PSYCHOLOGYวิเคราะห์ “นามิ ONEPIECE” ทำไมคนดีมักถูกหลอกใช้ ยอมพ่ายแพ้ต่อความอยุติธรรม

วิเคราะห์ “นามิ ONEPIECE” ทำไมคนดีมักถูกหลอกใช้ ยอมพ่ายแพ้ต่อความอยุติธรรม

“นามิ” เป็นหนึ่งในตัวละครหลักจากซีรีส์เน็ตฟลิกส์ “ONEPIECE” ที่กำลังเป็นกระแสอยู่ ณ ตอนนี้ เส้นเรื่องของเธอเผยให้เห็นชีวิตที่ผ่านเรื่องราวมามากมายก่อนจะกลายมาเป็นพวกพ้องกลุ่มโจรสลัดหมวกฟางอย่างที่เราเห็น ด้วยความเก่งกาจ รอบรู้ และมีไหวพริบของเธอทำให้นามิเป็นอีกหนึ่งตัวละครที่เป็นที่นิยมอย่างมาก

เรื่องราวของเธอพาให้ผู้ชมซีรีส์ต่างสับสน งุนงง และลุ้นไปพร้อมๆ กัน เมื่อความจริงเปิดเผยว่าเธอเป็นลูกสมุนของ “อาลอง” โจรสลัดมนุษย์ปลาที่ทำเรื่องเลวร้ายต่อมนุษย์มามากมาย และที่ผ่านมานามิเพียงแค่โกหกและหลอกใช้ลูฟี่และเพื่อนๆ เพื่อขโมยแผนที่มาก็เท่านั้น ทำให้เกิดคำถามในหมู่แฟนซีรีส์ที่ไม่เคยอ่านมังงะอย่างมากว่าแท้จริงแล้วเธอเป็นคนอย่างไร

แต่เธอเป็นคนชั่วร้ายแบบนั้นจริงหรือ? บางครั้งจิตใจของมนุษย์อาจจะซับซ้อนและไม่เป็นอิสระอย่างที่เราเคยคิด ที่ผ่านมาเธอเองก็ดูไม่ใช่คนไม่ดี ซ้ำยังให้ความช่วยเหลือคนอื่นอย่างจริงใจ แล้วอะไรทำให้คนคนหนึ่งเลือกจะเล่นบทตัวร้ายขึ้นมาได้

ความจริงแล้วตัวละครแบบนามิสามารถพบเห็นในชีวิตจริงของเราได้บ่อยเกินคาด เช่น รู้อยู่แล้วว่าสถานการณ์นี้มันอยุติธรรม แต่ก็เมินเฉยและบอกให้ผู้ถูกกระทำยอมแพ้ หรือแม้กระทั่งหงุดหงิดและกล่าวโทษที่ผู้ถูกกระทำไม่ยอมแพ้ไปก็มี

ทำไมนามิถึงเลือกทำงานให้อาลองทั้งที่รู้ว่าเขาเลวทรามเพียงใด? ทำไมคนเหล่านี้ถึงจำนนต่อความอยุติธรรม? มาถอดรหัสเบื้องหลังความคิดที่ทำให้นามิยอมทำเรื่องสกปรก แม้กระทั่งหักหลังพวกพ้องและบ้านเกิด ผ่านการทำความเข้าใจคำนิยามตัวตนที่เรียกว่า “Flying Monkey” นั่นเอง

รู้จัก “Flying Monkey” ลูกสมุนที่คอยรับใช้ผู้บงการจอมหลังตัวเอง

“Flying Monkey” หมายถึงคนที่คอยทำงานให้ผู้บงการที่มักจะมีบุคลิกเป็น ‘จอมหลงตัวเอง’ ทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ โดยงานที่ทำนั้นมีทั้งหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการรับใช้ หรือการคอยช่วยเหลือ แม้กระทั่งการออกโรงปกป้อง

