PSYCHOLOGYชายเป็นใหญ่ ใครเป็นเหยื่อ? เข้าใจ Toxic Masculinity ผ่านหนัง “The Power of the Dog”

ชายเป็นใหญ่ ใครเป็นเหยื่อ? เข้าใจ Toxic Masculinity ผ่านหนัง “The Power of the Dog”

หมายเหตุ: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญจากภาพยนตร์

เคยไหม? เมื่อต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ไม่ว่าจะหันไปทางไหนก็ตาม คนรอบข้างก็มักจะปลอบใจด้วยการตบบ่าเบาๆ พร้อมพูดว่า…

“เอาน่า แมนๆ หน่อย เป็นผู้ชายต้องอดทนสิ”

แล้วยังจำกันได้ไหม? ตอนที่ยังเป็นเด็ก เจ็บหน่อยก็แค่หกล้ม หากกลั้นไม่ไหวก็ร้องไห้ออกมา พ่อแม่ก็รีบวิ่งกรูเข้ามาโอ๋และพูดว่า…

“โอ๋ๆ ไม่เอาไม่ร้องนะลูก เป็นลูกผู้ชายเขาไม่ร้องไห้กันนะ”

ไม่มีใครรู้หรอกว่าคนแรกที่เริ่มต้นชุดความคิดเหล่านี้คือใคร แต่ที่รู้แน่ๆ คือ ตั้งแต่จำความได้นั้น เราทุกคนต่างคุ้นเคยกับแนวคิดและความเชื่อแบบนี้มาตลอด ซึ่งบางคนก็โดนพ่อแม่ปลูกฝังมาตั้งแต่เด็ก บางคนก็มาจากคุณครูที่คอยพร่ำสอนและย้ำเตือน หรือบางคนก็โดนสังคมหล่อหลอมและกดดันให้ค่อยๆ กลมกลืนไปกับหนึ่งในบรรทัดฐานที่สังคมยึดถือมาโดยตลอด จนกลายเป็น “มายาคติ” ที่ส่งต่อกันรุ่นสู่รุ่นไม่มีวันจบ

“ผู้ชายต้องเป็นผู้นำ อดทน แข็งแรง ห้ามร้องไห้ หรือแสดงความรู้สึก และปล่อยให้เรื่องละเอียดอ่อนเป็นของผู้หญิง”

แล้วผู้ชายจะร้องไห้หรือเสียใจกับเรื่องบางเรื่อง แสดงความอ่อนโยนและละเอียดอ่อนออกมาได้เลยหรือ? การเป็นผู้ชายต้องมีร่างกายกำยำและมีความเป็นผู้นำเท่านั้นจริงหรือ? แล้วถ้าหากผิดแปลกไปจากกรอบและบรรทัดฐานของสังคมจะทำให้ “ความเป็นชาย” ในตัวคนคนหนึ่งน้อยลงหรือหายไปหรือ?

ชายเป็นใหญ่ ใครเป็นเหยื่อ?

“ปิตาธิปไตย” (Patriarchy) ระบบที่เอื้ออำนวยให้คนที่มี “ความเป็นชาย” มีอำนาจและมีคุณค่ากว่าคนอื่น ทั้งด้านชีวิตส่วนตัว ครอบครัว ตลอดจนหน้าที่การงาน ซึ่งเป็นกรอบความคิดที่มีอิทธิพลอยู่ในสังคมมาช้านาน ถูกส่งต่อมาเรื่อยๆ และยังสร้างความเสียหายตั้งแต่ตัวบุคคล สังคม และการปกครอง

