือกับความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่แตกสลายนี้อย่างไร ให้กลับมารู้สึกดีกับตัวเองหรือชีวิตครอบครัวของตัวเองอีกครั้ง

เพราะเหตุใดเราถึงไม่อินกับคำว่าครอบครัว

จริงๆ แล้วปัจจัยที่ทำให้คนเราไม่อินกับครอบครัวหรือสมาชิกในครอบครัวนั้นก็คงจะแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ที่แต่ละคนได้รับ บางคนอาจเจอกับพฤติกรรมที่ Toxic บางคนอาจเจอกับพฤติกรรมการล่วงละเมิด ข่มเหง ทารุณ หรือบางคนอาจต้องเผชิญกับการโดนละเลย ปัจจัยเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความรู้สึกเกลียดชังและความรู้สึกไม่ผูกพันกับครอบครัวได้ทั้งสิ้น

ถ้าเราอยากรับมือกับความรู้สึกไม่อิน ไม่ชอบ และเกลียดชังครอบครัวของตัวเองได้ เราก็จำเป็นจะต้องทำความเข้าใจสาเหตุของความรู้สึกที่เกิดขึ้น ซึ่งจากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ใหญ่ในอังกฤษในปี 2015 พบว่าสาเหตุที่คนส่วนใหญ่หมางเมินกับพ่อแม่มาจาก
[ ] การถูกทำร้ายทางจิตใจ
[ ] การถูกละเลย
[ ] ค่านิยมหรือบุคลิกภาพขัดแย้งกัน
[ ] ความคาดหวังที่แตกต่างกัน
[ ] เหตุการณ์สะเทือนขวัญที่เกิดขึ้นในครอบครัว
[ ] ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิต

หากให้แบ่งสาเหตุของการหมางเมินกันในครอบครัวจริงๆ แล้ว ก็คงจะแบ่งออกได้เป็น 4 สาเหตุหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่

1) มีความผูกพันทางใจที่ไม่ดี

หากใครคุ้นเคยกับทฤษฎี Attachment Theory หรือทฤษฎีความผูกพัน ก็คงจะทราบกันดีว่าการเลี้ยงดูที่เราเคยได้รับในวัยเด็กมีผลกับตัวเราในตอนโต ซึ่งทฤษฎีนี้ได้แบ่งความผูกพันออกเป็น 4 รูปแบบ ได้แก่
[ ] รูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคง (Secure Attachment) ในวัยเด็กคนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์เช่นนี้คือคนที่ได้รับความรักและการดูแลจากครอบครัวเป็นอย่างดี จนทำให้ก่อเกิดเป็นความรู้สึกมั่นคง
[ ] รูปแบบความสัมพันธ์แบบวิตกกังวล (Anxious Attachment) คนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์เช่นนี้มักไม่ค่อยได้รับความเอาใจใส่อย่างสม่ำเสมอ เพราะพ่อแม่ไม่ค่อยมีเวลาดูแล ทำให้เด็กเกิดความรู้สึกกังวล
[ ] รูปแบบความสัมพันธ์แบบหมางเมิน (Dismissive-avoidant Attachment) คนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์เช่นนี้มักไม่ได้รับความรักและการดูแลจากครอบครัวเลย ทำให้โตมากลายเป็นคนหมางเมิน
[ ] รูปแบบความสัมพันธ์แบบหวาดกลัว (Fearful-avoidant Attachment) คนที่มีรูปแบบความสัมพันธ์เช่นนี้คือคนที่เผชิญกับแผลใจในวัยเด็ก เช่น โดนทำร้ายร่างกายและจิตใจตอนเด็ก ทำให้เกิดเป็นความหวาดกลัว

หากใครอยู่ในกลุ่มที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบวิตกกังวล หมางเมิน หรือหวาดกลัว ก็มีโอกาสที่โตขึ้นมาแล้วพวกเขาจะรู้สึก “ไม่อิน” กับคำว่าครอบครัวมากกว่าคนที่อยู่ในกลุ่มที่มีรูปแบบความสัมพันธ์แบบมั่นคงอย่างแน่นอน

Advertisements

2) ถูกละเมิดหรือถูกละเลย

อีกสาเหตุที่ทำให้คนเกิดความไม่ชอบหรือความเกลียดชังครอบครัวขึ้นมาในใจ ก็คงหนีไม่พ้นการถูกละเลยหรือการถูกละเมิด ไม่ว่าจะทางกายหรือใจ เมื่อเราโดนกระทำเช่นนี้ ก็เป็นไปได้ว่าเราจะเกลียดบุคคลที่ทำการละเมิดเรา

และความรู้สึกนั้นก็อาจพาลขยายใหญ่ขึ้นไปถึงคนที่รับรู้เหตุการณ์ แต่ไม่เคยเข้ามาช่วยเหลือและทำแค่เพียงยืนดูอย่างนิ่งเฉย แม้ว่าคนอื่นจะทำแบบนั้นเพราะความกลัวหรือต้องการเซฟตัวเอง แต่มันก็อาจทำให้เรารู้สึกโกรธขึ้นมาได้อยู่ดี

3) ครอบครัวไม่สนเรื่องขอบเขตความเป็นส่วนตัว

เราทุกคนต่างก็ต้องการความเป็นส่วนตัวกันบ้างทั้งนั้น แต่บางครอบครัวละเลยความสำคัญของเรื่องนี้ไป จนทำให้เกิดการละเมิดความเป็นส่วนตัวของคนในครอบครัวโดยไม่รู้ตัว เช่น ควบคุมอีกฝ่ายมากเกินไป หรือชอบเปรียบเทียบหรือวิพากษ์วิจารณ์คนในบ้านอยู่บ่อยครั้ง การทำเช่นนี้อาจทำให้คนที่โดนกระทำอย่างต่อเนื่องเกิดความโกรธและความเกลียดชังขึ้นมาได้