คำว่า “Flying Monkey” มีที่มาจากตัวละครหนึ่งในเรื่อง ‘พ่อมดแห่งเมืองออซ’ (The Wizard of Oz) วรรณกรรมเยาวชนและภาพยนตร์ที่ติดตรึงอยู่ในความทรงจำสมัยเด็กของใครหลายคน บทบาทของ Flying Monkey คือผู้รับใช้แม่มดผู้ชั่วร้าย ที่คอยทำเรื่องสกปรกแทนเธออยู่เสมอ

ลูกสมุนผู้ภักดีอย่าง “Flying Monkey” เป็นได้ตั้งแต่หูตาที่คอยคาบข่าวของเหยื่อไปบอกผู้บงการ บางคนก็เป็นแขนขาคอยทำงานจนบางครั้งก็กลายเป็นผู้ลงไม้ลงมือแทนผู้บงการไปเลยก็มี แต่การจะระบุตัวคนประเภทนี้อาจจะเป็นอย่างยากกว่าที่เราคิด

เพราะในสถานการณ์ทั่วไป “พวกเขาดูเหมือนคนทั่วไปที่เลือกยืนข้างใดข้างหนึ่งยามเกิดความขัดแย้งก็เท่านั้น” ดร.ลอว์เรน เคอร์วิน นักจิตวิทยาคลินิกและนักจิตบำบัดจากลอสแองเจลิส ผู้มีประสบการณ์ให้คำปรึกษาและทำจิตบำบัดกว่า 10 ปีกล่าว

แม้ว่าอาจเป็นเรื่องยากที่จะระบุตัว “Flying Monkey” เพราะคนประเภทนี้ไม่ได้มีลักษณะเด่นชัดมากนัก แต่ก็พอจะมีสัญญาณบางอย่างที่คอยกระซิบบอกว่าคนคนนี้อาจเป็นลูกสมุนของผู้บงการอยู่ก็ได้ หากเราเริ่มสงสัยว่าสถานการณ์ที่พบเจอมันไม่ปกติให้เราลองสังเกตสัญญาณเหล่านี้

1.เลือกเข้าข้างผู้บงการเสมอไม่ว่าสถานการณ์หรือหลักฐานจะแสดงออกมาอย่างไร
2.เป็นส่วนหนึ่งในการปล่อยข่าวลือและเรื่องซุบซิบเกี่ยวกับเราโดยไม่คิดจะเข้ามาถามหาความจริง
3.ปั่นหัว (Gaslighting) หรือคอยชักใย (Manipulating) เพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้บงการ
4.ลดทอนความรู้สึกของคนด้วยคำพูดหรือการกระทำต่างๆ เช่น การเมิน
5.คอยสืบเรื่องราวของเราไปให้ผู้บงการใช้ประโยชน์

ไม่จำเป็นจะต้องมีสัญญาณทุกข้อที่กล่าวไปข้างต้น เพียงเป็นการกระทำที่สร้างความเสียหายทั้งทางกายและทางใจแก่คนอื่นเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ผู้บงการแล้ว ไม่ว่าการกระทำนั้นจะทำลงไปโดยรู้ตัวหรือถูกหลอกใช้ก็เรียกว่าเป็น “Flying Monkey” เช่นเดียวกัน

“Flying Monkey” หาใช่คนไม่ดี แต่ทำไมต้องยอม?

ตัวตนของ “Flying Monkey” เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งของผู้บงการอย่าง “จอมหลงตัวเอง” หรือ ‘Narcissist’ ซึ่งหมายถึงกลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางบุคลิกภาพ โดยคนกลุ่มนี้จะโหยหาความรัก ชอบที่จะเป็นจุดสนใจและเป็นที่ชื่นชมของผู้อื่นเสมอ ขณะเดียวกันก็เป็นคนที่ขาดความเห็นอกเห็นใจอย่างน่าตกใจ

“จอมหลงตัวเอง” มักเสพติดความรู้สึกว่าตนเหนือกว่าผู้อื่น จึงมักมีนิสัยชอบควบคุมและบงการ ไปจนถึงนิสัยด้อยค่าผู้อื่นด้วยวิธีต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นการปั่นหัว (Gaslighting) การชักใยเบื้องหลัง (Manipulating) การโยนความผิด (Guild trip) ไปจนถึงการใช้ความรักเป็นข้ออ้าง (Love-bombing)