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีการเคลื่อนไหวทางสังคม (Social Movement) และผลักดันประเด็นดังกล่าวมาโดยตลอด แต่ทว่า ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยังคงถูกปลูกฝังแนวคิดดังกล่าวอยู่เรื่อยมา หรือบางคนก็ยังภาคภูมิใจกับสิ่งที่เป็น เพราะตัวเองเป็นผู้ที่ได้ผลประโยชน์ ทำให้ชุดความคิดเหล่านี้ไม่มีท่าทีว่าจะหายไปจากสังคมได้ง่ายๆ มิหนำซ้ำ ยังนำมาสู่ “Toxic Masculinity” ที่ส่งผลกระทบต่อผู้ชายคนอื่นๆ และแพร่ความเสียหายเป็นวงจรแบบไม่รู้จบ สุดท้ายไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม ทุกคนล้วนตกเป็น “เหยื่อ” ที่โดนกดขี่จากผลพวงของระบบชายเป็นใหญ่

“The Power of the Dog” เรียบง่าย ลึกซึ้ง แต่มีพายุลูกใหญ่ซ่อนอยู่

“The Power of the Dog” หนังดราม่าคาวบอย ที่ไม่ได้มีการดวลปืน ต่อสู้ หรือการก่ออาชญากรรมใดๆ แต่นำเสนอกลิ่นอายตะวันตกในช่วงปลายยุคคาวบอย ทั้งวิถีชีวิต บรรยากาศ และความคิดของผู้คนออกมาได้อย่างน่าประทับใจ จากผลงานของผู้กำกับหญิงมากฝีมือ Jane Campion ที่การันตีได้เลยว่าประเด็นต่างๆ จะได้รับการถ่ายทอดผ่านบท ภาพ และเสียงออกมาอย่างทรงพลังแน่นอน

เรื่องราวเล่าถึงสองพี่น้องแห่งตระกูลเบอร์แบงค์ที่เป็นเจ้าของไร่ขนาดใหญ่ในเทือกเขาแห่งหนึ่งที่รัฐมอนทานาในปี 1925 “ฟิล เบอร์แบงค์” คาวบอยหนุ่มนิสัยดิบเถื่อน ร่างกายกำยำ มักชอบกดขี่และดูถูกผู้อื่น ซึ่งถ่ายทอดลักษณะที่ว่า “แมนๆ คุยกัน” ได้อย่างชัดเจน ซึ่งตรงกันข้ามกับน้องชาย “จอร์จ เบอร์แบงค์” ที่มีรูปร่างท้วม นิสัยสุขุม ใจเย็น เห็นใจผู้อื่น และรักความสะอาด

แต่ทุกอย่างกลับไม่เป็นดั่งใจเขา เมื่อ “โรส” แม่ม่ายลูกติดแต่งงานกับจอร์จ และย้ายเข้ามาอยู่ในชายคาเดียวกัน ทำให้ฟิลไม่พอใจอย่างมาก เพราะฐานะทางสังคมต่างกัน ทำให้เขาคิดว่าเธอจะมาปอกลอกสมบัติไป จึงเริ่มสร้างสงครามประสาทกับโรส จนเธอต้องหันไปพึ่งแอลกอฮอล์ และเรื่องราวก็เริ่มก่อตัวขึ้น เมื่อ “ปีเตอร์” ลูกชายของโรส ที่มีลักษณะผิดแปลกไปจากนิยามของคำว่า “ชายชาตรี” เข้ามาอยู่ที่ไร่แห่งนี้ และบังเอิญรู้ความลับบางอย่าง ที่นำไปสู่จุดเปลี่ยนที่หลายคนไม่คาดคิด

Advertisements

เข้าใจ Toxic Masculinity ผ่านหนัง “The Power of the Dog”

หนังเรื่องนี้ได้นำเสนอความคิดและความเชื่อในสังคม ที่สะท้อนออกมาสู่พฤติกรรมตัวละครทั้ง 4 ได้หลายแง่มุม แม้จะไม่มีคำตอบที่ชัดเจน แต่ก็มีสัญลักษณ์และผลลัพธ์ต่างๆ ที่ทำให้คนดูค่อยๆ เข้าใจเรื่องราว พื้นเพชีวิต และเหตุผลของการกระทำของแต่ละตัวละครได้ บรรยากาศที่ดำเนินไปอย่างช้าๆ เรียบง่าย แต่แฝงไปด้วยความลึกซึ้ง จนกว่าจะรู้ตัวพายุลูกใหญ่ก็ได้ก่อขึ้นเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งผู้เขียนบทความได้รวบรวมแนวคิดและมุมมองต่างๆ ที่ตกผลึกได้ระหว่างรับชมหนังเรื่องนี้ โดยการตีความของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันออกไป จะมีประเด็นไหนบ้างลองมาติดตามกัน