Advertisements

4) แต่ละคนมีค่านิยมที่ให้ค่าแตกต่างกัน

คำว่าค่านิยมในที่นี้มีหลายอย่างด้วยกัน ตั้งแต่เรื่องการเมือง ศาสนา ไปจนถึงเรื่องธรรมดาๆ อย่างการใช้เงินและเวลา เช่น พ่อแม่อยากให้ลูกกลับบ้านมาใช้เวลาอยู่ด้วยกันบ่อยๆ แต่ลูกมองว่าแค่ทำงานอย่างเดียวก็เหนื่อยแล้ว อยากมีเวลาเป็นของตัวเองบ้าง เรื่องเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ความขัดแย้งและก่อเกิดเป็นความหมางเมินกันในครอบครัวได้

จะเห็นได้ว่า สาเหตุที่ทำให้ใครหลายคนไม่อินกับครอบครัวนั้นอาจสรุปได้เป็นหนึ่งคำง่ายๆ ก็คือ ครอบครัว “Toxic” นั่นเอง ซึ่งความ Toxic ในครอบครัวนั้นก็สามารถสังเกตได้ง่ายๆ เช่น การรู้สึกว่าเราถูกควบคุม ไม่รู้สึกได้รับความรัก ความเห็นใจ และความเคารพ หรือต้องเจอกับการทารุณทางคำพูด ร่างกาย และจิตใจ เป็นต้น

3 วิธีรับมือกับความรู้สึกไม่อินและความสัมพันธ์ด้านครอบครัวที่แตกสลาย

1. ทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง

ก่อนอื่นเราต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ตอนนี้เรากำลังรู้สึกอะไรอยู่ โดยจะต้องไม่ตัดสินตัวเองที่กำลังรู้สึกแบบนี้ว่าเป็นเรื่องผิด เพราะอย่างที่บอกว่าเราไม่สามารถเลือกครอบครัวเองได้ ดังนั้นอย่ารู้สึกผิดที่เราจะเกิดความรู้สึกไม่อินกับคำว่าครอบครัวขึ้นมา

การรับรู้และยอมรับความรู้สึกของตัวเองจะช่วยให้เราไม่ต้องระงับหรือซ่อนอารมณ์เอาไว้แล้วค่อยรอวันระเบิดออกมา ซึ่งพอเรายอมรับความรู้สึกของตัวเองได้แล้ว เราก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์ของตัวเองได้ดีขึ้น

2. ตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป

พอรับรู้ความรู้สึกของตัวเองแล้ว ทีนี้เราก็ต้องตัดสินใจต่อว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อไป ซึ่งก็ต้องบอกว่าบางความสัมพันธ์นั้นก็ไม่คุ้มค่าที่จะรักษาไว้ เช่น ครอบครัวที่อันตรายต่อชีวิต ชอบทำร้ายร่างกายเพราะค่านิยมหรือความคิดเห็นบางอย่างไม่ตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรสนิยมทางเพศ เชื้อชาติ หรือศาสนา ในกรณีนี้ทางที่ดีควรต่างคนต่างอยู่และห่างกันสักพักเสียจะดีกว่า แม้ว่าการตัดความสัมพันธ์อาจทำให้เรารู้สึกแย่ แต่สุดท้ายแล้วสุขภาพจิตของเราจะดีขึ้นในระยะยาว

3. ซ่อมแซมความสัมพันธ์

หากเรารู้สึกว่ายังคงอยากรักษาความสัมพันธ์อันดีกับครอบครัวไว้อยู่ ก็สามารถทำได้เช่นกัน แต่การจะซ่อมแซมความสัมพันธ์ได้ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราเพียงฝ่ายเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทางที่ดีควรให้เวลาตัวเองและอีกฝ่ายมีเวลาฟื้นฟูจิตใจของตัวเองและได้มีเวลาคิดถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น หากวันไหนพร้อมก็ค่อยหันหน้ามาคุยกัน เช่น พูดคุยเรื่องขอบเขตและความเป็นส่วนตัวกันใหม่

หรือถ้ารู้สึกว่าการซ่อมแซมความสัมพันธ์ด้วยตัวเองเป็นเรื่องยาก ก็สามารถลองขอให้ครอบครัวเข้ารับครอบครัวบำบัดด้วยกันดูก็ได้ เพราะนักบำบัดจะช่วยเราปรับปรุงการสื่อสารและให้นำแนะนำที่เป็นประโยชน์ได้

การไม่อินกับคำว่าครอบครัวไม่ใช่เรื่องผิดอะไร เพราะทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมมีเหตุผลในตัวเอง เหมือนอย่างเรื่องนี้ที่หลายคนไม่อิน ก็เพราะเป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน หากวันใดวันหนึ่งเรารู้สึกทนไม่ไหวแล้วก็ไม่ใช่เรื่องแปลก

แต่ด้วยความที่สังคมของเราให้ค่ากับคำว่าการให้อภัยและความกตัญญู มันก็อาจทำให้เรารู้สึกผิดขึ้นมาในใจได้ ซึ่งพอเป็นเช่นนั้นเราก็ต้องทำความเข้าใจความรู้สึกของตัวเอง และหาทางจัดการกับความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่แตกสลายให้ดีขึ้นในแบบของเราต่อไป

อ้างอิง
– ‘I Hate My Family:’ What to Do If You Feel This Way : Kendra Cherry, Verywell Mind – https://bit.ly/3Gke4Pl
– When Family Becomes Toxic : Crystal Raypole, Healthline – https://bit.ly/3SYi3sD

#relationship
#toxicfamily
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า