นอกจากจะเป็นเครื่องมือของจอมหลงตัวเองแล้ว บางครั้ง “Flying Monkey” ก็เป็นเหยื่อเช่นเดียวกัน มีหลายเหตุผลที่ทำให้ใครคนหนึ่งกลายเป็นสมุนทั้งเต็มใจและไม่เต็มใจ ไม่ว่าจะเป็น…

Advertisements

1. ทำไปเพื่อปกป้องตนเอง

บางครั้ง “Flying Monkey” ไม่ได้มีความรู้สึกเชิงลบใดๆ กับเหยื่อเป็นการส่วนตัว แต่ที่ต้องทำเป็นเพราะหากไม่ทำแล้วตนเองจะกลายเป็นเหยื่อเสียเอง มักเกิดขึ้นกับคนที่มีสภาพจิตใจไม่มั่นคง หรือคนที่โดนกระทำรุนแรงทางกายหรือทางจิตใจมาก่อน

นามิเองก็นับว่าเป็นหนึ่งในประเภทนี้ได้เมื่อคนที่เธอเรียกว่าแม่ถูกพรากชีวิตไปต่อหน้าต่อตา ถือเป็นการกระทำความรุนแรงต่อจิตใจจนบอบช้ำ กดดันให้เธอต้องเอาชีวิตรอด นอกจากนี้จอมหลงตัวเองอย่างอาลองยังกุมจุดอ่อนของเธอไว้ทำให้เธอต้องยอมทำร้ายคนอื่นเพื่อช่วยเหลือคนที่เธอรัก

2. ถูกหลอกใช้อีกทีหนึ่ง

หนึ่งในกลยุทธ์ของจอมหลงตัวเองคือการโกหกและการพลิกสถานการณ์ให้ตนเองกลายเป็นผู้ถูกกระทำ สำหรับ “Flying Monkey” ประเภทนี้จะรู้สึกว่าต้องปกป้องเหยื่อจากสถานการณ์ที่ไม่ยุติธรรม เขาจึงไม่ลังเลที่จะเข้าข้างผู้บงการที่เปรียบเสมือนหมาป่าสวมหนังแกะนั่นเอง

Advertisements

3. ถูกเลี้ยงดู (Grooming) ให้เป็นแบบนั้น

กลุ่มนี้จะคล้ายกับประเภทแรกเนื่องจากจอมหลงตัวเองจะใช้ทุกวิถีทางเพื่อทำให้ “Flying Monkey” กลุ่มนี้สูญเสียความเป็นตัวของตัวเองและสูญเสียความเชื่อมั่นจนไม่สามารถตัดสินใจทำอะไรด้วยตัวของตนเองได้

4. เป็นคนชอบเอาอกเอาใจผู้อื่น

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าจอมหลงตัวเองมักมีออร่าบางอย่างที่ดึงดูดให้คนอื่นเข้าใกล้และรายล้อม ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นชั้นดีสำหรับกลุ่มคนที่ชอบเอาอกเอาใจคนอื่นหรือที่รู้จักกันในนาม People-pleaser ที่อยากจะตอบสนองความต้องการของผู้บงการเพื่อรับความรักหรือการยอมรับตอบแทน

5. เป็นจอมหลงตัวเองเหมือนกัน

อย่างที่กล่าวไปว่าจอมหลงตัวเองจะทำทุกทางเพื่อให้ได้สิ่งที่ตนเองต้องการ ต่อให้จะต้องยอมจำนนต่ออีกฝ่ายที่เป็นผู้บงการเช่นเดียวกัน แต่ถ้าสามารถตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้แล้วก็ไม่ใช่เรื่องยากเลย โดยที่ความต้องการนั้นอาจจะเป็นได้ทั้งเงิน อำนาจ ความสนใจ หรือแม้กระทั่งความหวัง