มายาคติ “ความเป็นชาย” สู่สังคมที่บิดเบือน

หนังเรื่องนี้ได้นำเสนอนิยามของความเป็นชายออกมาชัดเจน จากตัวละครหลัก “ฟิล” ที่แสดงออกว่ามีความเป็นชายสูง ทั้งรูปร่างกำยำ ความเป็นผู้นำ นิสัยห้าวหาญ จึงทำให้เขาคิดว่าตัวเองนั้นมีอำนาจเหนือกว่าผู้อื่น สามารถใช้คำพูดและการกระทำที่ทำให้คนอื่นรู้สึกด้อยค่าโดยไม่เกรงกลัวใดๆ

เช่น ฉากที่ฟิลแสดงออกถึงการเหยียดและเยาะเย้ยพีทในร้านอาหาร เมื่อเขารู้ว่าพีทที่มีลักษณะนิสัยและรูปร่างไม่ตรงตามมาตรฐานความเป็นชาย คือ คนประดิษฐ์ดอกไม้ในแจกัน หรือการที่ฟิลเริ่มสงครามประสาทกับโรส กดขี่ ดูถูก แสดงให้เห็นว่าเขาเหนือกว่าเธอ จนทำให้เธอเครียดและทุกข์ใจอยู่เรื่อยมา

นอกจากนี้ เราจะพบว่าไม่ว่าจะเพศไหนก็ตาม ถ้าไม่มีความเป็นชายก็จะถูกลดบทบาทในสังคมไปโดยสิ้นเชิง และยิ่งเป็นผู้หญิงที่ไม่มีฐานะทางสังคมก็จะสูญเสียโอกาสต่างๆ รวมถึงได้รับการปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน

เช่น ฉากงานเลี้ยงที่จอร์จเชิญผู้ใหญ่มาร่วมฉลองที่บ้าน ซึ่งแต่ละคนมีการศึกษาและอยู่ในสังคมชั้นสูง โดยพวกเขาต่างเมินและไม่ค่อยสนใจโรสเท่าไร เพราะเธอมีฐานะทางสังคมที่ต่ำกว่า แต่กลับยินดีที่จะเข้าไปพูดคุยกับฟิลที่ไม่ได้อาบน้ำและเนื้อตัวสกปรก เพราะเขาร่ำรวยและเรียนจบจากมหาวิทยาลัยชื่อดัง จึงทำให้โรสที่รู้สึกอึดอัดกับสถานการณ์ตรงหน้าแสดงออกทางสีหน้าอย่างชัดเจน

Advertisements

ความลับ ปมในใจ และการปิดบังตัวตน

ความลับที่หนังอาจจะไม่ได้เฉลยอย่างตรงไปตรงมา แต่เมื่อนำองค์ประกอบต่างๆ มาต่อเข้าด้วยกัน ทำให้คนดูได้คำตอบว่า “ฟิล” ก็คือคนที่ได้รับผลกระทบจาก “Toxic Masculinity” เช่นกัน เพราะเขาไม่สามารถเป็นตัวของตัวเอง และเปิดเผยตัวตนที่แท้จริงต่อสังคมในขณะนั้นได้ ทำให้เขาต้องสร้างพื้นที่ลับ ซึ่งเป็นเสมือนพื้นที่ปลอดภัยให้ที่ทำให้ได้ปลดปล่อยและเป็นตัวของตัวเองอย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ตัวละครทุกคนล้วนมีปมในใจ อย่าง “ฟิล” ที่สร้างอีกตัวตนขึ้นมา เพื่อปฏิเสธความจริงและปิดบังความลับที่ขัดแย้งกับสังคมไม่ให้คนอื่นรู้ และมักจะกดขี่และเหยียดหยามพีท ผู้ที่เปิดเผยอย่างตรงไปตรงมา ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งการแสดงออกถึงความสนใจในตัวพีท หรือความอิจฉาที่พีทได้เป็นตัวของตัวเอง