แน่นอนว่าการจะพาตัวเองออกมาจากความสัมพันธ์สุดจะเป็นพิษกับจอมหลงตัวเองก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นเดียวกัน เช่นเดียวกับนามิที่พยายามจะหลุดพ้นจากเงื้อมมือของอาลองแต่สุดท้ายก็โดนหลอกตลบหลังเข้าจนได้ “Flying Monkey” เองแม้จะอยากออกมาก็ไม่อาจทำได้ง่ายดังใจคิดเช่นกันเพราะจอมหลงตัวเองจะทำทุกทางเพื่อขัดขวางการสูญเสียอำนาจอันหอมหวานไป

แล้วเราจะทำยังไงกับทั้ง “Flying Monkey” และ “จอมหลงตัวเอง” ได้บ้าง? แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็พอจะมีหนทางที่ทำได้อยู่ ข้อแรกเลยคือเราต้องตั้งมั่นกับตัวเองและกำหนดขอบเขตหรือลิมิตของเราให้ชัดเจนว่าหากสถานการณ์ไปถึงขั้นไหนแล้วจะรับมืออย่างไร

ข้อต่อไปก็สำคัญไม่แพ้กันคือการหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าที่อาจก่อให้เกิดดราม่า เพราะจอมหลังตัวเองชื่นชอบสปอตไลต์และมีความสามารถพิเศษที่จะพลิกเรื่องราวทำให้เราเป็นฝ่ายเสียเปรียบท่ามกลางสังคมที่มามุงดูได้

แนวทางที่ควรจำไว้ให้ขึ้นใจคือการบันทึกหลักฐานที่จับต้องได้ ไม่ว่าจะเป็นการอัดเสียง การเก็บเอกสารลายลักษณ์อักษร เพราะเมื่อเรื่องเกิดลุกลามใหญ่โตถึงคดีความเราจะสามารถปกป้องตัวเองได้ด้วยหลักฐานเหล่านี้

นอกจากหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าแล้ว เป็นไปได้พยายามหลีกเลี่ยงที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับทั้ง “Flying Monkey” และจอมหลงตัวเอง แต่หากเราตกเป็นเป้าหมายและไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือกระทำตามที่กล่าวไปข้างต้นไปยังมีอีกวิธีหนึ่งที่พึงระลึกไว้

นั่นคือการปรึกษาคนที่ไว้ใจได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนสนิท สมาชิกในครอบครัวที่สนิท หรือแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญก็สามารถเป็นกำลังให้เราผ่านพ้นเรื่องราวต่างๆ ไปได้ เหมือนที่นามิยังมีพวกพ้องหมวกฟางเป็นโอเอซิสพักใจและยื่นมือเข้ามาช่วยจนสามารถหลุดพ้นจากอำนาจของอาลองนั่นเอง

ที่มา
– What the Term ‘Flying Monkeys’ Means When We Talk About Narcissism : Adam England, Verywell Mind – https://bit.ly/46bIrm5
– Are You a Narcissist’s Flying Monkey? : Claire Jack Ph.D. , Psychology Today – https://bit.ly/3Ljc6l9
– Why Do Narcissists Send Flying Monkeys? : The Editors, NAR – https://bit.ly/3rbY8uE

#psychology
#flyingmonkey
#narcissist
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast

Advertisements

LASTEST ARTICLES

LASTEST PODCAST

Mission To The Moon
Mission To The Moon
พื้นที่ที่สร้างขึ้นเพื่อแบ่งบันเรื่องราวเกี่ยวกับการทำธุรกิจ การตลาด แรงบันดาลใจ และข้อคิดในการใช้ชีวิต

POPULAR ARTICLES

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายคุกกี้ และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่มีความจำเป็น (Strictly Necessary Cookies)
    เปิดใช้งานตลอด

    คุกกี้ที่มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้งานและเข้าชมเว็บไซต์ได้อย่างเป็นปกติ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้ อย่างไรก็ตาม คุณสามารถบล็อคการใช้งานคุกกี้ได้จากเบราว์เซอร์ที่ใช้งาน ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการใช้งานเว็บไซต์ได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์และวัดผลการทำงาน (Performance Cookies)

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากคุณไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้

บันทึกการตั้งค่า