หรือ “โรส” ตัวละครที่ช่วงแรกเต็มไปด้วยความสดใสน่ามอง แต่เมื่อแต่งงานกับคนที่ฐานะดีกว่าและโดนเหยียดหยามอยู่เรื่อยมา ทำให้เธอกลับกลายเป็นคนละคน ติดเหล้า ขาดความมั่นใจ และไม่เป็นผู้เป็นคน

ทุกคนคือ “เหยื่อ”

สุดท้ายเราทุกคนก็กลายเป็นเหยื่อของ “Toxic Masculinity” ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายด้วยกันที่โดนกดทับจนไม่ได้เป็นตัวของตัวเอง แต่ด้วยอำนาจและความเหนือกว่า จึงสามารถแสดงพฤติกรรมแย่ๆ ใส่คนอื่นได้อย่างง่ายดาย จนสุดท้ายก็สร้างบาดแผลและผลกระทบอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

เช่นเดียวกับในช่วงท้ายของหนัง ที่มีการกล่าวถึงบทหนึ่งในหนังสือเพลงสดุดี 20:22 ว่า “Deliver my soul from the sword; my darling from the power of the dog.”
(ขอจงช่วยให้จิตวิญญาณของข้าพเจ้ารอดพ้นจากคมดาบ และอำนาจของสุนัข)

เมื่อทุกคนกลายเป็น “เหยื่อ” ทำให้ “The Power of the Dog” สามารถตีความได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นฟิลที่หลุดพ้นจากระบบสังคมชายเป็นใหญ่ที่ทำให้เขาไม่ได้เป็นตัวเอง หรือพีทกับโรสที่หลุดพ้นจากการกดขี่และเหยียดหยามจากฟิล ที่เป็นปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้โรสต้องทนทุกข์ทรมาน ซึ่งเป็นสิ่งที่พีทไม่พอใจเป็นอย่างมาก จากคำพูดของพีทในตอนเปิดเรื่อง

“When my father passed, I wanted nothing more than my mother’s happiness. For what kind of man I would be if I did not help my mother? If I did not save her?”
(ตอนที่พ่อผมถึงแก่กรรม ผมไม่ต้องการอะไร นอกจากอยากให้แม่มีความสุข ผมจะเป็นลูกชายพรรค์ไหนกันเล่า ถ้าไม่ยอมช่วยแม่ ถ้าผมไม่ช่วยชีวิตแม่)

จึงเป็นที่มาของ “The Power of the Dog”

ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องมาร่วมกันปลูกฝัง เปลี่ยนแนวคิด และสร้างค่านิยมที่ถูกต้องกับสังคม เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาสังคม เพราะเราทุกคนต่างได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม อีกทั้งการอยู่เฉยๆ ไม่สนใจก็เท่ากับเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา มาร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงไปด้วยกัน ก่อนที่เราทุกคนจะกลายเป็น “เหยื่อ” รายต่อไป

เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
ชีวิตเป็นของเราหรือเป็นของใคร? เมื่อการควบคุมมากเกินไป (Coercive Control) สร้างบาดแผลลึกกว่าที่คิด
ยังวิ่งตาม Passion ได้อยู่ไหม? เข้าใจวิกฤตชีวิตคนวัย 30 ผ่านหนัง ‘Tick, tick…BOOM!’


อ้างอิง:
https://bit.ly/3KsAgaa
https://bit.ly/3CuIlIs
https://nyti.ms/3CqCfcm

#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#psychology

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า